|

HD World-HD Warsสงครามทีวียุค High Definition
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*ไม่ทันจะสิ้นสงครามทีวีจอใหญ่ กลิ่นอายสงครามรอบใหม่ก็ปะทุขึ้น
*HD Wars เป็นสมรภูมิรบใหม่ของตลาดทีวี และเป็นเทรนด์ของทีวีแห่งอนาคต
*และจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อทีวีสักเครื่อง
VGA, XGA, WXGA, Full HD สิ่งเหล่านี้คืออะไร ผู้บริโภคหลายคนอาจยังสับสนและไม่ค่อยเข้าใจกับคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ของทีวีในบ้านเรา แต่นับจากนี้ไป เรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคต้องพิจารณาก่อนการตัดสินใจซื้อทีวีแต่ละเครื่อง
ความละเอียดของจอภาพหรือค่า Resolution ของทีวีที่มีหลายระดับตั้งแต่ VGA, XGA, WXGA และสูงสุดในปัจจุบันคือ Full HD ซึ่งกลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของตลาดทีวีในประเทศไทยที่หลายค่ายหยิบยกมาเป็นจุดขายและเป็นตัวสร้างความแตกต่างจากทีวีรุ่นก่อนๆและเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ทีวีที่มีความละเอียดระดับ Full HD หรือ HD TV มีราคาสูงกว่าทีวีปกติเกือบเท่าตัว
ปัจจุบัน HD TV เป็นที่แพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งสัญญาณทีวีในระบบดิจิตอล Full HD เช่นที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนที่ใช้ HD TV เท่านั้นที่จะได้รับสัญญาณภาพแบบ Full HD ซึ่งให้รายละเอียดความคมชัดสมจริง ส่วนทีวีรุ่นเก่าที่มีความละเอียดไม่ถึงระดับ Full HD ก็ไม่ได้รับความนิยม และค่อยๆหายไปจากตลาด ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สัญญาณไฮเดฟฟินิชั่นเป็นระบบ 16:9 หรือไวด์สกรีน และเมื่อใช้ทีวีรุ่นเก่าซึ่งเป็นระบบ 4:3 จะทำให้ภาพด้านบนและด้านล่างถูกบีบ สัญญาณภาพที่ได้จึงมีขนาดเล็กลง
สำหรับตลาดเมืองไทยการที่จะให้แต่ละสถานีมีการส่งสัญญาณดิจิตอลในระดับ Full HD ได้นั้นจะต้องรอท่าทีการสนับสนุนจาก กสช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อีกทั้งปัญหาบ้านเมืองทำให้ภาระกิจหลักของ กสช.ชุดที่จะเกิดขึ้นต้องมาตามสะสางและจัดระเบียบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ให้ถูกต้องตามระเบียบ เช่น เรื่องของทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวีทีมีการโฆษณาทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างพม่า เวียดนาม มีการกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของการปรับระบบการส่งสัญญาณให้เป็น Full HD ในอนาคต
ในงานแสดงนิทรรศการทางเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่นหรืองานซีเทค CEATEC (Combined Exhibition of Advanced Technologies-Providing Image, Information and Communication) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี แม้ว่าในปีนี้จะใช้หัวข้อในการจัดงานว่า Digital Convergence-Changing Society. Lifestyles and Business แต่ในงานดังกล่าวก็มีไฮไลท์ของเทคโนโลยีที่สำคัญหลายเรื่อง นอกเหนือจากเรื่องของการควบรวมเทคโนโลยี Convergence หรือบางค่ายก็เรียกว่าการเชื่อมต่อเทคโนโลยี หรือ Ubiquitous แล้วก็ยังมีเทคโนโลยีเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ดิสก์ และ เอชดี-ดีวีดี ซึ่งจะมาแทนที่ดีวีดีในอนาคตเนื่องจากมีความจุที่มากกว่าและมีความละเอียดของภาพในระดับ High Definition รวมถึงเทคโนโลยีจอภาพที่ให้ความคมชัดระดับ High Definition เป็นอีกไฮไลท์สำคัญในงาน
