อุปสรรคพัฒนาอินเตอร์เน็ต

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เมืองไทยมักมีเรื่องแปลกแต่จริงให้รับรู้กันอยู่เนืองๆ ไม่จบสิ้นแทบจะทุกเรื่อง เดือนก่อนก็มีเรื่องเรือดำน้ำที่ฉากเหตุการณ์ถูกกวาดกันตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งก็เล่นเอารัฐบาลแทบไม่ต้องทำอะไรกันเลยหลายอาทิตย์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสัมปทานสร้างทางด่วนสายใหม่ที่เชื่อมต่อทางด่วน 2 ของบีอีซีแอลที่คนของพรรคพลังธรรมเป็นเจ้าของเรื่อง ก็ถูกยกขึ้นมาเล่นงานพรรคพลังธรรมด้วยเหตุผลว่า พยายามยกสัมปทานให้บีอีซีแอลอย่างไม่โปร่งใส และผู้นำในรัฐบาลบางคน(ทักษิณ ชินวัตร) มีผลประโยชน์ในรูปหุ้นอยู่กับบีอีซีแอล ซึ่งส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ใจ

นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีเรื่องสัมปทานคลื่นโทรศัพท์มือถือที่มีราคาแพง แต่คุณภาพเหมือนสากกะเบือ ที่ทะเลาะกันไม่เลิกกันอยู่นั่นแหละ

สรุปเรียกได้ว่า เมืองไทยรอบเดือนที่แล้ว เต็มไปด้วยเรื่องแปลกแต่จริงตั้งแต่เรื่องในน้ำ บนบก จนกระทั่งคลื่นอากาศจนทำให้ผมเชื่อว่าเมืองไทยต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระบบอย่างแน่ ๆ

เท่าที่ผมศึกษา ผมค่อนข้างแน่ใจว่า สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบมาจากความพยายามทึกทักเอาของ "รัฐ" ที่ต้องการแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา และได้สร้างกลไกอันหนึ่งขึ้นมารองรับกลไกอันนี้ เรียกว่า "สัมปทาน"

สัมปทาน เป็นกลไกที่ศักดิ์สิทธิ์มากในสายตาของข้าราชการและรัฐ ในฐานะเป็นเครื่องมือที่ถูกแอบอ้างได้อย่างสนิทใจว่าเป็นกติกาที่กันให้ข้าราชการและรัฐ หลุดออกจากการคอร์รัปชั่น

แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่แอบอ้าง แกรี่ เบ็กเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักวิจัยชื่อดังแห่งสถาบันฮูเวอร์ เขียนบทความลงในนิตยสาร "บิสสิเนส วีค" เมื่อเร็วๆ นี้ โดยชี้ให้เห็นว่า สัมปทานเป็นกลไกที่สร้างเงื่อนไขให้ข้าราชการมีโอกาสคอร์รัปชั่นได้ เหตุนี้ เบ็กเกอร์จึงใช้ตรรกะเสนอว่า ถ้ารัฐต้องการให้ตัวเองหลุดจากคอร์รัปชั่น รัฐต้องมีความกล้าหาญ ยุบเลิกสัมปทานทิ้งเสีย แล้วเปิดให้มีการแข่งขันเสรีขึ้น

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผมเห็นด้วยกับเบ็กเกอร์พันเปอร์เซ็นต์ เพราะสัปทานเป็นตัวที่สร้างความอื้อฉาวให้เกิดขึ้นกับกระบวนการทำงานของราชการและรัฐมาตลอดทุกสมัย

และที่สำคัญกว่านั้น สัมปทานเป็นตัวแทนของระบบผูกขาดที่ฉุดรั้งกระบวนการพัฒนาทุกด้าน และเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค (ภายใต้การคุ้มครองจากรัฐ) มากที่สุด

ข้อเท็จจริงตรงนี้ ถ้ากล่าวตัวอย่างให้ทันสมัยที่สุด ก็ต้องยกกรณีเรื่อง สัมปทานอินเตอร์เน็ต

เวลานี้ ผู้จะให้บริการอินเตอร์เน็ต ต้องได้รับอนุมัติสัมปทานจากกสท.ก่อน โดยต้องเสียค่าสัมปทานในรูปจัดสรรหุ้นในราคาพาร์จำนวนมากกว่า 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นี่เป็นประการแรก

ประการที่สอง-ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ยังต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตแก่กสท.อีกจำนวน 16 ล้านบาท

นอกจากนี้ ราคาค่าบริการอินเตอร์เน็ต ทางกสท. ยังเป็นผู้กำหนดราคาอีก

ต้นทุนการให้บริการจากระบบสัมปทานอินเตอร์เน็ตจึงสูงมากและแน่นอนที่สุด ผู้รับสัมปทานก็ต้องผลักภาระมาให้ผู้ใช้บริการ และจุดนี้เองที่ค่าใช้จ่ายการใช้บริการอินเตอร์เน็ตเมืองไทยสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อเมริกาซึ่งมีเครือข่ายสื่อสารทันสมัยและกว้างขวางทั่วประเทศพร้อมที่จะรองรับอินเตอร์เน็ต เขายังเปิดเสรีผู้ให้บริการเข้ามาให้บริการ ราคาค่าบริการอินเตอร์เน็ทของเขาจึงถูกมาก และพัฒนาการของระบบอินเตอร์เน็ตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีซอฟต์แวร์การเข้าสู่เครือข่ายและการปฏิบัติการบนเครือข่ายของบริษัทผู้ให้บริการ จึงมีการแข่งขันกันพัฒนา เพื่อแย่งชิงตลาดผู้ใช้ที่กำลังตื่นตัวขึ้นทั่วโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงเห็นว่าอินเตอร์เน็ตในตลาดเมืองไทยจึงมีสภาพเหมือนสังคมที่เต็มไปด้วยพวกเกลียดตัว แต่ชอบกินไข่ที่คอยแต่ฉุดรั้งการพัฒนา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.