|

เงินนอกดัน"บาท"แข็งสุดรอบ7ปีธปท.รับพุ่งเร็ว-รอจังหวะแทรก
ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เผยเงินทุนต่างชาติไหลบ่าเข้าไทย ดันค่าบาทแตะ 37.08 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดรอบ 7 ปี แบงก์ชาติยอมรับแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ยังไม่ระบุชัดกรณีเข้าแทรกแซง ด้านนักค้าเงินคาดมีโอกาสทดสอบ 37.00 บาทต่อดอลลาร์
นางธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นวานนี้(25 ต.ค.)ว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่ระดับ 37.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ถือว่าเป็นอัตราการแข็งค่าขึ้นในระดับที่เร็วเกินไป โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน่าจะมาจากหลายปัจจัย รวมถึงมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งก็เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
"ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น แข็งค่าขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งก็จะมีผลต่อหลายๆด้าน แต่คงจะยังบอกไม่ได้ว่า แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่"นางธาริษากล่าว
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย ) จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ (25 ต.ค.)เปิดตลาดเช้าที่ระดับ 37.20-37.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีว่าน่าจะมาจากปัจจัยทางการเมืองของประเทศไทยที่เริ่มคลี่คลายลงส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น พร้อมทั้งทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าแนวโน้มระยะต่อไปค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นทะลุ 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“ปัจจัยทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น รวมถึงค่าบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นตามด้วย ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าค่าบาทอาจจะปรับแข็งค่าทะลุ 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ” นางสาวอุสรา กล่าว
สำหรับปัจจัยจากต่างประเทศที่ต้องจับตามองต่อการส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เชื่อว่าในการประชุมครั้งต่อไปจะไม่ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ขณะที่เฟดจะเริ่มประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ขณะนี้มีทิศทางที่แข็งค่าเกินไป ดังนั้นเชื่อว่าในระยะต่อไปน่าจะมีโอกาสได้เห็นค่าเงินดอลลาร์ปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยเชื่อว่าในกลางปีหน้าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
“ปีหน้าน่าจะได้เห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยคาดว่าจะปรับลดลงมา 0.75% ส่วนของประเทศไทยนั้นมองว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟดเช่นกันในกลางปีหน้าซึ่งมองว่าน่าจะปรับลงมาอีก 0.5% ” นางสาวอุสรา กล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ นักค้าเงินจากธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นตั้งแต่เริ่มเปิดตลาดที่ระดับ 37.10-20 บาทต่อดอลลาร์ โดยปรับตัวแข็งค่าสุดที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีในช่วงเช้าของวัน หลังจากนั้นในช่วงบ่ายอ่อนค่าลงเล็กน้อย แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆที่ระดับ 37.11-14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 37.21 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางธปท.เองก็ยังไม่ได้ออกมายืนยันอย่างชัดเจนในเรื่องการเข้าแทรกแซง ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าได้อีก โดยคาดว่าอาจจะทดสอบที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในทางกลับกันหากปรับตัวอ่อนค่าลงก็มีแนวต้านอยู่ที่ 37.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
"เท่าที่ดูการเคลื่อนไหวของเงินบาท ก็ยังไม่เห็นการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติ แต่ก็คงจะมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดอยู่ โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงบ่ายค่อนข้างนิ่ง แกว่งตัวกรอบแคบ ไม่เห็นแรงกระตุกขึ้นที่มักจะเกิดขึ้นเวลาแบงก์ชาติเข้าแทรกแซง"นักค้าเงินกล่าว
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในช่วงเช้าวานนี้(24 ต.ค.)ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 37.20-37.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 37.11-37.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องมาจากมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ประกอบกับดุลการค้าของญี่ปุ่นเริ่มเกินดุล ทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมไปถึงค่าเงินบาทที่ได้รับผลพวงปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามไปกับสกุลเงินเยน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|