|
คอมลิ้งค์ผงาดตลาดหุ้น กุนซือใหญ่"สมโภชน์"คืนสังเวียน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มคอมลิ้งค์ลุยตลาดหุ้นครั้งใหญ่ หลังได้กุนซือดี "สมโภชน์ อาหุนัย" มือสร้างหยวนต้าจนขึ้นโบรกเกอร์อันดับหนึ่ง ก่อนควบเป็นกิมเอ็งแล้วโดนเขี่ยทิ้ง ปั้น"บีฟิท"พิสูจน์ฝีมือทวงบัลลังก์คืน แถมจับมือมหัทธนาดุลย์ชุบชีวิตซีฮอร์สพันธมิตรในบีฟิท ใช้จังหวะเหมาะดันราคาโด่งด้วยวอลุ่มอันน้อยนิด วัดใจตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต.ทำอะไรอยู่
กลุ่มคอมลิงค์ถือเป็นนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่มีเม็ดเงินหนา หลังจากที่ชนะคดีกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2542 ได้เงินค่าเช่าวงจร 3,865 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 7.5% เงินสดจำนวนมากที่ได้มาทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่เนื้อหอม ใคร ๆ ก็อยากชวนไปลงทุน
คอมลิงค์ประกอบด้วยแกนนำอย่างศิริธัช โรจนพฤกษ์ ตระกูลล่ำซำ เบียร์สิงห์ และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แต่รายหลังได้ลาออกจากคอมลิ้งค์หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ผ่านมาคอมลิงค์ค่อนข้างเก็บตัว จึงไม่พบความเคลื่อนไหวการลงทุนที่หวือหวา แต่ระยะหลังได้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ทั้งการถือหุ้น 23 ล้านหุ้นในไทยธนาคาร และการเข้ามาถือหุ้นบริษัททรีนีตี้วัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ TNITY ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์กว่า 57% ปัจจุบันได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 14.19%
"สมโภชน์ อาหุนัย" คืนสังเวียน
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนกล่าวว่า เดิมรูปแบบการลงทุนของคอมลิงค์ในตลาดหุ้น เท่าที่เห็นมักเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ในระยะหลังได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุน ด้วยการกระจายการลงทุน ไม่ถือเป็นจำนวนมากหรือถือยาวเหมือนในอดีต เห็นได้จากการทยอยขายหุ้นใน TNITY ออกมาสร้างกำไรให้กับคอมลิ้งค์ได้มาก
บุคคลที่เข้ามามีส่วนสำคัญทางด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้กับกลุ่มนี้ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า จำกัด โบรกเกอร์อันดับหนึ่งของเมืองไทย ก่อนที่จะควบรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง
"เราได้เห็นการลงทุนในเชิงรุกของกลุ่มคอมลิ้งค์มากขึ้น ด้วยการเข้าไปลงทุนในกลุ่มฟินันซ่า และเข้าไปถือหุ้นบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ที่กำลังจะนำเอาบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด หรือ BSEC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกบริษัทหนึ่ง"แหล่งข่าวกล่าว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคอมลิ้งค์จะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจด้านหลักทรัพย์มากขึ้น ถือเป็นความชำนาญของอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้ารายนี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่โบรกเกอร์หมายเลข 27 อาจกลายเป็นโบรกเกอร์ที่ขึ้นแท่นมาทวงตำแหน่งแชมป์จากโบรกเกอร์หมายเลข 42 อย่างกิมเอ็ง ที่สมโภชน์เคยปลุกปั้นมาจากซากบริษัทที่มีเพียงใบอนุญาตประกอบธุรกิจจนกลายเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ก่อนที่เขาจะถูกกดดันให้ลาออกหลังจากงานสำเร็จ
