TFI เมินซื้อหุ้นเพิ่มทุนไทยคอปเปอร์ฯ แจงผล Q3 ขาดทุนลดปรับวิธีลงบัญชี


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

TFI สละสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ อ้างยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างหาเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของธุรกิจในวัฎจักรขาขึ้น คาดจะเริ่มได้ในปี 50 พร้อมแจ้งผลงานไตรมาส 3 ปีนี้ขาดทุนลดลง เนื่องจากยอดขายเพิ่มและปรับปรุงนโนบายการลงบัญชีของบริษัทย่อยและร่วมตามวิธีส่วนได้เสีย ส่งผลดีต่องบการเงิน

นายวัลลภ คุณานุกรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) ( TFI ) แจ้งว่าตามที่ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) (TCI) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 800.58 ล้านหุ้น เป็นเงิน 8,005.79 ล้านบาท เป็น 876.62 ล้านหุ้น เป็นเงิน 8,766.18 ล้านบาท โดยเพิ่มทุน 76.04 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวม 760.39 ล้านบาท โดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมในการจองหุ้นสามัญตามสัดส่วน 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนในราคาเสนอขายหุ้นละ 10 บาท รวม 760.39 ล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ลดภาระดอกเบี้ยและทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนดีขึ้น วันที่จองหุ้น ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ถึง วันที่ 10พฤศจิกายน 2549 ซึ่ง TFI ได้สิทธิในการจองหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 15.19 ล้านหุ้น รวมเป็นเงิน 151.90 ล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทยังคงขาดสภาพคล่องทางด้านการเงิน (tight of liquidity ) ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการหา Working Capital เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องอยู่อีกประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาเพื่อเตรียมเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอกับความต้องการของธุรกิจในวัฏจักรขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในต้นปี 2550 เป็นต้นไป

ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบจึงเสนอคณะกรรมการบริษัทและมติเป็นเอกฉันท์ให้สละสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ตามเหตุผลที่แจ้งให้ทราบข้างต้นแล้วย์แห่งประเทศไทย

พร้อมกันนี้ TFI ยังแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ว่า บริษัท มีผลขาดทุน 21.81 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 50.58 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายเฉพาะสินค้าฟิล์มชนิดต่าง ๆ ของบริษัทฯ ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งภาวการณ์ถดถอยของอุตสาหกรรมฟิล์มบรรจุภัณฑ์ในตลาดโลกยังคงมีอยู่ทำให้ยังมีอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรม บี.โอ.พี.พี. ฟิล์ม แต่ก็ลดลงจากไตรมาสที่แล้วส่งผลให้ราคาขาย บี.โอ.พี.พี. ฟิล์มอยู่ในระดับราคาที่สูงขึ้นถึง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาเม็ดพลาสติก พี. พี. ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมีราคาสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคา บี.โอ.พี.พี. ฟิล์มที่สูงขึ้นไม่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการมากนัก ขณะที่ ปัจจุบันอุปสงค์ (DEMAND) และอุปทาน (SUPPLY) ของ บี.โอ.พี.พี. ฟิล์มเริ่มใกล้สมดุลขึ้นใน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ทำให้บริษัทฯ เริ่มสามารถปรับราคาขาย บี.โอ.พี.พี.ฟิล์ม และฟิล์มชนิดอื่นๆ ได้ตามการปรับราคาของเม็ดพลาสติก และมีแนวโน้มว่าวัฎจักรขาขึ้นของ บี.โอ.พี.พี.ฟิล์ม จะเริ่มในต้นปี 2550 จึงเชื่อว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตฟิล์มจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2550 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัท

ขณะเดียวกัน บริษัท ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) (TCI) เริ่มมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส ที่ 2 ของปี 2549 นี้แล้ว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ซึ่งจะส่งผลให้ TCI มีกำไรจากผลต่างของราคาหัวแร่ทองแดงที่เก็บไว้ (สินค้าคงคลัง) จำนวน 58,500 ตัน เทียบกับราคา หัวแร่ทองแดง ณ ราคาปัจจุบัน ซึ่งบริษัทฯ ก็จะได้รับกำไรตามวิธีการรับรู้กำไรขาดทุนตามสัดส่วน การลงทุนใน TCI เฉพาะในงบการเงินรวมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม บริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงย้อนหลังงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และสำหรับงวดสามเดือนและสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30กันยายน 2548 จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีของเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมจากวิธีส่วนได้เสียไปเป็นวิธีราคาทุนและปรับด้วยค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุน ตามประกาศสภาวิชาชีพ ฉบับที่ 26/2549 เรื่อง การปฏิบัติตามวิธีการบัญชีเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 44 เรื่องงบการเงินรวมและการบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยลงวันที่ 11 ตุลาคม 2549 โดยการกลับบัญชีส่วนแบ่งขาดทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่เคยรับรู้ไว้ใน งบการเงินตั้งแต่วันที่บริษัทฯเริ่มรับรู้ส่วนได้เสียตั้งแต่ปี47-48 ส่งผลให้ผลขาดทุนสะสมของบริษัทลดลงเป็นลำดับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.