แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ดิ้นใช้คิวเฮ้าส์บันไดต่อยอดรายได้


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ยักษ์ใหญ่แลนด์ฯ กลัวรายได้สิ้นปีวูบเป้า รีบดึงคิวเฮ้าส์ตั้งกองทุนอสังหาฯ หวังสร้างตัวเลขรายได้สวยหรูดูดนักลงทุน

ปีนี้ถือเป็นปีไม่ธรรมดาของวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นปีที่ดีเวลลอปเปอร์ต้องเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยรอบด้านมากมายจนแทบตั้งตัวไม่ติด จากเดิมในปีที่แล้วที่ต่างก็ออกมาคาดการณ์ว่าอนาคตจะสดใส อสังหาริมทรัพย์จะเติบโตเพิ่มขึ้นไปตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นได้จากการตั้งเป้ารายได้อย่างสวยหรู แต่สุดท้ายเมื่อโดนปัจจัยลบต่างๆ มากระทบอย่างหนักในช่วงไตรมาส 1-2 ทำให้ดีเวลลอปเปอร์หลายรายรีบกลับลำ ลดเป้ารายได้ลงมาจากเดิม และเร่งปรับตัวทุกรูปแบบเพื่อความอยู่รอด

แม้กระทั่งพี่ใหญ่อย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ รวมทั้งบริษัทในเครือ คือ คิวเฮ้าส์ ก็หนีไม่พ้นภาวะดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน เห็นได้จากยอดขายของที่หลุดเป้าที่ตั้งไว้เดิมถึง 15-20% แม้จะแลนด์ฯ เองจะมีโครงการขายอยู่ในมือจำนวนมากเฉลี่ย 30-40 โครงการต่อปี แต่ก็เป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขายตามจุดขายของแลนด์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยเงินทุนสูงในการพัฒนาโครงการ จึงไม่แปลกที่แลนด์จะต้องรับภาระหนี้หนักถึง 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้จากค่าเช่าซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการเซ็นเตอร์พอยท์ ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ของคิวเฮ้าส์ ก็ยังไม่มากพอที่จะแบ่งเบาภาระหนี้ของแลนด์ได้ อีกทั้งแลนด์ยังมีการลงทุนในโครงการให้เช่าเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาทอีก 2-3 โครงการในรูปแบบของเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์และโครงการแบบมิกซ์ยูส ที่กว่าจะเก็บเกี่ยวรายได้ก็ต้องรอเวลาอีก 1-2 ปี กลายเป็นทางตันที่แลนด์ฯ จะต้องเร่งหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ยอดขายเป็นไปได้ตามเป้าในปีนี้

แลนด์ฯ รีบแก้เกมด้วยการใช้คิวเฮ้าส์เป็นตัวกลางดึง บริษัท จัดการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ จำกัด ตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ เฮ้าส์ เพื่อระดมทุนกว่า 7,970 ล้านบาท โดยขายอาคารสำนักงานของแลนด์ฯ คือ เวฟเพลส ย่านเพลินจิต และอีก 2 แห่งของคิวเฮ้าส์ คือ คิวเฮ้าส์ ลุมพินี และคิวเฮ้าส์ เพลินจิต ให้กับกองทุน

รัตน์ พานิชพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวเฮ้าส์ กล่าวว่า “จะเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) ในเดือน พ.ย. โดยผลตอบแทนของการลงทุนในปีแรกอยู่ที่ 7.4% และจะขยับขึ้นเป็น 8-9% ในปีต่อไป และเมื่อผ่านไป 30 ปี จะมีผลตอบแทนจากโครงการ (ไออาร์อาร์) 12% โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุนและเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เนื่องจากบริษัทมีศักยภาพและความพร้อมทางด้านนี้และถือว่าเป็นบริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารใหญ่ที่มีฐานลูกค้าที่กว้างจึงมีประสิทธิภาพในการระดมทุน”

รัตน์ กล่าวว่า “รูปแบบของการหาผู้ร่วมทุนจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของตึกร่วม ซึ่งอาคารเวฟเพลส และคิวเฮ้าส์เพลินจิต ขณะนี้มีสัดส่วนการเช่าเต็มเกือบ 100% ส่วนอาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างตกแต่งอาคารบางส่วน ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่มีสัดส่วนเพียง 60% แต่เชื่อว่าในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น และทางคิวเฮ้าส์ก็รับประกันรายได้ขั้นต่ำอย่างน้อย 3 ปีด้วย ปีแรก 435 ล้านบาท ปีที่สอง 450 ล้านบาท และปีที่สาม 465 ล้านบาท”

ในด้านของคิวเฮ้าส์ จะถือหน่วยลงทุนดังกล่าวสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่ากองทุน และจะได้รับเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ประมาณ 3.5 พันล้านบาท ซึ่งจะนำไปชำระหนี้ ทำให้หนี้ของบริษัทปรับลดลงจาก 1.2 หมื่นล้านบาท เหลือ 9 พันล้านบาท เป็นสะพานในการต่อยอดรายได้ของแลนด์ฯ ด้วย ทั้งนี้หากคิวเฮ้าส์สามารถขายหน่วยลงทุนได้หมดจะส่งให้แลนด์ฯ 1,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 6,900 ล้านบาท จะนำไปลงทุนและลดหนี้ลงบางส่วน

"การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนในการขยายกิจการ ซึ่งการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะช่วยลดอุปสรรคตรงนี้ได้ค่อนข้างมาก และทำให้เรามีเงินไปลดหนี้ และมีศักยภาพในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต" รัตน์ กล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.