รัฐบาลโอทีล้มแผนลงทุนรถไฟฟ้ารฟม.-สนข.เสียงแตกต่างคนต่างเชียร์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

*กระทรวงคมนาคมติดเบรกโครงการลงทุนรถไฟฟ้า 7 สาย 10 สายพร้อมกัน ยอมรับขาดเงินงบประมาณลงทุนพร้อมกันทุกเส้นทาง
*สั่งระดมหัวกะทิ กลั่นกรอง จัดลำดับความสำคัญเลือกเส้นทางตามความเหมาะสม
*รฟม.เชียร์สายสีม่วงสุดตัว ขณะที่สนข.ดันสายสีแดงสู้ ด้านคนกรุงฯเบื่อเกมการเมือง เลิกหวังนั่งรถไฟฟ้ารอบเมือง
*นักวิชาการแนะใช้ดัชนีชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนตัดสินใจเลือกเส้นทาง

แม้ว่าการเดินทางของคนกรุงเทพฯในปัจจุบันจะมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยขนส่งมวลชนระบบราง เพราะด้วยปัญหาจราจรที่ติดขัดจนเป็นอัมพาต ราคาน้ำมันที่แสนแพง แต่ด้วยประเทศอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมที่จะลงทุนโครงการรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในเวลาเดียวกัน ทั้งจากปัญหามีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการลงทุน ปัญหาการเวนคืนที่ดิน และหากลงทุนสร่งรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายสายจะยิ่งทำให้รถติดมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกลงทุนในเส้นทางที่จำเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนก่อน

ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลโอทีของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่มีพล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ นั่งเก้าอี้ใหญ่อยู่ที่กระทรวงหูกวาง ที่มีเวลาทำงานราวปีเศษ ๆ จะตัดสินใจไม่ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น 3 สาย 7 สาย หรือ 10 สาย ตามนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ที่มีแนวคิดลงทุนพร้อมกัน 7-10 สาย อีกทั้งยังเป็นนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ ทั้ง 2 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ

พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า มีนโยบายชัดเจนว่าจะเลือกลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าบางเส้นทางเท่านั้น ซึ่งจะไม่ลงทุนก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางแค,บางซื่อ-ท่าพระ) สายสีแดง(รังสิต-มหาชัย) และสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ) โดยจะเลือกลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วก่อน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ

“กรอบการลงทุนที่แน่นอนว่าจะเลือกลงทุนในเส้นทางสายใดก่อน-หลังนั้น จะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้ ภายหลังการแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการในระดับปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวง ของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดภาพชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผลักดันโครงการในอนาคต”

ย้ำเส้นทางต่อเชื่อมเป็นวงกลม

ด้านสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการจัดลำดับความสำคัญในการเลือกลงทุนรถไฟฟ้าก่อนและหลังนั้นประเด็นแรกที่ต้องให้ความสำคัญ คือเส้นทางที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการด้านขนส่งสูงสุด หรือมีลักษณะทำให้เส้นทางต่อเชื่อมเป็นวงกลม ตัดผ่านย่านชุมชนและต้องการใช้ระบบขนส่งมาก

2.จะต้องเป็นเส้นทางที่มีอุปสรรคด้านการก่อสร้างน้อย เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนเขตทางที่ดินมาใช้เป็นเขตทางเดินรถ ซึ่งจะช่วยการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว และ 3.จะต้องคำนึงถึงงบประมาณก่อสร้าง ซึ่งจะมาจากปัจจัยการกำหนดความสั้นและความยาวของระยะทางด้วย

รฟม.ยันสายสีม่วงเหมาะสม

ประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การลงทุนโครงการรถไฟฟ้ามีความสำคัญทั้ง 3 เส้นทาง แต่ถ้าต้องจัดอันดับความสำคัญ ทางรฟม.จะเสนอข้อมูลเปรียบเทียบในส่วนโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ สีม่วง และสีน้ำเงิน ที่รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งรฟม.เห็นว่าสายสีม่วงมีความพร้อมมากที่สุด เพราะมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน มีการจัดทำข้อมูลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้ว รวมความคืบหน้าของการออกแบบและเตรียมพร้อมถึง 70%

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้เส้นทางสายสีม่วงน้อยกว่าสายสีน้ำเงิน แต่หากมองในแง่ต้องการให้โครงการก่อสร้างได้เร็วภายใน 1 ปี เพื่อให้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางรฟม.ยืนยันว่าเส้นทางสายสีม่วงมีความพร้อมมากที่สุด ขณะที่เส้นทางสายสีน้ำเงิน ขณะนี้ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเวนคืนที่ดินที่ใช้ก่อสร้างเขตทางรถไฟฟ้า และยังไม่ได้ทำ อีไอเอ ซึ่งหากรัฐบาลวางแผนจะเร่งรัดให้โครงการก่อสร้างภายใน 1 ปี โดยเริ่มทำการประมูลไปพร้อมกัน สิ่งต้องควรระวังคือ กระแสต่อต้านการเวนคืน ที่จะกลายเป็นปัญหาทางสัญญาได้

“แม้ว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแม้จะมีผู้โดยสารมากกว่าสายสีม่วง แต่ก็มีค่าก่อสร้างสูงกว่าด้วยเช่นกัน โดยเส้นทางสีม่วงจะเป็นรถไฟลอยฟ้า ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่สาย สีน้ำเงินจะใช้งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพราะมีช่วงก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ก็ทำให้ค่าก่อสร้างสูงกว่า”

แนะถามประชาชนก่อนลงทุน

ขณะที่มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การลงทุนรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายทางนั้น รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ โดยใช้ดัชนีชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนในการตัดสินใจเลือกว่าจะก่อสร้างเส้นใดก่อน รวมถึงการกำหนดเส้นทางที่เหมาะสมและปัจจุบันยังมีระบบขนส่งมวลชนไม่ครอบคลุม

ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นทางที่มีความจำเป็น และรัฐบาลควรเร่งดำเนินการก่อสร้างจาก 3 สายเดิม คือ สายสีแดง แนวเหนือใต้ รังสิต-มหาชัย ซึ่งจะมีจุดเชื่อมโยงต่อเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าที่จะเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งมีข้อดีซึ่งจะใช้เขตทางรถไฟเป็นสายทางก่อสร้าง จะสามารถลดอุปสรรคในการต้องดำเนินการเวนคืนที่ดิน ซึ่งเส้นทางดังกล่าวรัฐบาลสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็ว

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่ควรเร่งดำเนินการคือ ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เพื่อให้เส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ครบรอบวงกลมรองรับความต้องการใช้ระบบขนส่งของประชาชนได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรมีส่วนสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของภาคเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเอง เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส จากสถานีสะพานตากสิน เข้าสู่ย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งมวลชนจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน30% ของประชากรในกรุงเทพฯทั้งหมด และมีปัญหาความเดือดร้อนของปัญหาจราจรติดขัดอย่างมาก

“แม้ว่ารัฐบาลจะมีอายุการบริหารราชการเพียง 1 ปี แต่ก็ควรเร่งผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชนให้เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเฉพาะ 3 สายทางแรกที่จะเริ่มก่อสร้างนั้น ก็จะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาไม่น้อยกว่า 15 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.