เบียร์จีนบุกตีตลาดน้ำเมาไทย “ชิงเต่า”ฮิตในกลุ่มนักท่องเที่ยว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมโฆษณาธุรกิจฯ คาดการควบคุมโฆษณาแอลกอฮฮล์ในไทย จะทำให้เบียร์ถูกจากจีนตีตลาดไทยกระจุยภายใน 5 ปี ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยต้องปรับราคาสู้ ส่วนผู้ผลิตรายเล็กตายหมดเพราะสู้ต้นทุนต่ำไม่ไหว เผยขณะนี้ “เบียร์ชิงเต่า” เบียร์อันดับ 1 ในจีนเข้ามาเจาะตลาดไทยแล้ว คาดในไม่ช้าเบียร์จีนทุกมณฑลจะแข่งกันเข้าไทยเพียบ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้เบียร์จีนมีกว่า 500 ยี่ห้อ ราคาถูกกว่าน้ำอัดลม

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ประกาศห้ามมิให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเตรียมจะออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ขึ้นมาเพื่อหวังลดจำนวนผู้ดื่มแอลกฮอล์ในประเทศไทยให้น้อยลงนั้น ได้ทำให้เกิดข้อวิพากษ์ว่าต่อไปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์สัญชาติมังกรจะตีตลาดไทยกระจุย...

หวั่นเบียร์จีนครองตลาดไทยใน 5-6 ปี

วิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการหารือกันในสมาคมโฆษณาธุรกิจ พบว่า สุดท้ายแล้วการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกฮอล์หรือ เหล้าเบียร์ในไทยนั้นอาจจะไม่สามารถลดจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในไทยได้น้อยลงได้จริง เพราะว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ตลาดแอลกอฮอล์ราคาถูกเติบโตสูงขึ้น ที่สำคัญคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศจีนที่มีราคาถูกมากเข้ามาตีตลาดไทย

“ตอนนี้เบียร์ชิงเต่าซึ่งเป็นเบียร์ชั้นนำในตลาดจีนได้เข้ามาในไทยแล้ว ซึ่งหลังจากเสียภาษีแล้วเขาขายได้ในราคาขวดละ 30 กว่าบาท และกระป๋องละ 15 บาท ซึ่งหลังจากการทำ FTA ไทย-จีน ที่จะมีการลดภาษีให้เหลือ 0% ในอีก 5 ปี สำเร็จ นั่นหมายความว่าเบียร์ชิงเต่าจะสามารถขายในไทยได้ในราคาถูกกว่านี้อีก ซึ่งคาดว่าจะขายดีเพราะราคาถูกและคนกลุ่มที่จะมาซื้อก็จะลงไปอยู่ที่กลุ่มเยาวชนมากขึ้น”

ขณะที่เหล้าเบียร์ในไทยแต่เดิมมีจุดแข็งที่มีการสร้างแบรนด์สินค้าจนแข็งแกร่งยากที่จะให้เหล้าเบียร์ราคาถูกจากต่างประเทศเหล่านี้มาตีตลาดได้โดยตลอด เพราะคนจะเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์เป็นหลัก เพราะจะมีความโก้ความเก๋ในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบนด์นั้น ๆ แต่การออกกฎห้ามโฆษณาของอย.ดังกล่าวจึงจะทำให้บริษัทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยค่อย ๆ ล้มตายไป เพราะผู้บริโภคจะเลิกสนใจเรื่องภาพลักษณ์แต่จะเน้นบริโภคจากราคาที่ถูกเพียงอย่างเดียวแทน

“ตรงนี้คือผลกระทบ ชี้ให้เห็นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา คำถามก็คือภาครัฐได้เตรียมการรองรับไว้มากน้อยแค่ไหน”

นอกจากนี้ยังคาดว่าอีก 5-6 ปีข้างหน้า เหล้าเบียร์จากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนจะเข้ามาไทยหลายยี่ห้อมากขึ้น เพราะแต่ละมณฑลของจีนก็มีเบียร์หลายยี่ห้อ ซึ่งผลจาก FTA จะทำให้บริษัทเบียร์เหล่านี้แข่งกันนำสินค้าเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการบีบให้บริษัทสินค้าแอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทย หันมาออกสินค้าแบรนด์ใหม่ ๆ เน้นสินค้าราคาถูกลง เพื่อสู้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากจีนที่เตรียมจะทะลักเข้าไทยจำนวนมาก และมีราคาถูก ส่วนบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายเล็กในประเทศไทย สุดท้ายก็จะค่อย ๆ ล้มตายไปหมด เพราะสู้ต้นทุนราคาถูกของจีนไม่ได้

