ปฏิบัติการรุกตลาด "ดีแทค"โมเดลใหม่ทั้งพรีเพด-โพสต์เพด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ดีแทค" กับสองปฏิบัติการสร้างโมเดลใหม่ทางธุรกิจให้กับระบบพรีเพดและโพสต์เพด กลยุทธ์เชิงรุกที่ใช้โต้ตอบคู่แข่งขันด้วยไอเดียรูปแบบใหม่ที่พร้อมตอบสนองกลุ่มลูกค้าอย่างแตกต่าง และไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้นอย่างรุนแรงจากสงครามราคารอบใหม่

ตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยในช่วงนี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงไม่เฉพาะแต่การเปิดสงครามราคาโทร.ราคาถูกใส่กันเท่านั้น แต่ยังมีการสรรหากลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่มาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ดีแทค ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการอันดับที่สองในตลาด ที่ผ่านมาประสบกับการแข่งขันที่ต้องคอยไล่ตามคู่แข่งขันเบอร์หนึ่งอย่างเอไอเอส และหนีการไล่ตามของทรูมูฟ คู่แข่งขันอันดับที่สาม ทำให้วงการมือถือมักจะเห็นสิ่งแปลกใหม่จากการตลาดของดีแทคเสมอมา และในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ ดีแทคได้สร้างสีสันใหม่ให้กับโมเดลธุรกิจทั้งระบบพรีเพดและโพสต์เพด ด้วยการจัดกิจกรรมทางการตลาดและเปิดแคมเปญใหม่ที่น่าจับตาอย่างมาก

ในการทำตลาดพรีเพดใหม่ของดีแทคนั้น ได้มีการเปิดตัว "ซิมม่วนซื่น" ซึ่งถือเป็นการทำตลาดโลคัลเซกเมนต์ครั้งแรกของดีแทค หลังจากที่เอไอเอสได้มีการเปิดตัว "สวัสดีอีสาน" ไปก่อนหน้านี้ แต่การเปิดตัว "ซิมม่วนซื่น" ของดีแทคในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีส่วนคล้ายคลึงกับการสวัสดีอีสานของเอไอเอส ที่เป็นบริการสำหรับคนภาคอีสานใน 19 จังหวัดโดยเฉพาะ แต่ดีแทคได้มีการเพิ่มเติมแพกเกจนี้ให้มีจุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งขัน

โปรโมชั่นของซิมม่วนซื่นนี้ คิดอัตตราค่าโทร.นาทีละ 1 บาทสำหรับการโทร.เข้าหาหมายเลขในเครือข่ายเดียวกัน และนาทีละ 2 บาทถ้าเป็นการโทร.ข้ามเครือข่ายนาน 1 ปีหลังจากที่ดีแทคได้มีการลงทุนขยายสถานีฐานในภาคอีสานประมาณ 600 แห่งต่อเนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา

พื้นที่ภาคอีสานถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่มีประชากรอยู่ถึง 21 ล้านคน จึงทำให้ผู้ให้บริการมือถือทุกรายต้องการเข้าไปช่วงชิงตลาดนี้มาเป็นของตนเองให้ได้ ที่ผ่านมาเอไอเอสถือได้ว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด ประมาณ 50-60% และการที่เอไอเอสออกสวัสดีอีสานมาก่อนหน้านี้เพื่อเป็นการต่อยอดขยายฐานลูกค้าและรักษาฐานลูกค้าเดิมของตนเองเอาไว้

อย่างไรก็ตามเป้าหมายการรุกตลาดภาคอีสาน ด้วยการใช้ซิมม่วนซื่นรุกตลาดอีสานในครั้งนี้ ดีแทคตั้งเป้าหมายที่จะได้ลูกค้า 1 ล้านเลขหมายภายใน 1 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดภาคนี้ประมาณ 30-35% จากที่ปัจจุบันดีแทคมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 20%

