|
ค่าปรับ ITV พุ่งเฉียดแสนล้าน ส่งอัยการฟ้องใน 2 สัปดาห์
ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ยอดค่าปรับไอทีวีล่าสุดพุ่งเกือบถึงแสนล้าน เผยคำนวณตั้งแต่ 1 เมษายน 47 ถึง 6 พ.ย. รวมเบ็ดเสร็จ 9.4 หมื่นล้าน ขณะที่บิ๊กไอทีวีสิงคโปร์โตกขอตั้งอนุญาโตตุลาการอีก อ้างเป็นข้อโต้แย้งใหม่ ยันจ่ายสัมปทานที่ค้างแค่ 770 ล้าน แถมคู่สัญญาต้องชำระเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย สปน.เสือปืนไวส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดตีความแล้ว ด้าน อสมท วุ่นไม่เลิก สหภาพขอเข้าพบนายกฯ นัดแต่งดำประท้วงบอร์ด สอดรับขาใหญ่ตลาดหุ้น "ก้องเกียรติ" อ้างต่างชาติไม่มั่นใจบอร์ดใหม่
นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แถลงภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการประสานงานกรณีสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก เรื่องค่าปรับผังรายการกรณีบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จัดผังรายการผิดไปจากในสัญญา นางศุภรานันท์ ตันวิรัช ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ตัวแทนไอทีวี อ้างว่า ฝ่ายเลขานุการที่ประชุมได้คำนวณค่าปรับในอัตราที่สูง และยังเป็นข้อโต้แย้งใหม่ในเรื่องของวิธีความคิด ดังนั้นจึงได้ยื่นขอตั้งอนุญาโตตุลาการใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯพิจารณาแล้วว่า เรื่องนี้จะยึดตามคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดเป็นหลัก คือ เรื่องนี้เมื่อศาลปกครองกลางได้ตัดสินแล้ว ทางบริษัทควรจะชำระค่าปรับทันที ดังนั้น สปน.จึงจะใช้สิทธิในการฟ้องร้องภายใน 1 ปี ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดรับไปพิจารณาต่อไปใน 2 สัปดาห์นี้
“ใกล้จะถึง 6 เดือนแล้วที่ สปน.จะต้องฟ้องไอทีวีตามที่อัยการสูงสุดให้ความเห็นมา และจากนี้ไป สปน.ก็จะทำหนังสือคู่ขนานสรุปไปถึงคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพื่อลงนามรับทราบ และแจ้งสำนักงานอัยการเพื่อดำเนินการ อย่างไรก็ตามล่าสุดจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ฝ่ายเลขานุการที่ประชุม ได้คำนวณค่าปรับรวมดอกเบี้ย จากรายได้ของไอทีวี 10% ต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ได้จำนวน 94,060 ล้านบาท โดยจะเป็นค่าปรับที่ไอทีวีต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยวันละ 100 ล้านบาท จากเดิมจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ค่าปรับรวมดอกเบี้ยคำนวณได้ 76,000 ล้านบาท”
ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องสัมปทานที่ไอทีวีค้างชำระเงินประกันค่าผลประโยชน์ตอบแทนนั้น บริษัทฯได้ทำหนังสือโดยจะขอชำระเงินประกันค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีที่ 11 จำนวน 770 ล้านบาท จากเดิมที่ไอทีวีจะต้องชำระถึง 1,440 ล้านบาท แต่ก่อนปีที่ 9 และ 10 ที่ไอทีวีค้างชำระ ได้ชำระมาเพียง 230 ล้านบาทเท่านั้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.นี้ โดยมีเงื่อนไขว่า หากศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินแล้วหากจำนวนค่าสัมปทานน้อยกว่าเดิม ทาง สปน.จะต้องคืนเงินให้ไอทีวี ซึ่งหากคืนล่าช้าก็จะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับทางบริษัทฯ
“เรื่องนี้จะหารือกับกระทรวงการคลังกรณีที่บริษัทฯ ใช้คำว่าขอชำระเงินประกันค่าผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะนี้ทางฝ่ายราชการสามารถจะปรับได้หรือไม่ หากราชการรับเงินประกันไม่ได้ วิธีการจะทำอย่างไร โดยเฉพาะวิธีการคืนเงินให้ไอทีวี ก็จะคืนตามกำหนดหรือเสียค่าอะไรให้ไอทีวี ก็จะหารือว่าเงินประกันค่าผลประโยชน์ตอบแทนจะยังไม่ต้องส่งได้หรือไม่ แต่อาจจะทำให้ลักษณะการเปิดบัญชีเงินฝากเอาไว้ ก็จะทำให้ได้รับดอกเบี้ย”
ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่นายศาตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นฟ้อง สปน.ต่อศาลปกครอง ในกรณีที่ระบุว่า สปน. ละเลยการซื้อขายหุ้นกรณีกลุ่มเทมาเส็ก ซื้อหุ้นบริษัทไอทีวี จากเครือชินคอร์ปปอชั่น จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า สัดส่วนของคนไทยที่ถือหุ้นน้อยกว่าคนต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนดนั้น เรื่องนี้ สปน. ขอชี้แจงว่า ไม่ได้ละเลย เมื่อสปน.รับทราบข่าวจากซื้อขายหุ้นจากสื่อมวลชน สปน.ได้จัดทำหนังสือเพื่อสอบถามไปยังบริษัทไอทีวี ตามที่สัญญาระบุว่า สปน.สามารถสอบถามไว้ก่อน โดยได้คำตอบว่า บริษัทฯมีหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทย ร้อยละ 93.86 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดอยู่บ้างแล้ว และมีผู้ถือหุ้นต่างด้าวเพียง ร้อยละ 6.11 เท่านั้น ดังนั้นบริษัทไอทีวี จึงมีสภาพเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัทมหาชน และมีสัญชาติไทย
อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับคำตอบจากไอทีวี สปน.ยังได้สอบถามไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และเมื่อได้รับคำตอบ สปน.ก็ยังไม่สามารถพิจารณาตรวจสอบได้ว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัท(หลังเทมาเส็กขายหุ้น) เป็นไปตามสัญญาหรือไม่ เพราะยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนั้นยังสอบถามไปยังศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทราบว่า ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 พบว่า ผู้ถือหุ้นของไอทีวี ประกอบด้วย บริษัทซีด้า โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย ถือหุ้นร้อยละ 51.98 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย ถือหุ้นร้อยละ 44.14 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และตรวจสอบเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 พบว่า ถือหุ้นโดยบริษัทชินคอร์ปปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สัญชาติไทย ร้อยละ 52.93 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด เรื่องนี้จะมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้จัดพนักงานอัยการพิจารณาจัดทำคำให้การ แก้คำฟ้องแล้ว โดยส่งไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549
**ธีรภัทร์ยันไม่ยุ่งปรับผังช่อง 9
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล อสมท กล่าวถึงกรณีที่ผู้บริหารชุดใหม่เตรียมปรับผังรายการของทางสถานีว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นผังรายการใหม่ ต้องปล่อยให้คณะกรรมการฯเป็นผู้ดำเนินการ เพราะตนคิดว่าอสมท.มีการประชุมผู้ถือหุ้นและเลือกกรรมการอสมท.ไปแล้ว
“สิ่งที่เราต้องการคือต้องการสร้างสังคม อุดมปัญญา อสมท.ก็มีวิสัยทัศน์ดังกล่าว ขณะเดียวกันผลประกอบการก็เป็นเรื่องสำคัญผู้บริหาร พนักงานของอสมท.จะต้องช่วยกันเพื่อนำพาองค์กรนี้ไปสู่สังคมอุดมปัญญา” นายธีรภัทร กล่าว
สำหรับเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จะผิดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่นั้นจะต้องมาพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ โดยในเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นขัดแย้งเชิงสังคม
**"อสมท" ยังวุ่นไม่เลิก
ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ออกแถลงการณ์ถึงผลการประชุมว่า สหภาพมีมติเรียกร้องให้ คณะกรรมการและผู้บริหาร อสมท แสดงความชัดเจนในแนวนโยบายการบริหารงาน และสร้างความชัดเจน โดยการเปิดประชุมเพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อพนักงานให้เร็วที่สุด
ในวันนี้ ตัวแทนสหภาพแรงงานฯจะเดินทางไปพบนายธีรภัทร์ เพื่อขอคำชี้แจงถึงนโยบายของรัฐต่อ อสมท พร้อมเสนอความเห็นในการปรับปรุง อสมท ต่อไป ส่วนพนักงาน อสมท นัดกันแต่งชุดดำเพื่อประท้วงและไว้ทุกข์ให้กับนโยบายของคณะกรรมการ อสมท ชุดใหม่ นอกจากนี้ พนักงานจะขอเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงเหตุผลการคัดค้านนโยบายของบอร์ดอสมทพร้อมกับเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนบอร์ดอสมท รวมทั้งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของอสมท
ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ กลุ่มผู้บริหารของเอไอเอ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของ บมจ.อสมท ได้เข้าพบกับผู้บริหารของอสมท เพื่อขอความชัดเจนถึงแนวทางและนโนยบายของอสมทจากนี้ว่าเป็นอย่างไร โดยผู้บริหาร อสมท ที่ร่วมพบด้วยคือ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อีก 3 คนคือ นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ นายสิทธิศักดิ์ เอกพจน์ และนางอรัญรัตน์ อยู่คง
**บิ๊กตลาดหุ้นอ้างฝรั่งไม่เชื่อมั่น
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ อสมท ว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายของคณะกรรมการฯ ชุดใหม่แบบต่างจากทีมผู้บริหารชุดเดิม ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจสะท้อนให้ได้ชัดเจนจากการเทขายหุ้นออกมา แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะได้มีการเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศหลายครั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยราคาหุ้นของ อสมท ที่ลดลงไปกว่า 40% ทำให้นักลงทุนรายย่อยได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก รวมทั้งความเสียหายของภาคประชาชนผ่านการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน ซึ่งสัดส่วนรวมกันกว่า 77%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|