สตง.งงแบงก์กรุงไทยจ่ายอ่วมทุ่ม10ล้านบ.เลิกจ้างรองเอ็มดี


ผู้จัดการรายวัน(6 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สตง.กังขาแบงก์กรุงไทยมีคำสั่งเลิกจ้าง “สถิต จูพัฒนกุล” รองเอ็มดีแต่กลับประเคนเงินกว่า 10 ล้านบาท หวั่นอาจผิดตามวินัยทางงบประมาณและการคลัง มติบอร์ดระบุพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก้าวร้าว และผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์ วงในเผยหัวแข็ง ไม่สนองคำสั่งเครือข่ายทักษิณที่ยั้วเยี้ยในบอร์ดจนต้องโดนเขี่ยทิ้ง ทั้งๆ ที่ผลประเมินKPI มาเป็นที่ 1

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 18/2549(681) โดยมีมติให้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสถิต จูพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานเครือข่ายนครหลวงโดยจ่ายเงินตามสัญญาจ้างรวมทั้งเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 เป็นต้นไป โดยจ่ายเงินค่าตอบแทนรวมทั้งสิ้น 10,020,300 บาท เป็นเงินเดือนจ่ายล่วงหน้า 12 เดือนและเงินชดเชยตามกฎหมายอีก 3 เดือน

ซึ่งสตง.จะดำเนินการตรวจสอบการเลิกจ้างดังกล่าวว่าทำให้ธนาคารและผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับความเสียหาย และอาจมีความผิดตามวินัยทางงบประมาณและการคลังได้ ทั้งนี้สตง.ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติเลิกจ้างนายสถิตแล้วยังต้องจ่ายเงินสูงถึง 10 ล้านบาท

โดยในรายงานการประชุมของคณะกรรมการธนาคารระบุว่านายสถิต มีพฤติกรรมที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารระดับสูง ประพฤติตนก้าวร้าว ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้วาจาไม่เหมาะสมสั่งห้ามผู้ใต้บังคับบัญชาให้ความร่วมมือกับสายงานอื่นภายในองค์กรเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ ก่อให้เกิดความแตกแยกและขาดสามัคคี ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสียขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

จนกระทั่งมีผู้บริหารระดับสูงและผู้ใต้บังคับบัญชาอีกหลายระดับในสายงานไม่ยอมรับในพฤติกรรมและไม่ต้องการร่วมปฏิบัติงานด้วย ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรโดยรวม กรรมการผู้จัดการผู้บังคับบัญชาโดยตรงได้เรียกนายสถิต มาว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาหลายครั้งให้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมให้ดีขึ้น เพื่อมิให้เกิดความเสียหายโดยรวมต่อพนักงานและธนาคาร แต่นายสถิต ก็ยังมิได้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้น แต่ยังคงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นเดิม

นอกจากนี้ผลการปฏิบัติงานตามเกณฑ์ KPI ของสายงาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายสถิต ก็ไม่เคยผ่านเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดจนต้องมีการปรับปรุงแก้ไข และแม้ต่อมาผลงานKPI จะดีขึ้น แต่ทางด้านการบริหารจัดการก็ยังปรากฏว่าผลการประเมินความร่วมมือและการประสานงานระหว่างสายงานต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาโดยตลอด ผู้บริหารสายงานอื่นไม่อยากยุ่งเกี่ยวและติดต่อประสานงานด้วย

ดังนั้นหากยังให้นายสถิต ปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปและปล่อยให้อยู่ในสภาวะเช่นนี้ในการปฏิบัติงานก็จะส่งผลกระทบและความเสียหายต่อการดำเนินงานและภาพลักษณ์โดยรวมของธนาคาร และโดยที่มีแนวโน้มไปในทางลบมากขึ้นเป็นลำดับ ฝ่ายบริหารจึงมีความเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขโดยให้มีผลเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว

โดยเห็นควรเลิกจ้างนายสถิต แม้จะต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อเลิกจ้างก็คุ้มค่าทั้งในแง่ของการบริหารจัดการ การรักษาขวัญและกำลังใจของพนักงาน และการไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรกับการดำเนินคดีในศาลจึงเห็นควรเลิกจ้างในทันที โดยจ่ายเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า การที่นายสถิตถูกเลิกจ้างจากธนาคารโดยมติบอร์ดนั้นเนื่องจากเขาเป็นคนที่หัวแข็งไม่ยอมทำตามคำสั่งของบอร์ดซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจากบุคคลใกล้ชิดของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยทั้งสิ้น ซึ่งจากการประเมินผลการปฏิบัติงานตามเกณฑ์KPIนั้น นายสถิตก็อยู่ในอันดับต้นๆ มาโดยตลอดและเป็นที่ 1 หลายครั้ง แต่ไม่ยอมทำตามใบสั่งการเมืองจึงเป็นเหตุให้ถูกบอกเลิกจ้างดังกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.