นับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้ลูเกิร์สต์เนอร์เปิดเผยวิสัยทัศน์ของตนเองต่อการเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของไอบีเอ็มเพิ่มขึ้นโดยลำดับ
และบัดนี้ดูเหมือนว่าเกิร์สต์เนอร์พร้อมแล้วสำหรับการยืนยันทัศนะอันแจ่มชัดของเขา
นั่นก็คือว่าไอบีเอ็มเล็งเห็นวิธีการคว้าโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว
และแม้ว่าองค์กรจะมีโครงสร้างใหญ่โตมหึมา นโยบายที่จะยืนยันต่อไปก็คือการกระจายอำนาจการบริหารออกไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าไอบีเอ็มในยุคเก่า
อีกทั้งจะระดมเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุดด้วยการเป็นผู้เสนอบริการแก่ลูกค้า
ช่วยปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์อันสลับซับซ้อนให้กับลูกค้า ยังไม่รวมถึงการผลักดันตนเองเป็นผู้นำในตลาดสินค้าอย่างครอบคลุม
ตั้งแต่ชิปจนถึงดิสก์ ไดรฟ์ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แบบพกพาไปจนถึงเมนเฟรมโดยเน้นการเป็นผู้ผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ
และใช้ต้นทุนต่ำที่สุด และยังต้องรั้งตำแหน่งผู้นำทางด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้ได้
ขณะที่อินเทลและไมโครซอฟต์เกือบจะผูกขาดตลาดนี้ไว้ในมือเสียแล้ว
องค์กรต้องยิ่งใหญ่
การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของเกิร์สต์เนอร์จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการล้มเลิกแผนการของจอห์น
เอเคอร์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ผู้ประกาศแยกกิจการออกเป็น 13 กลุ่ม ในช่วง
7 เดือนของการกุมตำแหน่งหัวเรือใหญ่ เกิร์สต์เนอร์ค้นพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงลักษณะโครงสร้างองค์กรโดยรวมไว้ต่อไป
เขาชี้ถึงปัจจัยจากภายนอกว่า เท่าที่ได้คุยกับลูกค้าของบริษัท ปรากฏว่าลูกค้านับพันรายไม่เห็นด้วยกับการที่จะแตกบริษัทออก
แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ ไอบีเอ็มจะต้องสางปัญหาความสับสนที่เกิดขึ้นจากบริษัทผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์และสามารถนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ
มาตอบสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าได้
ส่วนปัจจัยภายในนั้นจะรวมถึงบรรดาสินค้าของไอบีเอ็มซึ่งเกิร์สต์เนอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนมากนัก
ทว่าจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท 15 ราย พบว่า ไอบีเอ็มกำลังเร่งเข็นเทคโนโลยีใหม่ๆ
และท้าทายออกมาป้อนตลาด โดยที่จะไม่ละทิ้งธุรกิจหลักด้านพีซีและเมนเฟรมไป
ขณะนี้ไอบีเอ็มกำลังเปิดตลาดฮาร์ดแวร์ไลน์ใหม่ ซึ่งอิงกับเทคโนโลยีใหม่
ที่เรียกกันว่าสถาปัตยกรรมเพาเวอร์ (POWER มาจาก PERFORMANCE OPTIMIZATION
WITH CNHANCED RISC) เทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้าไปแทรกตัวในระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ทุกประเภท
ตั้งแต่อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาไปจนถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบคู่ขนาน และเมื่อถึงวันนั้นธุรกิจของไอบีเอ็มทั้งหมดก็จะมีความเชื่อมต่อประสานกันอย่างมาก
