|
An Oak by the window...YouTube กับการเดินทางของกูเกิ้ล
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับแฟนๆ ฟอร์เวิร์ดเมล ไม่ว่าจะเป็นกรุ๊ปเมลหรือเพื่อนๆ ฟอร์เวิร์ดมาให้ก็ตามน่าจะคุ้นเคยกับ YouTube กันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีคลิปวิดีโอหลุดๆ จากดาราชื่อดังหรือดาราจำเป็นทั้งหลาย โดยมากไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ๆ เหล่านี้ก็จะเอาไปฝากไว้ในเว็บที่เขารับฝาก และ YouTube ก็เป็นแหล่งเก็บคลิปวิดีโอแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอินเทอร์เน็ต
แต่เมื่อกูเกิ้ลตัดสินใจซื้อ YouTube ล่ะ มันมีความหมายอย่างไร อะไรอยู่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการตัดสินใจครั้งนี้ เรามาค้นหากัน
YouTube เป็นเว็บไซต์แลกเปลี่ยนภาพวิดีโอที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ที่สำคัญทุกอย่างที่นี่ฟรี โดยในเว็บไซต์นี้ ผู้ใช้สามารถใส่ภาพวิดีโอเข้าไป เปิดดูภาพวิดีโอที่มีอยู่ และแบ่งภาพวิดีโอ เหล่านี้ให้คนอื่นดูได้ด้วย
YouTube ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 โดยอดีตพนักงานของ PayPal สามคนด้วยกัน (ปัจจุบัน PayPal ถูก eBay ซึ้อไปเรียบร้อยแล้ว) ใน YouTube จะมีบริการแสดงภาพวิดีโอซึ่งอาศัยเทคโนโลยีของ Adobe Flash ในการแสดงภาพวิดีโอ (Adobe Flash หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อของ Macromedia Flash หรือ Flash (แฟลช) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นิยมมาก ในการทำภาพแอนิเมชั่นและการทำโปรแกรมเล็กๆ ที่ใช้สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมเว็บ โดยมีซอฟต์แวร์ ระบบ และอุปกรณ์หลายชนิดที่สามารถสร้างแฟลชและแสดงแฟลชได้ แฟลชจึงสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสร้างแอนิเมชั่น โฆษณา สร้างส่วนประกอบของหน้าเว็บ รวมภาพวิดีโอเข้าไปในหน้าเว็บ รวมถึงการสร้างพอร์ทัล)
ใน YouTube จะมีข้อมูลเนื้อหารวมถึงคลิปภาพยนตร์สั้นๆ และคลิปที่มาจากรายการโทรทัศน์ มิวสิกวิดีโอ และวิดีโอบล็อกกิ้ง (ซึ่งเป็นการสร้างบล็อกโดยมีส่วนของข้อมูลที่เป็นภาพ วิดีโอเป็นส่วนประกอบด้วย โดยเฉพาะเป็นภาพวิดีโอที่เกิดจากมือสมัครเล่นถ่ายกันเอง) ปัจจุบัน YouTube มีพนักงานเพียง 67 คนเท่านั้น
YouTube เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และได้รับความ สนใจเป็นอันมาก โดยเฉพาะการบอกแบบปากต่อปากที่ทำให้การเติบโตของ YouTube เป็นไป อย่างรวดเร็วมากจริงๆ YouTube มาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายต่อเนื่อง เมื่อมีการนำภาพวิดีโอช่วง Lazy Sunday ของรายการ Saturday Night Live มาแสดงบนเว็บ ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี (NBC) ก็ได้เรียกร้องให้ทาง YouTube เอาคลิปวิดีโอที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหลายออกจากเว็บ ซึ่ง YouTube เองก็มีนโยบายที่จะไม่เอาคลิปที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาแสดงเช่นกัน นั่นทำให้ต่อมา You Tube กำหนดนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องนี้ โดยกำหนดให้คลิปวิดีโอมีความยาวสูงสุดเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้นยกเว้นเป็นคลิปที่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นจากคนทำภาพยนตร์มือสมัครเล่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ YouTube ก็หาทาง ออกโดยการแบ่งภาพวิดีโอของตนเป็นชิ้นย่อยๆ แต่ละชิ้นยาวน้อยกว่า 10 นาทีแทน
