|
"แบงก์ชาติ"เผยบึ้มหาดใหญ่-รัฐประหาร ตัวการทำเศรษฐกิจใต้ชะงัก-การลงทุนอืด
ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 3 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว เป็นผลมาจากราคายางพาราที่ลดลง เช่นเดียวกับภาคประมงที่ยังซบเซา ส่วนภาคการเงินได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดหาดใหญ่ และการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ทำให้ผู้ประกอบการรอดูทิศทางการลงทุน ความต้องการสินเชื่อชะลอลง แต่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในฝั่งทะเลอันดามัน ส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชน และอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น ปี 2550 ไทยได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกระลอก
วานนี้( 6 พ.ย.)ที่สำนักงานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 ว่า เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ทั้งภาคการผลิตและการใช้จ่าย
ด้านการผลิต รายได้จากการขายพืชผลที่สำคัญขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากราคายางพาราที่ปรับลดลง ส่วนด้านประมงทะเลยังซบเซาต่อเนื่อง จากผลกระทบราคาน้ำมันและมาตรการที่เข้มงวดในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เรือทำประมงน้อย ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรืภาคใต้ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.8
ส่วนภาคอุตสาหกรรมโดยรวมขยายตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาส 2/2549 โดยปริมาณการส่งออกถุงมือยาง สัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็งลดลงร้อยละ 14.7 และ 1.3 ตามลำดับ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ผลผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 ขณะที่อุตสาหกรรมยางพารา ไม้ยางพาราและเฟอร์นิเจอร์ อาหารบรรจุกระป๋อง มีการผลิตเพิ่มตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแม้จะชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภาคใต้ 659,383 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33.0 ซึ่งอยู่ในช่วงกรีนซีซัน แม้จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เหตุระเบิดใน อ.หาดใหญ่ และการปฏิรูปการปกครองฯ ทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มยกเลิกกการเดินทางทันที และบางกลุ่มเลื่อนการเดินทางออกไปบางส่วนก็ตาม
นายพงศ์อดุล ยังกล่าวต่อถึงด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ว่า ไตรมาสนี้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย เนื่องจากราคายางชะลอตัวลงและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากแรงกดดันต่อการตัดสินใจลงทุนเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลง อัตราอกเบี้ยที่ทรงตัว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.4
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส2 ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.6 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามันและราคายางที่อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 แต่จำนวนรายลดลงร้อยละ 16.8 ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมี 11 โครงการ เป็นเงิน 3,413.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.7 และ 23.6 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การลงทุนใน จ.สงขลา
อย่างไรก็ตาม ในภาคการเงินได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดในย่านธุรกิจ อ.หาดใหญ่ และการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรอดูทิศทางเพื่อลงทุนในการประกอบธุรกิจ ทำให้ความต้องการสินเชื่อชะลอลง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2550 นายพงศ์อดุล กล่าวว่า หากพิจารณาจากปัจจัยบวก-ลบแล้ว ก็ยังคงขยายตัวด้านต่างๆ ในเกณฑ์ดี แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่สถานการณ์ความไม่สงบยังคงมีอยู่และส่งผลกระทบในหลายด้าน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หรือจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย
ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในภาคใต้ ได้แก่ สัญญาณทางการเมืองคลี่คลายชัดเจน ส่งผลให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณสร้างสภาพคล่องได้, อัตราดอกเบี้ยคงที่, รายได้เกษตรกรที่ยีงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินราคายางแผ่นรมควันน่าจะอยู่ในระดับ 65 บาท/กก. เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในช่วงไฮซีซัน นักท่องเที่ยวหวนกลับมาเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันมากขึ้น ประกอบกับมีเหตุการณ์น้ำท่วมภาคอื่นๆ อาจส่งผลดีให้ภาคใต้เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวแทน
"กรณีผลกระทบจากเหตุระเบิดกลางเมืองหาดใหญ่ เป็นเพียงระยะสั้น และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดูแลและสร้างความมั่นใจ ซึ่งในเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาแล้ว จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวของ จ.สงขลา" นายพงศ์อดุล กล่าวต่อและว่า
ส่วนปัจจัยลบที่ต้องพิจารณาและติดตาม ยังคงเป็นทิศทางของราคาน้ำมันดิบที่แม้ว่าจะอ่อนตัวลงในปลายปีนี้ แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะพุ่งสูงขึ้นอีกหรือไม่ ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีหน้านั้นคาดการณ์แล้วว่าจะเติบโตลดลงเหลือร้อยละ 4.6 ลดจากปี 2549 ที่เติบโตประมาณร้อยละ 5.3 ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|