RATCH โอ่ปีนี้กำไรพุ่ง ทุบสถิติเดิม 6.48 พันล.


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯฟุ้งปีนี้ทำสถิติฟันกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่าปี47หรือกว่า 6.48 พันล้านบาท เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายซ่อมใหญ่ในปลายปี และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน รับรู้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น เผยปีหน้ามีแผนหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลัง ฉุดกำไรลดลง "ณรงค์"มั่นใจชนะประมูลไอพีพีรอบใหม่ เหตุฐานะการเงินแกร่ง เชื่อไม่ต้องออกหุ้นกู้เพิ่มภายใน 3ปีข้างหน้าแม้ว่าจะชนะประมูลโรงไฟฟ้าก็ตาม

นายณรงค์ สีตสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(RATCH) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯคาดว่าจะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าปี 2547 ซึ่งถือเป็นปีที่มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิ 6,487 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายหลักในการซ่อมบำรุงใหญ่ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างเงินกู้ (รีไฟแนนซ์)หนี้เดิมทำให้ประหยัดดอกเบี้ยจ่ายปีนี้ถึง 800 ล้านบาทและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 300 ล้านบาทของบริษัทไตร เอนเนอจี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน รวมทั้งนำเงินสดในมือที่มีอยู่ 8 พันล้านบาท ไปลงทุนในตราสารการเงิน ทำให้ได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว

โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2549 ของบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,481 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดหากเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนเงินกู้เดิมเหมือนไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานประจำงวด 9 เดือนแรก ของปี 2549 บริษัทฯ มีรายได้รวม 39,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% และมีกำไรสุทธิรวม 5,188 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,486 ล้านบาท เนื่องจากตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่บริษัทฯ ทำไว้กับ กฟผ. ได้กำหนดอัตราค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าราชบุรีในปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว จึงส่งผลให้รายได้ค่าความพร้อมจ่ายในปีนี้ลดลงจากปีก่อน

ขณะที่ต้นทุนขายในรอบ 9 เดือนปีนี้สูงขึ้น 18% เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชุดที่ 1 เพื่อทำการหยุดซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ ( Major Overhaul) และรับรู้ค่าซ่อมอุปกรณ์ตามสัญญาจัดหาและซ่อมอะไหล่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีด้วย

นายณรงค์ กล่าวต่อยอมรับว่า ปีหน้าบริษัทฯมีแผนจะหยุดซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ 4 เครื่องทั้งโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมราชบุรีชุดที่ 2 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีเครื่องที่ 1 และเครื่องที่ 2 ซึ่งต้องหยุดโรงไฟฟ้ายูนิตละ 55 วันในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 โดยบริษัทฯจะบันทึกค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาสูงมากผิดปกติเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2550 ลดลงเล็กน้อย

ส่วนแผนการลงทุนในปีหน้า บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน (ไอพีพี) งวดใหม่ในปี 2550 โดยจะเน้นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพราะถ่านหินมีความไม่แน่นอน ซึ่งตนมั่นใจว่าจะชนะการประมูลได้ เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้าน อาทิ ด้านแหล่งทุนจากฐานะการเงินที่มั่นคง มีกำไรสะสมจากการดำเนินงานที่สูงถึง 1.77 หมื่นล้านบาท และมีเงินทุนหมุนเวียน 9.49 พันล้านบาท ดังนั้นอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทฯ ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนหรือออกหุ้นกู้ แม้ว่าบริษัทฯ จะชนะการประมูลโรงไฟฟ้าที่ทางการเปิดโอกาสให้ยื่นประมูล 4-5 โรงหรือประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ก็ตาม

นอกจากนี้ บริษัทฯมีพื้นความพร้อมสถานที่รองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ทำให้มั่นใจว่าต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้เพราะมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมแล้ว การตัดสินใจเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีดังกล่าว เพื่อรักษาสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งตลาด 15%ของกำลังการผลิตไฟทั่วประเทศ 2.6 หมื่นเมกะวัตต์

นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 ที่สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 460 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ใช้เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท คาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเริ่มป้อนไฟเข้าระบบกฟผ.ได้ในปี 2556


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.