เตือนค่าเงิน-ตลาดหุ้นยังผันผวนสภาพคล่องหด-ผลนโยบายดอกเบี้ยสูง


ผู้จัดการรายวัน(6 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเตือนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหลักทรัพย์ยังมีความผันผวน จากสัญญาณสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่เริ่มตึงตัวขึ้น เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดในบางประเทศที่ยังไม่ยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะญี่ป่น และยุโรป อาจทำให้เกิดกระแสการโยกเงินออกจากตลาดเกิดใหม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนต.ค. 2549 ธปท.ได้ออกบทความเรื่อง “สภาพคล่องของเศรษฐกิจโลก” โดยบทความดังกล่าวระบุว่าในช่วงกลางเดือนพ.ค.-กลางเดือนมิ.ย. 2549 ที่ผ่านมาตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economices : EMEs)ต้องประสบกับภาวะการไหลออกของเงินทุนเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศเปลี่ยนการถือครองสินทรัพย์ใน EMEs ที่มีผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูงกว่าไปถือครองสินทรัพย์ในตลาดหลักที่มีสภาพคล่องมากกว่า ซึ่งการไหลออกของเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ EMEs 6 แห่งของเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีจำนวนสูงถึง 13 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 15.3%ของเงินทุนไหลเข้าสะสมทั้งหมดตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนในค่าเงินและตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเงินทุนจะไหลกลับเข้ามายัง EMEs ตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย. 2549 ที่ผ่านมา แต่อัตราการไหลเข้าก็ชะลอลงกว่าช่วงต้นปี โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความกังวลว่า การลงทุนใน EMEs ที่สะสมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนมีสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดหลักได้สูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่าง EMEs และตลาดหลักอาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่ลดลง กล่าวคือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดทำให้นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินของโลกเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปโดยเฉพาะ EMEs ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปริมาณการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ ผลกระทบของภาวะสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีต่อภาวะการเงินของประเทศดังกล่าว ทำให้สภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าว ระบุว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับวัฏจักรสภาพคล่องของเศรษฐฏิจโลก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนจากการปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นจาก 1%ต่อปี ในช่วงกลางปี 2547 มาเป็น 5.25% ต่อปีในปัจจุบัน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของยุโรปก็ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2% ต่อปี ในช่วงปลายปี 2548 มาเป็น 3.25% ต่อปี

สำหรับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งเช่นกันในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากผลกระทบด้านราคาน้ำมัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในช่วงที่นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น สภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกก็ลดน้อยลงเช่นกัน โดยอัตราการขยายตัวของปริมาณเงิน M2 ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงจาก 9% .ในปี 2547 มาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2549 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มสูงขึ้นไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ส่งผลไปสู่การลดลงของสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวขึ้นต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่ยังยุติในบางประเทศโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญในช่วงหลายปีหลังและกลุ่มประเทศยุโรปทำให้ตลาดการเงินยังคงมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้สหรัฐฯก็ยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน ซึ่งหากสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะตึงตัวต่อเนื่องในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใน Risk Aversion ของนักลงทุนอาจส่งผลให้ความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นงทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องคำนึงถึงผลกระทบของความผันผวนดังกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.