ในเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ 2539 นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คงได้รับหุ้นของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเหล็กเข้าจดทะเบียนเพิ่มอีกหนึ่งบริษัท
และแม้ว่าในช่วงการกระจายหุ้นไปยังรายย่อย จะไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเท่าที่ควรก็ตาม
แต่กิจกรรมขององค์กรและเครือข่ายแห่งนี้ก็ยังน่าสนใจไม่น้อย
"ตอนเปิดจองนั้นก็มีคนซื้อหมด แต่ทางรายย่อยก็ดูฝืดนิดหน่อยเนื่องจากตลาดไม่ดี
และที่คาดว่าจะเข้าเทรดในช่วงมกราคมนั้น เราไม่สามารถจะไปดูได้ว่าตลาดจะดีหรือไม่
แต่เราหวังว่าจะดีขึ้น"
คำกล่าวของ ทวีศักดิ์ ครุจิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม
จำกัด(มหาชน) บริษัทซึ่งอยู่ในเครือสยามสตีล กรุ๊ป
อุตสาหกรรมเหล็กสำหรับเมืองไทย ยังนับว่ามีอนาคตอีกไกล โดยเฉพาะการแปรรูปจากเหล็กแผ่น
ซึ่งถือว่าธุรกิจนี้มีผลตอบแทนและส่วนต่างระหว่างวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์ที่ได้สูงมาก
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 ที่ผ่านมา โรงงานแห่งที่สามของบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม
จึงมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ด้วยกำลังการผลิต 222,000 ตันต่อปี เมื่อรวมกำลังการผลิตของโรงงานเดิมทั้งสองแห่งทำให้กำลังการผลิตชิ้นส่วนเหล็กของบริษัทเพิ่มเป็น
622,000 ตันต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ของเมืองไทยทีเดียว
แต่การขยายงานของบริษัทในเครือข่ายสยามสตีลกรุ๊ป ครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นการขยายงานในแนวธุรกิจเดิม
สายผลิตภัณฑ์เดิม ไม่อาจข้ามขั้นตอนไปยังสายธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้
ในประเด็นของบริษัทศูนย์บริการเหล็กสยาม ชัดเจนมาก
ทวีศักดิ์กล่าวว่า เดิมทีนั้น ศูนย์บริการเหล็กสยาม ก็คือหน่วยงานหนึ่งของบริษัท
ศรีเจริญอุตสาหกรรม (1979) จำกัด (มหาชน)
"เดิมทีเป็นหน่วยบริการหนึ่งของศรีเจริญ แต่มันใหญ่ขึ้น ของเดิมเราให้บริการกับลูกค้าโตโยต้า
จากความต้องการที่มีมาก เห็นว่าแนวโน้มธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตได้ โดยเฉพาะการเตรียมวัตถุดิบและพาร์ทต่างๆ
นับวันก็จะสูงขึ้นจึงได้ตั้งเป็นบริษัทศูนย์บริการเหล็กสยามเมื่อสิบปีที่แล้ว"
บริษัทในเครือสยามสตีล กรุ๊ป มากมายหลายสิบบริษัท ก็มีโครงสร้างลักษณะเช่นเดียวกันนี้
โครงสร้างของบริษัทในเครือสยามสตีล กรุ๊ปส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลการผลิตในจุดๆ
หนึ่ง การขยายตัวในด้านสายผลิตภัณฑ์หรือขั้นการผลิต ของบริษัทหนึ่งอาจจะไปทับคาบเกี่ยวกับอีกบริษัทหนึ่งในเครือหรือไม่นั้น
ทวีศักดิ์กล่าวปฏิเสธ
"คงไม่ในจุดนั้น เพราะบริษัทที่เราร่วมทุนอยู่ค่อนข้างชัดเจนในผลิตภัณฑ์และลงไปทางลึกมาก
เช่นเฟอร์นิเจอร์ โดยเราแจ้งกับผู้ร่วมทุนมาตั้งแต่ต้น โดยเราจะใช้ศรีเจริญเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน
ซึ่งขณะนี้ก็ยังเป็นไปในรูปแบบนั้น"
