|
TOTลุยเลิกสัญญาทาสหัวเหว่ย
ผู้จัดการรายวัน(30 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"หัวเหว่ย" ไม่สิ้นฤทธิ์ ขู่ฟ้องทีโอที หากยกเลิกสัญญาไมโครเนติกที่ใช้อุปกรณ์หัวเหว่ย หลังรู้บอร์ดลาออกทั้งคณะ ด้าน "พล.อ.ท.สมชาย"ไม่สน ประกาศตั้งกรรมการสอบหาตัวคนผิดมาลงโทษ พร้อมเดินหน้าเลิกสัญญาทาสให้ได้
จากกรณีที่ นายสถิตย์ลิ่มพงษ์พันธุ์ ประธานบอร์ด บริษัท ทีโอที ได้สั่งการให้ตั้งกรรมการสอบ 4 โครงการคือ 1.ความล่าช้าโครงการโทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมาย 2.ปัญหาการใช้งานระบบบิลลิ่ง, 3.โครงการ TNEP หรือ SDH และ4.ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานสัญญาต่าง ๆ พร้อมกับสั่งการยกเลิกสัญญาโครงการจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสัญญาณ Synchronous Digital Hierarchy (SDH) STM-4 จำนวน 100 เส้นทางและ STM-16 จำนวน 5 เส้นทาง ของบริษัท ไมโครเนติกที่ใช้อุปกรณ์หัวเหว่ย มูลค่าประมาณ 341 ล้านบาท หลังพบว่ามีการเซ็นสัญญาโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด
การที่นายสถิตย์ ได้สั่งการให้ตรวจสอบโครงการต่างๆ ครั้งนี้ เป็นการขานรับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้หน่วยงานองค์กรของรัฐบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและความโปร่งใส อีกทั้งยังเป็นการติดตามประเมินผลของฝ่ายบริหารตลอดช่วงเวลาที่บอร์ดชุดนี้ได้เข้ามาดูแลกำกับนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละโครงการที่มอบหมายให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง ล้วนแต่เกิดคำครหา ในความไม่ชัดเจนหรือความไม่โปร่งใส ของโครงการที่อนุมัติไปดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกำหนด หรือไม่สามารถใช้การได้ตามสัญญาจ้าง
หลังจากนายสถิตย์ได้สั่งการให้ตรวจสอบได้เพียงไม่กี่วัน นับจากวันที่ 16 ตุลาคม มาถึงวันนี้บทพิสูจน์บางสิ่งบางอย่างได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ บอร์ด ได้มีการลาออกกันทั้งคณะ โดยเริ่มจาก นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ยื่นหนังสือลาออก จากการเป็นบอร์ดเมื่อ 24 ตุลาคม และส่งผลให้บอร์ดคนอื่นต้องยื่นหนังสือตาม โดยจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (31 ตุลาคม)เป็นต้นไป ถึงแม้จะมีการประกาศยื่นหนังสือลาออก 27ตุลาคมที่ผ่านมาก็ตาม
“เป็นครั้งแรกที่บอร์ดได้ลงไปตรวจสอบถึงแม้ใครจะมองว่าเป็นการล้วงลูกแต่การล้วงลูกนี้ก็เพื่อให้ทำงานอย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้เรื่องต่างๆได้มอบหมายให้รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่เข้าตรวจสอบแล้ว” นายสถิตย์ กล่าว
