หลากปัจจัยบวกเอื้อบาทแข็งแกร่งจับตาปี50มีสิทธิ์แตะ35.10บ./ดอลล์


ผู้จัดการรายวัน(31 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเหตุบาทแข็งค่าต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนทำให้นักลงทุนเริ่มกังวล คาดปีหน้าค่าบาทยังแข็งต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่แข็งค่ากว่าที่ Consensus Forecasts ประมาณไว้ที่ระดับ 37.80 บาทดอลลาร์ฯในปลายปีนี้ และ 37.12 บาท/ดอลลาร์ในปลายปี 50 เตือนผู้ส่งออกหาเครื่องมือลดความเสี่ยงรับมือค่าบาทผันผวน ด้านแบงก์ชาติระบุยอดเงินไหลเข้าเริ่มนิ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสาเหตุการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาว่า หากเทียบกับระดับปิด ณ ปลายปี 2548 เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค โดยอัตราการแข็งค่าของเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 11.6% เทียบกับ 6.7% ของเงินวอนเกาหลีใต้ และ 6.6% ของเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเพียง 0.5% จากปลายปี 2548 อันเป็นผลจากการที่นักค้าเงินไม่มั่นใจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะสามารถขยับขึ้นได้เพียงใดในปีนี้ ส่วนเงินดอลลาร์ฯไต้หวันก็ถูกกดดันด้วยปัญหาการเมืองในประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศ

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว เกิดขึ้นจากกระแสการไหลเข้าของเงินทุนเป็นหลัก แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนของปี 2549 เงินทุนไหลเข้าสุทธิโดยภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank Net Capital Inflows) มีมูลค่าสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับ 1.8 แสนล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเงินทุนไหลเข้าส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) ดังจะเห็นได้จาก การเพิ่มขึ้นของมูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน โดยการกลับมาซื้อสุทธิดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเชิงบวกของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศของไทย

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ยังเกิดขึ้นจากการที่นักค้าเงินมองว่า ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา เงินบาทได้แข็งค่าในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินวอนของเกาหลีใต้ และเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ ทั้งที่ๆประเทศเหล่านี้ต่างล้วนผ่านพ้นมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้ตลาดมองว่า เงินบาทน่าที่จะยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้อีก

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2549 ไปจนถึงปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทน่าจะได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯน่าจะเสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งความเป็นไปได้ของการปรับเพิ่มค่าของเงินหยวนของจีนเพื่อช่วยควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของค่าเงินบาท

ขณะที่ปัจจัยในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อาจจะขยายตัวประมาณ 3.0-3.5% ลดลงจาก 5.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ก็คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในปี 2550 ที่น่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4.0-5.0% จาก 4.0-4.5% ในปี 2549 ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อค่าเงินบาทเช่นกัน

ทั้งนี้ จากปัจจัยหนุนดังกล่าว จึงมองว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 49 และ 50 จะแข็งค่ากว่าที่ Consensus Forecasts ได้ทำการสำรวจทัศนะของบรรดานักค้าเงินต่อค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 37.80 และ 37.12 บาท/ดอลลาร์ตามลำดับ โดยหากในปี 2550 เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราเพียงครึ่งเดียวของในปี 2549 ที่ผ่านมา ก็คงจะสามารถแตะระดับ 35.1 บาท/ดอลลาร์ฯได้

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการแข็งค่าดังกล่าวของเงินบาท อาจจะมีผลต่อการส่งออกไม่มากนัก ถ้าหากเงินบาทไม่แข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคเหมือนกับในปี 2549 ที่ผ่านมา เนื่องจากคาดกันว่าในปีหน้า เงินเยนคงจะมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นมากพอสมควรเพื่อที่จะไล่ตามเงินยูโรและเงินสกุลอื่นๆหลังจากที่เงินเยนมีค่าค่อนข้างอ่อนในปี 2549 ที่ผ่านมา ในขณะที่ข้อกังวลหลักสำหรับการส่งออกของไทยน่าจะอยู่ที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในปีหน้ามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน กระแสการไหลเข้าของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ก็อาจจะทำให้ปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินไทย เพิ่มสูงขึ้นได้ เหมือนกับที่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2549

ดังนั้น ในภาวะดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกของไทยคงจะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาท โดยการใช้วิธีการและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งรูปแบบที่ง่ายที่สุดคงจะได้แก่การกระจายแหล่งตลาดส่งออกของตนและลดการค้าในรูปเงินดอลลาร์ฯ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับในกรณีที่ไม่สามารถที่จะกระจายตลาดส่งออกได้ ในขณะที่ทางการไทยเอง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็อาจจะต้องเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนไหลเข้า ที่คาดหวังการทำกำไรจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความผันผวนได้ทั้งต่อค่าเงินบาทและต่อราคาหลักทรัพย์ในตลาดฯ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับแนวโน้มการปรับลดของอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2550 รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีความยืดหยุ่นในการพิจารณาผ่อนปรนนโยบายอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือเฟด ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ธปท.ระบุเงินไหลเข้าเริ่มนิ่ง

นางธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ค่าเงินสกุลบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เห็นได้จากรายงานเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของสหรัฐมีการเติบโตที่ลดลง ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ขยายตัวลดลงเช่นกัน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง และส่งผลมายังค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้ใช้จ่ายของสหรัฐยังดีอยู่

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ติดตามดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมีการมีเงินไหลเข้าออกได้เร็ว แต่เงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)เป็นเงินระยะยาว ต้องดูอีกระยะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เงินที่ไหลเข้ามาลงทุนยังไทยเริ่มนิ่งแล้ว ทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังไทยเริ่มนิ่งลงเช่นกัน ขณะที่ในส่วนของผู้ส่งออกธปท.ก็ได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ต้นเรื่องทิศทางค่าเงินบาท เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยืนยันว่าธปท.จะดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก

สำหรับประเด็นที่มีนักวิเคราะห์บางรายเสนอให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน เพื่อเป็นการลดแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่มีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันก็ยังไม่นิ่ง ทำให้ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงในอนาคตได้ว่าจะมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.