|

เบียร์เทศจวกไทยแอดแบน
ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ทัพเบียร์ข้ามชาติ “คาร์ลสเบิร์ก” จวกไทยผิดข้อตกลง WTO ปิดกั้นเสรีทางการค้า ด้านสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ชงเรื่องพรบ.ห้ามโฆษณาน้ำเมาคลุมเครือไร้ทิศทาง ชี้โฆษณาเชิงคอร์ปอเรตตีความเลือกปฏิบัติ โบ้ย โลโก้ช้าง –ไฮเนเก้นทำได้ ยันไม่ปลดป้ายโลโก้สิงห์ 2 แห่ง ควักกฎหมายต่อสู้หลังวันที่ 3 ธันวาคม นี้ ด้านบริษัทไวน์จากอินเดีย ชี้กฎเหล็กห้ามโฆษณาน้ำเมาอินเดียคว้าน้ำเหลว กระทบอุตฯท่องเที่ยวพัง
นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ เปิดเผยว่า จากการที่สำนักคณะกรรมการอาหารและยาหรือ(อย.) ออกประกาศห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา 24 ชั่วโมง ขณะนี้เริ่มมีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะเบียร์คาร์ลสเบิร์ก ซึ่งกำลังเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งบริษัทจากต่างประเทศอื่นๆ เตรียมโต้ตอบรัฐบาลไทยโดยนำข้อตกลงองค์การการค้าโลก ( world Trade Organization) : WTO กรณีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการกีดขวางการค้าที่ประเทศไทยตกลงเป็นสมาชิก WTO ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์ไทยสามารถทำการค้าได้อย่างเสรีในต่างประเทศ
ติงพรบ.ห้ามโฆษณาไม่ชัดเจน
นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดฝ่ายโฆษณา บริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากผ่านไป 1 เดือนพรบ.ห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะการตีความในเชิงคอปอร์เรต ในทางปฏิบัติว่าสิ่งไหนสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในทางปฏิบัติกับผู้ประกอบการทุกค่าย
ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่าง อาทิ การทำโฆษณาในเชิงแบรนด์ คอร์ปอเรตได้ ชื่อ ไทยเบฟเวอเรจส์ สามารถทำได้ แต่กรณีสิงห์ คอเปอเรชั่น หรือบุญรอด บริวเวอรี่ ไม่สามารถทำได้ ความเป็นจริงคำว่า บริวเวอรี่ มีความหมายทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงกาแฟ น้ำผลไม้ ส่วนสิงห์ คอร์เปอเรชั่น จัดตั้งขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ทำตลาดต่างประเทศ ในทางกลับกันคำว่า”เบฟเวอเรจส์”สื่อถึงเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และไม่มีก็ได้
ในส่วนโลโก้และและสีภาครัฐต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน เช่น ไทยเบฟฯ สามารถใช้โลโก้ช้างสีขาว ส่วนไฮเนเก้นใช้ดาวแดง แต่สิงห์ไม่สามารถใช้โลโก้สิงห์สีเหลืองได้ เพราะถูกมองว่าสื่อถึงผลิตภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเพราะแบรนด์เบียร์สิงห์มีความแข็งแกร่ง จึงถูกสื่อไปถึงตัวเบียร์มากกว่า โดยได้ชี้แจ้งว่า กรณีโลโก้สิงห์มีขึ้นมากว่า 73 ปี ใช้เป็นโลโก้ของบริษัทกระทั่งปัจจุบัน แต่พอมีเบียร์สิงห์จึงใช้โลโก้สิงห์ และเขียนกำกับชื่อแบรนด์ว่า”สิงห์ (Singha)” ซึ่งจะสื่อถึงตัวผลิตภัณฑ์
ขณะนี้บริษัทเหลือป้ายโฆษณา 2 ป้าย ที่มีโลโก้สิงห์สีเหลืองติดอยู่อาคารเคพีเอ็น ที่ พระราม 9 และเซ็นทรัลเวิลด์ ในส่วนนี้บริษัทจะไม่ปลดป้ายลงภายหลังจากประกาศห้ามโฆษณาตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. นี้ ในกรณีอย.อนุญาติให้ไฮเนเก้นสามารถใช้ดาวแดงได้ ซึ่งบริษัทจะใช้ในทางกฎหมายต่อสู้ในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อยืนยันเจตนาว่า บริษัทต้องการให้ภาครัฐใช้พื้นฐานมาตรฐานเดียวกันในทางปฏิบัติ ส่วนแผนรองรับกรณีอย.ห้ามใช้ชื่อบริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น กับ บุญรอด บริวเวอรี่ อาจนำชื่อที่เป็นที่รู้จักมาใช้ อาทิ บุญรอด ฯลฯ หรือ บุญรอด คอเปอเรชั่น
ชี้โมเดลห้ามโฆษณาอินเดียคว้าน้ำเหลว
