|
โปรดฟังอีกครั้ง! อสังหาริมทรัพย์แค่ซึม แต่ไม่ถดถอย
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การที่บริษัท Livesmart พุ่งเป้าหมายไปที่สินเชื่อบ้าน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะแต่ละปี วงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านของสถาบันการเงินทุกประเภทในบ้านเรามีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท และทุกสถาบันการเงินต่างก็ให้ความสำคัญกับลูกค้าซื้อบ้านมาตลอด
บ้านในความคิดของคนไทย ยังเป็นเป้าหมายใหญ่ในชีวิตที่ทุกคนต่างพยายามหามาเป็นเจ้าของให้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นก็ตาม
ตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้ เฉพาะธนาคารพาณิชย์เพียงประเภทเดียว ปล่อยสินเชื่อบ้านไปแล้ว 612,559 ล้านบาท ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาล ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 488,183 ล้านบาท เพียงแค่นี้วงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็สูงกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว
ประมาณกันว่าที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวออกมา ส่วนใหญ่กว่า 80% อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ซึ่งตรงกับความต้องการของ Livesmart พอดีที่ต้องการทำตลาดในกรุงเทพฯ ก่อน ส่วนช่วงต่อไปค่อยขยายออกไปต่างจังหวัด
ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ จะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2548 เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภค และภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ความรู้สึกของคนซื้อบ้านลดความเข้มข้นลง
เมื่อกำลังซื้อบ้านลดลง ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจ แต่วงเงินสินเชื่อกลับสูงขึ้น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ราคาขายบ้านปรับขึ้น ตามภาวะดอกเบี้ย และต้นทุนการก่อสร้าง ราคาที่ดิน ที่ขยับราคาขึ้นมา
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้รายงานภาวะด้านสินเชื่อไว้ในวารสารธนาคารอาคารสงเคราะห์ฉบับล่าสุด เดือนกันยายนว่า มูลค่าสินเชื่อผู้ประกอบการ (Pre Finance) ในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการเลื่อนเปิดโครงการมาจากปีที่แล้ว
ส่วนสินเชื่อบุคคลทั่วไป (Post Finance) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบไตรมาส 1 ของปีนี้กับไตรมาส 4 ปี 2548 หดตัวลงถึงร้อยละ 20.3 สาเหตุหลักมาจากผู้ประกอบการได้ปรับระดับราคาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค
สำหรับการประเมินอุปสงค์ของที่อยู่อาศัย ในวารสารฉบับเดียวกันเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในอนาคตของการจ้างงาน รายได้ จะทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงกลับมาสู่ตลาดอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มนิ่ง ผู้ซื้อบ้านสามารถประเมินความสามารถในการผ่อนชำระได้ ซึ่งส่งผลให้อัตราการปฏิเสธการให้สินเชื่อของธนาคารลดลงสู่ภาวะปกติด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับอุปทานที่อยู่อาศัยที่หดตัวในปี 2549 จะเป็นผลดีต่อธุรกิจนี้ เพราะจะไม่ทำให้ที่อยู่อาศัยล้นตลาด
การวิเคราะห์สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดนี้ ไม่ได้นำ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน มาประกอบ ด้วย เพราะยังไม่มีใครคาดคิด แต่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ทำให้ตัวเลขที่อยู่อาศัย และตัวเลขสินเชื่อเปลี่ยนแปลงมากนัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|