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค คิดการบุกตลาดในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย โดยจะใช้โมเดลของซิมม่วนซื่น เป็นพื้นฐานในการสร้างบริการในภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป ซึ่งแต่ละภาคจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป

"ในปีหน้าเราจะบุกภาคเหนือด้วยแนวคิดนี้เช่นกัน โดยมีชื่อในใจไว้แล้วคือซิมม่วนอกม่วนใจ๋ ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า แฮปปี้"

งานนี้ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ "ซิมม่วนซื่น" ต่อไปว่าจะโดนใจคนภาคอีสานมากน้อยเพียงไร เพราะงานนี้ดีแทคไม่ใช่เพียงขายของถูกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเดินเกมขนานไปกับการทำกิจกรรม ที่สำคัญเป็นการลงพื้นที่จริงของทีมผู้บริหารที่ขนสื่อมวลชนจำนวนมากไปร่วมสัมผัสจริงถึงพื้นที่มาแล้ว

ดีแทคโพสต์เพดไลฟ์แคร์ขอเป็นครอบครัวกับลูกค้า

ในด้านการทำตลาดโพสต์เพดนั้น ดีแทคได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ไม่เฉพาะกับวงการโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ให้กับวงการประกัน ด้วยการร่วมมือกับเมืองไทยประกันชีวิต เปิดตัว "ดีแทค โพสต์เพด ไลฟ์แคร์" ซึ่งเป็นการทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มให้กับลูกค้าดีแทค 1.2 ล้านคน ทุนประกันสูงเป็นประวัติศาสตร์ 1.25 แสนล้านบาท ถือเป็นการสร้างความผูกพันระยะยาวให้กับลูกค้าอยู่กับแบรนด์ดีแทคด้วยความพึงพอใจสูงสุด และยังถือเป็นการเปิดแนวรบใหม่การตลาดมือถือนอกจากการเล่นเฉพาะเรื่องของราคา

โครงการดีแทค โพสต์เพด ไลฟ์แคร์ จะดูแลลูกค้าระบบโพสต์เพดดีแทคที่มีอายุการใช้งานนานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 1.2 ล้านราย โดยวงเงินคุ้มครองจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือผู้ที่เป็นลูกค้าโพสต์เพดในระยะเวลา 1.5 ปี จะได้รับวงเงินประกัน 5 หมื่นบาท ลูกค้าตั้งแต่ 5-10 ปี ได้รับวงเงินคุ้มครอง 1 แสนบาท และลูกค้าตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับวงเงินคุ้มครองสูงสุดถึง 5 แสนบาท แคมเปญนี้จะเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป โดยลักษณะการคุ้มครองจะเป็นปีต่อปี

การที่ดีแทคพัฒนากลยุทธ์ใหม่ในครั้งนี้ เนื่องจากดีแทคมองว่าลูกค้าโพสต์เพดเป็นลูกค้าชั้นดีที่มีการใช้จ่ายต่อเดือนจำนวนมาก ในขณะที่อุตสาหกรรมมือถือมีการแข่งขันสูง เมื่อถึงวันที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีความเท่าเทียมกันเรื่องเครือข่าย หรือการให้บริการ สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายคือการสร้างความพึงพอใจในรูปแบบความห่วงใยให้เกิดขึ้นกับลูกค้า

"กลยุทธ์ของเราครั้งนี้เป็นมากกว่าการรักษาลูกค้าแบบซีอาร์เอ็ม และเป็นยิ่งกว่าอีโมชันนอลมาร์เกตติ้ง แต่เป็นการสร้างความผูกพันแบรนด์ดีแทคให้เกิดกับลูกค้าระยะยาว" เป็นคำกล่าวของ สันติ เมธาวิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค และว่า

"เราถือเป็นผู้ให้บริการมือถือรายแรกที่ทำประกันกลุ่มนับล้านคนให้กับลูกค้า และเราไม่ได้มองว่าลูกค้าใหม่จะเพิ่มมากขึ้น แต่ดีแทคต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นการสร้างความผูกพันระยะยาวมากกว่า"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.