พีแอนด์จีปรับทั่วโลกชูกลุ่มบิวตี้ บูม“สกินแคร์-แฮร์แคร์”เป็นเรือธง


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

พีแอนด์จี ทั่วโลกปรับตัว โฟกัสการดำเนินธุรกิจใหม่ ชูกลุ่ม “บิวตี้” บูมแฮร์แคร์-สกินแคร์เรือธง หลังเห็นแววตลาดเพื่อความงามมีศักยภาพ ปั้นโลโก้ใหม่ “พีแอนด์จี บิวตี้” สื่อสารผู้บริโภค ทิ้งภาพลักษณ์คอนซูเมอร์ โปรดักส์ โชว์ผลงานนโยบายบริษัทแม่ 9 เดือน แชมพูกวาดแชร์รวม เพิ่มเป็น 34% จาก 31% ล่าสุดระเบิดแคมเปญ “ไม่ได้ผล คืนเงิน 2 เท่า” กระทุ้งแชร์โค้งสุดท้าย ลั่นปีหน้าอัดสื่อรูปแบบใหม่

นายเมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดและองค์กร บริษัท พีแอนด์จี เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแชมพูแพนทีน, รีจอยส์ และ เฮดแอนด์โชว์เดอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นโยบายพีแอนด์จีทั่วโลกได้ปรับภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจใหม่ โดยหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมากขึ้น ภายใต้การสื่อสารด้วยโลโก้ใหม่ “พีแอนด์จี บิวตี้” จากเดิมภาพลักษณ์ของพีแอนด์จีเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจคอนซูเมอร์ โปรดักส์มากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะบริษัทแม่เล็งเห็นว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีอัตราการเติบโตที่ดี

“การปรับตัวโดยหันมาโฟกัสผลิตภัณฑ์เพื่อความงามในครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความสมดุลของรายได้ระหว่างผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและกลุ่มอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาในแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการทำตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ทำให้รายได้ในส่วนผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้มีความสมดุลกันมากนัก”

สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เน้น 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์แชมพู ซึ่งประกอบด้วย แพนทีน, รีจอยส์, เฮดแอนด์โชว์เดอร์ และแคร์รอล เฮอร์เบิ้ลเอสเซ้นส์ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ได้แก่ โอเลย์ จากโครงการธุรกิจพีแอนด์จีทั่วโลก ประกอบด้วย 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ในช่องปากภายใต้แบรนด์ออรัลบี กลุ่มขนมขบเคี้ยว, มันฝรั่ง ตราพริงเกิ้ล กลุ่มกระดาษ-ผ้าอนามัยวิสเปอร์, แพมเพอร์ส ถ่านไฟฉายตราดูราเซลล์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ซักล้าง – ผงซักฟอกแฟ้บ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลภาพลักษณ์บุรุษ ยิลเลตต์

ทั้งนี้พีแอนด์จีทั่วโลกได้เริ่มสื่อสารภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เช่น ในโซนยุโรป ในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา ส่วนในโซนเอเชียได้สื่อสารบ้างแล้วในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยเริ่มขึ้นในต้นปี 2548 สำหรับในประเทศไทยการดำเนินธุรกิจรุกตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อความงามไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เนื่องจากโครงการธุรกิจพีแอนด์จีในไทย 3 ใน 4 เป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อความงามอยู่แล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วนมาจากธุรกิจสบู่ ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ

**โชว์กลุ่มแชมพูกวาดแชร์เพิ่ม**

นายเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นผมหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ส่วนแบ่งรอบเดือนมกราคม-กันยายน 49 พีแอนด์จี มีส่วนแบ่งเพิ่มจาก31% เป็น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แบ่งเป็น รีจอยส์เพิ่มจาก 9% เป็น 10.5% แพนทีน 12% เป็น 13% เฮดแอนด์โชว์เดอร์ลดลงจาก 8.4 % เป็น 8% แคร์รอล เฮอร์เบิ้ล เอสเซ้นส์ 1.7% เป็น 2.5% ส่วนยูนิลีเวอร์ค่ายแชมพูคู่แข่ง ส่วนแบ่งลดลงจาก 36% เหลือเป็น 32% แบ่งเป็น ซันซิล จาก 28.7% เป็น 25.5% คลีนิคเคลียร์ 16% เพิ่มเป็น 19% และโดฟจาก 8.3% เป็น 7.4% จากมูลค่าตลาดแชมพู 7,800 ล้านบาท โตขึ้นจากปีที่แล้ว 12% จากมูลค่า 6,900 ล้านบาท


ล่าสุดในช่วงปลายปีนี้ บริษัทจึงได้จัดแคมเปญเฮดแอนด์โชว์เดอร์”ไม่ได้ผล คืนเงิน 2 เท่า” โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์เฮดแอนดโชว์เดอร์สูตร Smart ZPT ใหม่ไปใช้แล้วไม่เห็นผลสามารถติดต่อรับเงินคืนได้เป็น 2 เท่าของราคาสินค้าที่ซื้อ เริ่มตั้งแต่วันนี้- 28 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นครั้งแรกของเฮดแอนด์โชว์เดอร์ที่เปิดตัวแคมเปญลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะในรอบ 9 เดือนเฮดแอนด์โชว์เดอร์เป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งลดลงเพียงแบรนด์เดียว เพราะคลินิกเคลียร์หรือสินค้าคู่แข่ง มีการจัดกิจกรรมและออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายของการเปิดตัวแคมเปญนานถึง 4 เดือน จะช่วยรักษาส่วนแบ่งหรือผลักดันให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น 8-10% โดยมาจากการขยายฐานลูกค้าใหม่

สภาพตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 4-5 % ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ดี ส่วนภาวะน้ำท่วมสำหรับบริษัทได้รับผลกระทบทางยอดขายบ้างในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการขนส่งไม่สามารถเข้าถึงขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถมาซื้อสินค้าได้ ส่วนในเดือนพฤศจิกายนคาดว่ากำลังการซื้อจะกลับมาดีขึ้น

**แย้มปี50อัดสื่อรูปแบบใหม่แหวกแนว**

นายเมธี กล่าวต่อว่า แผนการตลาดปีหน้านี้จะทุ่มงบเพิ่มขึ้น 5% จากปีนี้ โดยเน้นการทำคอนซูเมอร์ แอคทิเวชั่น การจัดกิจกรรมร่วมกับตราสินค้า รวมทั้งการใช้สื่อในรูปแบบใหม่มีความแปลกแหวกแนว และมีความสนใจที่จะทำสื่อออนไลน์ แต่ต้องพิจารณาถึงจำนวนคนใช้งานเป็นหลักก่อน ทั้งนี้เพื่อสร้างการจดจำและการรับรู้แก่ผู้บริโภค ขณะที่การออกสินค้าจะเน้นนวัตกรรมใหม่ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยยกตัวอย่างตลาดแชมพูแนวโน้มในอนาคตจะซอยเซกเมนต์ย่อยมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการรุกตลาดผงซักฟอกเต็มรูปแบบในปีหน้านี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.