|
พลัสฯ ผงาด! ครอบคลุมทุกธุรกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หากเอ่ยชื่อพลัส พร็อพเพอร์ตี้ พาร์ทเนอร์ จำกัด หรือเมธา จันทร์แจ่มจรัส หลายคนอาจยังไม่คุ้ยเคย แต่หากเอ่ยโครงการคอนโดวันฯนั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความสำเร็จจากการทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนหลายล้านบาทอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน และทุกวันนี้คนเริ่มจะรู้จักพลัสฯมากขึ้นด้วยสัญลักษณ์ที่เน้นสีแดงสดใส ทำให้คนจดจำง่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของพลัสฯ
ความโดดเด่นและความสำเร็จของพลัสฯ ส่วนใหญ่มาจากเมธา จันทร์แจ่มจรัส เอ็มดี แห่งพลัสฯซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้จบสายตรงด้านการตลาด แต่ก็สามารถสร้างชื่อเสียงของพลัสฯให้เป็นรู้จักและยอมรับในวงการอสังหาริมทรัพย์ จนก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจรับบริหารโครงการและอาคาร รวมถึงรับบริหารการขาย ทั้งที่ตัวเมธา เรียนจบด้านการเงิน และที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการเงินและการบริหารมาอย่างโชกโชนเท่านั้น
พลัสฯเป็นบริษัทลูกของแสนสิริ ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ พัฒนาโครงการเพื่อขาย ,นายหน้าหรือโบรกเกอร์และรับเป็นที่ปรึกษาด้านการขาย ซึ่งมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมระดับกลาง และทาวเฮาส์ระดับกลาง-บน
การเป็นโบรกเกอร์ขายอสังหาฯนั้น พลัสฯได้แยกย่อยออกเป็นการรับบริหารงานขายให้กับบริษัทแม่คือบริษัทแสนสิริ ทั้งคอนโดฯ บ้านเดี่ยวและทาวเฮาส์ ในขณะเดียวกันก็รับบริหารงานขายทั่วๆไป
ส่วนธุรกิจการเป็นที่ปรึกษา พลัสฯจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เริ่มตั้งแต่วางแผน ศึกษา และวิเคราะห์กลุ่มเป้หมาย ตลอดจนทำการตลาด
ทั้งนี้การทำธุรกิจจัดสรรต่างๆย่อมมีคู่แข่งทั้งที่รายใหญ่รายเล็ก ซึ่งคู่แข่งของพลัสฯในกลุ่มทาวเฮาส์ คือ เอเชี่ยน, ศุภาลัย ,แลนด์แอนด์เฮาส์ และยังไม่รวมคู่แข่งที่เป็นรายย่อยอีกกว่าร้อยราย ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมมี LPN ,ศุภาลัยและเอเชี่ยนที่ลงมาเล่นตลาดคอนโดฯ ระดับกลาง
ส่วนธุรกิจรับการบริหารงานขายนั้น เป็นธุรกิจค่อนข้างจะกระจัดกระจาย เนื่องจากมีผู้ที่ให้บริการค่อนข้างมาก ซึ่งพลัสฯเองเป็นมาร์เก็ตแชร์ลีดเดอร์ที่มีจำนวนโครงการในมือมากถึง 105 แห่ง มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 15% ส่วนที่ 2-3 ก็จะเป็นรายย่อยๆที่ทุนจดทะเบียนไม่มากประมาณ 5-10 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 7-8%
การดำเนินธุรกิจทุกอย่าง เมธากล่าวว่า ต้องวางแผนการบริหารงานให้รอบครอบทั้งด้านการเงิน การบริการที่ให้สอดคล้องกับลักษณะขององค์กร ซึ่งหากมีการวางแผนทางด้านการเงินที่ดี จะมีจุดแข็งกว่าบริษัทที่ไม่มีการวางแผนด้านการเงินอย่างจริงจัง
แบรนด์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
แบรนด์นั้นสำคัญอย่างไร? เป็นคำถามที่ผู้ทำธุรกิจต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าของตัวเองเป็นที่รู้จัก และเป็นที่จดจำของลูกค้าตลอดไป โดยพลัสฯเองเริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่องแบรนด์จริงจังเมื่อ 2 ปีก่อน คือมีการวางแผนประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แบรนด์อาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับที่ 1,2 หรือ 3 เพราะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ความสำคัญอันดับที่ 1-2 คือ โลเคชั่นและราคา ส่วนแบรนด์นั้น ความสำคัญอยู่ที่อันดับหลังๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
“ ทุกวันนี้เราพยายามบอกว่าแบรนด์ช่วยทำให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น คือถ้ามีของให้เลือกน้อยหรือมาก แน่นอนจำนวนคนที่คิดจะเลือกซื้อส่วนหนึ่งจะมาจากตัวสินค้าหรือแบรนด์ ซึ่งในตัวแบรนด์นั้นสามารถแปลเป็นความเชื่อมั่นในตัวบริษัท เชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าแต่ถ้าสินค้าใดแบรดน์ไม่มีหรือไม่มีคนรู้จักสินค้านั้นก็จะไม่ได้รับความสนใจ”
สำหรับพลัสฯเองมีเทคนิคในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำคือการสร้างแบรนด์ให้แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งพลัสฯต้องทำให้คนรู้สึกว่าแบรนด์เป็นอะไรที่ตอบสนองชีวิตของคนกรุงฯทันสมัย เช่น พนักงานของพลัสฯทุกคนจะได้รับการอบรมถึงงานบริการ มีการพูดจาดี มีสัมมาคารวะ แต่งกายดี สดใสให้เข้ากับแบรนด์ที่วางไว้ ทั้งนี้หากเราแต่งกายไม่ทันสมัยแบบเดิมๆดูไม่เข้ากับแบรนด์กับสินค้าคนก็ไม่ให้ความสนใจ
“ผมมองเรื่องแบรนด์ว่าเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะหากวันใดที่เราหยุด คนก็จะลืม แบรนด์ก็เหมือนสิ่งมีชีวิต เราต้องตอกย้ำผู้บริโภคตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ได้อยู่ที่บริษัทอย่างเดียวแต่มันหมายถึงคู่แข่งในตลาดด้วย ดังนั้นผมมองว่ายังไงแบรนด์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการบริหารงาน”
การเข้ามารับงานบริหารงานที่ต้องดูแลพนักงานนับพันคน เมธา ยอมรับว่า การทำงานทุกอย่างอาจไม่เต็ม 100% แต่ดูเหมือนผู้บริหารระดับสูงอย่างเมธา จะไม่ยอมแพ้พยายามที่จะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ทั้งองค์กรและบุคคลให้น่าเชื่อถือมากที่สุด ซึ่งจากการที่ทุ่มเทก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาจากลูกค้าที่เข้าเยี่ยมโครงการ แต่ยอมรับเสียงวิจารณ์ ด้านลบก็มีตามมาบ้าง ซึ่งจะพยายามแก้ไขให้เหลือจุดบกพร่องน้อยที่สุด
ส่วนยอดรายได้ปีที่ผ่านมาพลัสฯสามารถทำได้แบบก้าวกระโดด คือในปี 2547 มีรายได้1,200 ล้านบาท และในปี 2548 มีรายได้แบบคูณสองอยู่ที่ 2,450 ล้านบาท ส่วนในปี 2549 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,100ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี2548 ประมาณ 20% ซึ่งมีรายได้จากการขายโครงการ 85% และอีก 15% มาจากค่าธรรมเนียมที่ได้จากการรับบริหารงานโครงการและธุรกิจโบรกเกอร์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|