|
ปฏิวัติ!สื่อรัฐสู่ยุคใหม่ เริ่มลุย อสมท - กรมประชาฯ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- รื้อใหญ่ทั้งกระบิ โมเดิร์นไนน์ – ช่อง 11 - วิทยุ โดนล้างยกแผง
- กรรมการอสมท. ขีดเส้นไม่เน้นกำไรเป็นหลัก แต่ต้องสร้างสรรค์สังคม
- จับตาวิทยุยุคปรับแนวคิดใหม่ คลื่นเพลงได้ยินแล้วหนาว
- เตรียมผลักดันกองทุนส่งเสริมรายการเด็กและคุณธรรม
ช่วงเวลา 5 ปี ที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถือได้ว่าเป็นยุคที่สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อผลงาน และใช้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามมากที่สุด ทั้งสื่อฟรีทีวี 3-5-7-9-11 ไอทีวี ไปจนถึงเคเบิลทีวี นับตั้งแต่ ยูบีซี และ NBT ทั้ง 9 ช่อง ยังไม่นับรวมสถานีวิทยุทั้งคลื่นปกติ กับวิทยุชุมชน ที่ผุดขึ้นดังดอกเห็ด เป็นการเกิดขึ้นเพื่ออุ้มชูระบบทักษิณให้แข็งแรงโดยแท้
ว่าไปแล้วการรับใช้รัฐบาลของสื่อนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นของคู่กันมาตั้งนานนม เพราะสถานีโทรทัศน์อย่าง 11 หรือ อสมท. นั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนเคเบิลทีวีก็เกิดขึ้นภายใต้การอนุมัติของกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนบางช่องก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของ เมื่อกลไกถูกควบคุมเช่นนี้ คงยากที่สื่อต่างๆจะกล้า “หือ” หรือกล้าเสนอข่าวเป็นอื่นจากที่รัฐบาลต้องการ
ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาของสื่อรัฐคือตัวโครงสร้าง หรือในแง่กฎหมายเป็นสื่อภาครัฐ จึงมักเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในแต่ละยุค แต่ละสมัย โดยใช้สื่อเหล่านี้ไปใน 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการนำสื่อไปเปิดสัมปทานให้เอกชนนำไปหารายได้ทางธุรกิจ มุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก และการที่ฝ่ายรัฐใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
รัฐบาลนี้ไม่ประสงค์จะใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะไม่ต้องการจะสืบทอดอำนาจอะไร ไม่ต้องการแสวงอำนาจทางการเมืองเพื่อตัวเอง เราจึงจะสร้างกรอบกติกาที่จะให้หลาย ๆ ฝ่ายได้มีโอกาสเข้ามาใช้สื่อนี้ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ มีวุฒิภาวะเพียงพอ
ยกพระราชดำรัส “ขาดทุน คือ กำไร” ปรับทิศทาง โมเดิร์นไนน์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มองว่า วิสัยทัศน์ของ อ.ส.ม.ท.ที่อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เคยกำหนดไว้ว่า สังคมอุดมปัญญา เป็นสิ่งที่ดี และต้องทำให้เป็นจริง หากจะสร้างให้พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยต้องมาศึกษาว่า สิ่งที่จะถ่ายทอดไปให้สาธารณชน มีสัดส่วนพอเหมาะระหว่างข้อมูลเชิงคุณภาพกับสาระบันเทิง หรือไม่ แต่ทั้งนี้ การที่ อสมท.เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้หมายถึงเสมอไปว่า จะต้องแสวงหากำไรสูงสุด เช่นเดียวกับ โรงพยาบาล หรือสถาบันการศึกษา หากต้องนำองค์กรเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ก็คงไม่ใช่การโขกราคาค่ารักษาพยาบาล หรือค่าเล่าเรียน
