|
สมาคมผู้ปลีกออกโรงยันตัวเลข ตลาดโมเดิร์นเทรดยังแพ้โชห่วย
ผู้จัดการรายวัน(1 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นายก ฯ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกโรง ยืนยันส่วนแบ่งตลาดโมเดิร์นเทรดยังแพ้โชห่วย แนะเป็นเครือข่ายพัฒนธมิตรแก้ปัญหา และพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกัน
นายธนภณ ตังคณานันท์ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอว่าร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นเทรด สร้างผลกระทบให้กับร้านโชห่วยว่า ในฐานะนายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ขอชี้แจงว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว ร้านโมเดิร์น เทรดและร้านโชห่วยแบบดั้งเดิมนั้น สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ โดยร้านค้าปลีกค้าส่งมัยใหม่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับร้านโชห่วยอย่างที่เข้าใจกัน
“ ข้อมูลจากปี 2545 ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มียอดขายประมาณ 345,000 ล้านบาท จากตลาดรวม 1 ล้านล้านบาท ร้านโชห่วยประมาณ 650,000 ล้าน เท่ากับร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีสัดส่วนประมาณ 35% และร้านดั้งเดิม 65 % และในปี 2549 มูลค่าตลาดรวมเพิ่มเป็น 1,200,000 ล้านบาท ร้านค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 570,000 ล้านบาท ขณะที่โชห่วยลดลงจาก 650,000 ล้าน เป็น 620,000 ล้าน แต่ยังครองสัดส่วนตลาดถึง 50 – 52 %และยังมีแนวโน้มการขยายตัวในเขตชนบทมากกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่เสียอีก” นายธนภณ กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า โดยพฤติกรรมผู้บริโภคการเลือกซื้อของจากร้านค้าใดนั้น มักจะไม่เจาะจงว่าต้องซื้อจากร้านประเภทใดเท่านั้นเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าลูกค้าจะเปลี่ยนจากร้านโชห่วยมาเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไปทั้งหมด เพราะร้านโชห่วยยังคงมีข้อเด่นตรงที่อยู่ใกล้บ้าน และสะดวกที่จะซื้อของเฉพาะที่จำเป็นจะต้อใช้แบบวันต่อวัน และความจริงแล้ว ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เกื้อหนุนต่อร้านโชว์ห่วยด้วยซ้ำ เพราะร้านเล็กสามารถไปซื้อแล้วขายต่อด้วย นอกจากจะได้ราคาที่สามรถนำไปทำกำไรต่อได้แล้ว ยังรับชำระด้วยบัตรเครดิต นั่นคือ ซื้อวันนี้แล้วอีก 45 วันจึงจะชำระเงิน ซึ่งการซื้อสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลางในระบบเก่าไม่สามารถทำแบบนี้ได้
สำหรับร้านโชห่วยเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมากนั้น จากการสำรวจ เราพบว่าสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ร้านโชห่วยเลิกกิจการ คือ ไม่มีทายาทมาดำเนินการต่อ เนื่องจากร้านประเภทนี้บริหารกิจการโดยคนในครอบครัวกันเอง หากลูกหลานไม่ทำร้านต่อ หรือเลือกทำธุรกิจประเภทอื่น ร้านก็อยู่ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ต้องมองว่านี่เป็นการปรับตัวของร้านโชห่วย ที่ลูกหลานอาจจะไปทำธุรกิจที่เหมาะสถนการณ์มากกว่า เช่น การเปิดร้านโทรศัพท์มือถือ หรือ การซื้อแฟรนไชค์จากที่อื่นมาทำแทน
อย่างไรก็ตาม นายธนภณ กล่าวว่า ทางสมาคม ฯและสมาชิกทุกรายพร้อมที่จะให้การสนับสนุนร้านโชห่วยในการพัฒนาการทำธุรกิจให้คงความสามารถในการแข่งขันในบรรยากาศการแข่งขันสมัยใหม่ได้ ไม่วาจะเป็นการสร้างเครือขายพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน หรือการอบรมให้ความรู้ที่จำเป็น เช่นการเลือกประเภทสินค้า การจัดซื้อและเก็บสินค้า รวมทั้งการจัดหน้าร้านหรือวางสินค้าให้น่าสนใจ ซึ่งจริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้ก็ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายราย เพียงแต่ยังไม่ได้ทำเป็นกิจจะลักษณะเท่านั้น ซึ่งผมเห็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน และร่วมแก้ปัญหาพร้อมพัฒนาให้มุกฝ่ายสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|