|

"สุวรรณภูมิมหานคร"แท้ง - 'อุ๋ย' หวั่นปัญหาน้ำท่วมจี้แก้มลพิษทางเสียง
ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“หม่อมอุ๋ย” ค้านยกฐานะ “สุวรรณภูมิมหานคร” หวั่นเกิดปัญหาน้ำท่วม เร่ง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หาคำตอบมลพิษทางเสียง ภายใน 1 เดือน พร้อมกำชับบอร์ดใหม่ดูแลเรื่องการบริการให้เป็นเฟิร์สคลาส ไม่แตะ “แอร์พอร์ตลิงค์” ระบุ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ คตส. ภาคอสังหาฯหนุนแนวคิดหม่อมอุ๋ย พร้อมตั้งองค์กรหลักประสานกทม.-สมุทรปราการแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ขณะที่ “ธีระ-สรรเสริญ” รอตั้งบอร์ดทอท.ประเมินข้อมูลย้ายโลว์คอสต์กลับดอนเมือง ด้านผู้ประกอบการฯ เร่งหารือทอท. ชงปัญหา ผลกระทบผู้โดยสาร นักวิชาการ-วิศวกรรมสถานชี้ปัญหาเพราะนโยบายไม่แน่นอนตั้งแต่แรก ส่วน“โชติ์ศักดิ์”โยน นโยบายชี้ขาด
ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)เข้าพบว่า ทางคณะกรรมการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศมาพบหารือเกี่ยวกับการฝึกบุคลากร ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมการบินมานานแล้ว ทั้งนี้เขาชื่นชมศูนย์การฝึกของเรา และเร็วๆ นี้ทางจีนจะส่งบุคลากรมาฝึกที่ประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ เขายังเห็นว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์และการให้สัญญาณต่างๆ ในการขึ้นลงของเครื่องบิน ส่วนเรื่องสถานที่ โครงสร้างของสนามบินนั้นดีแล้ว และมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชีย (ฮับ) ซึ่งความจริงไทยก็เป็นฮับอยู่แล้ว และเป็นที่ยอมรับของผู้เดินทางมาใช้สนามบินของไทย ดังนั้นเราต้องพยายามปรับปรุงด้านการบริการให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถทำได้ไม่ยาก แต่ต้องขอเวลาปรับปรุงการให้บริการของสนามบินภายใน 3 เดือนนี้ เชื่อว่าทุกอย่างจะเข้ารูป
สำหรับเรื่องความไม่พร้อมของสนามบินในหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องของเราที่จะต้องจัดการ ซึ่งในส่วนหน้าที่หลักด้านปัญหาสนามบินนั้นโอเคแล้ว เช่น เรื่องความปลอดภัย การขึ้นลงของเครื่องบินต่างๆ การถ่ายเทกระเป๋าผู้โดยสาร ขณะนี้เข้ารูปแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องปรับปรุงคือเรื่องการให้บริการต่างๆ เช่น ปัญหาเรื่องห้องน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งเขาบอกว่าจะเพิ่มอีก 200 ห้อง ส่วนปัญหาด้านเสียงของเครื่องบินที่กระทบต่อชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้เราพยายามติดตามแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเสียงเครื่องบินที่ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังไปสำรวจอย่างละเอียดว่า มีผลกระทบอย่างไรบ้าง เมื่อผลสำรวจออกมาจะดูว่าควรจะปฏิบัติต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ทั้งนี้จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะเหมาไปหมด ตรงนี้จะต้องมีคำตอบภายใน 1 เดือน ว่าจะต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญและจริงจัง ซึ่งต้องใช้กฎกติกาเดียวกับสากล
ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวอีกว่าเส้นทางที่ประชาชนจะเดินทางไปได้สะดวกที่สุดคือ สายมอเตอร์เวย์ ส่วนปัญหาจราจรนั้นคงต้องขอเวลาอีกสักระยะ ตนไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ ห่วงเฉพาะเรื่องการบริการ เมื่อสนามบินและตัวอาคารสร้างมาแบบชั้น 1 แล้ว การให้บริการจะต้องชั้น 1 ด้วย ตรงนี้ขึ้นกับบอร์ดชุดใหม่ที่จะตั้งในสัปดาห์หน้า รวมทั้งการท่าอากาศยานจะต้องเข้าไปเร่งรัดให้ดีให้ได้ ส่วนแอร์พอร์ตลิงค์จากมักกะสันไปสุวรรณภูมิ ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กำลงสอบส่วนอยู่ ตนไม่อยากเข้าไปยุ่ง อดีตเขาทำไว้อย่างไรก็ให้เขาสอบสวนให้เสร็จไปเป็นเรื่องๆ จะให้ทันใจประชาชนทุกเรื่องคงไม่ได้ ความจริงแล้วในอดีตคนไทยส่วนใหญ่จะเคยชินกับการใช้รถส่วนตัวมากกว่าการไปรถไฟ ซึ่งจะเสียเวลาตรงนี้ไปบ้างก็ไม่เป็นไรแต่ขอให้ผลสรุปออกมาก่อนจะดีกว่า