โซนี่นำทัพสร้างอาณาจักร HD
สำหรับตลาดเมืองไทยต้องถือว่าค่ายโซนี่เป็นค่ายแรกที่พยายามสร้างตลาด HD ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยนโยบาย HD World ถือเป็นนโยบายที่โซนี่ใช้ทั่วโลกในปีนี้เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภคได้เห็น ได้รับรู้ และสัมผัสถึงประสบการณ์ในการรับชมภาพและเสียงแบบ Full HD
แม้ยังไม่เห็นวี่แววว่าประเทศไทยจะมีการส่งสัญญาณในระบบ Full HD เมื่อไร แต่เป็นความจำเป็นของโซนี่ที่จะต้องสร้างตลาด Full HD ให้เกิดขึ้นเสียก่อน เนื่องจากโซนี่ได้สร้างเทคโนโลยีเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ที่ให้ความละเอียดของภาพในระดับ Full HD แต่ถ้าใช้เครื่องรับสัญญาณที่ไม่รองรับ Full HD ก็ไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังต้องติดตั้งระบบเสียงให้เป็น 5.1 แชนแนลเพื่อการรับฟังเสียงที่สมจริง เพราะฉะนั้นโซนี่จึงต้องทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ HD TV เสียก่อนที่จะลอนช์เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ รวมถึงเกมเพลย์สเตชั่น 3 ซึ่งต้องการทีวีที่รองรับสัญญาณ Full HD เช่นกันจึงจะได้อรรถรสในการชมเพราะถ้าใช้ทีวีรุ่นเก่าก็จะไม่ได้ภาพที่ให้รายละเอียดสมจริง
เช่นเดียวกับโตชิบาที่สร้างเครื่องเล่น HD DVD ที่ให้ความละเอียดในระดับ Full HD จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับ HD TV ซึ่งโตชิบาได้พัฒนาเทคโนโลยี Meta Brain Pro 100 สำหรับแอลซีดีทีวี 32-47 นิ้วซึ่งจะรองรับสัญญาณไฮเดฟฟินิชั่น และเป็นทีวี 100 Hz ซึ่งช่วยลดการเบลอของสัญญาณภาพในแอลซีดีทีวีโดยเฉพาะเวลาที่ภาพเคลื่อนไหวเร็ว ทั้งนี้แอลซีดีทีวีรุ่นดังกล่าวจะมีราคาแพงกว่ารุ่นปกติ 20%
การสร้างอาณาจักร HD World ของโซนี่เกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีการส่งสัญญาณในระบบ Full HD ด้วยการลอนช์กล้องไฮเดฟฟินิชั่นแฮนดีแคมเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เองและรับชมผ่าน HD TV ซึ่งโซนี่ก็มีแอลซีดีทีวีบราเวียหลายรุ่นที่รองรับสัญญาณไฮเดฟฟินิชั่น แต่แอลซีดีบราเวียยังมีข้อจำกัดในเรื่องขนาด โดยจอใหญ่สุดในปัจจุบันคือขนาด 46 นิ้ว แต่เนื่องจากเทรนด์ของตลาดยังต้องการทีวีที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ โซนี่จึงลอนช์โปรเจ็กชั่นทีวีซึ่งปกติมีความละเอียดแค่ระดับ VGA 852x480 หรือประมาณ 4 แสนพิกเซลแต่เมื่อใช้เทคโนโลยีใหม่ ชิป SXRD ทำให้ได้ความละเอียดในระดับ Full HD 1920x1080 หรือ 2 ล้านพิกเซล โดยมีหน้าจอ 3 ขนาดคือ 50 นิ้ว 60 นิ้ว 70 นิ้ว สนนราคาอยู่ที่ 129,990 บาท 149,990 บาท 199,990 บาทตามลำดับ ซึ่งเมื่อเทียบระดับราคาเดียวกับแอลซีดีแล้ว จะซื้อได้เพียง 40 กว่านิ้วเท่านั้น อย่างไรก็ดี SXRD มีจุดด้อยกว่าแอลซีดีเพียงจุดเดียวคือมีขนาดใหญ่ หน้าจอมีความหนาเหมือนโปรเจ็กชั่นทีวี ดังนั้นโซนี่จึงโฟกัส SXRD ไปที่กลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีบ้านหลังใหญ่เพราะ SXRD ต้องใช้พื้นที่ในการตั้ง ต่างจากแอลซีดีทีวีทีวีมีความบางและเบาไม่ต้องใช้พื้นที่ติดตั้งมาก