อย่างไรก็ตาม กรณีพิพาทกับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีก็ทำให้ YouTube เป็นข่าวและเพิ่มความดังมากขึ้นไปอีก และต่อมาเอ็นบีซีก็เห็นถึงประสิทธิภาพของ YouTube และตัดสินใจ ดำเนินยุทธศาสตร์ที่ต่างไปจากเดิม โดยประกาศให้ YouTube เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์แทน โดย YouTube จะเป็นคนโฆษณารายการของเอ็นบีซีในรูปของวิดีโอคลิปในเว็บของ YouTube เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส (CBS) ที่เริ่มต้นเหมือนกับเอ็นบีซีและเลือกลงท้ายเหมือนกับเอ็นบีซีเช่นเดียวกัน
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา YouTube ประกาศว่าภายใน 18 เดือนข้างหน้านี้ พวกเขา จะสามารถเปิดให้เข้ามาดูมิวสิกวิดีโอทุกเพลงที่เคยสร้างขึ้นมาได้ และแน่นอน ทุกอย่างฟรีหมด โดยวอร์เนอร์มิวสิค (Warner Music) และอีเอ็ม ไอ (EMI) ได้ยืนยันแล้วว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในบริษัทที่กำลังเจรจาในรายละเอียดกับ YouTube อยู่ และเดือนกันยายนที่ผ่านมา วอร์เนอร์มิวสิก และ YouTube ก็ได้เจรจาข้อตกลงที่ YouTube จะเป็นที่เก็บมิวสิกวิดีโอทุกเพลงที่วอร์เนอร์มิวสิค ผลิตขึ้นมา โดยพวกเขาจะแบ่งรายได้จากโฆษณา กัน นอกจากนี้ใครก็ตามที่สร้างคลิปวิดีโอเพื่อแสดงบน YouTube ก็สามารถนำเพลงของวอร์เนอร์มาใช้เป็นซาวด์แทร็กต์ได้ โดยไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
9 ตุลาคมที่ผ่านมา ซีบีเอสรวมถึงยูเอ็มจี (UMG-Universal Music Group) และโซนี่บีเอ็มจี (Sony BMG) ก็ตัดสินใจที่จะแสดงงานของตนบน YouTube เช่นกัน
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทันที เมื่อกูเกิ้ล ประกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าตกลงตัดสินใจเข้าซื้อ YouTube ด้วยมูลค่า 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนหุ้น อย่างไรก็ตาม YouTube ก็ยังคงดำเนินกิจกรรม ของบริษัทไปตามปกติ โดยเป็นอิสระจากการควบคุมของกูเกิ้ล โดยกูเกิ้ลมองว่า YouTube เป็นชุมชนออนไลน์ทางด้านวิดีโอเพื่อความบันเทิง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ในขณะที่กูเกิ้ลมองตัวเองว่าเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญ ทางด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศ และการสร้างโมเดลใหม่ทางด้านการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต การรวมกันของสองบริษัทนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสบการณ์ที่ดีขึ้นและเข้าใจได้มากขึ้น สำหรับผู้ใช้ที่สนใจในการอัพโหลด การดูวิดีโอ และการแชร์ภาพวิดีโอ รวมถึงการนำเสนอโอกาสใหม่ๆ สำหรับผู้เป็นเจ้าของ ข้อมูล (Content) ที่เป็นมืออาชีพที่จะนำเสนองานของพวกเขาไปสู่คนวงกว้าง
เมื่อมองถึงโมเดลการสร้างรายได้ของ YouTube นั้นโมเดลธุรกิจของ YouTube จะอาศัยการโฆษณาเป็นหลัก นักวิเคราะห์ทางอุตสาหกรรม บางคนเห็นว่า YouTube มีค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงาน (running cost) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง YouTube ต้องการใช้แบนด์วิธซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ดังนั้นจึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวบริษัทในทำนองว่าจะเหมือนๆ กับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต หลายๆ แห่ง ที่ไม่มีโมเดลธุรกิจใดที่สามารถใช้งานได้ การใช้โฆษณาเริ่มเข้าปรากฏชัดเจนบนเว็บไซต์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2006 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา YouTube ได้เริ่มใช้ Google AdSense ซึ่งเป็นโปรแกรมบริหารจัดการโดยกูเกิ้ลในการคำนวณรายได้จากโฆษณาที่ปรากฏในเว็บไซต์นั้นๆ แต่ YouTube สุดท้ายก็หยุดใช้ AdSense ในที่สุด นักวิเคราะห์บางคนคิดคำนวณว่า YouTube อาจจะมีรายได้มากถึงหลายล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งก็จะทำให้ YouTube สามารถสร้างรายได้สุทธิได้มากมายในแต่ละเดือน