“ผมอยากสะท้อนจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง ขาดทุน คือ กำไร ในบางครั้งเราอาจมองไม่เห็นกำไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่กำไรที่เกิดขึ้นในเนื้อของคุณภาพ หากบอกว่าขาดทุน ผลประกอบการตกต่ำไปบ้าง แต่กำไรคือคุณภาพของประชาชนที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ พระราชดำรินี้น่าจะช่วยให้ อสมท.สามารถปฏิบัติภารกิจที่จะตอบสนองทั้ง 2 ส่วนควบคู่กันไป ไม่ได้หมายความว่าต้องขาดทุน เพื่อจะมาพัฒนารายการที่มีคุณภาพ แต่ต้องหาแนวทางทำ 2 สิ่งคู่ขนานไปให้ได้ ทั้งเรื่องของผลประกอบการที่คงเส้นคงวา หรือมีทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น แต่ขณะเดียวกันต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย ให้คุณภาพ ให้คุณค่าต่อสังคมส่วนรวม หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
ด้านรศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนึ่งในคณะทำงานปฏิรูปสื่อของรัฐ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปโมเดิร์นไนน์ว่า ได้วางแนวทางการบริหารไว้ว่า
1. ต้องเน้นบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลประโยชน์ของสังคมและผลประกอบการ
2. มุ่งสร้างสังคมอุดมปัญญาที่มีคุณธรรม โดยเป็นสื่อโทรทัศน์เพื่อการเรียนรู้ทางการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นพระประมุข
3. จัดรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ “สังคมอุดมปัญญา” โดยมีความหลากหลายในรูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา และทีมผู้ผลิตรายการ
และ 4 ส่งเสริมให้เป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมใช้เป็นเวทีการสื่อสาร
“ที่ผ่านมา การทำหน้าที่สื่อของโมเดิร์นไนน์ถูกแทรกแซงอย่างหนัก ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กองบรรณาธิการทำหน้าที่อย่างอิสระ แต่ปรากฎว่าโมเดิร์นไนน์กลับเข้าไปทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานให้กับรัฐบาล ลามเข้าไปถึงช่วงข่าว ภาพจึงออกมาเช่นนี้”
สำหรับนโยบายที่เด่นชัดของรัฐบาลนี้ คือ โมเดิร์นไนน์ต้องทำหน้าที่เพื่อรัฐ หมายถึงประชาชนต้องการสิ่งใด ก็ต้องตอบสนองสิ่งนั้น คนสนใจอยากดูรายการที่ประเทืองปัญญามากขึ้นก็ต้องดำเนินการ ให้โอกาสในการเติมสาระให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ทั้งนี้สังคมจะต้องช่วยกันเรียกร้อง เพราะนี่คือทรัพยากรของประเทศ
นอกจากนี้ ปัญหาที่ถูกละเลยมา คือการนำทรัพยากรของประเทศอย่างสัมปทานสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ไปแปลงเป็นหุ้น โดยไม่มีการจ่ายค่าสัมปทาน ทำให้ผู้ถือหุ้นรับกำไรกันอย่างเต็มที่ ตนในฐานะที่เป็นกรรมการอยู่ในบอร์ด อสมท. ก็คิดว่าคงต้องมีการเรียกร้องให้จ่ายเงินสัมปทาน โดยเงินที่ได้มาอาจนำไปสนับสนุนการพัฒนาช่อง 11 หรือไปตั้งกองทุนพัฒนารายการโทรทัศน์คืนสังคม
“สรยุทธ” ส่อแววตกผัง สนธิ – เจิมศักดิ์ – สมเกียรติ คืนจอ
แผนงานที่คณะกรรมการปฏิรูปสื่อเร่งดำเนินงาน และอาจเปิดตัวได้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน นี้ คือการปรับผังรายการ ดร.วิทยาธร ในฐานะกรรมการในบอร์ด อสมท. เผยว่า ได้มอบนโยบายให้รักษาการผู้อำนวยการ อสมท. ดำเนินการนำรายการคุณภาพ ที่เคยมีปัญหาถูกปรับออกโดยบอร์ด อสมท. ในยุคต่าง ๆ ด้วยปัญหาทางการเมือง กลับมาอีกครั้ง
โดยรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของสนธิ ลิ้มทองกุล ขอคิดด้วยคน ของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง Nation News Talk ของสุทธิชัย หยุ่น และดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้เคยปฏิวัติรูปแบบรายการข่าวแนวใหม่ให้กับช่อง 9 อสมท. ในอดีต จะกลับมาผลิตรายการออกอากาศที่โมเดิร์นไนน์