คำสั่งครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ท.สมชาย เธียรอนันท์ หนึ่งในบอร์ดซึ่งเป็น คณะทำงานตรวจสอบของบอร์ดมารับบท“รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่” ชั่วคราวในระหว่างรอการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ว่างอยู่ เพื่อให้เข้ามาสางปัญหาภายในองค์กร ที่สุมกองไว้อย่างมากมาย ทั้งเรื่องการบริหารองค์กรให้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล การปรับโครงสร้างธุรกิจ การพัฒนาบริการ รวมถึงแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส ของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารองค์กรในด้านการลงทุนและการแข่งขัน รวมถึงการเป็นองค์กรที่บริหารตามหลักธรรมาภิบาล จากนโยบายของบอร์ด ทีโอที มอบให้พนักงานทีโอที มายึดเป็นหลักในการทำงาน
พล.อ.ท.สมชาย กล่าวว่า สำหรับโครงการจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสัญญาณ Synchronous Digital Hierarchy (SDH) STM-4 จำนวน 100 เส้นทางและ STM-16 จำนวน 5 เส้นทาง ของบริษัท ไมโครเนติกที่ใช้อุปกรณ์หัวเหว่ย มูลค่าประมาณ 341 ล้านบาท หลังพบว่ามีการเซ็นสัญญาโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดนั้น ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาฉบับดังกล่าว และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด เพื่อหาแนวทางยกเลิกสัญญา หลังจากที่ได้เจรจากับหัวเหว่ย
“ตอนแรกหัวเหว่ยยอมที่จะยกเลิกสัญญาด้วยดี แต่พอรู้ว่าบอร์ดลาออกทั้งคณะก็มีท่าทีบิดพลิ้วปฎิบัติตัวไม่สมกับการเป็นผู้ค้าที่ดี อ้างเหตุผลไปต่างๆ นาๆ และขู่ที่จะฟ้อง ทีโอที หากยกเลิกสัญญา จึงทำให้ผมตัดสินใจตั้งคณะกรรมการสอบสวนเลยทันที ที่สำคัญการสอบครั้งนี้ จะดูตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดซื้อทั้งหมดพร้อมเอาคนผิดมาลงโทษด้วย ซึ่งผมได้เซ็นลงนามไปแล้ว”
คณะกรรมการสอบสวนฯ จะมีนายสินธุนอง อังศุพานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน และพนักงานทีโอทีฝ่ายกฎหมาย 1 คน ฝ่ายจัดซื้อ 1 คน มาร่วมพิจารณาถึงความถูกต้องของสัญญา ความจำเป็นในการจัดซื้อ ความโปร่งใส และลงโทษผู้กระทำผิดจากระบบการจัดซื้อทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงผู้ที่ลงนามอนุมัติ
เรื่องดังกล่าวถึงแม้บอร์ดได้หมดหน้าที่หรือมีการลงนามก่อนหมดวาระลง แต่การตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องของระบบการตรวจสอบภายในครั้งใหญ่ของทีโอที กับการพิสูจน์ตนเองในการลงโทษผู้กระทำผิด ที่อาศัยอำนาจเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากการตัดซอยงบประมาณ โดย พล.อ.ท.สมชาย ได้กล่าวว่า โครงการ SDH ไม่ได้เป็นการจัดซื้อเพื่อมาสร้างบริการหรือรายได้ให้ทีโอที แต่เป็นการจัดซื้อเข้ามาเก็บไว้เพื่อสินค้าคงคลัง โดยไม่มีการใช้งาน มีแต่เพียงอุปกรณ์ ระบบสัญญาณไม่มีการเชื่อมต่อทั้งส่วนต้นทาง ปลายทาง มีแต่อุปกรณ์วางไว้ที่ชุมสายเท่านั้น
สำหรับโครงการอื่นๆ ก็เริ่มมีความชัดเจนออกมาไม่ต่างกัน อย่างระบบบิลลิ่ง คณะทำงานฯ ก็ได้มีการฟันธงออกมาแล้วว่า ระบบบิลลิ่งไม่สามารถใช้การได้ ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานในข้อตกลงสัญญาเช่า โดยทางออกปัญหาเรื่องนี้ ทีโอที จะแก้ปัญหาด้วยการซื้อระบบจากผู้เช่า มาดำเนินการแก้ไขปรับปรุง วางระบบใหม่เอง ให้สามารถใช้งานได้ พร้อมกับจะลงโทษกับผู้รับผิดชอบในโครงการนี้