แต่แม้ว่าสยามสตีล กรุ๊ป จะมองว่าการแตกบริษัทออกไป พร้อมกับโครงสร้างงานที่เป็นอยู่จะถือเป็นทิศทางที่มองว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว
แต่ยอมรับว่าขณะนี้เครือข่ายของสยามสตีล กรุ๊ป มีมากจนต้องพยายามจับกลุ่มเพื่อให้งานบริหารดำเนินการได้ง่าย
"สำหรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัท เราพยายามที่จะจัดแบ่งสายธุรกิจให้มีความชัดเจนที่สุดเพื่อให้เข้าใจง่ายและไม่ซ้ำซ้อน
ซึ่งที่มีห้ากลุ่มนั้นก็ค่อนข้างจะครอบคลุม แต่ก็มีสินค้าที่อยู่ด้านกว้างเพิ่มเข้ามามากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการพูดว่าจะมีการยุบบริษัทเพิ่มรวมกัน หรือเพิ่มกลุ่มแต่อย่างไร"
ปัจจุบันสยามสตีล กรุ๊ป ได้แบ่งธุรกิจในเครือข่ายออกเป็นกลุ่มเฟอร์นิเจอร์,
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมทั่วไป, กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
และกลุ่มบริการ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สยามสตีล กรุ๊ป พยายามที่จะเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหล็กต้นทางมากขึ้น
แต่ปัจจุบันเมื่อกฎเกณฑ์ภาครัฐเปิดโอกาสให้ กลับเงียบนั้น ทวีศักดิ์เลี่ยงตอบว่า
เรื่องนี้คนที่จะตอบได้ดีที่สุด คือ วันชัย คุณานันทกุล ซึ่งเคยมีความสนใจจะทำโครงการนี้
แต่พอมีหลายรายสนใจและเริ่มโครงการ จึงยังเงียบอยู่
"จุดนี้ไม่แน่ใจว่าจะสนใจอีกหรือไม่ และเนื่องจากธุรกิจนี้ลงทุนและหวังผลระยะยาว
ต้องดูว่าคุ้มค่าและให้ผลตอบแทนได้หรือไม่ การขยายไปสู่ขั้นต้นนั้น เราไม่ได้พูดถึงว่าจะไม่ขยาย
อันไหนที่จะทำผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ เราก็คงจะเข้าไปดูความเป็นไปได้
แต่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเราก็ยังคงไม่มองโครงการพื้นฐาน" ทวีศักดิ์กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้เรียกได้ว่าบริษัทเป็นผู้นำเข้าที่แปรรูปเหล็กติดอันดับ
1 ใน 10 มีกำลังการผลิตหลายแสนตันต่อปี ส่วนการเป็นผู้ผลิตแบบครบวงจรนั้นยังไม่สามารถตอบได้
ซึ่งการที่จะกล่าวว่าบริษัทเป็นแค่คนกลางก็คงไม่ได้ เพราะตอนนี้บริษัทอยู่ในฐานะร่วมทุนกับนิปปอน
สตีล แห่งประเทศญี่ปุ่นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งป้อนวัตถุดิบให้
ส่วนนี้ทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบในเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และตอนนี้ถ้าบริษัทจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็กพื้นฐาน
ก็คงไม่สามารถทำวัตถุดิบได้หมดตามที่ลูกค้าต้องการ ก็คงจะต้องเป็นผู้นำเข้าอยู่ดี
"เราเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปจากเหล็กแผ่น ความจริงตอนนี้เราป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตสินค้า
ผู้ประกอบการให้เราทำพาร์ทเราก็ทำได้ ตามความต้องการที่ลูกค้าต้องการ การรักษาตำแหน่งตรงนี้ไว้น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้"
จากกลุ่มบริษัทที่ถูกจับตาเมื่อดำริจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็กพื้นฐาน เพื่อให้องค์กรครอบคลุมธุรกิจอย่างเบ็ดเสร็จ
มาวันนี้ ดูเหมือนว่าคำว่าครบวงจรสำหรับสยามสตีล กรุ๊ป ดูจะไม่จำเป็นเสียแล้ว