"ซานมิเกล" ต่อยอดฟองเบียร์ลุย นอนแอลกอฮอล์ ดริงค์ประเดิม น้ำผลไม้ 100% นำร่อง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อกระแสสุขภาพ เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ จากเดิมที่หวังผลจากการดื่มเครื่องดื่มนอกบ้าน เพื่อสร้างความสดชื่น เปลี่ยนมาเป็นดื่มเพื่อคุณคุณค่าสารอาหาร (ฟังชัลนัลค์ดริงค์) และสร้างความสดชื่น(อีโมชัลนัลดริงค์) ปรากฏการณ์และไลฟ์สไตล์นี้ของผู้บริโภคทำให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องดื่มนานาสายพันธ์ทั้งจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบริษัทน้ำอัดลม ทยอยส่งสินค้าลงตลาดน้ำผลไม้มูลค่าตลาด 4 -5 พันล้านบาทกันอย่างต่อเนื่อง

ในไตรมาส 4 ซานมิเกล ค่ายเบียร์ชื่อดังจากฟิลปินส์ ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวน้ำผลไม้ 100% ภายใต้ชื่อ BERRI (แบร์รี่) ซึ่งนำเข้ามาทั้งหมด 3 รสชาติ ได้แก่ รสแอปเปิ้ล รสองุ่น และรสส้ม ทั้งนี้การขยายฐานตลาดเข้ามาจับตลาดน้ำผลไม้ 100% ไม่ได้หวังเข้ามาตีตลาดเพื่อชิงแชร์จากน้ำผลไม้แบรนด์ ทิปโก้ และมาลี ซึ่งเป็นค่ายผู้นำตลาดตรงๆ เพราะ "แบร์รี่"เป็นน้ำผลไม้ ไร้น้ำตาล นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นแบรนด์ที่บริษัทเข้าควบรวมกิจการกับบริษัท แนชชั่นแนลฟู้ด ลิมิเต็ด บริษัทผลิตเครื่องดื่มของออสเตรเลีย เน้นจับกลุ่มเป้าหมายหญิงสาวที่มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง อายุระหว่าง 22-35 ปี ที่มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง

ส่วนแผนการทำตลาด ใช้งบฯกว่า 40 ล้านบาท เพื่อสร้างแบรนด์ ผ่านทั้งสื่อโฆษณา และกิจกรรมการตลาด ณ จุดขาย สำหรับการกระจายสินค้ามีบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง เป็นผู้ดูแลตลาดทั้งหมด พร้อมทั้งจัดทีมขายบริหารงานตลาด โดยเน้นช่องทางจำหน่ายโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก และตั้งเป้าจะเป็นหนึ่งในแบรนด์หลักของตลาดน้ำผลไม้แท้ 100% ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาด 5% ใน 1 ปี และภายใน 5 ปี ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% จากตลาดน้ำผลไม้นำเข้า 100% มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

ซานมิเกล" ประเดิมลงตลาดนอนแอลกอฮอล์ โดยมีน้ำผลไม้ 100% เป็นหัวหอกเข้ามารุกตลาดในเมืองไทยก่อนนั้น เพราะเห็นว่าน้ำผลไม้สด ที่มีความเป็นพรีเมียม จะทำให้ผู้บริโภคได้มีความประทับใจในรสชาติ และสร้างโอกาสที่จะต่อยอดขยายฐานตลาดมาจับตลาดน้ำผลไม้กลุ่มแมสได้ไม่ยาก เพราะผู้บริโภคจะยอมรับในแบรนด์ได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน ในเดือนธันวาคมนี้ ยังเตรียมแผนจะส่งซับแบรนด์ "แบร์รี่ "ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า "Sunblest"ลงตลาดน้ำผลไม้ 40% โดยตั้งเป้าจะเป็นผู้เล่นในอันดับต้นๆ ในตลาดน้ำผลไม้ 40% หลังจากนั้นเตรียมขยายไลน์สินค้าจับตลาดน้ำผลไม้ในระดับอีโคโนมี 25% ที่ค่ายเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ ทั้ง สแปลซ และทรอปิคาน่า เข้ามาจับจองส่วนแบ่งการตลาดไปล่วงหน้าอีกด้วย

การขยายฐานธุรกิจสู่กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อลงมาจับตลาด "น้ำผลไม้"ในเมืองไทยนั้น ซาน มิเกล ได้วางเป้าหมายตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโยบายการขยายฐานธุรกิจระยะที่สอง หลังจากที่เข้ามาเปิดตัวเบียร์ เรดฮอร์ส และซาน มิเกล ลงตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้ชื่อบริษัท ซาน มิเกล ประเทศไทย จำกัด โดยเทงบมูลค่า 1.4 พันล้านบาท ตั้งฐานการผลิต สร้างโรงงานเครื่องดื่มขนาดใหญ่ที่จังหวัดระยอง

นอกจากเตรียมพร้อมด้านกำลังการผลิตแล้ว ทางด้าน ทรัพยาการบุคคล มีการดึงผู้บริหารมือดีบริษัทเครื่องดื่มชื่อดังที่มาจากทั้งในแวดวงชาเขียว พร้อมดื่ม และน้ำผลไม้ โดยจิราวรรณ อัศวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โออิชิ กรีนที แผนกกรีนที เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย และธนธัช ปทุมมาลย์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การตลาด จากบริษัท ยูนิ- เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาร่วมงานฝ่ายการการตลาด บริษัทซาน มิเกล มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

ที่สำคัญ นโยบายการตลาดในระยะต่อไปของ "ซานมิเกล" แผนภายใน 3 ปี ยังเตรียมขึ้นแท่นเป็นบริษัทเครื่องดื่มครบวงจรในประเทศไทย โดยใช้จุดแข็งจากธุรกิจ 5 กลุ่มหลักของบริษัทแม่ที่มีสินค้าครบไลน์ ทั้งในกลุ่มน้ำผลไม้ กลุ่มน้ำดื่มผสมวิตามิน (Water Plus) ฟังชัลนัลค์ดริงค์ เครื่องดื่มคาร์บอเนต และชาพร้อมดื่ม รวมถึงขยายสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร นม เนย เนื้อสัตว์ไอศครีมและสแน็ค

โฮเซ่ แดนเนียล เอ.ฮาเวย รองประธานบริหารกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (นอนแอลกอฮอล์) บริษัท ซาน มิเกล คอร์ปอเรชั่น บอกว่า "กระแสใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกเปิดตัวน้ำผลไม้ก่อนสำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง และ บริษัทไม่ได้มองว่าเรื่องนี้มีปัญหา เนื่องจากมีประสบการณ์ในอินโดนีเซีย และมาเลเซียที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาสินค้าเช่นกัน

อีกทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เครื่องดื่มน้ำผลไม้ยังเป็นเซ็กเมนต์ที่มีอัตราการเติบโตประมาณ 15% ต่อปี และคาดการณ์อนาคตสัดส่วนเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ จะมีขนาดตลาดที่มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นการทำธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งเริ่มจากธุรกิจเบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร มีโอกาสในการใช้เครือข่ายช่องทางการจำหน่าย และการทำตลาดแบบครบวงจรเหมือนในต่างประเทศ และเป็นโมเดลเดียวกับตลาดเครื่องดื่มของประเทศฟิลิปปินส์"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.