ส่วนความล่าช้าโครงการโทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมาย ได้มีสัญญาณถึงการพิจารณาคิดปรับ เนื่องจากมีการส่งมอบล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งภาพรวมของโครงการขณะนี้ได้มีความคืบหน้าไปแล้วเกือบ 80% และมีบางพื้นที่ได้ให้บริการเลขหมายไปแล้ว บางส่วน โดยคาดว่าก่อนสิ้นเดือนธันวาคมนี้ สามารถส่งมอบได้ก่อน 1 พื้นที่ จาก 3 พื้นที่ จากเดิมกำหนดส่งมอบเมื่อ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานฯ ได้ขีดวันส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยจะไม่ผ่อนปรนยืดเวลา และปรับตามข้อเท็จจริง
“น้ำท่วม ทีโอที รับได้ แต่ถ้าพื้นที่ไหนไม่มีก็ไม่นำมาคิด เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย ก็อาจจะผ่อนปรนได้บ้าง แต่ถ้าเรื่องของสายทองแดงหาย สายขาดตลาด ของขึ้นราคา นั่นไม่ใช่ข้ออ้างหรือเป็นหน้าที่ของ ทีโอที รับผิดชอบ”
นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกเรื่องที่ พล.อ.ท.สมชาย ได้มีการเข้าไปสางปัญหา คือ เรื่องสัญญาส่วนบริการสื่อสารไร้สายในพื้นที่ห่างไกล หรือ โครงการ WLL ที่ให้ บริษัท มิตซูบิชิ เข้ามาติดตั้ง ซึ่งเรื่องนี้สร้างความเสียหายให้กับทีโอที จากผลสัญญาฯ ที่ไม่ชัดเจน เนื่องจาก ตรวจสอบแล้วว่ามีข้อบกพร่องโดยเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา ที่มีช่องโหว่ในส่วนของผู้ใช้บริการ ที่มีความคลุมเคลือกับเรื่องของวันที่ลูกค้าเช่า 36 เดือน ตัวสัญญาไม่กำหนดไว้ชัดเจน จนส่งผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีวันสิ้นสุด เป็นเหตุให้ทีโอที ต้องจ่ายส่วนต่างให้กับผู้ใช้บริการเลขหมายละ 300 บาท ให้กับผู้ใช้จำนวนกว่า1หมื่นราย หากทีโอที ไม่สามารถตกลงวันสิ้นสุดสัญญา และปล่อยไว้ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ตกลงกับมิตซูบิชิ ได้ข้อสรุปร่วมกันได้แล้ว ที่จะให้ยุติโครงการนี้ ในปี 2551 โดยเรื่องดังกล่าวได้ทำหนังสือเสนอบอร์ดรออนุมัติแล้ว และเรื่องดังกล่าวจะไม่มีการเจรจาฟ้องร้องค่าเสียหาย
“หากลูกค้าเซ็นสัญญาใช้บริการวันนี้ ก็จะต้องใช้บริการ 3 ปี อีกไม่กี่วันมีรายใหม่มาใช้ ก็จะต้องใช้สามปีต ซึ่งสัญญามันเป็นแบบนี้ จึงทำให้สัญญาไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นเพื่อให้ทุกอย่างจบลงโดยไม่มีใครได้ใครเสีย โดยไม่ต้องมีเรื่องฟ้องร้อง ทีโอที ตกลงกับเขาให้ยุติบริการนี้ ในปี 51 ถึงแม้จะต้องแบกรับภาระไปอีกก็ตามซึ่งทำให้ทีโอทีเสียหายมากในครั้งนี้”
ขณะที่โครงการ TNEP คณะทำงานฯได้สรุปออกมา คือ มีการปรับเกิดขึ้นไม่มีลดหย่อน จากที่ยืดระยะเวลามาให้แล้วระดับหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ ทีโอที เสียประโยชน์แง่ของบริการจากการลงทุน จนไม่สามารถให้บริการลูกค้าตามแผนดำเนินงาน โดยเรื่องดังกล่าวก็ได้มีการทำหนังสือส่งมอบให้บอร์ดอนุมัติคำสั่งแล้ว แต่พอดีบอร์ดลาออกจึงทำให้ไม่มีการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้
