TRAFดึงบีสไดเมนชั่น ตั้งบ.โฮลดิ้งหนุนธุรกิจ


ผู้จัดการรายวัน(28 มกราคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

TRAF จับมือ บีสไดเมนชั่น บริษัทย่อยของ TUF ตั้ง "ฟิวเจอร์บิส" อัตราส่วน 60 ต่อ 40 ตามลำดับ โดยบริษัทใหม่นี้จะเป็นลักษณะของโฮลดิ้ง คัมปานี ด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และ เป็นการนำ 3 บริษัทย่อย TRAF เข้าไปรวมกับบีสฯ พร้อมกับแบ่งงาน บริหารตามความถนัด เพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนทางธุรกิจ โดยรายได้จะเข้าสู่บริษัท TRAF ทั้งจำนวน

นายยรรยง อัครจินดานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทราฟฟิก คอนเนอร์ โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRAF เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งล่า สุดได้มีมติเห็นชอบที่จะให้ ทราฟฟิกฯ ร่วมทุนจัดตั้งบริษัทใหม่กับบริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟร์เซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF 20%

การร่วมมือกันของ 2 บริษัทนี้ จะตั้งบริษัทร่วมขึ้นมาภายใต้ชื่อ บริษัท ฟิวเจอร์บิส จำกัด เพื่อที่จะผนึกกำลังกับพันธมิตร คือบิส ไดเมนชั่น ผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็ก-ทรอนิกส์ครบวงจร เป็นการสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันในอนาคต โดย ทราฟฟิกฯ จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 60% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบีส ไดเมนชั่น จะถือหุ้นที่เหลือคือ 40% โดยมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วเบื้องต้น 85 ล้านบาท ซึ่ง ฟิวเจอร์บิสที่ตั้งใหม่นี้ จะเข้าถือหุ้นใน 4 บริษัทย่อย

โดยที่ 3 บริษัท คือบริษัทย่อย เดิมของ ทราฟฟิกฯ ประกอบด้วย บริษัท บลิสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้ให้บริการข้อมูลสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างๆ ฟิวเจอร์บิส จะเข้าถือหุ้น 99.99% บริษัท 108 1900 ออดิโอเท็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการข้อมูล เสียงผ่านระบบโทรศัพท์พื้นฐานและระบบโทรศัพท์มือถือ ฟิวเจอร์บิส จะเข้าถือหุ้น 96.67% บริษัท ฐิรัตน์ จำกัด ผู้ให้บริการโฟนเน็ต หรือบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ฟิวเจอร์บิสจะเข้า ถือหุ้น 90% และ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัดของ TUF ผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ฟิวเจอร์บิสจะเข้าถือหุ้น 99.99%

นายยรรยงกล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของทั้ง 4 บริษัทดังกล่าว จะมีการเข้ามาช่วยเสริมในด้านการ ตลาด การขยายฐานลูกค้า การใช้ช่องทางการจำหน่าย การโฆษณาและประชาสัมพันธ์เรื่องสินค้า และบริการ โดยจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในสินทรัพย์ถาวร ขณะที่ผู้บริหารจะมีหน้าที่แต่ละบริษัทอย่างชัดเจน โดย 3 บริษัทของทราฟฟิกฯ จะมีหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการตลาด และ บีส ไดเมนชั่น จะให้บริการทางเทคโนโลยีรวมถึงการวิจัยและพัฒนาบริการใหม่ ๆ เป็นการผนึกความชำนาญแต่ละด้านของแต่ละบริษัทเข้าด้วยกัน

"การลงทุนของทราฟฟิกฯ กับบีส ไดเมนชั่น ครั้งนี้ จะไม่มีการใช้เงินสด เพราะจะทำการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งบริษัทแม่จะไม่มีเงินไหลเข้าหรือไหลออกแต่อย่างใด เพราะเราต้องการให้บริษัท ทั้ง 4 แห่ง ดำเนินธุรกิจต่อไปด้วยวิธีที่ดีขึ้นใครถนัดด้านใดก็ทำด้านนั้น และเราต้องการให้งานด้าน การตลาดมาช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน" นายยรรยง กล่าว