หากจะมองว่าเป็นการพิสูจน์ฝีมือของสมโภชน์ อาหุนัย อีกครั้งก็ได้ แต่การกลับมาของเขาครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน โดยเฉพาะทีมงานของคอมลิ้งค์ที่มีสัมพันธภาพที่ดีเยี่ยมกับทุกกลุ่มทุนในสังคมไทย
ชุบชีวิต SH
ไม่เพียงแค่การปลุกปั้นบริษัทหลักทรัพย์บีฟิทจนก้าวขึ้นมาติดอันดับ 7 และเป้าต่อไปน่าจะขึ้นไปเบียดกับผู้นำได้ในเวลาอีกไม่นาน และในเดือนกันยายนได้พบชื่อของสมโภชน์ อาหุนัย ร่วมกับวรเจตน์ อินทามระ ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจากบริษัท ซีฮอร์ส จำกัด(มหาชน)หรือ SH จนทำให้ทั้ง 2 กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 93.52% ขณะที่เจ้าของเดิมอย่างตระกูลมหัทธนาดุลย์ ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 75.30% เหลือแค่ 4.88%
นี่คือสิ่งที่ไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้นกับ SH จากเดิมที่ประกอบธุรกิจประเภทส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋องเป็นหลัก เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2535 แต่การเพิ่มทุนใหม่ให้กับบุคคลทั้ง 2 ได้มีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านพลังงาน ด้วยการเข้าไปลงทุนใน บริษัท พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ที่ได้รับอนุมัติให้ผลิตเอทานอล แต่เจ้าของเดิมคิดจะเลิกทำเนื่องจากความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐ แต่ทางผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ SH เห็นว่าโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อไป
ซื้อกิจการเจ้านาย
การซื้อพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ ครั้งนี้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสงสัย และได้สั่งให้บริษัทชี้แจงข้อสงสัยหลายประการ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือบริษัทพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือสุพิน โรจนพฤกษ์ถือหุ้น 99.95% และบริษัทนี้มีกรรมการ 2 ท่านคือสุพิน โรจนพฤกษ์และศิริธัช โรจนพฤกษ์ ผู้นำกลุ่มคอมลิงค์นั่นเอง
แม้ว่าการเข้าซื้อพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ครั้งนี้จะซื้อที่ราคาตามบัญชี แต่จากผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้าซื้อกิจการระหว่างกัน ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้ยังไม่ได้มีการก่อสร้างใด ๆ แต่ทีมงานของคอมลิ้งค์ที่ถือหุ้นใหญ่ใน SH กลับเห็นโอกาสที่ดีของธุรกิจนี้ทั้ง ๆ ที่นายของตนเป็นกรรมการในบริษัทพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ อยู่
หากพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาธรหรือ BFIT ที่กลุ่มคอมลิงค์ได้เข้าลงทุน พบชื่อของวรเจตน์ อินทามระ ที่เข้าซื้อหุ้นใน SH จำนวน 78.38% ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BFIT ด้วย โดยถือหุ้นอยู่ 4.96% ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ถือ 4.94% และพบชื่อของชาตรี มหัทธนาดุลย์ เจ้าของ SH ถือใน BFIT จำนวน 1.22 ล้านหุ้นหรือ 0.61%
นี่คือความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคอมลิ้งค์ที่มีต่อ SH และสานต่อไปถึงธุรกิจของโรจนพฤกษ์อย่างพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ ที่ล้มโครงการไปแล้วแต่ทีมงานของคอมลิ้งค์อย่างสมโภชน์กลับนำเอาโครงการนี้มาปัดฝุ่นใหม่