จากกระบวนการตรวจสอบทุกเรื่อง สามารถเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า ทีโอที ได้ขาดประสิทธิภาพการบริหารองค์กร และอาศัยช่องโหว่จากระบบงานราชการ โดยกระบวนการจัดซื้อส่วนใหญ่ ได้มีการดำเนินการโดยผู้บริหาร ที่คอยชงโครงการ ให้กับกลุ่มของตนเอง สร้างเครือข่ายผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มเอกชน อย่างกรณี สัญญาไมโครเนติก ที่ใช้อุปกรณ์หัวเหว่ย โดยใช้รูปแบบวิธีการซอยงบเพื่อไม่ต้องผ่านบอร์ด ชุดใหญ่ ทำช็อตลิสต์ เอื้อประโยชน์ให้หัวเหว่ย การกีดกันผู้แข่งขันรายอื่น หากมีการเสนอราคาต่ำกว่า โดยโครงการนี้ได้ทำการจัดซื้อสอดแทรกเพิ่มเข้าไปสอดรับโครงการ โทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมายที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเหว่ย ปรากฏว่าใช้งานไม่ได้ มีแต่ตู้เปล่าๆ ไม่มีระบบสื่อสัญญาณทำงานไม่ได้
หรืออย่างโครงการติดตั้งอุปกรณ์ MSAN, Optical Fiber Cable และงานตัดถ่ายเลขหมายชุมสายโทรศัพท์หนองแขมและชุมสายโทรศัพท์เอกชัย ด้วยวิธีช็อตลิสต์มีผู้เสนอราคา 5 รายคือ Opnet 143 ล้านบาท Kmile 145 ล้านบาท หัวเหว่ย 181 ล้านบาท อัลคาเทล 183 ล้านบาทและ Zhone 190 ล้านบาท ปรากฏว่า Opnet ถูกปรับให้ตก เพื่อให้หัวเหว่ยได้งานไป ซึ่งถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าจะต้องมีการทบทวน
ถึงแม้เรื่องราวหรือปัญหาจะมีการคลี่คลายและหยุดยั้งปัญหาความสูญเสียของทีโอที ไปบ้างแล้วก็ตามจากผลการเข้าไปตรวจสอบ แต่ทุกเรื่องราวจะยังคงเป็นเพียงแค่คำบอกเล่าหรือการลงนามไว้ก่อนที่บอร์ดจะหมดวาระ เหมือนระเบิดลูกใหญ่ ที่เป็นภาระอันหนักอึ้งให้กับบอร์ดชุดใหม่ ต่อการเข้ามารับช่วงต่อรับไปดำเนินการ และแสดงถึงการเข้ามาสางปัญหาองค์กรให้ขับเคลื่อนตามภารกิจจากรัฐบาลได้
หากทำได้ถือว่า ทีโอที นั้นสามารถเปลี่ยนสถานะของตนเองให้สามารถก้าวข้ามพ้นจากบ่วงกรรมคำครหาพร้อมเข้าสู่องค์กรตามหลักธรรมาภิบาลได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ในวันนี้ (30 ตุลาคม) จะมีการประชุมบอร์ดครั้งสุดท้ายเพื่อคัดเลือกรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทน พล.อท.สมชาย ซึ่งหน้าที่หลักประการสำคัญ คือต้องเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ ความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆ ที่บอร์ดได้ตั้งเรื่องไว้ให้ฝ่ายบริหารมาสานต่อ
หากรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใดคนหนึ่ง หากไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู และไม่สมประโยชน์กับหัวเหว่ยก็น่าจะมีการจัดการกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใสและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|