ความหวังอยู่ที่เทคโนโลยีใหม่
หากเทคโนโลยีเพาเวอร์ของไอบีเอ็มประสบความสำเร็จ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับเทคโนโลยีนี้เป็นหลัก
บริษัทจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาล โดยไม่ได้ลดศักยภาพในการผลิตสินค้า
ที่มีความเป็นเลิศ ส่วนลูกค้าเองจะได้รับความสะดวกจากการที่ชุดฮาร์ดแวร์
และซอฟต์แวร์ใหม่นี้ มีขอบข่ายการใช้งานขยายมากกว่าเดิมและเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์ของบริษัทอื่นๆ
ได้ด้วย นั่นย่อมหมายความว่า ไอบีเอ็มจะมีรายได้และกำไรเพิ่มมากขึ้น
จากการคาดหมายของนักวิเคราะห์แห่งวอลล์สตรีท ยอดขายของไอบีเอ็มในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ราว
61,000 ล้านดอลลาร์ จาก 69,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 โดยมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างราว
20,500 ล้านดอลลาร์นับจากต้นปีที่แล้ว ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาก ไอบีเอ็มมียอดขาดทุนจากการดำเนินการ
325 ล้านดอลลาร์และนับจากเกิร์สต์เนอร์รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ราคาหุ้นของบริษัทขยับลดลงไปแล้วราว 15%
ในระยะสั้นแล้ว ชาวไอบีเอ็มเองตระหนักดีว่า บริษัทไม่อาจพลิกฟื้นกิจการขึ้นมาได้
แต่หากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ทรุดดิ่งไปกว่านี้ บริษัทจะหยุดขาดทุนได้ภายในปี
1994 รายได้จากธุรกิจในส่วนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจะคอยหนุนยอดขายในธุรกิจเมนเฟรมที่ตกลงกว่า
50% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์ในปี 1993 ส่วนธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูงก็จะเป็นธุรกิจในส่วนบริการ
อาทิ การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ในส่วนธุรกิจบริการของไอบีเอ็มเพิ่มขึ้นในอัตรา
2 เท่า โดยอยู่ที่เกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์
ด้านเจโรมี ยอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของไอบีเอ็ม ซึ่งเกิร์สต์เนอร์ดึงตัวจากไครส์เลอร์
คอร์ป มีงานช้างที่ต้องเร่งดำเนินการเป็นประการแรกคือ ลดค่าใช้จ่ายต่อปีลงในราว
7,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงได้หลังกลางปี 1996
พบปัญหาที่ตัวเอง
เกิร์สต์เนอร์ยังชี้ปัญหาของไอบีเอ็มไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า "เราค้นพบศัตรูของเราแล้ว
ซึ่งก็คือตัวเรานั่นเอง" เขาระบุว่าไอบีเอ็มยังคงปล่อยให้พนักงานขาย
และเจ้าหน้าที่เทคนิคไปกระจุกกันอยู่ตามบริษัทของลูกค้าและคนเหล่านี้ไม่อาจถ่ายทอดความรู้ด้านตลาดของตนให้กับลูกค้าได้
ในการประชุมพนักงานคราวหนึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิร์สต์เนอร์ชี้ว่า
"เรามีพนักงานที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากพนักงานในแต่ละแผนกคอยทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องการแบ่งสัดส่วนรายได้
ซึ่งผมว่าน่าขันมาก"
กระนั้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าก็หาใช่การให้พนักงานขายคอยอธิบายชี้แจงเท่านั้น