“แนวคิดนี้กำลังอยู่ในขั้นทำให้เป็นผลทันวันที่ 6 พฤศจิกายน หรืออย่างช้าให้ทันภายในปีนี้ รายการดังกล่าวถือว่าเป็นรายการที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน และต่อไปอาจะต้องเปิดรายการที่จะเป็นเวทีสำหรับการแสดงความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญของประชาชน ทั้งหมดอยู่บนหลักการการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ชม และความเป็นธรรมของผู้ผลิตที่ต้องออกไปเพราะปัญหาการเมืองทั้งสิ้น” ดร.วิทยาธรกล่าว
การปรับผังรายการครั้งนี้ เมื่อมีการเตรียมนำรายการที่เคยหลุดออกจากผัง กลับเข้ามาใหม่ ก็ย่อมต้องมีรายการในผังปัจจุบันต้องหลุดออกไป โดยรายการที่ถูกจับตามอง คือรายการที่มีรูปแบบเดียวกันแต่ออกอากาศยาวตลอดทั้งสัปดาห์ เช่น ถึงลูกถึงคน และคุยคุ้ยข่าว และด้วยปัจจุบันที่ 2 รายการนี้เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เรตติ้งคงที่หรือลดต่ำลง ก็ทำให้คาดว่า ผังรายการใหม่ที่จะออกมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน หรืออย่างช้าภายในปีนี้ 2 รายการของสรยุทธ สุทัศนะจินดา รายการใด รายการหนึ่ง หรือทั้งสองรายการมีแนวโน้มหลุดออกไป โดยเฉพาะรายการถึงลูกถึงคน ที่เป็นรายการของ อสมท.เอง
ยกเครื่องช่อง 11 โละกลุ่มทุนผูกขาดตั้ง “ทีวีสาธารณะ” เปิดกว้างงานฝีมือ
สถานีโทรทัศน์ของรัฐอีกแห่ง ที่ถูกโครงข่ายทางการเมืองเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งจนผิดเพี้ยนไปในปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 จากเดิมที่ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทรวงศึกษาธิการ และไจก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ลดบทบาทการศึกษาลง กลายเป็นเอกชนกระจุกตัวรวมกลุ่มกันผลิตรายการ โดยรัฐไม่เคยเข้าไปดำเนินการพัฒนาใด ๆ
คณะทำงานปฏิรูปสื่อของรัฐ มีแนวคิดปฏิรูปช่อง 11 อย่างเร่งด่วน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนเนื้อหา รูปแบบรายการ เพื่อสามารถตอบสนองความเป็นสื่อของรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยจะเปลี่ยนคอนเซปต์ของช่อง 11 ให้เป็น ทีวีสาธารณะ
โครงสร้างของทีวีสาธารณะ รัฐไม่มีหน้าที่ดูแลเหมือนก่อน แต่จะมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แยกออกเป็นอิสระ ดูแลโดยคณะกรรมการที่อิสระจากการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ กับธุรกิจนี้ เข้ามาทำหน้าที่กำหนดทิศทางของทีวีสาธารณะเป็นกรอบในการเปิดให้เข้ามาดำเนินงานของประชาชน และจัดสรร ประชาชน องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ สามารถนำรายการที่ผลิตขึ้นตามของทีวีสาธารณะเข้ามาขอใช้สื่อได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเวลา ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อสนับสนุนสถานี โดยอาจนำเงินมาจากภาษีเหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือหวย
รื้อวิทยุยกแผงหน้าปัทม์คลื่นเพลง สะเทือนถ้วนหน้า
คงต้องยอมรับกันว่า แผนการปฏิรูปสื่อของรัฐ ในส่วนที่จะสร้างความสั่นสะเทือนได้สูงสุด ต้องจับตาดูการปฏิรูปสื่อวิทยุ เนื่องจากโครงสร้างเจ้าของสัมปทานวิทยุไทยในปัจจุบัน กว่า 500 คลื่นความถี่หลักทั่วประเทศ เป็นของหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก ทัพเรือ อากาศ ตำรวจ กรมประชาสัมพันธ์ อสมท. กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ดังนั้นแนวคิดที่จะปฏิรูปสื่อวิทยุทั้งระบบจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีกลับมีเครื่องมือสำคัญที่จะยกเครื่องวิทยุยกแผง รวมไปถึงวิทยุชุมชนกว่า 3,000 สถานี ทั่วประเทศ นั่นคือการให้ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กกช. เข้ามาดูแล
