|
Singapore Springboard
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ มักถูกหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่างอยู่บ่อยครั้ง ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน
ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไม่หยุดยั้ง
กรมสรรพากร หอสมุดแห่งชาติ และกรมราชทัณฑ์ ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ในประเทศไทย มีความเกี่ยวข้องกันเพียงประการเดียวคือเป็นหน่วยงานราชการ แต่ที่สิงคโปร์ ทั้ง 3 หน่วยงานเชื่อมโยงกันอีกทางหนึ่งในฐานะองค์กรที่ได้รับรางวัล Singapore Quality Award หรือ SQA มาด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมราชทัณฑ์ หรือ Singapore Prison Service เป็น 1 ใน 3 องค์กรล่าสุดที่เพิ่งได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงถึงความเป็นเลิศในระดับสากลไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง
ประเทศสิงคโปร์เป็นเพียงเกาะเล็กๆมีขนาดพื้นที่ประมาณ 700 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 4 ล้านกว่าคน และมีทรัพยากรธรรมชาติไม่มากนัก แม้กระทั่งน้ำจืดยังต้องนำเข้ามาจากมาเลเซีย ด้วยเหตุ นี้เองผู้นำสิงคโปร์ตระหนักดีว่าการจะสามารถ ยืนหยัด และอยู่รอดในตลาดโลกได้นั้นศักยภาพของคนและองค์กรภาครัฐและเอกชน ของสิงคโปร์จำเป็นต้องมีมาตรฐานในระดับโลกเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ริเริ่มการมอบรางวัล Singapore Quality Award ขึ้นในปี 2537 รางวัลนี้จะมอบให้กับองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศในด้านธุรกิจสูงสุด โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านธุรกิจในระดับสากล สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศสิงคโปร์มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับโลก รางวัล SQA มีพื้นฐานมาจากมาตรฐานความเป็นเลิศ ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก ได้แก่ Malcolm Baldrige National Quality Award ประเทศสหรัฐอเมริกา European Quality Award จากทวีปยุโรป Japan Quality Award ประเทศญี่ปุ่น และ Australian Quality Award ประเทศออสเตรเลีย
หลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล SQA แบ่งออกเป็น 7 หมวดด้วยกัน ได้แก่ การนำองค์กร (Leadership) การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Planning) การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด (Customers) การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้ (Information) การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล (People) การจัดการประบวนการ (Processes) และผลลัพธ์ทางธุรกิจ (Results) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับรางวัล Thailand Quality Aword ที่ดูแลโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
สำหรับรางวัล SQA ในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล 3 องค์กรด้วยกัน คือ Singapore Prison Service, Subordinate Courts of Singapore และ Teckwah Industrial Corporation Ltd ซึ่งได้มีพิธีมอบไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
การที่ Singapore Prison Service และ Subordinate Courts of Singapore ได้รับรางวัลในปีนี้เป็นการเน้นย้ำและสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ที่จะยกระดับมาตรฐานทั้งประเทศให้เข้าสู่ระดับสากล ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่ยังต้องนำแนวคิดของการมุ่งสู่ความเป็นเลิศมาใช้ในองค์กรด้วย เพราะผู้ที่ได้รับรางวัล SQA ที่ผ่านมาจนถึงปีนี้รวมทั้งหมด 25 ราย ในจำนวนนี้มีหน่วยงานของรัฐคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ด้วยกัน (ดูรายชื่อผู้ได้รับรางวัล SQA จากตารางประกอบ)
Toh Han Li ผู้พิพากษาจาก Subordinate Courts of Singapore อธิบายว่า หลักการทั้ง 7 หัวข้อตามเกณฑ์ของ SQA นั้นสามารถนำมาใช้ได้ไม่เฉพาะกับภาคธุรกิจ เท่านั้น องค์กรของรัฐก็สามารถนำมาใช้ได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นแนวทางปฏิบัติในด้านการบริหารจัดการองค์กร จึงไม่จำกัดอยู่ที่ภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม Subordinate Courts of Singapore เริ่มนำ หลักการของ SQA มาใช้ก็เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานแห่งนี้เคยอยู่ในธุรกิจธนาคารมาก่อนและเริ่มต้นกระบวนการมาตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปีนี้