ทั้งนี้ การร่วมทุนดังกล่าว เพื่อดำเนินธุรกิจรับการประมูลออนไลน์ซึ่งจะเน้นทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะปลายปีที่ผ่านมา รัฐได้หันมาให้ความ สำคัญกับธุรกิจนี้มากขึ้นเป็นการขยายฐานลูกค้า ขณะเดียวกันบีส ไดเมนชั่นก็มีลูกค้าเดิมที่เป็นภาค เอกชนอยู่แล้วหลายแห่ง

สำหรับ ฟิวเจอร์บิส ที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้น จะเป็นเพียงโฮลดิ้งส์ คัมปานี และจะเกื้อหนุนกันในการดำเนินธุรกิจทั้งสองบริษัท ซึ่งแต่ละฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำให้ฟิวเจอร์บิสกลายเป็น บริษัทที่มีความพร้อมในการให้บริการสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยการใช้การตลาดนำ โดยฟิวเจอร์บิส จะให้บริการด้าน wireless และ wireless application ซึ่งธุรกิจนี้มีการเติบโตมาก เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์พีดีเอ ที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และฟิวเจอร์บิสที่มีเนื้อหาและความพร้อมในการพัฒนา เทคโนโลยีสามารถแข่งขันได้

ขณะที่ บริการ E-marketing เป็นพื้นฐานเดิมของบีส ไดเมนชั่น จะถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นลักษณะของ E-solution เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทขนาดกลางจำนวนมากที่ต้องการระบบช่วยในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริการ E-ticketing เพื่อให้บริการตั๋วคอนเสิร์ตและการแสดง ซึ่งจะเสริมธุรกิจของทราฟฟิกฯและพันธมิตร ในการเปิดให้บริการจองตั๋วต่อไป ส่วนบริการ Smart card บริษัทจะพัฒนาบัตรโทรศัพท์เพื่อให้เป็นบัตรอเนกประสงค์ในอนาคต และ E-procurement รองรับโอกาสธุรกิจอันเกิดขึ้นจากนโยบาย E-government

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีส ไดเมนชั่น กล่าวว่าบีสฯ ก้อตั้งและดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2543 และบริษัทได้เข้าไปช่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ ในภาครัฐใน การจัดซื้อจัดจ้างและอื่นๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงงานของบริษัทเอกชนด้วย ซึ่งการร่วมทุนกับทราฟฟิกฯ ในครั้งนี้ เชื่อว่าการที่บีสฯมีเทคโนโลยี และการให้บริการอยู่แล้ว จะช่วยเสริมมูลค่าเพิ่ม โดยเกิดจากการที่มีความชำนาญที่ต่างกัน

นายยรรยงกล่าวว่าการที่ทราฟฟิกฯ ต้องทำ เช่นนี้ เพราะต้องการให้บริษัทเติบโตให้เร็วที่สุด และเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะ บีสฯ ดำเนินธุรกิจนี้มาหลายปีแล้ว ซึ่งบริษัทได้รับรู้รายได้และรายจ่ายจากการลงทุนไปแล้ว รวมทั้งหักค่าเสื่อมไปแล้ว 3 ปี ถือว่าการลงทุนในบีสฯ นั้น มีความเสี่ยงน้อย เพราะค่าใช้จ่ายในเรื่องซอฟต์แวร์ลดลงมาก

สำหรับบีส ไดเมนชั่นนั้น ถือเป็นการเข้าไปลงทุนเพื่อจะได้เทคโนโลยี และต้องการทำให้มีงาน เกิดขึ้นมากที่สุดจากการลงทุน ซึ่งในปี 2545 ที่ผ่านมา บีสฯ มีรายได้รับประมาณ 31 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากงานของภาคเอกชน และในปีนี้ หลังจากการร่วมทุนดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งงานของรัฐจะมีเข้ามา จากการที่รัฐหันมาให้ความสำคัญกับการ ทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามนโยบายที่รัฐต้องการนำเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในหน่วยงานรัฐเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย และคาดว่าปีนี้รายได้จากบีสไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท

ส่วนในอนาคต จะนำฟิวเจอร์บิส เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนซึ่งไม่ช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีหน้า สำหรับรายได้ของฟิวเจอร์บิสปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้รวมกันประมาณ 400 ล้านบาท และกำไรประมาณ 50 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยของกำไรที่ 35% ต่อปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.