เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เอเชียตะวันออกในวันนี้กำลังเรียนรู้ประสบการณ์จากการขยายตัวของ
"วงกลมแห่งการเติบโตใหม่" หรือ "NEW GROWTH CIRCLES"
อันเป็นเขตเศรษฐกิจภูมิภาคระดับย่อยที่การดำเนินธุรกิจโดยใช้สามัญสำนึก มีความสำคัญยิ่งกว่าลัทธิกีดกันทางการค้าและพรมแดนทางการเมืองใดๆ
เมื่อเดือนที่แล้ว วิลเลียม เมลเลอร์ นักข่าวอาวุโสแห่งเอเชียอิงค์เขียนรายงานการเดินทางภายหลังตระเวนรอบวงกลมแห่งการเติบโต
ครอบคลุมตั้งแต่ไทย ลาว พม่าและจีนตอนใต้ และในเดือนนี้เขาได้สำรวจเส้นทางตามแนวชายฝั่งของจีน
และรอบแม่น้ำแยงซี อันเป็นแหล่งรวมผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภคที่มั่งคั่งร่ำรวย
ภายในสำนักงานบริษัทสิ่งทอของเฉิน เชงฟา วัย 42 ปีและกง ซูรง วัย 30 ปี
ทั้งสองมีเหตุผลมากมายที่จะนึกย้อนถึงความไม่แน่นอนของประวัติศาสตร์ เพราะในเดือนเดียวกันนี้เมื่อ
45 ปีก่อน เปา เฉา หยุน ผู้ก่อตั้งบริษัทแม่ของพวกเขาหนีออกจากเซี่ยงไฮ้ไม่ทัน
ทหารกองทัพแดงกำลังเคลื่อนทัพใกล้เข้ามาทุกที และเรือ "ฉุงชิง"
ที่ขนเอาผู้อพยพรวมทั้งตัวเอาหลบหนีออกไปไต้หวัน ก็ถูกเรือปืนโจมตีจนเป็นรูให้น้ำไหลเข้าเรือ
เมื่อเปาเปิดธุรกิจส่วนตัวบนเกาะไต้หวัน เขาจึงตั้งชื่อกิจการว่าบริษัท
"ไต้หวัน ฉุงชิง เท็กซ์ไทล์" เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น
และคนในรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ยังต้องใช้เวลาอีกราวสองสามทศวรรษ กับการปลุกปลอบตัวเองให้พ้นจากความหวาดกลัวการบุกรุกจากจีนแผ่นดินใหญ่
ความหวาดกลัวที่ว่านี้ยังเป็นม่านเงาคุกคามวัยเด็กของเฉิน ตลอดจนอาชีพการงานของเขาในไต้หวันด้วย
ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กงซึ่งอยู่ที่บ้านเกิดของเธอในเซี่ยงไฮ้ก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ
นั่นคือ การผลิตอาวุธเพื่อ "ปลดปล่อย" ไต้หวัน
ทุกวันนี้ เฉินและกงทำงานร่วมกันในบริษัทผลิตเสื้อไหมพรมชื่อ "ทรีกันส์
นิตติ้ง การ์เม้นท์" ที่เซี่ยงไฮ้ เฉินเป็นผู้จัดการทั่วไป ส่วนกงเป็นผู้จัดการธุรกิจ
กิจการแห่งนี้เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทของเปา ซึ่งภรรยารับช่วงต่อ
หลังการเสียชีวิตของเขา เมื่อปี 1989 และบริษัทผลิตเสื้อไหมพรมของรัฐบาลจีน
กำลังเตรียมเปิดโรงงานแห่งหนึ่งมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ มีกำลังผลิตเสื้อ 30
ล้านตัวต่อปี
กงเล่าว่า "ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน ดิฉันไม่มีทางเชื่อหรอกว่า แทนที่จะทำอาวุธสำหรับรบกับพวกไต้หวัน
วันนี้กลับต้องมาทำงานร่วมกับพวกเขา"
ตามแนวชายฝั่งของจีนทุกวันนี้ จะพบเห็นกิจการร่วมทุนในลักษณะเดียวกันนี้นับล้านแห่ง
นับเป็นการพลิกโฉมหน้าของจีนอย่างเด็ดขาด โดยชั่วระยะเวลาเพียงสองสามทศวรรษ
กิจการเหล่านี้ได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกไปด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล แห่งเยอรมนี ผู้นำทางเศรษฐกิจในประชาคมยุโรปหรืออีซีก็ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า
"เอเชียจะเป็นทวีปที่มีความสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21" อันเป็นความเห็นทำนองเดียวกับที่โอมาเอะ
