|
ความหมายของ "ลูกสาวคนที่สี่"
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การเกิดมาเป็นลูกสาวคนที่สี่ในบรรดาพี่น้องอีกหลายชีวิตไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหากเป็นลูกสาวคนที่สี่ของครอบครัว "วิไลลักษณ์" ผู้บุกเบิกกิจการของสามารถ คอร์ปอเรชั่น การเป็นลูกสาวคนที่สี่ของครอบครัวก็ดูสำคัญขึ้น
ถ้าเปรียบชีวิตดั่งละคร ทุกบททุกตอนดูเหมือนจะถูกจัดฉากไว้ให้สุกัญญา วนิชจักร์วงศ์ ลูกสาวคนที่สี่ของ ครอบครัว "วิไลลักษณ์" ผู้บุกเบิกกิจการ ในเครือสามารถ คอร์ปอเรชั่น ที่หันเห ไปเรียนด้านสายศิลป์ เพียงคนเดียวในบ้าน และกลับมาเป็นผู้บุกเบิกกิจการใหม่ที่ใครไม่คาดคิดว่าจะทำเงินได้ปีละหลายร้อยล้านบาทให้กับบริษัท ทั้งๆ ที่กิจการทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับวิศวกรรมและเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น
แม้ความสำเร็จในชีวิตไม่ได้วัดกัน ที่ระดับการศึกษา หรือสาขาวิชาที่เลือกเรียนมาก่อนหน้านี้ แต่ทว่ากลับเป็นหนทางบุกเบิกที่สำคัญ สำหรับบางคนที่ยังมองไม่ออกว่าต้องการทำอะไร ในเวลาเดียวกันก็เป็นตัวกำหนดเบื้องต้น สำหรับคนที่ครอบครัวมีกิจการไว้รองรับการเติบโตในอนาคตอยู่แล้วอย่างสุกัญญา
ด้วยความที่เป็น "ลูกสาว" สุกัญญาจึงได้รับการดูแลจากทั้งบิดา คือเชิดชัย วิไลลักษณ์ ฉายา "นายช่างสามารถ" และมารดา ศิริเพ็ญ วิไลลักษณ์ ตั้งแต่ยังเล็กในเรื่องการศึกษา ผู้เป็นแม่ให้สุกัญญา เรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนราชินี จนกระทั่งสิ้นสุดการศึกษาระดับ ม.ศ.5 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของการศึกษาระบบนี้ในไทยขณะนั้น
การสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อในคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นถือเป็นการก้าวออกจากการแนะนำของครอบครัวเป็นครั้งแรกของเธอผู้นี้ และดูเหมือนว่าจะเป็น การก้าวครั้งสำคัญที่ส่งผลให้เกิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในธุรกิจของสามารถ คอร์ปอเรชั่น ในวันนี้ด้วยในเวลาเดียวกัน
ปี 2543 บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น ซึ่ง ณ เวลานั้นอยู่ในวัย 14 ปี ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทในเครือที่ชื่อ "วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด" ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบระบบ และจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลให้กับลูกค้า หรือที่เรียกกันว่า contact center โดยมีสุกัญญาเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท
โลโกของบริษัทที่มีรูปภาพคล้ายคนสองคนที่แทนด้วยสีแดงและน้ำเงิน มีสีเหลืองพาด กลางระหว่างคนทั้งคู่ บ่งบอกถึงการเป็นสื่อกลาง ช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างคนสองคน พร้อมด้วยตัวหนังสือว่า "one to one" และห้อยท้ายด้วยคำ "contacts" ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ ของบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด มาตั้งแต่ต้น เป็นผลผลิตเพียงเล็กน้อยจากฝีมือของสุกัญญา ที่ทำทั้งการออกแบบ เลือกสี และหาคนมาช่วยทำภาพกราฟิกคอมพิวเตอร์ แปะไว้ที่ หน้าบริษัท บนหัวกระดาษและซองจดหมาย โบรชัวร์แสดงความเป็นบริษัท และของชำร่วยที่มีไว้แจกลูกค้า
นอกเหนือจากการเป็นผู้ร่างโครงการของบประมาณจากผู้บริหาร เมื่อหลายปีก่อนจนประสบความสำเร็จ ได้งบประมาณมาก่อตั้ง นำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ค้นหาพนักงาน และร่างแผนงานต่างๆ ของบริษัทด้วยตัวเอง