งบกว่า 10 ล้านบาทที่โซนี่ใช้ในการสร้าง SXRD โปรเจ็กชั่นทีวีให้ติดตลาด มีทั้งการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการจัดดิสเพลย์ ณ จุดขาย ร้านค้าต่างๆจะต้องมีทีวีจอใหญ่ Full HD โชว์ให้ผู้บริโภคได้เห็น โดยให้ความสำคัญกับช่องทางที่เป็นดีลเลอร์มากกว่าโมเดิร์นเทรดเนื่องจาก HD TV มีราคาแพง ต้องมีการแนะนำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณสมบัติและเงื่อนไขการใช้งานที่จะทำให้ได้อรรถรสในการชมอย่างเต็มที่ซึ่งต้องอาศัยพนักงานขาย แต่ว่าในส่วนของโมเดิร์นเทรดมักให้ความสำคัญกับการขายมากกว่าการสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้บริโภค
Highly Realistic Sensation ถือเป็นคอนเซ็ปต์ในการสื่อสารกับลูกค้าโดยจะมีการให้ความรู้ต่อผู้บริโภคถึง 3 องค์ประกอบหลักที่จะทำให้การดูทีวีได้อรรถรสได้แก่ 1) ทีวีต้องมีขนาด 40 นิ้วขึ้นไป 2) ความละเอียดของจอภาพก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าความใหญ่ของหน้าจอ และ 3) ระยะห่างจากจอซึ่งจะห่างมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าจอด้วย โดยองค์ประกอบทั้ง 3 นี้พนักงานขายโซนี่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้า
SXRD จะเป็นตัวผลักดันให้ยอดขายโปรเจ็กชั่นทีวีของโซนี่เติบโตเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดขายแอลซีดีทีวีของโซนี่ในปีนี้คาดว่าจะโต 2 เท่า ส่วนยอดขาย ซีอาร์ที ทีวี คาดว่าจะคงที่ โดยในส่วนของตลาดรวมทีวีในบ้านเรา โซนี่เชื่อว่า SXRD จะสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดรวมได้ 5% พอๆกับพลาสม่าทีวีในปัจจุบัน ขณะที่ตลาดส่วนใหญ่กว่า 70% ยังคงเป็นซีอาร์ทีทีวี และแอลซีดีทีวี 20%
โซนี่ยังมีการทำตลาด Full HD ไปสู่กลุ่มโปรเฟสชันนอล เช่น โปรดักชั่นเฮาส์ โรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการรองรับอนาคตเพราะเมื่อใดที่มีการเผยแพร่สัญญาณเป็นระบบไฮเดฟฟินิชั่น ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในระบบเดิมก็จะใช้ไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตรายการทีวีหลายรายเริ่มหันมาบันทึกข้อมูลด้วยระบบไฮเดฟฟินิชั่นมากขึ้นเช่นค่ายกันตนาซึ่งร่วมกับโซนี่สร้าง HD Training Center เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับในการผลิตภาพยนตร์ระดับไฮเดฟฟินิชั่นเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนา "Sony Broadcast & Professional Products Exhibition 2006" เพื่อโน้มน้าวให้สถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการหันมาใช้เทคโนโลยีไฮเดฟฟินิชั่นเพื่อรองรับอนาคต โดยมีการชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ของตลาดว่าผู้บริโภคมีการรับชมด้วย HD TV มากขึ้น
"การเติบโตของตลาดทีวีที่รองรับสัญญาณไฮเดฟฟินินชั่นมีการเติบโตกว่า 30% ในปีนี้และคาดว่าจะเติบโตมากถึง 150 % ในปีหน้า ในขณะที่กล้องวิดีโอไฮเดฟฟินิชั่นสำหรับผู้บริโภคทั่วไปมีสัดส่วน 10% จากตลาดรวม แต่คาดว่าในปี 2551 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% นอกจากนี้โซนี่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ไฮเดฟฟินิชั่นอื่นอีกเช่น กล้องไซเบอร์ช็อต โน้ตบุ๊คไวโอ้ ทั้งนี้ตลาดไฮเฟฟินิชั่นจะมีการเติบโตเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ" คาซูโอะ ซูยาม่า กรรมการผู้จัดการ โซนี่ ไทย กล่าว
ฟิลิปส์-พานาฯ ส่ง HD TV ไล่บี้โซนี่ไม่ห่าง