กกช.เดิมเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับกรมประชาสัมพันธ์ ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินงานที่ผู้ออกกฎสั่งการกลับมีสื่ออยู่ในมือ ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปสื่อรัฐ จึงมีนโยบายที่จะขยับบทบาทมาออกระเบียบโดยสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การกำหนดผังรายการ ที่จะต้องมีการพิจารณาเรื่องการผลิตรายการเพื่อสังคม รวมถึงสถานีวิทยุของทหาร ก็ควรมีนโยบายเพื่อความมั่นคงประกอบ ส่วนสัดส่วนรายการจะเป็นเช่นไร ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ กกช. จะเป็นผู้กำหนดว่ามีสัดส่วนอย่างไร แต่ต่อไปคงไม่สามารถผลิตรายการที่เปิดเพลงตลอด 24 ชั่วโมงอีกต่อไป
“ระหว่างที่เรารอ กสช.อยู่ ก็ต้องหันมาปรับฟังก์ชั่นให้กับ กกช.เพื่อดำเนินการแทนไปก่อน โดย กกช.ต้องเป็นผู้กำหนดสูตรออกมา ว่า สถานีวิทยุที่ส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ดี ๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันควรมีรายการความรู้เท่าไร รายการบริการสาธารณะ รายการเพื่อการศึกษา รวมถึงต่อไปจะต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องมีรายการที่ว่าด้วยเรื่องสังคมประชาธิปไตย Good Governance รวมถึงคลื่นของทหาร ก็จะเชิญมาคุยว่า คมช. ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง มีการนำเสนอรายการเพื่อความมั่นคงผ่านสื่อวิทยุอย่างไรบ้าง สถานีต่าง ๆ คงต้องรื้อรายการทั้งหมด ถึงแม้จะได้รับสัมปทานไปแล้วก็ตาม จะเปิดเพลงกันตลอด 24 ชั่วโมงต่อไปคงไม่ได้แล้ว” ดร.วิทยาธร กล่าว
อดีต กสช. เสนอแนวทางทีวีสาระบีบทีวีหลัก ตั้ง ทีวีคู่ขนาน
แนวคิดในการปฏิรูปสื่อที่จะมุ่งสร้างสื่อที่มีสาระประโยชน์ขึ้นนั้น อดีตว่าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ฝากข้อเสนอมาถึงรัฐบาลว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงนับหมื่นล้าน หรือการเข้าไปปรับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ให้กันมาผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อสังคม เพราะเหมือนเป็นการทุบหม้อข้าวของผู้รับสัมปทาน
แนวคิดของ ดร.สุพงษ์ คือการจัดตั้ง สถานีโทรทัศน์คู่ขนาน โดยมองจากเทคโนโลยีการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบัน ที่สามารถเลือกออกอากาศได้ทั้งระบบ VHF และ UHF ดังที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 มีการปรับเปลี่ยนระบบส่งเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ เลือกที่จะออกอากาศเพียงระบบเดียว ปล่อยให้อีกระบบว่างไว้ ดังเช่น ททบ.5 ช่อง 7 สี โมเดิร์นไนน์ และช่อง 11 ออกอากาศในระบบ VHF ส่วนช่อง 3 และไอทีวี ออกอากาศด้วยระบบ UHF
ดร.สุพงษ์ เสนอแนวคิดให้ทุกสถานีออกอากาศช่องสัญญาณในระบบที่ว่างไว้ ให้เป็นช่องทีวีเพื่อสาธารณะ ที่จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ นำรายการมาออกอากาศ ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานเอ็นจีโอ องค์กรมูลนิธิ โดยทางสถานีจะมีค่าใช้จ่ายในการออกอากาศ ปีละไม่เกิน 400-500 ล้านบาท แล้วยกเลิกเงินส่วนแบ่ง 20% ที่เคยกำหนดจ่ายให้กับ กสช. ส่วนเจ้าของรายการก็ดูแลค่าใช้จ่ายในการผลิตซอฟต์แวร์ แต่เปิดให้ออกอากาศฟรี
“ยกตัวอย่างช่อง 3 ที่วันนี้ออกอากาศในระบบ UHF ห้องส่งก็เป็นห้องส่งที่มีอยู่ เพียงผู้ผลิตนำซอฟต์แวร์มาเกาะ ขอออกอากาศในระบบ VHF ที่ช่อง 3 ไม่ใช้งานแล้ว อาจเป็นซอฟต์แวร์จากโครงการวังไกลกังวล ช่วงไพร์มไทม์เป็นรายการเด็กที่ดี ๆ โดยมี กสช.เป็นผู้ดูแลเรื่องคอนเท้นท์ หรืออาจมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเข้ามาดูแลจัดสรรผังรายการ ช่อง 3 ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก และรัฐก็จะไม่ไปแตะต้องรายการที่ช่อง 3 มีอยู่ ปล่อยให้ธุรกิจทำกำไรไป คุณไม่ได้เสียอะไรมาก อย่างมากไม่เกิน 4-5 ร้อยล้านบาท แทนที่จะเสีย 20% ให้รัฐ รัฐเองก็อาจลดภาษีให้”