ขณะเดียวกันถือเป็นจังหวะเวลาที่ลงตัวเนื่องจากหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด(มหาชน) หรือ BSEC เสนอขายให้กับนักลงทุนระหว่าง 8-10 พฤศจิกายน 2549 ที่ราคา 4.20 บาท และตัวของ SH ที่อยู่ระหว่างเทนเดอร์ออฟเฟอร์ก็พร้อมจะทยานขึ้นสร้างกำไรมหาศาลให้กับเจ้าของบริษัทเดิมและผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่
100 หุ้นดัน 30%
การซื้อของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ที่ราคา 0.63 บาทต่อหุ้นจากราคาพาร์ 1 บาท จากหุ้นที่สภาพคล่องน้อยและหุ้นเกือบทั้งหมดอยู่ในมือของเจ้าของกิจการ ราคาหุ้น SH ที่เดิมไม่ค่อยมีการซื้อขาย โดยราคาสุดท้ายก่อนมีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุน 2 ราย ราคาปิดที่ 7 บาท(พาร์ 10 บาท)เมื่อ 18 สิงหาคม 2549 และไม่มีการซื้อขายจนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน 2549 ราคาเพิ่มขึ้น 30% มาอยู่ที่ 9.10 บาท ด้วยปริมาณการซื้อขายเพียง 100 หุ้นเท่านั้น และราคาก็ปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึง 38 บาทเมื่อ 2 ตุลาคม 2549 ด้วยปริมาณหุ้น 7,900 หุ้น และเมื่อมีการแตกพาร์จาก 10 บาทเหลือ 1 บาท SH ขึ้นต่อไปถึง 4.48 บาท หรือ 44.80 บาทจากพาร์ 10 บาท ด้วยจำนวนหุ้นเพียง 10,200 หุ้น
ที่สำคัญหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ราย ไม่มีการกำหนดระยะเวลาห้ามขาย แต่หลังจากการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เสร็จ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 รายก็ต้องขายหุ้นออกมาเพื่อให้บริษัทดำรงสถานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แน่นอนว่าการขายย่อมต้องขายในราคาตลาด จากนับจากทุนที่ 0.63 บาทกับราคาสูงสุดที่ 4.48 บาท กำไรที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 3.85 บาทต่อหุ้นหรือ 611%
วัดใจ ก.ล.ต.-ตลท.
โบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า มีหลายสิ่งที่น่ากังวลกับดีลที่เกิดขึ้นกับทีมงานของคอมลิ้งค์ นั่นคือตัวบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด เดิมเคยยื่นเรื่องเสนอขายหุ้นมาระยะหนึ่งแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ทำการซื้อขาย แต่เมื่อมีคำสั่งศาลปกครองออกมาและเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ เรื่องการโยกย้ายตัวมาร์เก็ตติ้งที่เป็นปัญหากันอยู่กลับถูกปล่อย และหลังจากนี้ปัญหานี้ก็จะลามกันทุกโบรกเกอร์
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะการเข้าซื้อ SH ของกลุ่มคอมลิงค์ด้วยแล้ว เห็นได้อย่างชัดเจนว่านี่คือการปูทางให้ SH เป็นหุ้นเก็งกำไรที่ร้อนแรงอีกตัวหนึ่งในอีกไม่ช้า จึงไม่เข้าใจว่าผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังทำอะไรกันอยู่ เข้าซื้อกิจการที่เป็นแค่แนวคิดที่ไม่มีอะไรจับต้องได้ แถมกิจการที่ซื้อยังเป็นของบุคคลในกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากทั้ง ๆ ที่มีการซื้อขายหุ้นเพียงแค่ 100 หุ้นเป็นต้น เรื่องเหล่านี้ทางการปล่อยให้ดำเนินการได้อย่างไร เพราะรู้กันอยู่กว่าเฉพาะผู้ถือหุ้นใหม่ครองหุ้น SH อยู่ 93.52% กลุ่มมหัทธนาดุลย์ถืออีก 4.88% รวมกันแล้วกว่า 98.4% แล้วยังปล่อยให้มีการทำราคาหุ้นด้วยจำนวนหุ้นไม่กี่หุ้นเท่านั้น
การกลับเข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นของกลุ่มคอมลิ้งค์ ภายใต้กุนซือคนสำคัญอย่างสมโภชน์ อาหุนัย ที่สร้างปรากฎการณ์อันลือลั่นให้กับวงการโบรกเกอร์มาแล้ว ครั้งนี้ทางการจะรับมือกับธุรกรรมเหล่านี้อย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|