เบียร์เมืองจีนราคาถูกกว่าน้ำอัดลม

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนคนหนึ่งกล่าวว่า เบียร์ในประเทศจีนนั้นมีจำนวนมาก หลายแบรนด์หรือหลายยี่ห้อ เท่าที่ทราบทุกเมืองของจีนจะมีการผลิตเบียร์ เมืองละ 2-3 ยี่ห้อ ซึ่งเมื่อรวมทั้งประเทศแล้วจีนมีการผลิตเบียร์มากกว่า 500 ยี่ห้อ ซึ่งมีราคาถูกมาก คือประมาณ 2-3 หยวน (10-15 บาท) เท่านั้น

“เบียร์ในจีนมีการลงทุนไม่สูง ราคาถูกมากจนเป็นที่รู้กันทุกวันนี้ว่ามีราคาถูกกว่าน้ำเปล่าบรรจุขวด และถูกกว่าน้ำอัดลม ซึ่งสามารถซื้อหาบริโภคได้ง่ายคือในห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง อย่างเบียร์ชิงเต่า ซึ่งเป็นเบียร์ของบริษัทเอกชนของจีน มีสัดส่วนการตลาดมากกว่าแบรนด์อื่น ๆ ในจีนทั้งหมด ยังมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 2.5 หยวนเท่านั้น”

ชิงเต่าพร้อมรุกตลาดไทยเต็มตัว

สำหรับเบียร์ชิงเต่า ได้มีการประกาศความพร้อมเข้ามารุกตลาดไทยอย่างเต็มตัว โดยบริษัทแม่จากทางจีน คือบริษัท ชิงเต่า บริวเวอรี่ จำกัด (Tsingtao Brewery Co.,Ltd.) ได้มาตั้งบริษัทลูกในไทย คือบริษัท ชิงเต่า มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) เป็นผู้นำเข้าและทำการตลาด และมอบหมายให้บริษัทล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง เป็นตัวแทนจำหน่ายในตลาดต่างจังหวัด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเบียร์ชิงเต่าถือเป็นเบียร์อันดับ 1 ในจีน และมียอดขายสูงสุดในบรรดาเบียร์นำเข้าในประเทศกลุ่มยุโรปและอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี แคนาดา ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเลเซีย

แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคในเมืองไทยจะยังไม่รู้จักแบรนด์ชิงเต่ามากนัก แต่ชิงเต่ากลับเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่เดินทางมาเมืองไทยจำนวนมาก จึงเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเบียร์ชิงเต่าในการใช้เมืองไทยเป็นช่องทางขายช่องทางหนึ่ง ขณะเดียวกันจะเน้นการทำการตลาดในประเทศไทย โดยเน้นการเปิดร้านเอาท์เล็ต ณ จุดขายในเมืองไทย และเจาะตลาดตามร้านอาหารและภัตตาคารจีนระดับกลางถึงบน ตามภัตราคารและโรงแรมทั่วกรุงเทพ เช่น ร้านโอคิทเช่น ภัตตาคารปักกิ่งที่เยาวราช สีลม อโศก และในพัทยา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นร้านอาหารจีน และคาดว่าในสิ้นปี 2549 จะมีประมาณ 1,000 ร้านค้า

ปัจจุบันจีนมีโรงงานผลิตเบียร์ชิงเต่า 50 โรงงาน มีกำลังการผลิต 5 ล้านตัน โดยในปีที่ผ่านมา เบียร์ชิงเต่าสามารถเข้าไปทำตลาดในฮ่องกงสำเร็จ โดยเบียร์ชิงเต่าสามารถขายได้ในจำนวน 1,400 ตัน ของตลาดเบียร์ในฮ่องกงที่มีประมาณ 1.5 แสนตัน ในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ เวียดนามมีการนำเข้าเบียร์ชิงเต่า 100% ทำให้ปัจจุบันเบียร์ชิงเต่ามียอดการผลิตเป็นอันดับ 8 ของโลก

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมานอกจากเบียร์ชิงเต่าแล้ว ยังมีเบียร์ยูนนาน เบียร์ โกลด์สตาร์ เบียร์ทางตอนใต้ของจีน ได้นำเข้าไทยด้วย แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นเมอร์เชียลโกลด์ และมีเบียร์ล้านช้างจากจีนที่เข้ามาในไทยแล้วเช่นกัน

สำหรับเบียร์จีนซึ่งเป็นที่รู้จักมีราคาถูกและยังไม่ได้เข้ามาขายในเมืองไทยยังมีอีกหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น สโนว์เบียร์,เยียนจิงเบียร์,ฮาร์บินเบียร์ ที่กำลังแข่งขันกันในตลาดจีนอย่างหนัก และใช้การตัดราคาขายแข่งกันเป็นกลยุทธ์หลัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.