แต่เมื่อกูเกิ้ลเข้ามาซื้อ YouTube ไป การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นกับ YouTube อย่างแน่นอน ในอนาคตอันใกล้แม้จะมีการออกมาบอกว่า YouTube จะได้รับอิสระในการบริหารจัดการก็ตามที แน่นอนว่าระบบการจัดการรายได้ โดยเฉพาะการกำหนดโมเดลการสร้างรายได้ใหม่ๆ ในเว็บไซต์ของ YouTube จะต้องเกิดขึ้น แต่ที่เราพอจะวางใจได้ในฐานะคนใช้งานและคนใช้บริการเว็บไซต์ YouTube ก็คือ ทุกอย่างน่าจะยังคงฟรีต่อไปอีก เพราะที่ผ่านมาการให้บริการของกูเกิ้ลก็เป็นในลักษณะให้บริการฟรีเกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะการสร้างโมเดลธุรกิจที่อิงกับการอาศัยของฟรีเป็นตัวกำหนดตลอดมา
เมื่อมองถึงวงการบันเทิง การที่กูเกิ้ลเข้าครอบครอง YouTube จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการแข่งขันในธุรกิจบันเทิงที่สำคัญยิ่ง ที่ผ่านมาจะเห็นการเริ่มเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตในการเปิดให้บริการภาพยนตร์รวมถึงรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่เริ่มจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ การประกาศเข้าเทกโอเวอร์ของกูเกิ้ลครั้งนี้จึงเป็นจิ๊กซอว์ที่เข้ามาเติมเต็มการวาดภาพอนาคตของกูเกิ้ลในวงการบันเทิงที่ให้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ความเคลื่อนไหวในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดสินค้าบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ ที่มีบริษัทในวงการอินเทอร์เน็ตเข้าไปเกี่ยวข้องแบบเกาะติดมากขึ้นจึงดุเดือดเลือดพล่านในระดับที่คนเฝ้าดูอย่างเราๆ ไม่สามารถกระพริบตาได้ สิ่งที่จะต้องมองต่อไปก็คือ คู่แข่งของกูเกิ้ล จะว่าอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในธุรกิจอินเทอร์เน็ตด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นยาฮูและไมโครซอฟท์ แต่ยังรวมถึงคู่แข่งรายอื่นๆ อย่างในวงการมือถือและวงการสื่อสารมวลชน เป็นต้น
กูเกิ้ลชิงความได้เปรียบครั้งสำคัญโดยเฉพาะการเข้าครอบครองกิจการ YouTube ที่จะเป็นบันไดสำคัญในการเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดบันเทิงในอนาคต YouTube ที่มีการเติบโตอย่าง รวดเร็วด้วยโมเดลธุรกิจที่เหมือนกับการสร้างทำโฮมวิดีโอในสมัยก่อนแต่อาศัยช่องทางอินเทอร์เน็ตในการสร้างความนิยมอย่างรวดเร็ว กูเกิ้ลและ YouTube จึงเป็นการจับคู่ทางธุรกิจที่น่าสนใจที่สุดคู่หนึ่งในปีนี้ และจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง เชิงโครงสร้างของวงการบันเทิงในอนาคตอย่างแน่นอน
ิอ่านเพิ่มเติม
1. Helft, M. (2006), 'With YouTube, Student Hits Jackpot Again,' The New York Times, October 12, 2006.
2. 'Google To Acquire YouTube for $1.65 Billion in Stock,' http://www.google.com
3. Boutin, P. (2006),'A Grand Unified Theory of YouTube and MySpace,' April 28, 2006, http://www.slate.com
4. Boutin, P. (2006), 'A Video History of YouTube,' October 18, 2006, http://www.slate.com
5. Patterson, T. (2006), 'Click, Respond, Repeat : How to watch web video,' October 18, 2006, http://www.slate.com
6. Levin, J. (2006), Groin Pains : The agonizing journey from America's funniest home videos to YouTube,' August 24, 2006, http://www.slate.com
7. Anderson, S. (2006), 'The Fab 4 Million : YouTube and the neglected art of lip-syncing,' April 28, 2006, http://www.slate.com
8. Levin, J. (2006),'YouTube's Zapruder films for sports junkies : How YouTube is making life miserable for referees,' October 18, 2006, http://www.slate.com
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|