NIHONBASHI NINGYO-CHO : เมืองตุ๊กตา

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่พลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในย่าน Nihonbashi กำลังดำเนินไปด้วยพลวัตร เพื่อไล่ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ชุมชนเล็กๆ ในนาม Ningyo-cho ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความโกลาหลของเมืองใหญ่ กำลังบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง

ความเป็นมาและเป็นไปของ Nihonbashi ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าของญี่ปุ่น สามารถสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัย Edo (ค.ศ.1600-1867) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มตระกูล Mitsui ได้ลงหลักปักฐานที่มั่นทางธุรกิจค้าปลีกและส่ง พร้อมกับพัฒนาไปสู่การสร้างห้าง สรรพสินค้าแห่งแรกของญี่ปุ่นในนาม Echigoya (1673) บนพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Mitsukoshi ที่ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ประจักษ์พยานแห่งความมั่งคั่งของ Nihonbashi ในฐานะศูนย์กลางในการขับเคลื่อน พลวัตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่ยังปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง เมื่อธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange : TSE) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และสถาบันการเงินหลากหลาย ต่างมีที่ทำการอยู่ในอาณาบริเวณแห่งนี้

สถานภาพของการเป็นศูนย์กลางที่ดำเนินอยู่ใน Nihonbashi ได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งเมื่อหลักกิโลเมตรของเส้นทางสัญจรหลักที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงโตเกียว ต่างถือเอา Nihonbashi เป็นจุดอ้างอิงในฐานะกิโลเมตรที่ศูนย์อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ และการจัดแบ่งเขตเมืองสมัยใหม่ ย่าน Nihon-bashi ได้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของเขต Chuo-ku หรือเขตศูนย์กลางที่เป็นการนำย่านธุรกิจการค้า ที่สำคัญตั้งแต่สมัย Edo ทั้ง Ginza ซึ่งเป็นแหล่ง ธุรกิจ high street และ Tsukiji ที่เป็นตลาดกลาง การซื้อขายอาหารทะเล มาประกอบส่วนเข้าด้วยกัน

แม้จะมีการแบ่งเขตการปกครองสมัยใหม่ แต่ย่าน Nihonbashi ยังคงความพิเศษด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นแขวง (cho-quarters) ที่มีคำว่า Nihonbashi เป็นคำนำหน้าชื่อแขวงต่างๆ เพื่อบ่งบอกความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของชุมชน Nihonbashi บนวิถีแห่งกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนไปด้วย

ความมั่งคั่งของ Nihonbashi มิได้ดำเนินไปท่ามกลางมิติทางเศรษฐกิจที่มีดัชนีชี้วัดเน้นหนักอยู่ที่ตัวเลขผลกำไรขาดทุนแต่เพียงลำพัง หากดำเนินไปพร้อมกับการสะท้อนความรุ่มรวยของรากฐานทางวัฒนธรรมที่จำเริญ ควบคู่ไปพร้อมๆ กับพัฒนาการของบริบททางสังคมที่สอดประสานต่อเนื่องถึงกัน

เพราะท่ามกลางชุมชนธุรกิจที่เบียดแทรกตัวกันอย่างหนาแน่น เขตชุมชนพักอาศัยในนาม Nihonbashi-Ningyo-cho ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า doll town ได้ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับยุคสมัยแห่งการสั่งสม ความมั่งคั่งของย่าน Nihonbashi มาตั้งแต่สมัย Edo ด้วยเช่นกัน โดยมีการผลิตตุ๊กตาที่เป็นศิลปหัตถกรรมในครัวเรือนเป็นที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้ไปโดยปริยาย

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่น่าพิจารณา ประการหนึ่งอยู่ที่ธุรกิจตุ๊กตาแห่ง Ningyo-cho มีบทบาทและสถานะของการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อกระบวนการพัฒนาของอุตสาหกรรม การผลิตและออกแบบที่หลากหลาย ซึ่งดำเนินไปท่ามกลางการเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่นอย่างยากจะแยกออก

