บริษัทไฟแนนซ์ล้ม กับบทเรียน "ความเสี่ยง"

โดย อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

คำว่า "ความเสี่ยง" หรือ "Risk" เหมือนจะเป็นคำที่คนทั่วไปมักมองข้าม และบางท่านยังเชื่ออีกด้วยว่าเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้ในตำราการเงินเท่านั้น โดยที่หลายๆ คนมักให้เหตุผลว่า ถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่ "รวย" ซึ่งตรงจุดนี้ก็ไม่ผิดจากหลักของ "ความเสี่ยง" ในวิชาการเงินแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าในวิชาการเงินยังเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ยิ่งเสี่ยงมากเท่าไร โอกาส "เจ๊ง" ก็มีอยู่สูงเป็นเงาตามตัว เช่นกัน

ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทไฟแนนซ์ ถึง 3 แห่งในนิวซีแลนด์ ต้องประกาศล้มละลายปิดกิจการลง ผู้ได้รับผลกระทบโดย ตรงก็คือ นักลงทุนรายย่อยที่ต้องสูญเงินจาก การซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเหล่านี้ไป

อันที่จริงแล้ว การล้มของบริษัทไฟแนนซ์ หรือแม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์ อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกมากนัก เพราะถ้ามองในแง่งบดุล ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่มี ความเสี่ยงที่มาจาก financial leverage สูงกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น เนื่องจากเป็น ธุรกิจที่มีสัดส่วนทุนที่มาจากเจ้าของกิจการ (capital) ต่ำ

อย่างเช่นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดย ทั่วไป 90% ของเงินทุนทั้งหมดมาจากการก่อหนี้สิน (liabilities) ซึ่งอยู่ในรูปเงินฝากและเงินกู้ในรูปแบบอื่นๆ (อย่างเช่น การออก ตราสารหนี้) ส่วนเงินทุนของเจ้าของกิจการ (capital) นั้นจริงๆ มีเพียงแค่ 10% ของแหล่งเงินทุนทั้งหมดเท่านั้น และด้วยสาเหตุนี้เอง ถ้าแบงก์หรือบริษัทไฟแนนซ์ประสบปัญหาการขาด ทุนครั้งใหญ่เมื่อใด ทุนจากเจ้าของที่มีอยู่น้อย ก็อาจไม่เพียงพอ ที่จะรองรับการขาดทุนครั้งนั้นๆ

สาเหตุการล้มของบริษัทไฟแนนซ์ ทั้ง 3 แห่งนั้น เป็นผลมาจาก "หนี้เสีย" หรือ การขาดทุนในการปล่อยกู้ในตลาดรถยนต์มือสอง (ชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่นิยมซื้อรถยนต์มือสองจากญี่ปุ่น) ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ค่อนข้างสร้างความแปลกใจให้คนทั่วไปอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วง ขาขึ้นของเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ อัตราการว่างงานก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ (ที่ระดับ 3.6%) จำนวนคนหนีหนี้เงินผ่อนจึงไม่น่ามีมากขนาดล้มบริษัทไฟแนนซ์ได้ถึง 3 แห่ง

แต่ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ดูดีๆ สาเหตุหนี้เสียก็มีเค้าความจริงอยู่มาก เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นช่วงขาขึ้น ราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หนี้ครัวเรือนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน (คนทั่วไปมักกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน และธนาคารก็มักจะปล่อยเงินกู้เพิ่มขึ้นเวลาที่ราคาบ้านสูงขึ้น และครัวเรือนก็มักกู้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปบริโภค) จากตัวเลขล่าสุด อัตราหนี้ของครัวเรือนเทียบกับรายได้นั้น ถีบ ตัวเพิ่มขึ้นถึง 50% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และ ด้วยขนาดหนี้ในระดับนี้ ภาระดอกเบี้ยที่ครัวเรือนต้องแบกรับ จึงมีความอ่อนไหวกับอัตรา ดอกเบี้ยเป็นอย่างมาก และในช่วง 3 ปีที่ผ่าน มา ก็เป็นช่วงขาขึ้นของดอกเบี้ยในนิวซีแลนด์ เมื่อดอกเบี้ยขึ้น โอกาสที่ครัวเรือนหนี้สูงเหล่านี้ จะไม่สามารถผ่อนส่งบ้าน รถยนต์ และสินค้า เพื่อการบริโภคอื่นๆ ได้ ก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยเฉพาะนิวซีแลนด์กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจยุคชะลอตัว การล้มละลายของครัวเรือนก็คงจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นและ "หนี้เสีย" ของครัวเรือนเหล่านี้เอง ก็จะถูกบรรจุส่งผ่านเข้าระบบธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจการเงินประเภทอื่นๆ โดยสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง อย่าง Standard & Poor's เชื่อว่าบริษัทไฟแนนซ์ในนิวซีแลนด์ที่จะต้องปิดกิจการลง จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีข้างหน้า