ในระยะหลังไอบีเอ็มจึงวางจำหน่ายชิปและชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ในตลาดเปิดมากขึ้น
โดยไม่หวั่นว่าฮาร์ดแวร์ของตนจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากลูกค้า เพราะไอบีเอ็มเชื่อว่าบริษัทเข้าใจดีถึงความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
ทั้งเชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบสนองให้ได้อย่างครบถ้วน
"เราจะสร้างระบบของเราให้แตกต่างไปจากคู่แข่งของเรา ความแตกต่างตรงนี้จะทำให้เราเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้
โดยที่เรารู้ว่าจะประสานเอาคุณลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักออกแบบเครื่องบินหรือครูสอนหนังสือหรือนักเคมีได้
เรามีโอกาสที่จะทำให้ดีกว่าคนอื่นได้" บิลล์ ฟิลิป ประธานแผนกเวิร์กสเตชันของไอบีเอ็มให้ความเห็น
เกิร์สต์เนอร์เชื่อด้วยว่าเขาจะสามารถดึงเอาความรู้ของไอบีเอ็มในส่วนที่เกี่ยวกับลูกค้าออกมา
ด้วยการให้ส่วนต่างๆ ภายในองค์กรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เขาบอกกับบรรดาพนักงานในบริษัทว่า
เขาต้องการให้พนักงานคิดถึงประโยชน์สูงสุดของไอบีเอ็มก่อนที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของแผนกงานที่ตนสังกัด
ทั้งเสริมด้วยว่าสิ่งที่จะต้องคิดเป็นประการแรกก็คือลูกค้า
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิร์สต์เนอร์จัดตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นชุดหนึ่ง
ประกอบด้วยกรรมการจากแผนกงานที่ขึ้นตรงต่อเขา 6 คน และผู้บริหารระดับสูงอีก
4 คน ภาระหน้าที่หลักอยู่ที่การปรึกษาหารือกันเพื่อหาหนทางปรับปรุงการประสานงานให้ดีขึ้น
เกิร์สต์เนอร์บอกว่า "งานหลักของคณะกรรมการอยู่ที่การนำเอาข้อได้เปรียบด้านขนาดองค์กรไปสร้างประโยชน์ให้ตกแก่แผนกดำเนินการต่างๆ"
นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษอีก 9 ชุด ทำหน้าที่คิดค้นวิธีการในการลดต้นทุนและปรับปรุงแบบแผนการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด
อาทิ การพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ และการบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้น
ความหวังอยู่ที่เพาเวอร์
เทคโนโลยีเพาเวอร์ของไอบีเอ็มนั้น จัดได้ว่าเป็นการวางรากฐานครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งให้กับไอบีเอ็ม
เพราะแทนที่บริษัทจะปล่อยให้เมนเฟรมเป็นจุดศูนย์กลางของเทคโนโลยีเช่นแต่ก่อน
จากนี้ไปไอบีเอ็มจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับไมโครโพรเซสเซอร์ที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว
และทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้ทุกขนาด
ช่วงปี 1981 อันเป็นปีที่ไอบีเอ็มเริ่มวางตลาดพีซี บริษัทต้องการครองความเป็นเจ้าตลาดสินค้ากลุ่มนี้
โดยปล่อยให้อินเทล และไมโครซอฟต์ครองตลาดซอฟต์แวร์สำหรับระบบปฏิบัติการ และการประมวลผลไปพร้อมกับโกยกำไรแซงหน้าไอบีเอ็มไปนับพันล้านดอลลาร์
ครั้งนั้นนับเป็นความผิดพลาดของไอบีเอ็ม ที่มัวแต่หลงใหลกับตลาดเมนเฟรมที่ตกต่ำลงทุกวัน
การที่ไอบีเอ็มจะผงาดขึ้นมาอีกครั้ง สมกับฉายา "ยักษ์สีฟ้า"