อุตสาหกรรมสิ่งทอที่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของตุ๊กตาเหล่านี้ ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาและผลิตตุ๊กตา ในฐานะที่เป็นประหนึ่งหุ่นจำลอง (model) ของรูปแบบการตัดเย็บ และกระบวนการผลิตสร้างลวดลายสำหรับประดับเป็นลายผ้ามาอย่างต่อเนื่องยาว นาน ก่อนที่คำว่า fashion จะกลายเป็นเพียงกระแสนิยมดาดๆ ในห้วงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจตุ๊กตาแห่ง Ningyo-cho ยังเป็นกลไกในการดูดซับ และเป็นแนวป้องกันกระแสธารทางวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาท่วมทับองคาพยพของสังคมญี่ปุ่นในยุคสมัยต่อมา ภายใต้กระบวนการ ของ Japanization ที่ทำให้ Character ของตัวการ์ตูนชื่อดังจากโลกตะวันตกต้องกลายเป็นอื่นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Winnie the Pooh หรือ Snoopy รวมถึงตุ๊กตา Barbie ที่ปรากฏโฉมในลักษณะของสาวญี่ปุ่นด้วยอาภรณ์แบบ Gimono งดงาม เป็นภาพที่ปรากฏ ให้เห็นและส่งผ่านความภาคภูมิใจบนรากฐานแห่งวัฒนธรรมอันยาวนานไปสู่สังคมวงกว้างอีกด้วย

แม้ความก้าวหน้าในกระบวนการผลิตของโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ จะผลักให้ธุรกิจตุ๊กตาใน Ningyo-cho เป็นเพียงธุรกิจโบราณที่มีลมหายใจรวยริน แต่พลังแห่งความประณีตบรรจงของงานหัตถกรรมที่มีจุดเน้นอยู่ที่เอกลักษณ์ และความเป็นต้นแบบ (original) กลับเป็นกลไกที่ก่อให้เกิดคุณค่าทั้งในเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของผู้เสพงานที่แตกต่างจากสินค้าประเภท mass production อย่างสิ้นเชิง

นิทรรศการตุ๊กตาแห่ง Ningyo-cho ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคมที่ผ่านมาในฐานะเทศกาลประจำปี อาจไม่สามารถ เทียบเคียงความยิ่งใหญ่ในมิติของขนาดกับกิจกรรมในรูปแบบของ Game Mart หรือ Toy Festival ที่ดำเนินไปในลักษณะของมหกรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่หลากหลายในกระแสปัจจุบัน เมื่อในความเป็นจริงนิทรรศการ ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานออกร้านเพียง 40 แห่ง ขณะที่รูปแบบการจัดงานก็มิได้ดำเนินไปท่ามกลาง booth แสดงสินค้าที่โอ่อ่า หากเป็นเพียง stall ขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่ริมบาทวิถีตลอดแนว Ningyo-cho Commercial Street เท่านั้น

กระนั้นก็ดี ความเรียบง่ายของนิทรรศการ ตุ๊กตาใน Ningyo-cho กลับดำเนินไปท่ามกลาง ภาพที่ขัดกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากคุณภาพสินค้าและสนนราคาของตุ๊กตาที่นำมาจัดแสดง ซึ่งหลายชิ้นมีราคาสูงถึง 60,000-100,000 เยน และจัดอยู่ในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรม ที่ต้องจัดเตรียมไว้สำหรับมอบเป็นของกำนัลต้อนรับการมาถึงของปีใหม่ และในฐานะของสะสม เพื่อแสดงออกซึ่งรสนิยมวิไลสำหรับทั้งผู้ให้และผู้ครอบครองด้วย

แม้ในวันนี้ วิถีชีวิตของชุมชนเล็กๆ ในนามเมืองตุ๊กตา Ningyo-cho จะดำเนินไปด้วยการแอบซ่อนตัวเองอยู่อย่างสงบเสงี่ยมในย่านธุรกิจที่พลุกพล่านของ Nihonbashi แต่ดูเหมือน บทบาทและฐานะการมีส่วนร่วมเป็นศูนย์กลางในการส่งผ่านการแสธารทางวัฒนธรรมของชุมชน แห่งนี้ยังดำรงอยู่

เป็นบทบาทของการจรรโลงสร้างอนาคตจากรากฐานแห่งอดีตที่อุดมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.