ในแง่จำนวนคนของเราเป็นที่หนึ่งในอาเซี่ยนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไม่เผลอเพราะการบริการจะพร้อมเมื่อไหร่คงต้องให้เวลา เพราะสนามบินที่เปิดใหม่อย่างน้อย 6 เดือน ถึงจะเข้ารูปเข้าร่างแต่ของเราให้เวลา 3 เดือน อย่างฮ่องกงที่ว่าเรียบร้อยก็ใช้เวลาพอสมควร เมื่อถามว่า การเปิดสนามบินเราใช้การโปรโมทโดยไม่ดูข้อเท็จจริง รองนายกฯ กล่าวว่า ที่วิจารณ์มาก็ถูกต้อง แต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราก็หยุดไม่ได้แล้วต้องเดินหน้าต่อไป ให้เขาพยายามปรับแก้ให้ดีให้ได้ โดยเฉพาะเร่งสร้างห้องน้ำให้เพียงพอ แต่เขาไม่ได้กำหนดว่า 200 ห้องจะเสร็จเมื่อไหร่ จริงอยู่ว่าการบริการจะรอไม่ได้ แต่ให้สร้างเสร็จภายในวันเดียวก็คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีการเร่งรัด
ส่วนเรื่องการสร้างรันเวย์ที่ 4 เพิ่มนั้นตอนนี้อย่าเพิ่งพูดเรื่องสร้างอะไรเพิ่ม ทำที่มันมีอยู่แล้วให้ดีเสียก่อน เมื่อโครงสร้างดีก็ต้องเร่งการบริการให้ดีด้วย ตรงนี้เป็นนโยบายที่เน้นย้ำไปกับผู้รับผิดชอบ เมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์คิดว่าจะทำอะไรต่อไปค่อยมาว่ากัน ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้บุคลากรของสนามบินไม่เพียงพอนั้น ตรงนี้คงไม่มีปัญหา เพราะการทำงานเป็นหน้าที่ฝ่ายที่รับผิดชอบดูแล อย่างไรก็ตาม ตนก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะสนามบินเพิ่งเปิดได้แค่เดือนกว่าๆ แต่ก็มีการแก้ไขไปแล้วพอสมควร
ม.ร.ว. ปรีดียาธร กล่าวถึงการยกฐานะพื้นที่บริเวณรอบสนามบินขึ้นเป็นเขตปกครองพิเศษ ว่า เรื่องนี้คงไม่เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคมที่ตนดูแล คงเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลและเรื่องของผังเมือง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรตั้ง เพราะพื้นทีดังกล่าวเป็นที่รับน้ำและเป็นที่ลุ่ม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำระบุว่า บริเวณนั้นเป็นช่องทางที่น้ำจะผ่านไปลงทะเล แต่ขณะนี้ เราก็นำคอนกรีตขนาดใหญ่ไปตั้งขวางทางน้ำพอสมควร ฉะนั้นไม่ควรไปทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะจะทำให้ไม่มีช่องทางให้น้ำไหลลงสู่ทะเล ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นอีก
“สำนักงานผังเมืองจะว่าอย่างไร ไม่ทราบ แต่หากเขามีความเห็นเสนอเข้ามาผมก็จะคัดค้าน เพราะความตั้งใจที่จะสร้างสนามบินบนพื้นที่ทุกแห่งก็เพื่อให้อยู่ห่างประชาชน แต่พอสร้างแล้วเรื่องอะไรจะเอาชุมชนตามไปอยู่รอบๆ สนามบินอีก เพราะเสียงเครื่องบินก็ดังอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ควรให้พื้นที่ดังกล่าวขึ้นเป็นมหานครเด็ดขาด” รองนายกฯ กล่าว
ต่อข้อถามว่า ก่อนหน้านี้ ที่มีการดันเรื่องดังกล่าว เป็นเพราะต้องการปั่นราคาที่ดินรอบๆ นั้นหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นคำถามที่วิเคราะห์ได้ดีอยู่แล้ว
**แช่แข็งการเติบโตของเมือง
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA บริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้านการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย กล่าวยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของเมืองรอบสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวมถึงราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะที่สนามบินกำลังก่อสร้าง โดยขณะนี้มีโครงการจัดสรรที่เปิดขายในช่วง2-3 ปีนี้ประมาณ 35,000 หน่วย และมีการขายไปแล้วประมาณ 80% อย่างไรก็ตาม ประเด็นแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเกี่ยวกับการคัดค้านพรบ.สุวรรณภูมินั้น โดยส่วนตนแล้วเห็นด้วยและเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวมาระยะหนึ่ง แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร
" สิ่งสำคัญตอนนี้ รัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจจะกำหนดผังเมืองอย่างไร หรือจะพัฒนาต่อไปอีก ซึ่งความเห็นส่วนตนแล้ว ต้องการเห็นเมืองหยุดขยายกว่านี้ และคิดว่าทุกๆคน ก็คงเห็นปัญหาหลังการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ทั้งเรื่องของระดับเสี่ยงที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในโซนนั้น ปัญหาเรื่องน้ำท่วม และที่ดินในโซนสนามบินสุวรรณภูมิในแต่ละปีจะอ่อนตัวลง แม้แต่หน่วยงานของรัฐยังออกมาระบุว่า ดินทรุดปีละ 10% และหากมองง่ายๆ 10ปี ทรุดลง 1 เมตร "นายวสันต์กล่าวและชี้ว่า
ประเด็นจะมีจังหวัดหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจในการดูแลและบริหารจัดการปัญหาต่างๆในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับทางกรุงเทพฯและสมุทรปราการ การจัดการและประสานงานเป็นหัวใจหลักมากกว่า
นายชูเกียรติ ตั้งมติธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK กล่าวในประเด็นดังกล่าวว่า โดยส่วนตนแล้วเห็นด้วยกับรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพราะเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ไม่ควรอยู่ใกล้กับสนามบินมากเกินไป เพราะจะก่อผลกระทบ แต่สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าจากแนวคิดดังกล่าว คงไม่ส่งผลต่อยอดขายโครงการบ้านจัดสรรมากนัก เพราะโครงการต่างๆเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการอยู่อาศัยของประชาชน
"เรื่องของราคาที่ดินน่าจะกระทบ โดยจะไม่มีการปรับขึ้น แต่โอกาสจะลดลงมีบ้างแต่ไม่มาก เพราะเป็นราคาที่ขายในตลาดประมาณ 4 ล้านบาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม หากต่อไปไม่มีกฎหมายพิเศษเข้ามา ทางรัฐบาลก็น่าจะกำหนดพื้นที่ที่รัฐบาลคิดว่าต้องการเข้าไปส่งเสริมหรือพื้นที่ใดควรเข้าไปควบคุม เป็นต้น "นายชูเกียรติกล่าว
**ยื้อย้ายโลว์คอสต์กลับดอนเมือง
นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องที่จะให้สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสแอร์ไลน์) ย้ายกลับมาใช้ที่สนามบินดอนเมือง แต่จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาให้เกิดความรอบคอบและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเพิ่งย้ายฐานปฏิบัติการบินไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ หากจะย้ายกลับไปทันทีคงเป็นไปไม่ได้ แต่จะเร่งให้มีข้อสรุปโดยเร็วที่สุด โดยการหารือและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มีความรู้จากในประเทศและต่างประเทศด้วย
“ เรื่องนี้ต้องขอรับไว้หารือกับผู้ที่มีความรู้ ไม่ใช่ผู้ปฎิบัติงานอย่างเดียว เพราะโลว์คอสต์มีในหลายประเทศต้องฟังเหตุและผล ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ เพราะเราเพิ่งย้ายไปจะย้ายกลับทันทีผมคงตอบคนเดียวไม่ได้ ยังไม่รู้จะใช้วิธีใด ส่วนการตั้งกรรมการอาจล่าช้าไป แต่จะหาทางเพื่อนำไปสู่การตัดสินให้ได้ กำลังขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณา “ นายสรรเสริญกล่าว
สำหรับบทบาทของสนามบินดอนเมืองในขณะนี้ มีการกำหนดให้ใช้สำหรับกิจการศูนย์ซ่อมอากาศยาน รองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เที่ยวบินของทหาร ซึ่งถือว่ายังใช้เป็นสนามบินอยู่ ส่วนกิจกรรมอื่นๆนั้น จำเป็นต้องหารือกับผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านนี้
พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การให้โลว์คอสต์ย้ายกลับดอนเมืองยังชี้ชัดไม่ได้ตอนนี้เพราะต้องดูข้อมูลทั้งหมดเปรียบเทียบกันให้รอบคอบก่อน และต้องรอให้มีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ก่อนซึ่งขณะนี้มีตัวบุคคลหมดแล้วรอเพียงขั้นตอนการประชุมผู้ถือหุ้นประมาณกลางเดือนพ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามปัญหาเร่งด่วนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องเร่งแก้ไขคือการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ที่เป็นปัญหาเฉพาะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก เช่น เพิ่มห้องน้ำ ระบบสายพาน ส่วนปัญหาแท็กซี่เวย์ชำรุดนั้น ทอท.จะแก้ไขเสร็จภายในกลางเดือนพ.ย. นี้
ด้านกัปตันโยธิน ภมรมนตรี กรรมการผู้จัดการ สายการบินพีบีแอร์ กล่าวว่า ความชัดเจนในเรื่องนี้จะต้องรอผลการประชุมในวันนี้ (2พ.ย.)ว่า การกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร เพราะยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่จะต้องมีการศึกษา รวมทั้งการพิจารณาว่าการใช้สนามบินสุวรรณภูมินั้นเกิดปัญหาหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องการมีปัญหาเรื่องเที่ยวบินล่าช้า แต่ไม่ขัดข้องว่าจะใช้สนามบินใด
โดยทางพีบีแอร์พร้อมดำเนินตามนโยบายของคณะกรรมการ เพราะตั้งแต่มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในช่วงแรกที่มีผลกระทบกับผู้โดยสารที่ต้องเตรียมเดินทางล่วงหน้าเพราะกลัวตกเที่ยวบิน แต่ในปัจจุบันทุกอย่างเริ่มเข้าที่ รวมทั้งสายการบินพีบีแอร์ไม่เคยมีปัญหาเรื่องระบบเชคอินด้วย
ด้าน ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายหากจะปิดสนามบินดอนเมืองโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่แผนการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมืองจะต้องมีชัดเจนมาก่อนหน้านี้ หากมีการปรับแก้ไขในช่วงนี้อาจเกิดความวุ่นวายได้ เพราะมีการย้ายฐานการบินไปยังสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว และหลายฝ่ายได้ลงทุนไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้วเช่นกัน
“ เรื่องนี้ยังบอกชัดเจนไม่ได้ เพราะปัญหาเกิดจากคนจัดการที่ไม่มีการวางแผนที่ชัดเจน หากจะให้บางสายการบินกลับมาใช้ดอนเมืองก็ไม่เห็นด้วยเพราะจะไม่เป็นธรรมและเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ถ้ามีการใช้ประโยชน์ของสนามบินดอนเมืองโดยไม่ส่งผลกระทบให้ใครเสียประโยชน์ก็ไม่ขัดข้อง “ ดร.สมพงษ์กล่าว
ในขณะที่นายไกร ตั้งสง่า อุปนายสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำจะย้ายฐานกลับมายังสนามบินดอนเมือง เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหา อีกทั้งเรื่องนี้ควรจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าก่อนที่จะเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ
**“โชติ์ศักดิ์”โยน นโยบายชี้ขาด
ด้านนายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.กล่าวว่าการตัดสินใจเรื่องการให้สายการบินต้นทุนกลับมาใช้ที่สนามบินดอนเมืองหรือไม่นั้นเป็นเรื่องในระดับนโยบายของรัฐบาลเพราะจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับหลายหน่วยงานทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและกรมศุลกากรด้วย ส่วนหน้าที่หลักของทอท.คือการสรุปรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียในทุกๆมิติและทุกๆด้านรวมทั้งผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องให้กับคณะกรรมการทอท.ชุดใหม่ได้พิจารณาตัดสินใจ
ส่วนของการรวบรวมข้อมูลนั้นตนจะต้องนำเสนอเปรียบเทียบในทุกๆด้านที่เกิดขึ้นรวมทั้งแผนการลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ ส่วนอำนาจการตัดสินใจทอท.ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติต้องรอฟังจากนโยบายก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|