นอกจาก 2 ค่ายยักษ์อย่างโซนี่และโตชิบาที่จำเป็นต้องผลักดันตลาด HD TV เพื่อสร้างตลาดบลูเรย์ดิสก์และเอชดีดีวีดีเพื่อชิงความเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางตลาดเครื่องเล่นแผ่นแห่งอนาคตแล้ว ก็ยังมีค่ายอื่นๆที่ให้ความสำคัญกับ HD TV มากขึ้น เช่นฟิลิปส์ที่มีแอลซีดีทีวี Full HD มากถึง 8 รุ่นตั้งแต่ 26-42 นิ้ว เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยรุ่นที่ราคาสูงสุดคือ 42PF9831 ราคา 219,900 บาท ทั้งนี้ฟิลิปส์ได้วางคอนเซ็ปต์ในการทำตลาดคือ Experience...Philips Entertainment Solution โดยการจัดกลุ่มสินค้าเพื่อจำหน่ายแบบยกชุดเช่นทีวีขายพ่วงเครื่องเสียงซึ่งมีสินค้าเข้าเซ็ตหลายระดับเพื่อเจาะตลาด 3 กลุ่มคือ Luxury Living ที่ชอบความหรูหรา กลุ่มพรีเมี่ยมเป็นคนวัยทำงานที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และกลุ่มเทรนดี้หรือคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน ครอบครัวเล็ก
ในขณะที่พานาโซนิคมีการลอนช์ตีม Living in High Definition ในงานซีเทคที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าในไม่ช้าก็จะมีการนำตีมดังกล่าวมาทำตลาดในเมืองไทยโดยพานาโซนิคได้ให้ความสำคัญกับการทำตลาดพลาสม่าทีวีมากกว่าแอลซีดีโดยมองว่าเทคโนโลยีจอภาพทั้ง 2 ประเภทยังมีเส้นแบ่งโดยแอลซีดีเหมาะสำหรับจอขนาดต่ำกว่า 37 นิ้ว ส่วนพลาสม่าเหมาะสำหรับจอ 40 นิ้วขึ้นไป ซึ่งปกติแล้วพลาสม่าจะมีความละเอียดของจอภาพที่ระดับ XGA 1024x768 หรือ 7 แสนพิกเซล แต่ถ้าเป็นพลาสม่าขนาด 50 นิ้วขึ้นไปรวมถึงแอลซีดีทีวีจะมีความละเอียดระดับ WXGA 1366x768 หรือ 1 ล้านพิกเซล แต่พานาโซนิคมีการพัฒนาให้พลาสม่าเวียร่ามีความละเอียดในระดับ Full HD 1920x1080 หรือ 2 ล้านพิกเซล พร้อมกับพัฒนาหน้าจอให้ใหญ่มากขึ้น โดยที่ญี่ปุ่นพานาโซนิคมีการจำหน่ายพลาสม่าทีวี 103 นิ้ว Full HD ในราคา 6 ล้านเยนหรือ 2 ล้านบาทซึ่งถือเป็นพลาสม่าทีวีที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทย พานาโซนิคได้สร้างสาวพานาเกิร์ลเพื่อเป็นทีมจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์โดยมีทั้งในส่วนของกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ส่วนชาร์ปซึ่งเป็นผู้บุกเบิกตลาดแอลซีดีทีวีก็มีการนำแอลซีดีทีวีอะควอส 65 นิ้ว Full HD เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยโดยมีราคา 790,000 บาท พร้อมกับการทำโรดโชว์ภายใต้คอนเซ็ปต์ More to See Aquos Music Inspiration เพื่อแนะนำสินค้าดังกล่าวให้กับดีลเลอร์และร้านค้าในระดับไฮเอนด์ โดยชาร์ปทุ่มงบกว่า 50 ล้านบาทสำหรับการทำตลาดแอลซีดีทีวีตั้งแต่ 13-65 นิ้ว แต่ว่ามีเพียง 2 รุ่นเท่านั้นที่ให้ความละเอียดระดับ Full HD คือขนาด 45 นิ้ว และ 65 นิ้ว เช่นเดียวกับ JVC ที่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดแอลซีดี โดยยกเลิกสายการผลิตพลาสม่าทีวี คงเหลือไว้เพียงการทำตลาดซีอาร์ทีทีวีสำหรับตลาดล่างและแอลซีดีทีวีสำหรับตลาดบน ล่าสุดได้เปิดตัวแอลซีดีซีรี่ย์ใหม่ DynaPix HD พร้อมกัน 5 รุ่นซึ่งเป็น Full HD ทุกรุ่น นอกจากนี้ก็ยังมี HD-ILA TV ขนาด 70 นิ้วและ 56 นิ้ว Full HD ซึ่งจะมาชนกับ SXRD โปรเจ็กชั่น ทีวี ของโซนี่
HD Wars ถือเป็นสมรภูมิที่ซ้อนอยู่ในสงครามทีวีจอใหญ่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการแข่งขันกันเฉพาะขนาดจอที่ใหญ่ซึ่งมีตั้งแต่เทคโนโลยีโปรเจ็กชั่นทีวี พลาสม่าทีวี จนมาถึงแอลซีดีทีวี แม้ว่าวันนี้ระบบส่งสัญญาณทีวีในบ้านเรายังไม่ใช่ Full HD แต่เชื่อว่าหลังจากมี กสช.เกิดขึ้นแล้ว คงใช้เวลาอีกไม่นานที่จะกำหนดนโยบายและทิศทางกิจการโทรทัศน์ของไทยให้ก้าวสู่ยุคไฮเดฟฟินิชั่น และเมื่อวันนั้นมาถึงก็จะมีแต่ HD TV เท่านั้นที่อยู่ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|