เคนอิน แห่งบริษัทที่ปรึกษาแม็คคินซีย์ คาดหมายว่า ภายใน 20 ปี ลำพังเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งเพียงแห่งเดียวจะมีขนาดใหญ่กว่าเยอรมนีทั้งประเทศทีเดียว
ส่วนเคนเนธ คอร์ติส นักยุทธศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง "ดอยช์
แบงก์ แคปิตอล มาร์เก็ตส์ (เอเชีย)" คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้
จำนวนผู้บริโภคในตลาดตั้งแต่โตเกียวจรดจาการ์ตาจะมีมากถึง 600 ล้านคน
องค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้ผลิตและผู้บริโภคแห่งนี้ก็คือ
บริเวณชายฝั่งทะเลของจีนที่มั่งคั่งร่ำรวย ไล่มาตั้งแต่ชายแดนแถบไซบีเรียที่หนาวเย็นไปจนถึงบริเวณเขตร้อนซึ่งอยู่ติดกับเวียดนาม
อีกทั้งกินอาณาเขตเข้าไปในลุ่มแม่น้ำแยงซีถึงเมืองวูฮั่นอันเป็นเมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่เร่งสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่
มีประชากรกว่า 300 ล้านคน ส่วนประเทศที่กำลังผลักดันตนเองให้ร่วมขบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจกับบริเวณชายฝั่งทะเลของจีนด้วยก็มี
ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งบริเวณตะวันออกไกลของรัสเซียที่แม้จะล้าหลังแต่อุดมไปด้วยทรัพยากร
การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จึงเป็นไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งในแง่ของขนาดและความเร็ว
กระนั้น ศูนย์กลางความโดดเด่นของเอเชียในศตวรรษหน้าก็หาใช่บริเวณวงกลมแห่งการเติบโตรอบชายฝั่งทะเลของจีนเท่านั้น
หากรวมถึงวงกลมขนาดเล็กที่อยู่ภายในด้วย อันได้แก่
-ฮ่องกง-กวางตุ้ง-มาเก๊า ขณะที่จีนและอังกฤษยังโต้แย้งกันในเรื่องการคืนดินแดนอาณานิคมเศรษฐกิจของฮ่องกง
มาเก๊า กวางเจาและส่วนอื่นในกวางตุ้งกลับเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นทุกขณะ ราว
80% ของการลงทุนในกวางตุ้งมาจากฮ่องกง และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานที่บริษัทฮ่องกงเป็นผู้ว่าจ้าง
ยอดการลงทุนของฮ่องกงในจีน จนถึงขณะนี้มีมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์
และการที่กวางตุ้งเป็นแผ่นดินเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลเป็นจำนวนมาก จึงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ได้เต็มที่
นักสังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า เมื่อฮ่องกงและมาเก๊ากลับเป็นของจีนในปี
1997 และ 1999 ตามลำดับแล้ว วงกลมแห่งการเติบโตรอบแม่น้ำเพิร์ลจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
วิคเตอร์ ฟุง กว๊อก-คิง ประธานสภาพัฒนาการค้าฮ่องกงกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า
กวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊าควรจะจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านในของชายฝั่ง
ในลักษณะเดียวกับที่ฮ่องกงเคยใช้ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้กวางตุ้งแทน
-เขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำทะเลเหลือง ซึ่งประกอบด้วยเกาหลีเหนือและใต้ กับดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
