"โฆสิต"ย้ำแนวทางศก.โตมีคุณภาพโบรกฯชี้ต่างชาติเร่งสางแปรรูปรสก.


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์"ย้ำแนวนโยบายเศรษฐกิจประสานเศรษฐกิจพอเพียงกับทุนนิยม เพื่อให้การก้าวหน้าเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นใช้ความรู้คู่คุณธรรม ระบุช่วงที่มาผ่านอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมาจากด้านปริมาณ แต่ประสิทธิภาพกลับลดลง ทำให้อยู่ในความเสี่ยงมาหลายปี ด้าน"ศุภวุฒิ"ระบุต่างชาติติดตามการสะสางปัญหาต่างๆ หนุนเร่งสานต่อเมกะโปรเจ็คต์-แปรรูปรัฐ หวังสร้างความมั่นใจ-ชดเชยเวลาที่เสียไป 1 ปี

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงในเร็วๆนี้ว่า จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะหลายปีที่ผ่านมาเน้นในเรื่องรูปธรรมหรือในแง่วัตถุมากเกินไป พึ่งพาการส่งออก ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงที่มีมาหลายปีแล้ว ดังนั้น ต่อจากนี้จึงจะเน้นความเป็นนามธรรมมากขึ้น เช่น เศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างความสุขให้ประชาชน โดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่จะใช้พัฒนาประเทศมี 2 ข้อหลัก คือ คุณธรรมและความรู้ ซึ่งทุกคนสามารถปรับใช้ได้ตามสถานภาพ

โดยหัวใจของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจจะเน้นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายที่อยากให้มีการดูแลและเกิดความทั่วถึง บทบาทในการเจริญเติบโตทุกภาคส่วนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นความหมายที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่ปรับไปใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นสูตรที่ตายตัว สามารถปรับปรุงให้เข้ากับคนที่เอาไปใช้ได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบ คือ

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้วางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรู้ที่เหมาะสมด้วย”

ทั้งนี้ แกนของเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลตั้งใจนั้น อย่างน้อยจะต้องอาศัย 2 หลักใหญ่คือ 1.ความรู้ 2.คุณธรรม ซึ่งอาจจะเป็นคำถามให้กับหลายๆฝ่ายเกี่ยวกับความพอเพียงภายใต้ยุคโลกาภิวัฒน์ว่าจะสามารถไปด้วยกันได้ หรือจะตามประเทศอื่นๆทันหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ขัดกับหลักเศรษฐกิจเสรี แต่จะช่วยส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกบิดเบือน ตรงไปตรงมา และโปร่งใส ทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการพัฒนาหรือบริหารประเทศให้ดำเนินไปในสายกลาง พัฒนาเศรษฐกิจให้ทันต่อยุคโลกาภิวัฒน์อย่างมีเหตุผล พร้อมไปกับการสร้างภูมิคุ้มกัน และมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส

นายโฆสิตกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นคำตอบให้กับหลายฝ่ายได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ตอบสนองต่อโลกาภิวัฒน์ที่ทุกๆประเทศได้นำมาใช้ได้ คือ มีหลักธรรมมาภิบาล มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบตลาดเสรี ที่จะต้องมีคุณธรรมกำกับดูแล และรัฐบาลตระหนักถึงปัจจัยภายนอกที่เข้ามาตามกลไกตลาดเสรีอยู่แล้ว เมื่อภายนอกเปลี่ยนแปลงประเทศไทยก็จะต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่ในโลกได้อย่างยั่นยืน

“เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ แต่สามารถจะควบคู่ไปกับโลกาภิวัตน์และรองรับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกได้ เพราะหากภายนอกเปลี่ยนแปลง แล้วภายในไม่ปรับตามก็จะถูกทิ้ง โดยจะต้องใช้ความรู้และคุณธรรมเพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันการสร้างความเจริญเติบโต ก็จะต้องมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เกิดฟองสบู่ เติบโตด้วยคุณภาพและความรู้ เพราะการเติบโตแบบไม่มีเหตุผลจะเป็นอันตรายต่ออนาคต เหมือนที่เคยเกิดวิกฤติในปี 2540 มาแล้ว “

นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลชุดนี้ยังมีเรื่องการจัดทำแผนประสิทธิภาพแห่งชาติร่วมกับภาคเอกชน โดยจะจัดทำในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมก่อน โดยจะมีเครื่องวัดประสิทธิภาพที่ไม่เคยมีในอดีต โดยจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มาเป็นตัววัด เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด แต่เชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 4-5 %สามารถทำได้ หากต้องการขยายตัวมากกว่านี้ ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

“อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ผ่านมา มาจากด้านปริมาณ แต่ประสิทธิภาพกับลดลง ดังนั้น การใช้จีดีพีวัดจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงต้องจัดทำเครื่องวัดประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช้ดัชนีชี้วัดความสุข โดยต้องการการมีส่วนร่วม ต้องการความสมานฉันท์และคุณธรรม เพื่อให้สังคมมีความสุขได้” นายโฆสิตกล่าว

ทางด้านการเจริญเติบเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เป็นการเติบโตอย่างมีความเพียร มีคุณธรรม และใช้ความรู้ ที่เป็นทางเลือกเติบโตอย่างเข้มแข็ง วัดกันได้จากประสิทธิผล จากอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ใช้นโยบายเติบโตอย่างเร่งรัด ซึ่งยังมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยน

"ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปรับทิศ โดยเปลี่ยนแปลงปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น การเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งต่างประเทศอาจมีความกังวล แต่ประเทศไทยจะต้องปรับทิศให้เกิดความเหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจถึงทางตัน ดังนั้นเราต้องยอมเสียเวลาและโอกาสการลงทุนบ้าง แต่เชื่อว่าต่างประเทศจะเกิดความเข้าใจ ซึ่งประเทศไทยยังต้องการพันธมิตรต่างชาติ และไม่มีนโยบายที่จะปิดกั้นการลงทุนจากต่างชาติ และรัฐบาลชุดนี้จะต้องดำเนินการเรื่องคดีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและนอมินีที่ค้างจากรัฐบาลชุดที่แล้วให้แล้วเสร็จ"นายโฆสิตกล่าว

โบรกฯชี้ต่างชาติยังจับตารบ.ใหม่

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงคำถามของนักลงทุนต่างชาติภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศว่า สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติสนใจคือการเข้ามาบริหารงานในช่วง 1 ปีของรัฐบาลชั่วคราวจะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ได้มากน้อยเพียงไร ซึ่งหากมีการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดีจะส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน

โดยยังความกังวลในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงต่อการเติบโตของประเทศ เนื่องจากนักลงทุนต่างเห็นว่าประเทศไทยเสียเวลามาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่ปัญหาทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินเดีย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจจะส่งผลทำให้การไหลเข้าของเงินทุนหันไปประเทศดังกล่าวได้

"รัฐบาลก่อนหน้านี้จะเน้นภาพกรอบใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมาสรุปได้ว่าไม่มีความคืบหน้าในทั้ง 2 กรณี"นายศุภวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงการเปิดรับเงินทุนจากต่างชาติหลังการประกาศนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอย่างไร โดยสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจ คือ การสะสางปัญหาในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกรณีการฟ้องร้องบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลการตัดสินอาจจะสะท้อนถึงแนวคิดของคนไทยได้ว่าเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

"หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับไปเหมือนเมื่อปี 2540 หรือไม่ ซึ่งคำตอบจากการประเมินตัวเลขต่างๆพบว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้นแน่"นายศุภวุฒิ กล่าว

สำหรับรัฐวิสาหกิจในประเทศปัจจุบันยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มูลค่าตลาดรวม(มาร์เกตแคป)ที่ค่อนข้างสูง แต่การบริหารงานยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่ต่ำ ซึ่งหากมีการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนน่าจะทำให้การบริหารงานสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้เพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของการถือครองหุ้นของนักลงต่างชาติกรณีนอมินีกลุ่มเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ ยังต้องติดตามภาครัฐจะมีนโยบายในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวอย่างไร

"มีการตั้งคำถามถึงประสิทธิในการเติบโตของประเทศจากการทำการวิจัยของ TDRI ระบุว่าการเติบโตของประเทศยังอยู่ในระดับที่ดีแต่ประสิทธิภาพในเรื่องต่างๆยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการเข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วยความรู้ ความเสี่ยง ความรอบคอบ ภูมิคุ้มกัน และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย"นายศุภวุฒิกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.