|

เส้นทางสายไหมช่องทางการตลาดที่กำลังถูกรื้อฟื้นใหม่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ชื่อของ "เส้นทางสายไหม" เป็นชื่อที่คุ้นหูของนักการตลาดมานานหลายสิบปีแล้ว แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจและจับตาของนักการตลาดมากนัก จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เพราะนักการตลาดทั่วโลกเริ่มมองเห็นมิติใหม่ของโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันกับ "เส้นทางสายไหม" ที่ว่านี้ ที่กำลังจะกลายเป็นจริงในไม่ช้านี้
ทั้งนี้เพราะเมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีคมนาคมของหลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู "เส้นทางสายไหม" จากการที่จะมีการลงนามกันอีกครั้งภายใต้การชี้แนะขององค์การสหประชาชาติ ในระหว่างวันที่ 6-11 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงเส้นทราน-คอนติเนเนตัลในเอเชีย ระหว่างเมืองหลวงของประเทศในย่านนี้ ระหว่างท่าเรือ และศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของภูมิภาค อันจะทำให้กิจการค้าและธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในภูมิภาคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นอย่างมาก
ความตกลงในการพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงทางรถไปสายทราย-เอเชีย (The Trans-Asian Railway Network (TAR) Agreement) จะมีประเทศที่เกี่ยวข้องในความตกลงหลายประเทศ ร่วมพิธีที่จัดขึ้นที่นครปูซาน เกาหลีใต้ หลังจากที่ความตกลงในการพัฒนาเส้นทางเครือข่ายถนนไฮเวย์แห่งเอเชียลงนามไปก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้การจัดการขององค์การยูเนสแคพ UNESCAP
มิติใหม่ของเครือข่ายความเชื่อมโยงด้านคมนาคมในเอเชียที่มาจากความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าว จะทำให้เกิดยุคของความร่วมมือและความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรที่เหนียวแน่นมากขึ้นของประเทศภายในภูมิภาคและพลิกฟื้นมิติใหม่ของ "เส้นทางสายไหม" ที่เก่าแก่ของเอเชีย อันจะเชื่อมโยงการค้า การตลาดและการท่องเที่ยวผ่านเอเชีย ทางจีนไปยังยุโรป
ปัจจุบัน นักการการตลาดเกือบจะทุกประเภทของธุรกิจยังให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียเป็นอันดับแรก ด้วยความจริงที่ว่ามีประชากรที่เป็นผู้บริโภคที่สร้างผลผลิตประชาชาติได้กว่า 26% ของจีดีพีรวมทั้งโลก และยิ่งมีการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมติดต่อเชื่อมโยงผ่าน
"เส้นทางสายไหม" ก็น่าจะกระตุ้นให้สัดส่วนของการสร้างผลผลิตของโลกจากภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่องและทำลายสถิติที่เคยเป็นในอดีต ท่าเรือชั้นนำที่เป็นจุดรวบรวมสินค้าเพื่อการขนส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก เป็นท่าเรือชั้นนำที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึงกว่า 13 ท่าจากท่าเรือสำคัญของโลกที่ใช้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์รวมกันประมาณ 20 แห่งของโลก
นอกจากนั้น การค้าและกิจกรรมทางการตลาดของประเทศที่ไม่มีแผ่นดินติดต่อกับทะเลก็จะได้ประโยชน์จากการพัฒนา "เส้นทางสายไหม" นี้ด้วย ซึ่งประเทศที่ถูกปิดกั้นจากทะเล 12 แห่งจาก 30 ประเทศ เป็นประเทศที่อยู่ในย่านเอเชีย และในจำนวนนี้ 10 ประเทศอยู่ในการลงนามความตกลงที่จะเกิดขึ้นนี้แล้ว
สิ่งที่เหลือหลังจากการทำความตกลงในเดือนพฤศจิกายนผ่านไปแล้ว ได้แก่ ประการแรกการจัดฟอรัมที่จะหารือกันในส่วนของนโยบายการขนส่งคมนาคม ให้เกิดเอกภาพของแนวคิดร่วมกัน แผนการพัฒนาเส้นทางร่วมกันทุกประเทศ และประมาณการเงินลงทุนและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการพัฒนาเส้นทางแต่ละส่วน ที่ผ่านประเทศที่เกี่ยวข้อง
ประการที่สอง งานการลงทุนและสร้างธุรกิจใหม่ๆของบรรดาประเทศที่จะต้องเกี่ยวข้องในแผนปฏิบัติการพัฒนา "เส้นทางสายไหม" นี้ได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจัน บังคลาเทศ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ จอร์เจีย อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน คาซาคสถาน ไคร์กีสถาน ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนม่าร์ เนปาล ปากีสถาน เกาหลีใต้ รัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ทาจิกิสถาน ไทย ตุรกี ตูร์เมนิสถาน อูซเบกิสถาน และเวียดนาม
ประการที่สาม การขยายตัวของธุรกิจการจัดโปรแกรมทัวร์บน "เส้นทางสายไหม" บางส่วนได้มีการเริ่มเปิดโปรแกรมและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวบ้างแล้ว เช่น โปรแกรมที่เรียกว่า Silk Road Classic Tour เป็นเวลา 25 วัน เริ่มต้นที่นครปักกิ่ง ผ่านไคร์กีซสถาน และอูซเบกิสถาน หรือโปรแกรมสั้น 12 วันเฉพาะ "เส้นทางสายไหม" ภายในประเทศจีนเอง
การรื้อฟื้น"เส้นทางสายไหม" สำหรับนักการตลาด มองว่าเป็นโอกาสของการรื้อฟื้นอารยธรรมของตะวันออกให้กลับมาโดดเด่นและยอมรับในความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสำคัญในอดีตอีกครั้ง เพื่อนำไปใช้ผสมผสานกับกิจกรรมทางการตลาด โดยใช้พื้นฐานของเครื่องเคลือบและเส้นไหมในจีน งานภาพเขียนและเส้นไหมในสไตล์แบบญี่ปุ่น
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่น่าจะถูกจัดเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอันดับต้นของนักการตลาดในการพัฒนาการตลาดบน
"เส้นทางสายไหม" ไม่ได้จำกัดเฉพาะลูกค้าที่เคยมีประสบการณ์และสามารถสร้างจินตนาการในความเป็นมาของ "เส้นทางสายไหม" มาก่อน หากแต่ยังรวมถึงลูกค้าที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์หรือเกิดไม่ทันกำเนิดของ"เส้นทางสายไหม" ในยุครุ่งเรืองในอดีต เพื่อจะได้ให้ลูกค้าเหล่านี้ทีโอกาสที่จะบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับ"เส้นทางสายไหม" ได้ในคราวนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|