และเขตเศรษฐกิจทะเลญี่ปุ่นซึ่งประกอบไปด้วยญี่ปุ่น เกาหลี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและดินแดนรัสเซียในเอเชีย
วงกลมแห่งการเติบโตที่เหลื่อมกันอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลตอนเหนือของจีนสองวงนี้
จัดแบ่งโดยศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด เฉิน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง
เฉินเชื่อว่าเขตเศรษฐกิจทะเลเหลืองจะก่อรูปเป็นทางการได้ภายในสามถึงห้าปีข้างหน้า
โดยในระยะแรกจะประกอบด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบปิดระหว่างเกาหลีใต้และจีน
โดยเฉพาะในเขตจี้หลินซึ่งมีประชากรเชื้อสายเกาหลีราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ (โปรดดูในล้อมกรอบ)
-โจวซาน เกาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งของจังหวัดเจ๋อเจียงใกล้กับปากแม่น้ำแยงซี
และยังอยู่ใกล้กับท่าเรือนิงโปซึ่งเป็นท่าเรือที่มีความโดดเด่นกว่าเซี่ยงไฮ้ด้วย
และหลังจากที่อิสต์ อินเดีย โค. เปิดสำนักงานในเกาะแห่งนี้มานานถึงเกือบ
300 ปี และหลังจากที่กองทัพเรืออังกฤษขึ้นฝั่งครั้งแรกเมื่อ 153 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ของโจวซานก็ตั้งเป้าหมายที่จะรวมจุดเด่นของเจ้าซานและนิงโป
เพื่อจัดตั้งเขตสามเหลี่ยมการค้าร่วมกับอีกสองเมืองที่อยู่ใกล้กันคือเซาซิงและไทเจา
แผนการดังกล่าวยังรวมถึงการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่นิงโปและโจวซาน รวมทั้งการสร้างทางด่วนกับทางรถไฟ
และอาจสร้างสายการบินภูมิภาคเพื่อให้บริการในพื้นที่ด้วย
-ฟูเจียน-ไต้หวัน จะมีบทบาทมากขึ้นหากปักกิ่งและไต้หวันสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกันได้
-เซี่ยงไฮ้-เจียงสู และจีเจียง-หูเป่ย บริเวณชายฝั่งทะเลตอนกลางทางใต้ของจีน
ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนจากฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
ในบรรดาวงกลมแห่งการเติบโตทั้งหกนี้ การลงทุนใกล้กับชายแดนตอนเหนือของจีนดูเหมือนจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด
การลงทุนมีแนวโน้มลดลงหากเทียบกับการลงทุนบริเวณชายฝั่งตอนใต้ และตอนกลางของจีน
ฟูเจียนนั้นเหมือนกวางตุ้งในแง่ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุน ที่มาจากบรรดาชาวจีนโพ้นทะเล
ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ประธานฝ่ายการลงทุนจากต่างประเทศของเซียเหมินเรียกการลงทุนในลักษณะนี้ว่า
"เป็นการลงทุนของอารมณ์ความรู้สึก"
ขณะนี้บริษัทธุรกิจจาก 19 ประเทศเข้าไปเปิดโรงงานในเซียเหมิน อันเป็นเมืองท่าหนึ่งในห้าแห่งของจีนที่ถูกบังคับให้เปิดรับการค้าจากยุโรปตามเงื่อนไขในสนธิสัญญานานกิงเมื่อปี
1842 แต่ยอดการลงทุนจากต่างประเทศรวมราว 6,000 ล้านดอลลาร์นั้น มาจากไต้หวันในสัดส่วนสูงที่สุด
โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 4 แห่งที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนจากไต้หวันโดยเฉพาะ