นายเอเดรียน พินโต้ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท สุลา วินยาร์ด ประเทศอินเดีย ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศอินเดีย เปิดเผยถึงกรณีประเทศไทยจากการประกาศของทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา หรือ ( อย.) ออกกฎหมายห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทโฆษณา 24 ชั่วโมงว่า จะไม่ส่งผลให้พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ลดลง เช่นเดียวกับประเทศอินเดียที่ห้ามเครื่องดื่มแอลกอออล์โฆษณามาหลายปี แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้คนดื่มลดลง ทั้งนี้มองว่าการที่กฎหมายจำกัดมากเกินไป ผู้บริโภคก็หันไปหาทางดื่มใหม่ๆ แทน
“เมื่อเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังการซื้อเพิ่มขึ้น ก็ต้องการออกมาดื่มเฉลิมฉลองมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการรณรงค์การดื่มไม่ขับมากกว่า เช่นเดียวกับอินเดียที่ภาครัฐมีการรณรงค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีสติ”
ดังนั้นในอินเดียจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณาใหม่ โดยแบ่งเป็น ปริมาณแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์และไวน์มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ ส่วนกลุ่มสปิริตก็จัดอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง โดยยกตัวอย่าง กฎหมายไวน์ที่ถูกแก้ไขแล้ว คือ สามารถโฆษณาในเชิงประสบการณ์ในการดื่มไวน์ และทำในรูปของการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ประกอบการสามารถโฆษณาการดื่มไวน์ในไร่องุ่น อุปกรณ์การผลิต บิลบอร์ดสามารถโฆษณาห้องผลิตไวน์ นอกจากนี้ยังลดการจัดเก็บภาษีจาก 100% เหลือเป็น 0% ในปัจจุบัน เพื่อให้อุตสาหกรรมขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตัวอื่นๆ อินเดียก็มีการผ่อนผันมาตรการที่เคร่งครัดลง โดยสามารถโฆษณาเครื่องหมายทางการค้าหรือโลโก้ได้ แต่ห้ามโชว์ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งนำมาตรการอื่นๆ มาใช้ควบคู่กัน อาทิ การจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น หรือกระทั่งการจดทะเบียนการค้าที่ยากมากขึ้น และมีการควบคุมกลไกราคาไว้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้กลยุทธ์ราคา อย่างไรก็ตามในอินเดียกลุ่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ก็เลี่ยงกฎหมายด้วยการนำโฆษณาสร้างแบรนด์ผ่านเพลงจากซีดีโดยแจกให้กับกลุ่มเป้าหมายมาใช้ เป็นต้น
กฎเหล็กกระทบอุตฯท่องเที่ยวอินเดีย
นายพินโต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่อินเดียมีกฎหมายห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหดตัวลง รวมไปถึงอุตสาหกรรมผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ล้มหายตายจาก แต่พอรัฐบาลเริ่มคลายกฎหมายที่เคร่งครัด ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมผลิตไวน์โตขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการองุ่นผลิตไวน์ เนื่องจากภาคการเกษตรกรรมคนในอินเดียประกอบอาชีพ 85% พอเศรษฐกิจประชาชนเริ่มดีขึ้น ก็ส่งผลให้คนภายในประเทศมีการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งมองว่าประเทศไทยและอินเดียที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นำเข้าไวน์อินเดียลุยไทยปลายปีนี้
นายเอเดรียน กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนนำเข้าไวน์จากประเทศอินเดียมาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับตัวแทนกระจายสินค้า คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม นี้ ช่วงแรกเจาะกลุ่มเป้าหมายร้านอาหารและร้านจำหน่ายไวน์ เป็นหลัก อย่างไรก็ตามมองว่ารัฐบาลไทยควรนำกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามดีกรีแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับอินเดียมาพิจารณาปรับใช้ และมองว่าตลาดไวน์ไทยควรทำควบคู่กับการท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐควรลดภาษีนำเข้าไวน์ที่จัดเก็บ 360% ลง เพื่อให้อุตสาหกรรมไวน์ขยายตัวได้มากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|