ดังนั้นตรงจุดนี้จึงดูเหมือนว่า บริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งในนิวซีแลนด์นั้นประเมิน ความเสี่ยงในการปล่อยกู้ รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นผิดพลาด จนนำไปสู่การล้มละลาย หรืออาจต้องปิดกิจการลงในอนาคตอันใกล้

และเนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนทุนที่มาจากเจ้าของต่ำ ธุรกิจประเภทนี้จึงเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในกลุ่ม OECD ที่ไม่มีระบบค้ำประกันเงินฝาก การตรวจสอบและกำกับธนาคารพาณิชย์ จึงเป็นไปอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์ ก็มีสภาพทางการเงินที่แข็งแรง

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank financial institu-tions) ซึ่งรวมถึงบริษัทไฟแนนซ์นั้น ยังไม่ได้ถูกควบคุมและตรวจสอบที่ดีพอ ซึ่งก็พอทำ ความเข้าใจได้ เนื่องมาจากธุรกิจประเภทนี้ เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และถ้าเปรียบเทียบในเชิงทรัพย์สิน ธุรกิจประเภทนี้มีขนาดเพียงแค่ 10% ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด

ในขณะนี้ผู้วางนโยบายทั้งหลายก็กำลัง คิดหาวิธีการกำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจไฟแนนซ์ให้รัดกุมเหมือนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมาตรการหนึ่งที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้ก็คือ การจัดทำเครดิตเรตติ้ง (credit rating) ของบริษัทไฟแนนซ์เหล่านี้ เหมือนอย่างเช่นที่ทำกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ดี เพราะผลที่จะตามมาก็คือทำให้บริษัทไฟแนนซ์ ที่ไม่เข้ามาตรฐานหรือมีความเสี่ยงสูง และไม่อยากจะปรับตัวยากที่จะดำเนินงานต่อไปได้

นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า ถ้าตราสารหนี้ของบริษัทไฟแนนซ์เหล่านี้ ถูกจัดเครดิตเรตติ้ง ตราสารหนี้เหล่านี้ โดย ส่วนใหญ่ก็คงจะตกอยู่ในกลุ่ม Junk bonds หรือตราสารหนี้กลุ่มความเสี่ยงสูง (ดู Default rate ของ Junk bonds ได้จากตาราง) ซึ่งตรงจุดนี้เองก็จะไปกดดันให้บริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเวลาที่ออกตราสารหนี้ใหม่ ซึ่งก็เป็นต้นทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทไฟแนนซ์ที่มีความเสี่ยง สูงและไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานก็ไม่น่าจะอยู่ได้ ส่วนบริษัทไฟแนนซ์ที่มีประสิทธิ ภาพและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ก็น่าจะไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก

ส่วนบทเรียนของนักลงทุนรายย่อย จากการซื้อตราสารหนี้เหล่านี้ก็คือ ไม่ใช่ว่าห้ามลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่เวลาที่เสี่ยงอย่ามองแต่ "ผลตอบแทน" หรือ "Return" เพียงด้านเดียว ต้องมองว่าผลตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้นนั้น เหมาะกับ "ความเสี่ยง" ที่เพิ่มขึ้น ไหม ซึ่งสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งอย่าง Moody's แนะว่า ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับ จาก Junk bonds ควรจะสูงกว่าผลตอบแทน จากพันธบัตรรัฐบาลอยู่ 4-5% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนจากตราสารหนี้ของบริษัทไฟแนนซ์เหล่านี้ก็ไม่ได้สูงถึงขนาดดังกล่าว

โดยสรุปผมคิดว่า "ความเสี่ยง" นั้นคล้ายกับไวรัส ในเวลาที่ร่างกายของเราแข็งแรง สมบูรณ์ แม้จะติดเชื้อไวรัสนิดหน่อย ร่างกายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้าน ทานได้ แต่ไวรัสกับความเสี่ยง มักจะจู่โจมในเวลาที่ร่างกายของเราอ่อนเพลีย หรือในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและผู้คนตกงาน ไวรัสและความเสี่ยงก็จะเข้าซ้ำเติมร่างกายที่อ่อนแอให้ทรุดหนัก และเศรษฐกิจของท่านให้เข้าขั้นโคม่าได้ง่าย ดังนั้นเวลาที่เศรษฐกิจสดใส ธุรกิจเฟื่องฟู "ความเสี่ยง" เป็นคำที่หลายคนมักมอง ไม่ค่อยเห็น แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ความเสี่ยง นั้นพร้อมที่จะถามหาท่านเสมอ ในเวลาที่ฟ้าไม่ค่อยจะเป็นใจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.