และจากตัวเลขทางการ บริษัทต่างประเทศ 842 แห่งจากทั้งหมด 2,062 แห่งจะเป็นกิจการของนักลงทุนไต้หวันหรือเป็นกิจการร่วมทุนจากไต้หวันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น เฉินยังระบุด้วยว่า มีบริษัทไต้หวันในเซียเหมินเป็นจำนวนมากที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงตั้งแต่ก่อนปี
1987 "จากตัวเลขอย่างเป็นทางการ บริษัทต่างประเทศราว 46% มาจากฮ่องกง
เทียบกับอีก 40% จากไต้หวัน" เขายังเสริมว่า "แต่ในความเป็นจริงแล้ว
นักลงทุนชาวไต้หวันมีมากกว่า"
ความสัมพันธ์ระหว่างเซียเหมินและไต้หวันยังเป็นการเยาะเย้ยต่อจุดยืนทางอุดมการณ์ระหว่างปักกิ่งและไต้หวันด้วย
เพราะต่อให้ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากยิงปืนถล่มกันข้ามช่องแคบฟอร์โมซา และความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวันทำให้เกิดความวิตกในเรื่องสงครามนิวเคลียร์ขึ้น
ก็หาใช่ประเด็นแบ่งแยกชาวเซียเหมินจากญาติพี่น้องที่ตั้งรกรากในไต้หวันได้
ชาวไต้หวันและเซียเหมินใช้ภาษาท้องถิ่นเหมือนกัน สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษเดียวกันและมีโยงใยทางวัฒนธรรมร่วมกัน
เซียเหมินและเกาเซียงซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของไต้หวันอยู่ห่างกันไม่ถึง
330 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทางเครื่องบินไม่ถึง 20 นาที ส่วนเกาะตาตันซึ่งเป็นของไต้หวันก็อยู่ห่างจากเซียเหมินเพียง
2 กิโลเมตร
ปัจจุบันบริษัทไต้หวันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของเซียเหมิน และนับวันทั้งสองก็จะมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น
คนหนุ่มสาวทางฝั่งจีนนิยมแฟชั่นเสื้อผ้าที่ไต้หวันผลิตเลียนแบบสินค้ายี่ห้อดัง
ขณะเดียวกับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งเป็นเศรษฐกีใหม่ก็ใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมสูงๆ
มากขึ้น
แม้ว่าทางไต้หวันจะยังห้ามการเปิดเที่ยวบินและเส้นทางเดินเรือระหว่างกันโดยตรง
จนทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับไต้หวันซึ่งมีมูลค่าการค้าถึง
7,400 ล้านดอลลาร์ต่อปีและผู้โดยสารต้องอ้อมไปใช้เส้นทางผ่านฮ่องกง แต่ก็มีแนวโน้มบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินแห่งใหม่ขึ้นในเซียเหมิน อันเป็นสนามบินที่มีการจราจรคับคั่งมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในห้าของจีน
รวมทั้งกำลังเตรียมเปิดสายการบิน "เซียเหมินแอร์" โดยใช้เครื่องโบอิ้งทั้งหมด
และเตรียมให้บริการให้ทันทีที่เปิดเส้นทางระหว่างไทเปกับเกาเซียง
นอกจากนั้นบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตรงข้ามกับอนุสาวรีย์วีรบุรุษโคชินกะ ผู้ขับไล่อาณานิคมดัชต์ออกจากไต้หวันในศตวรรษที่
17 ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ และเป็นท่ารับส่งผู้โดยสารที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ด้วย
ขณะเดียวกัน การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่กึ่งทางการของทั้งสองฝ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยทางไทเปเองมีแนวโน้มจะผ่อนปรนเงื่อนไขด้านการค้ากับจีนมากขึ้น จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า