เมื่อ Singapore Prison Service และ Subordinate Courts of Singapore ได้รับรางวัลในปีนี้ทำให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของสิงคโปร์ได้รับรางวัล SQA จนครบจนมีมุกตลกพูดกันว่า ถ้าใครมากระทำความผิดที่นี่จะถูกจับโดยตำรวจที่ได้ SQA จากนั้นจะถูกพิจารณาคดีโดยศาลที่ได้ SQA และถ้าถูกตัดสินว่ามีความผิดก็จะถูกส่งเข้าคุกที่ได้ SQA เช่นกัน เรียกได้ว่าในแต่ละขั้นตอนล้วนมีมาตรฐานรับรองทั้งสิ้น
ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบและดูแลในเรื่อง SQA ได้แก่ Standards, Productivity and Innovation Board of Singapore หรือ SPRING ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของหน่วยงาน National Productivity Board และ Singapore Institute of Standards and Industrial Research
บทบาทหน้าที่หลักของ SPRING คือ ส่งเสริมการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรเพื่อความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสิงคโปร์ โดยมีแนวทางหลัก 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการริเริ่มธุรกิจใหม่และช่วยให้ธุรกิจเติบโต การพัฒนา กลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) การเพิ่มศักยภาพ ขององค์กร ทั้งในด้านผลิตผล นวัตกรรมและการบริการ สุดท้ายคือการช่วยหาตลาดและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
นอกจาก SQA แล้วสิงคโปร์ยังริเริ่มรางวัลเฉพาะด้านขึ้นมาอีก 2 รางวัลในปี 2544 ได้แก่ People Excellence Award สำหรับองค์กรที่ดูแลและพัฒนาบุคลากรอย่างดีเลิศและ Singapore Innovation Award สำหรับองค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรม รวมถึงรางวัล Service Excellence Award ที่จะเริ่มเป็นครั้งแรกในปีหน้าโดยมอบให้องค์กรที่มีความเป็นเลิศในด้านการบริการ ซึ่งทั้ง 3 รางวัลนี้จะสอดคล้องกับเป้าหมายของสิงคโปร์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการมีนวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นเลิศในด้านการบริการ
จนถึงปัจจุบันมีองค์กรที่ได้รับรางวัล People Excellence Award ไปแล้ว 10 องค์กรด้วยกัน ส่วน Singapore Innovation Award มีแล้ว 6 องค์กร (ดูรายชื่อผู้ได้รับรางวัลจากตารางประกอบ) หน่วยงานที่ได้รับรางวัลด้าน Innovation มีทั้งที่เป็นการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการบริการ อาทิ PUB ที่ได้รับรางวัลในปีนี้
PUB เป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดการทรัพยากรน้ำทั้งหมดของสิงคโปร์ นวัตกรรมที่โดดเด่นของ PUB ได้แก่ NEWater ซึ่งเป็นน้ำที่ได้จากการนำน้ำใช้แล้วไปผ่านกระบวน การบำบัดและฆ่าเชื้อจนสะอาดและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมถึงบริโภคได้อีกครั้ง ปัจจุบันมีการใช้ NEWater ในสัดส่วน 1% ของปริมาณการใช้งานน้ำในแต่ละวันและคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ภายในปี 2554
ผลจากการริเริ่มและเอาจริงเอาจังของรัฐบาลสิงคโปร์ส่งผลให้อันดับความสามารถทางการแข่งขันของสิงคโปร์ที่จัดทำโดย World Economic Forum ในปัจจุบัน ติดกลุ่มผู้นำ 5 อันดับแรกของโลกไปเรียบร้อย สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่สูงที่สุดในเอเชีย เหนือกว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ หนึ่ง และสองของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และหากวัดกันเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมาเลเซียตามมาห่างๆ ที่อันดับ 26 ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 35
ถึงแม้จะทำได้ขนาดนี้แต่สิงคโปร์ก็ยังไม่พอใจ เนื่องจากในกลุ่มผู้ได้รับรางวัลที่เป็น ภาคเอกชนนั้นยังมีบริษัท SMEs ของสิงคโปร์ อยู่เพียง 2 รายเท่านั้นคือ Qian Hu Corpo-ration ในปี 2547 และ Teckwah Industrial Corporation Ltd ที่เพิ่งได้รับในปีนี้ ด้วยเหตุนี้เองในปีนี้ SPRING ได้ประกาศเริ่มต้นโครงการ SME Management Action for Results หรือ SMART เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจ SMEs ของสิงคโปร์กว่า 300 รายให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ โดยใช้งบประมาณ 4 ล้าน ดอลลาร์สิงคโปร์ในระยะเวลา 3 ปี
ความพยายามของสิงคโปร์ในการมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศนี้ไม่ได้ส่งผลบวกเฉพาะกับประเทศสิงคโปร์เท่านั้น หน่วยงานหรือบริษัทที่พยายามปรับตัวมุ่งสู่ความเป็นเลิศก็ได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน จากผลการศึกษาของ National University of Singapore ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลา 5 ปีบริษัทหรือหน่วยงานที่ได้รับรางวัล SQA จะมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันถึง 75% เลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|