จึงจำเป็นต้องอาศัยหมากเกมตัวใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่า REDUCED INSTRUCTION SET
COMPUTING (RISC) คือคำตอบที่ไอบีเอ็มเลือก หลังจากที่หน่ออ่อนความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องวิจัยทดลองของไอบีเอ็มตั้งแต่ทศวรรษ
1970 ทว่ายังไม่สามารถนำออกใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งที่ระบบดังกล่าวทำงานได้อย่างรวดเร็วกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ของอินเทลมาก
และระหว่างที่ไอบีเอ็มยังรีรออยู่นั้น ซัน ไมโครซิสเต็มส์และฮิวเล็ตต์ แพคการ์ดก็ได้เปิดตลาดเวิร์กสเตชันที่อิงกับเทคโนโลยี
RISC นี้เรียบร้อยแล้ว
ปี 1990 "เพาเวอร์" ของไอบีเอ็มก็ได้ฤกษ์ปรากฏโฉมโดยติดตั้งอยู่ในกลุ่มชิปที่ใช้ในเวิร์กสเตชัน
RS/6000 ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว เพราะใช้ได้กับระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ที่ใช้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร
อีกทั้งมีราคาถูกเมื่อเทียบขีดความสามารถในการทำงานกับสินค้ารุ่นก่อนของไอบีเอ็ม
เหตุนี้เองไอบีเอ็มจึงชิงส่วนแบ่งตลาดเวิร์กสเตชันไว้ได้ถึง 17% ในปีที่แล้วจากสัดส่วนเดิมที่
0% ในปี 1989
บริษัทวิจัยดาต้าเควสต์ระบุว่าส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวนี้ทำยอดขายจากทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ไอบีเอ็มได้เป็นมูลค่ากว่า
2,000 ล้านดอลลาร์
ยิ่งในช่วงที่เกิร์สต์เนอร์เข้ากุมบังเหียนไอบีเอ็มด้วยแล้ว "เพาเวอร์"
ก็ยิ่งทวีความสำคัญต่อบริษัทมากขึ้น และนับเป็นส่วนที่ช่วยเยียวยาความอ่อนแอทางธุรกิจของไอบีเอ็มในระยะหลังได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะในกรณีที่ไอบีเอ็มเคยพึ่งพาอินเทลตลอดมาในเรื่องการออกแบบไมโครโพรเซสเซอร์
เกิร์สต์เนอร์ถึงกับเอ่ยปากเองว่า "เราเชื่อว่าไมโครโพรเซสเซอร์เป็นส่วนประกอบพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบ
และเราจะต้องเป็นผู้สร้างไมโครโพรเซสเซอร์ขึ้นมาเองเพราะจะช่วยสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบอย่างมหาศาล"
เมื่อปี 1991 ไอบีเอ็มได้ดึงเอาโมโตโรลาและแอปเปิล คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยย่นย่อเพาเวอร์ให้มีขนาดเล็กลงเท่ากับชิปธรรมดาเพียงตัวหนึ่ง
ทีมงานเรียกไมโครโพรเซสเซอร์ไลน์ใหม่นี้ว่า "เพาเวอร์พีซี" ความร่วมมือดังกล่าว
จึงเป็นที่มาของแผนกเซมิคอนดักเตอร์ที่มีเทคโนโลยีชั้นเลิศแห่งใหม่ของไอบีเอ็มภายใต้ชื่อ
"ไอบีเอ็ม ไมโครอิเล็กทรอนิกส์" แม้ว่าชื่อเสียงจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคย
เนื่องจากเพิ่งเริ่มวางจำหน่ายชิปในตลาดเปิดได้ไม่นาน แต่คาดว่าในปีนี้ แผนกงานดังกล่าวจะทำรายได้ให้ไอบีเอ็มถึงราว
5,500 ล้านดอลลาร์
มิเชล อัตทาโด หัวหน้าแผนกวัย 52 ปี คุยถึงความสามารถของแผนกว่า "เราเชื่อว่าเราจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางด้านการผลิตได้ใน
6-12 เดือน" เขายังให้ข้อมูลสนับสนุนด้วยว่า ไอบีเอ็มนั้นมีขีดความสามารถในการผลิตแผงวงจรซิลิกอนขนาด
0.35 ไมครอน (ราวสามส่วนร้อยของความหนาของเส้นผมมนุษย์) เท่านั้น แต่ชิปความจำรุ่นล่าสุดของแผนกซึ่งผลิตโดยการร่วมทุนกับซีเมนส์แห่งเยอรมนี