ลุ้น กสช. เกิดก่อนรัฐบาลปล่อยมือ
อีกหน่วยงานที่จะถูกรอคอยว่าจะได้รับการเลือกสรรมาดำเนินงานปฏิรูปสื่อได้เมื่อไร นั่นคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการปรึกษากับรัฐมนตรีคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ซึ่งกำกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลกระบวนการสรรหา กสช. โดยได้เสนอให้สำนักปลัดฯ จัดทำข้อเสนอให้ชัดเจนว่า การสรรหา กสช.ควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ หรือจะต้องมาดูถึงปัญหาว่าอยู่ที่จุดใด แล้วแก้ไขให้เสร็จสิ้นเสียก่อน มิฉะนั้นหากไปสรรหาใหม่ก็จะติดปัญหาเดิม หรือหากเป็นปัญหาที่ตัวกฎหมายมาตรา 9 ก็จะเป็นต้องแก้กฎหมายให้เสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คาดว่าน่าจะดำเนินการสรรหา กสช. ได้เสร็จภายในรัฐบาลนี้แน่นอน
ทั้งนี้ในส่วนของแผ่นแม่บทในการใช้ทรัพยากรด้านการสื่อสารที่ยังไม่เคยมี คงต้องมีการจัดทำขึ้น รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 10 ปี ยังไม่สามารถดำเนินการออกมาได้ ทั้งที่ร่างก็เคยผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาแล้ว ตนคิดว่าทั้ง 2 ส่วนนี้น่าจะผลักดันให้เรียบร้อยในรัฐบาลนี้ เพราะยังมีปัญหาอีกมากที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี รวมไปถึงฟรีทีวี หลายเรื่องเป็นปัญหาคาราคาซังมาเป็นเวลานาน และมีสภาพเป็นอนาธิปไตย ที่จะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงของรัฐในเรื่องการกระทบสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน หากจัดระเบียบให้เรียบร้อย ต่อไปทุกคนจะต้องเดินแถวเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ด้าน ดร. สุพงษ์ ลิ้มธนากุล อดีต ว่าที่ กสช. แสดงความเห็นว่า การที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะใช้แนวทางการเลือกสรร กสช. เหมือนที่เคยใช้เวลาไปนานกว่า 6 ปี มาเลือก กสช.ให้ได้ในสมัยการทำงานของท่านนั้น ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้อยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก สามารถตั้งคณะทำงานใด ๆ ขึ้นได้ ทั้งการตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ 250 คน หรือการตั้ง กกต. 5 คน หากจะตั้งกรรมการ กสช.ขึ้นมาอีก 5 หรือ 7 คน ก็เชื่อว่าทำได้ และจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อจะได้ผู้ที่จะมาสะสางปัญหาที่ปล่อยปะให้เรื้อรังมานาน โดยเฉพาะปัญหาด้านคอนเท้นท์ ที่ปล่อยให้รายการโทรทัศน์มีเนื้อหารุนแรง ข่มขืน ตบจูบ กันทุกช่อง หากไม่ตั้งเวลานี้ เชื่อว่าบ้านเมืองจะเละเทะหมดแน่นอน
**************
ผ่ากลยุทธ์ยึดพื้นที่สื่อปิดทางสื่อสารระบอบทักษิณ
อาการร้อนรุ่มของคอการเมืองต่อท่าทีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) และรัฐบาล ที่แม้จะทำการยึดอำนาจการปกครองมานานกว่า 1 เดือน แต่ข้อกล่าวหา 4 ข้อสำคัญ ถึงเหตุความผิดที่ก่อให้เกิดการทำรัฐประหาร กลับยังไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูงานหน่วยงานสื่อของรัฐ อันจะเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ กล่าวว่า การสื่อสารกับประชาชนต้องทำเป็นขั้นตอน เนื่องจากกระบวนการนี้อาจทำทันทีทันใดไม่ได้ แต่ในอนาคตจะเป็นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และมีการอธิบายความให้เกิดความชัดเจนให้มากขึ้น แต่คงไม่ใช้เวลายาวนานนัก รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ขอเวลาศึกษาและเตรียมการสักเดือนหรือสองเดือน
รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างหนัก แต่ต้องทำอย่างละเอียดอ่อน "อย่าลืมว่าสังคมไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถูกทักษิณ ชินวัตร สร้างไว้ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สร้างลงไปลึก และไม่ได้ลึกเฉพาะการสื่อสารเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังลึกลงไปในรูปธรรมอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ลงไปถึงในแต่ละท้องที่ ลูกอม ลูกกวาด กระจายไปทั่วประเทศ เมื่อลูกอม ลูกกวาดกระจายออกไปเช่นนี้ เราต้องมีความละเอียดอ่อนที่จะทำการสื่อสารด้วย การจะไปยึดอำนาจสื่อของรัฐ แล้วเข้าไปกดขี่ห่มเหง แทรกแซง เพื่อหวังเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความหวัง หรือล้างสมองคน เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา เราคงไม่ทำ"
ในฐานะมือขวาที่เข้ามาดูแลจัดการงานด้านสื่อให้กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร. วิทยาธร ฉายถึงแนวคิดของแผนประชาสัมพันธ์งานทางการเมืองที่รัฐมนตรีได้วางไว้ว่า การประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากกิจกรรมที่มี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ 4 ข้อกล่าวหา ต้องผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวก่อน จึงจะนำผลที่ได้มาประชาสัมพันธ์ให้ทราบ ซึ่งคาดว่าหลังจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาเสร็จสิ้น ก็เหมือนเป็นสัญญาณดีเดย์ ที่จะบอกต่อประชาชนว่า รัฐบาลจะดำเนินงาน รวมถึงดำเนินการต่อข้อกล่าวหา 4 ข้อที่มีต่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อย่างไร
แนวคิดในการจัดให้นายกรัฐมนตรีมีโอกาสพูดคุยกับประชาชน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้วางไว้ แต่รูปแบบจะไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อที่พูดอยู่ฝ่ายเดียวเหมือนกับที่ทักษิณเคยทำไว้ โครงสร้างของ นายกสุรยุทธ์ คุยกับประชาชน จะเปิดพื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ 28 จุดทั่วประเทศ ให้เป็นจุดที่ประชาชนจะได้มีโอกาสส่งคำถามสด เพื่อฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นผู้ตอบจากส่วนกลาง โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งไทย และต่างประเทศร่วมตั้งประเด็นคำถามอยู่ในห้องส่งกลาง ใช้เวลาพูดคุยเดือนละ 1 ครั้ง ราว 1.30 - 2 ชั่วโมง
"เราจำเป็นต้องเข้ายึดพื้นที่ในสื่อ ถ้าไม่สามารถยึดไว้ ทุกวันคนจะพูดถึงแต่ทักษิณ คุณหญิงอ้อไปไหน นักข่าวสนใจแห่ตามไป ก็เพราะรัฐบาลไม่มีข่าวให้"
นอกจากการประชาสัมพันธ์แล้ว วิทยาธร ยังเห็นว่าควรมีการสื่อสารในด้านอื่น ๆ สนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง อาทิ ความเคลื่อนไหวด้านการจัดกิจกรรมมวลชน ของภาคประชาสังคม การจัดประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในระดับส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานที่จะสร้างให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวทางการเมือง Good Governance การอยู่ในสังคมประชาธิปไตย การเป็นพลเมืองประชาธิปไตยที่ดี และหลักแก่นแท้ของประชาธิปไตย ผ่านรูปแบบที่หลากหลาย มิใช่สร้างเพียงรูปสารคดี แล้วจมหายไปดังที่ผ่านมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|