จีนและไต้หวันอาจปรับความสัมพันธ์ระดับปกติ ภายในปี 2,000 ทว่า ฮี ลีเฟง
นักเศรษฐศาสตร์วัย 38 ปีและเป็นรองนากยกเทศมนตรีของเซียเหมินเห็นว่า "เราหวังว่าจะเร็วกว่านั้น"
หยาง หยิงซุน ผู้ช่วยกรรมการของสำนักงานคณะกรรมการแห่งเซี่ยงไฮ้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศด้วยว่า
โครงการร่วมทุนกว่า 5,000 โครงการ มูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์ ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
โดยโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองผู่ตง อันเป็นย่านเทคโนโลยีสำคัญหยางคุยว่า
"ผู่ตงจะเป็นเซี่ยงไฮ้แห่งใหม่ และช่วยผลักดันจีนให้ส่องแสงเจิดจรัสยิ่งขึ้นในโลก"
หยางยังระบุรายชื่อนักลงทุนรายใหญ่ 4 แห่งด้วยกันอันมี ฮ่องกง สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและไต้หวัน
แต่ชี้ว่าการลงทันโดยชาวจีนโพ้นทะเลจากส่วนอื่นๆ ของเอเชียเริ่มชะลอลง "ผมคิดว่าอเมริกันเป็นนักลงทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา
เพราะเป็นนักลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ อย่างโครงการผลิตสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของเอทีแอนด์ที
เป็นต้น" เจา ฉูเจง เจ้าหน้าที่อาวุโสของเซี่ยงไฮ้ และเป็นวิศวกรผู้รับผิดชอบโครงการความร่วมมือทางเทคนิคจากต่างประเทศ
ให้ความเห็นเสริมว่า "ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นผู้นำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ๆ
มาให้"
ทัศนะดังกล่าวไม่เพียงเป็นสัญญาบอกถึงการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น "เซี่ยงไฮ้
ทาคราล อิเล็กทรอนิกส์ อินดัสเทรียล คอร์ป" กิจการร่วมทุนระหว่างสิงคโปร์กับจีนแห่งหนึ่งก็กำลังผลิตเครื่องบันทึกวิดีโอ
คาราโอเกะและกล้องบันทึกภาพชั้นเลิศเพื่อป้อนตลาดจีนซึ่งมีผู้บริโภคระดับเศรษฐีเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็ผลิตโทรทัศน์ขาวดำในราคาเครื่องละ 35 ดอลลาร์ ส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้านที่ยังยากจน
อาทิ เวียดนามด้วย
จากเซี่ยงไฮ้ออกไปราว 100 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของจังหวัดเจียงสู ซึ่งอาจนับเป็นแหล่งลงทุนที่โดดเด่นที่สุดในวงกลมแห่งการเติบโตรอบชายฝั่งทะเลของจีนด้วย
โดยกลุ่มธุรกิจภายใต้การนำของเคปเปล คอร์ป แห่งสิงคโปร์มีแผนที่จะสร้าง "สิงคโปร์น้อย"
ขึ้นที่นี่ โดยจะตั้งอยู่ในเมืองซูโจว กินอาณาเขต 70 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นเลิศของโลก
ส่วนทางเหนือของแม่น้ำแยงซีขึ้นไปอีกหลายร้อยกิโลเมตร วอร์ฟ (โฮลดิ้งส์)
บริษัทสัญชาติฮ่องกงก็มีแผนทางธุรกิจหลายโครงการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเปลี่ยนพื้นที่เมืองวูฮั่นให้เป็น
"ชิคาโกแห่งประเทศจีน" เพื่อเป็นศูนย์การค้าและขนส่งเขตเมืองชั้นใน
วูฮั่นมีความสำคัญในเขตนี้ก็เพราะเป็นจุดที่เส้นทางทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเรือจากปักกิ่งไปยังฮ่องกง
และจากเซี่ยงไฮ้ไปซีฉวนบรรจบกันนั่นเอง
แผนการของวอร์ฟยังรวมถึงการสร้างท่าคอนเทนเนอร์เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ
ศูนย์กลางโรงงานไฟฟ้า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และระบบรถไฟขนาดเบา อันเป็นโครงการลงทุนที่ไซมอน
โป ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของ "วอร์ฟ วูฮั่น" บริษัทร่วมทุนของวอร์ฟคาดหมายว่าจะมีมูลค่าถึง
1,750 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้น แผนการของวอร์ฟยังขยายจากแยงซีต่อไปถึงเมือง ซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดอย่างซีฉวนด้วย
โดยขณะนี้กำลังออกแบบเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 9,000 ตัน สำหรับล่องในแม่น้ำแยงซีอันเป็นเส้นทางหลักในประวัติศาสตร์ของจีน
เส้นทางแม่น้ำแยงซีมีความยาว 3,000 กิโลเมตรเชื่อมเขตเมืองชั้นในฉงชิงของซีฉวนกับวูฮั่น
เซี่ยงไฮ้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยทุกวันนี้เรือขนาดไม่เกิน 2,000
ตันเท่านั้นที่สามารถล่องไปถึงซีฉวนได้ แต่เมื่อโครงการสร้างเขื่อนในบริเวณแม่น้ำซีเกียง
ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ประสบความสำเร็จก็จะทำให้เรือขนาดใหญ่จากซีฉวนเดินทางต่อออกไปทางตะวันตกได้ด้วย
รอบบริเวณชายฝั่งทะเลจีนนั้น ยังเปิดรับโครงการใหม่ๆ อีกมาก และถึงแม้ว่าปักกิ่งจะพยายามชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง
แต่การลงทุนยังคงหลั่งไหลเข้ามาในอัตราที่ยังความประหลายใจแก่บรรดาผู้เฝ้าสังเกตการณ์อยู่
เฉพาะในเซียเหมินนั้น จอห์นสัน ฮุย แห่ง "ฟูเจียน เอ็นเตอร์ไพร้ส์ โฮลดิ้งส์"
ชี้ว่า ยอดการลงทุนในปี 1992 มีมูลค่าถึง 1,700 ล้านดอลลาร์ และแตะระดับ
1,300 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ส่วนแอนโธนี รัสเซล กรรมการผู้จัดการของ
"ฮ่องกง แบงก์ไชนา เซอร์วิส" ระบุว่า "อนาคตในระยะยาวยังแจ่มใสมาก"
เฉินแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงอ้างงานวิจัยของโนมูระ รีเสิร์ชอีกว่า โอกาสในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานยังเปิดอยู่อีกมาก
ไม่ใช่เฉพาะโครงการเกี่ยวกับถนนหนทางและสะพานเท่านั้น หากรวมถึงโครงการด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
ท่าเรือ สนามบิน และระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน
ขณะนี้นักธุรกิจจากเอเชียที่เข้าไปลงทุนเม็ดเงินรอบบริเวณวงกลมแห่งการเติบโตชายฝั่งทะเลจีนจะต้องนำเอาปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์
ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมทั้งความสัมพันธ์ของพื้นที่แต่ละแห่งรอบชายฝั่งทะเลมาพิจารณาประกอบ
ราวกับว่าแต่ละแห่งมีแนวพรมแดนประเทศกั้นอยู่ทีเดียว อย่างที่ชาวเซียเหมินเองก็มักพูดเสมอว่า
พวกเขามีส่วนคล้ายกับชาวไต้หวันมากยิ่งกว่าชาวกวางตุ้งด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้จีนทั้งห้าอันได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า และชาวจีนโพ้นทะเล
กำลังผสมผสานความเป็นหนึ่งเดียวอยู่ตลอดแนวชายฝั่งของจีน และโดยที่เกาหลีใต้
รัสเซียในเอเชีย และญี่ปุ่นก็เข้าร่วมอยู่ในวงกลมแห่งการเติบโตรอบชายฝั่งทะเลของจีนด้วย
แทนที่จะเป็นเพียงถ้อยคำอันสวยหรูที่พร่ำพูดกันมาเช่นแต่ก่อน