เป็นเพราะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และต่อเนื่องในสาขา International Marketing จาก Chuo University โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระดับปริญญาโท และเข้าทำงานครั้งแรกกับ บริษัทเอเยนซี่โฆษณาชื่อดัง อย่างบริษัทลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ ลินตาส ที่แทบทุกคนในวงการก็ทราบกันดีว่า เป็นโรงเรียนของคนทำโฆษณาอย่างแท้จริงอีกหนึ่งปี ทำให้สุกัญญามีพื้นฐานความรู้ที่เน้น ทั้งการประชาสัมพันธ์และการตลาดที่ผนวกเข้าด้วยกันอย่างปฏิเสธไม่ได้
หลังจากลาออกจากลินตาส สุกัญญาเริ่มงานกับครอบครัวเป็นครั้งแรกด้วยการรับตำแหน่ง Marketing Communication & Promotion Manager ของบริษัท สามารถแซทคอม จำกัด ก่อนขยับมาเป็น Director-Marketing Communication บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Director-Customer Service บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนอาชีพของสุกัญญา ในเวลาต่อมา
สุกัญญารับหน้าที่สำคัญในการจัดตั้งศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ (Hello Call Center) และศูนย์บริการสาขา Hello Shop ทั่วประเทศ สำหรับให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Hello 1800 ภายใต้เครือข่ายของ DPC ขณะนั้น ก่อนถูกเข้าซื้อกิจการจากค่ายเอไอเอส ในอีกไม่กี่ปีถัดมา
เมื่อมองเห็นภาพการเติบโตของธุรกิจศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ จากประสบการณ์การดูแลงานดังกล่าวของ DPC สุกัญญาจึงตัดสินใจร่างแผนงานและนำเสนอผู้บริหารที่ ณ เวลานั้นเธอบอกว่า "เขาคงมองเห็นว่าเป็นน้อง" ตัดสินใจให้งบประมาณก้อนหนึ่งในการก่อตั้งบริษัทมาให้
"มันเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้ผู้บริหาร รวมถึงพี่ๆ เข้าใจว่า ธุรกิจศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์คืออะไร และการ outsource งานแบบนี้ให้คนข้างนอกทำเป็นอย่างไร เพราะ ไม่มีใครเข้าใจมากนัก ไม่เพียงเท่านั้นยังยากในการที่จะทำให้เขาเข้าใจว่าเราจะพูดให้ลูกค้า เข้าใจด้วยว่า การดูแลลูกค้าของเขาไม่จำเป็นต้องทำเอง ให้คนอื่นทำให้ก็ได้ มันยากที่บริษัทคนไทยในยุคนนั้นจะรับได้" สุกัญญาบอกกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อได้เงิน งานก็เดิน สุกัญญาจึงนั่งเก้าอี้ผู้บริหารของบริษัทที่ตั้งชื่อและออกแบบโลโก เองจนวันนี้ย่างเข้าปีที่ 7 เข้าไปแล้ว และกลายเป็นบริษัทที่กำลังเป็นดาวรุ่ง สร้างรายได้ที่ดีให้กับสามารถ คอร์ปอเรชั่น ทั้งๆ ที่ปีแรกแทบหาลูกค้าไม่ได้
"ปีแรกแทบจะไม่มีลูกค้าเลย ถึงแม้บริษัทในเครือก็ยังต้องอธิบาย และหารือให้เกิดการใช้งาน outsource contact center และมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ตัดสินใจมาใช้บริการของเรา ค่อนข้างลำบากมากๆ ในการทำธุรกิจตอนนั้น" สุกัญญาย้ำ
ในปีนี้คาดการณ์กันว่า บริษัทที่สุกัญญานั่งเก้าอี้ผู้บริหารอยู่ จะทำรายได้ถึง 600 ล้านบาท จากผลของการรับงาน outsource งานดูแลลูกค้าผ่านสายโทรศัพท์ ไปจนถึงรับติดตั้งระบบศูนย์บริการลูกค้า ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนหลายราย
เสียงเด็กชายนับเลข "วัน ทู ทรี โฟว์..." ที่เธอบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นเสียงลูกชาย คนหนึ่งในจำนวนลูกๆ ทั้ง 4 คนของเธอ ดังขึ้นจากโทรศัพท์มือถือที่วางอยู่บนโต๊ะทำงาน เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือนว่าเวลาของการสนทนาของเธอกับ "ผู้จัดการ" ได้หมดลงแล้ว
"คุณแม่โทรมาตามให้ไปมอบของบริจาคให้กับโรงเรียน ในนามมูลนิธิสามารถด้วย" ภาระและหน้าที่ของสุกัญญานอกเหนือจากการมีบริษัทในเครือของครอบครัวที่ต้องดูแลแล้ว การเป็นแม่ของลูก และเป็นลูกที่ดีของแม่ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนจะยังไม่ที่สุดสำหรับเธอที่มี ฐานะเป็นลูกสาวคนที่สี่นั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|