จะเก็บความจำได้ถึง 64 เมกะบิต (ปัจจุบันพีซีส่วนใหญ่ใช้ชิปขนาด 4 เมกะบิต)
เปิดตัว "เพาเวอร์พีซี"
เดือนกันยายนที่ผ่านมา ไอบีเอ็มและโมโตโรลาเริ่มจำหน่ายชิป "เพาเวอร์พีซี"
หรือที่เรียกว่าชิป 601 โดยออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด และบรรจุทรานซิสเตอร์จำนวน
2.8 ล้านชิ้นไว้ในชั้นซิลิกอนซ้อนกันถึง 4 ชั้น หนาเพียงไม่ถึงครึ่งนิ้ว
ขณะที่เมื่อเทียบกับชิป "เพนเตียม" ที่โด่งดังของอินเทลแล้ว เพนเตียมต้องใช้แผ่นซิลิกอนซ้อนกันมากกว่าถึง
2 เท่าตัวและใช้ทรานซิสเตอร์จำนวน 3.1 ล้านชิ้น และเมื่อเทียบกับศักยภาพในการทำงานโดยทั่วไปแล้ว
"เพาเวอร์พีซี" ทำงานได้รวดเร็วกว่า และยังต้านทานความร้อนได้มากกว่าด้วย
อีกทั้งชิป 601 มีขนาดเล็กกว่าจึงประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า ทำให้มีราคาถูกกว่าเพนเตียม
ทว่าข้อได้เปรียบสำคัญของเพนเตียมก็คือ เปิดตัวในตลาดก่อน และขณะนี้มีผู้ใช้ที่คุ้นกับซอฟต์แวร์ของอินเทลอยู่แล้วถึงราว
100 ล้านคนทั่วโลก
อย่างไรก็ตามไอบีเอ็มก็มียุทธศาสตร์ที่เด่นชัดในการโน้มน้าวให้ผู้ใช้พีซีที่อิงกับอินเทลหันมาใช้เพาเวอร์พีซีมากขึ้น
เพราะขณะนี้ผู้ใช้ยังไม่มีทางเลือกมากนักหากต้องการใช้งานโปรแกรมประยุกต์
"วินโดส์" ของไมโครซอฟต์หรือระบบปฏิบัติการเอ็มเอส-ดอส แต่ในปีหน้าไอบีเอ็มจะเสนอทางเลือกใหม่
ด้วยการวางตลาดพีซีรุ่นแรก ที่ใช้ชิปเพาเวอร์พีซี และยังมีแผนการจำหน่ายระบบปฏิบัติการ
"เวิร์กเพลส โอเอส" ซึ่งนอกจากจะเป็นระบบปฏิบัติการแล้ว ยังใช้งานกับโปรแกรมประยุกต์ที่เขียนขึ้นสำหรับระบบอีกหลายระบบ
ไม่ว่าจะเป็น "วินโดส์", "เอ็มเอส-ดอส" หรือกระทั่ง
"โอเอส/2" ของไอบีเอ็มเอง หลังจากนั้นไอบีเอ็มยังจะปรับปรุงระบบปฏิบัติการ
"เวิร์กเพลส" ให้ทำงานได้กับโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้กับระบบยูนิกซ์
และระบบปฏิบัติการที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโดย "ทาลิเจนท์"
ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไอบีเอ็มกับแอปเปิลด้วย
แกนหลักของ "เวิร์กเพลส โอเอส" ก็คือรหัสคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันว่าไมโครเคอร์เนล
อันเป็นรหัสที่ทำงานเหมือนกับตัวเชื่อมฮาร์ดแวร์หลากหลายประเภทเข้ากับระบบปฏิบัติการอื่นๆ
ได้ ขณะเดียวกันหากปรับแต่งอีกเล็กน้อย ไมโครเคอร์เนลนี้จะสามารถทำงานกับไมโครโพรเซสเซอร์ทุกรุ่น
ซึ่งจะทำให้ "เวิร์กเพลส โอเอส" เป็นที่แพร่หลายและนับเป็นการปฏิวัติของวงการครั้งสำคัญ
ทั้งนี้ไอบีเอ็มได้เริ่มวางตลาด "เพาเวอร์พีซี" เป็นการชิมลางไปบ้างแล้วอย่างเช่น
เวิร์กสเตชัน อาร์เอส/6000 ที่มุ่งเจาะตลาดล่าง (ราคาราว 40,000 ดอลลาร์)
ส่วนแลปท้อป อาร์เอส/6000 ซึ่งใช้เพาเวอร์พีซี จะเริ่มวางตลาดเดือนมกราคมปีหน้า
หลังจากนั้น "ไอบีเอ็ม เพาเวอร์ เพอร์ซันนอล ซิสเต็ม" ซึ่งเป็นแผนกงานใหม่ของไอบีเอ็มก็จะรุกตลาดพีซีที่มีมูลค่าในราว
63,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีอย่างจริงจัง
แต่การที่แผนกงานใหม่จะมีชัยได้นั้น จะต้องเอาชนะใจลูกค้าและแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง
มีคู่ต่อกรสำคัญคือคอมแพค เดลล์ เอเอสที รวมทั้งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่อิงกับชิปของอินเทลรายใหญ่ที่สุดคือ
ไอบีเอ็มเอง แต่ปัญหาก็คือว่าทางอินเทลเองย่อมไม่ยอมนิ่งเฉยรอการท้าทายจากเพาเวอร์พีซี
และย่อมหาทางพัฒนาเทคโนโลยีของตนขึ้นมาแข่งขันอีกเช่นกัน
ไอบีเอ็มนั้นกำลังเล็งหาช่องทางรองรับชิปเพาเวอร์พีซีอยู่ ธุรกิจในส่วนมินิคอมพิวเตอร์
เอเอส/400 ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ในปี 1992 จะถูกเปลี่ยนมาใช้ชิปดังกล่าวทั้งหมดภายใน
2 ปี และจะใช้ชิปนี้กับอุปกรณ์แปลงสัญญาณเครือข่ายข้อมูลภายในปีหน้าด้วย
นอกจากนั้นไอบีเอ็มยังพยายามประยุกต์ใช้ชิปนี้กับซูเปอร์คอมพิวเตอร์อีกด้วย
โดยจัดตั้งโครงการร่วมทุนระหว่างแผนกงานด้านการวิจัยเวิร์กสเตชันและเมนเฟรมชื่อ
"เพาเวอร์ พาราเรลซิสเต็มส์" อันจะใช้สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่า
10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะเริ่มจำหน่ายสินค้าได้ในปีหน้า
อนาคตเมนเฟรมยังเป็นคำถาม
การที่เพาเวอร์พีซีถือกำเนิดมา ทำให้มีผู้ตั้งคำถามถึงอนาคตของเมนเฟรมอยู่ไม่น้อยทีเดียว
สำหรับเกิร์สต์เนอร์แล้ว ธุรกิจเมนเฟรมก็จะกลายเป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งของสายการผลิตของไอบีเอ็ม
โดยยังคงเป็นแหล่งรายได้และกำไรก้อนมหาศาลไปอีกหลายปี เนื่องจากเพาเวอร์พีซีนั้นยังไม่มีขีดความสามารถถึงขั้นที่จะทำงานกับเมนเฟรมตระกูล
390 ของไอบีเอ็มได้
ไอบีเอ็มยังเตรียมสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วยการเตรียมวางตลาดเมนเฟรมรุ่นใหม่ที่มีราคาถูกกว่าเดิม
โดยจะเป็นเครื่องแบบคู่ขนานที่สร้างขึ้นจากการประยุกต์ไมโครโพรเซสเซอร์ให้ทำงานกับโปรแกรม
390 ของเมนเฟรมได้ ต้นทุนการผลิตจึงถูกลง ทั้งจะทำให้ไอบีเอ็มเพิ่มหรือลดขีดความสามารถในการทำงานได้ตามความต้องการตลาด
เป็นที่คาดว่าเครื่องเมนเฟรมประยุกต์ที่ว่านี้ จะเริ่มเปิดตัวสำหรับใช้งานประเภทธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา
หรือการค้นหาฐานข้อมูล เป็นต้น
เกิร์สต์เนอร ์และผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มหลายต่อหลายคน ใช้เวลานานหลายเดือนทีเดียวกับการอธิบายยุทธศาสตร์สินค้าให้กับลูกค้าประเภทบริษัททั่วโลกได้รับรู้
ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มลูกค้ามักมองยุทธศาสตร์ดังกล่าวในแง่ดีกว่าฝ่ายของนักลงทุน
บิลล์ แอนเดอร์สัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ข้อมูลของพรูเดนเชียล ซิเคียวริตี้ส์
ก็เตรียมใช้งบประมาณถึง 80 ล้านดอลลาร์ในการซื้อสินค้า และบริการของไอบีเอ็มในปีหน้า
โดยให้เหตุผลว่า "ไอบีเอ็มมีแต่สินค้าดีๆ อย่างที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์
ไม่เคยมีบริษัทใดผลิตฮาร์ดแวร์ที่ดีกว่านี้ได้ และผมคิดว่าสินค้าของไอบีเอ็มจะดียิ่งๆ
ขึ้นไป" คนในวงการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเกิร์สต์เนอร์กำลังเดินถูกทางแล้ว
และไอบีเอ็มกำลังจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่นับจากนี้ไป ดูเหมือนว่าเกิร์สต์เนอร์ยังต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคอีกมาก
กว่าวิสัยทัศน์ของเขาจะผ่านการพิสูจน์ว่าถูกต้อง