ฟิทช์ฯปรับเครดิตประเทศไทยเผยเซอร์ไพร้ส์เงินทุนไม่ไหลออก


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ฟิทช์ เรทติ้ง" ปรับอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตประเทศไทย จากระดับเครดิตที่เป็นลบกลับไปเป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ ยกปัจจัยสถานการณ์การเมืองกลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่าคาด ระบุหลังรัฐประหารเงินทุนยังไม่มีการไหลออกอย่างรุนแรง ทั้งในส่วนตลาดหุ้น-อัตราแลกเปลี่ยน

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์เครดิตของประเทศไทยโดยฟิทช์ เรทติ้ง เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2549 ฟิทช์ฯ ได้ยกเลิกมุมมองระดับเครดิตของประเทศที่มีการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบออก โดยยืนยันแนวโน้มระดับเครดิตที่มีเสถียรภาพและยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ BBB+ ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่ระดับ A และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้น F2 พร้อมทั้งยืนยันระดับเครดิตของประเทศที่ระดับ A-

"ฟิทช์ฯ ได้ให้เหตุผลในการปรับมุมมองระดับเครดิตของประเทศไทยกลับคืนสู่ระดับที่มีเสถียรภาพว่า เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่กลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา และสถานะทางเครดิตของไทยซึ่งประเมินจากตัวชี้วัดที่สำคัญยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB จากผลการประเมินเมื่อเดือนเมษายน 2549"

ทั้งนี้ แม้ว่าฟิทช์ฯ ยังคงเห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยังคงมีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและยังไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก อีกทั้งความไม่มั่นคงในช่วงเวลาที่รอการยกร่างและประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยยังคงมีอยู่ โดยรัฐบาลชั่วคราวยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฟิทช์ฯ เห็นว่า ในช่วงเวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางการเมืองของไทยในระยะยาว

ขณะที่สถานะด้านต่างประเทศของไทยยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2548 ซึ่งขาดดุลถึง 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 60,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2549 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB ทั้งในด้านสัดส่วนของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงสามารถคงสถานะของการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ

"ยังไม่มีการไหลออกของเงินทุนอย่างรุนแรง ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหลังจากที่มีการรัฐประหาร ส่วนสถานะด้านหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB โดยสัดส่วนหนี้โดยตรงของรัฐบาลได้ลดลงเหลือร้อยละ 28.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในเดือนสิงหาคม 2549 ต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 34.4 ของจีดีพี จากเดิมที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 39.1 ในเดือนกันยายน 2548 ถึงแม้ว่าในส่วนของหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวและว่า ฟิทช์ฯ ยังเชื่อว่า การที่รัฐบาลจัดทำนโยบายงบประมาณขาดดุล จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลในระยะปานกลาง

โดยฟิทช์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ในปี 2549 และยังคงยืนยันการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 ที่ระดับร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ฯ ยังคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะมีความสมดุลมากขึ้น เมื่อความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนได้ถูกฟื้นฟูแล้ว ส่วนปัจจัยด้านต่างประเทศจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับปานกลาง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.