|
SCCลุยลงทุน7หมื่นล.สวนทางกำไรQ3ลดเหลือ7.6พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปูนใหญ่ เดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจมูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ด้วยการทุ่มเงิน 5.2 พันล้านบาท ผุดโรงงานผลิตกระดาษคร๊าฟในเวียดนาม หลังตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ต่ำกว่าปีละ 10-15% ขณะที่โครงการผลิต Naphtha Cracker และ Downstream รวม 6.2 หมื่นล้าน จะเริ่มต้นผลิตในปี 2553 สวนทางผลงานไตรมาส 3 กำไรหดเกือบ 10% เหลือแค่ 7.6 พันล้านบาท เหตุต้นทุนพุ่ง และรับรู้การขาดทุนสุทธิภาษีจากการด้อยค่าในทรัพย์สินของ ไทยซีอาร์ที 798 ล้านบาท แต่มั่นใจทั้งปีโตเกิน 10% ระบุไตรมาสสุดท้ายโชว์กำไรไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ด้านผู้บริหาร ปฎิเสธตั้งกองทุนเพื่อเข้าซื้อหุ้น SHIN จากเทมาเส็ก
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติโครงการตั้งโรงงานผลิตกระดาษอุตสาหกรรมของธุรกิจกระดาษ ที่ประเทศเวียดนามในบริเวณใกล้เคียงนครโฮจิมินท์ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 5,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ภายในกลางปี 2552
โดยการตั้งโรงงานในประเทศเวียดนามนั้น จะทำให้ SCC มีกำลังการผลิตกระดาษอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น 1,740,000 ตันต่อปี (1,320,000 ตันต่อปีในประเทศไทย 200,000 ตันต่อปีในประเทศฟิลิปปินส์และ 220,000 ตันต่อปีในประเทศเวียดนาม) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเวียดนามที่มีการพัฒนาและความต้องการบริโภคกระดาษอุตสาหกรรมประมาณ 580,000 ตันต่อปี ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 45% แต่ยังมีอัตราการบริโภคกระดาษอุตสาหกรรมในระดับประมาณ 7 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคประมาณ 32 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นทั้ง 100% และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลเวียดนามด้วย โดยกำลังการผลิตทั้งหมดจะรองรับความต้องการในเวียดนาม เพราะที่ผ่านมาเราส่งออกไปจำหน่าย ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในเวียดนามมีต่อเนื่องและคาดว่าตลาดในเวียดนามจะมีการขยายตัวปีละ10-15% ในอีก 10 ปีข้างหน้า
"ตลาดเวียดนามเป็นตลาดส่งออกกระดาษอุตสาหกรรมหลักของธุรกิจกระดาษ โดยปี 2549 มีการส่งออกกระดาษอุตสาหกรรมเกือบถึง 100,000 ตัน ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ส่วนหนึ่งของ SCC ที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจหลักสู่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะทำให้ SCC สามารถใช้ความได้เปรียบจากฐานการตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันในประเทศเวียดนาม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากการเข้าถึงตลาดที่กำลังเติบโตและแหล่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่โดยตรง"
นายกานต์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงงาน naphtha Cracker แห่งที่ 2 โดยมีมูลค่าการลงทุน 45,600 ล้านบาท และ SCC จะถือหุ้น 67% ส่วน DOW CHEMICAL COMPANY จากสหรัฐฯ จะถือหุ้นส่วนที่เหลือ 33% ซึ่งโรงงานโอเลฟินส์ คอมเพล็กซ์แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 1.7 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นการผลิต เอททิลีน 9 แสนตันต่อปี และโพรไพลีน 8 แสนตันต่อปี ขณะที่มีผลิตอื่นอีก 7 แสนตันต่อปี
ทั้งนี้ จะใช้เทคโนโลยีซึ่งสามารถผลิต Propylene ได้ปริมาณสูงสุด โดยโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 นี้จะสามารถผลิต Propylene ได้มากกว่าโรงงานแรกถึง 75% เพื่อรองรับภาวะอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากส่วนใหญ่โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่สร้างใหม่จะมาจากตะวันออกกลาง และใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิต Propylene และผลิตภัณฑ์อื่นๆ น้อย
นอกจากนี้ SCC ยังได้ลงทุนในโครงการ Downstream โดยถือหุ้น 100% มีมูลค่าการลงทุน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 17,100 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 เป็นวัตถุดิบ มีกำลังการผลิตรวม 800,000 ตันต่อปี(HDPE 400,000 ตันต่อปี และ PP 400,000 ตันต่อปี) เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ให้มากที่สุดทำให้มี Margin เพิ่มขึ้นโดยใช้ความได้เปรียบจากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีอยู่ทั้งภายทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้ ซึ่งทั้งสองโครงการเริ่มผลิตในปี 2553
"การลงทุนโอเลฟินส์นั้น เราจะใช้เงินกู้หรืออาจต้องออกเป็นหุ้นหากไม่เพียงพอ เพราะขณะนี้เรามีหุ้นกู้ที่ออกแล้ว 81,000 ล้านบาท แต่เราขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น 1 แสนล้านบาท เราก็สามารถเพิ่มวงเงินได้ และเราจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ของเราให้อยู่ที่ระดับ 1.5 ต่อ 1 เท่า"
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2549 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 นายกานต์ กล่าวว่า บริษัทมีมีกำไรสุทธิ 7,598.25 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,415.52 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นลดลงจาก 7.01 บาทเหลือ 6.33 บาทต่อหุ้น เนื่องจากต้องรับรู้ผลขาดทุนสุทธิภาษีจากการด้อยค่าในทรัพย์สินของบริษัทย่อยคือ บริษัท ไทยซีอาร์ที จำกัด ในไตรมาสนี้ 798 ล้านบาท และต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยอดขายในไตรมาสนี้ของบริษัทมียอดขายสุทธิ 67,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและการรวมผลการดำเนินงานของบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (TPC) ซึ่งหากไม่รวมยอดขายของ TPC แล้ว เครือซิเมนต์ไทยจะมียอดขายสุทธิเพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ เครือฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ เท่ากับ 8,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลต่างทางด้านราคา(Margin) ที่เพิ่มสูงขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ แม้ว่าต้นทุนด้านพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง
"ซีเมนต์ยังเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง แต่ยอดขายในไตรมาสนี้ก็สูงขึ้น สวนทางกับไตรมาส 2 ที่ติดลบ โดยเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสเดือนกันยายนนี้ อันเป็นผลจากการก่อสร้างองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในต่างจังหวัด ทำให้ความต้องการเพิ่มเข้ามาสูง ขณะที่ธุรกิจโอเลฟินส์กลับสดใส เพราะมาร์จิ้นดีมาก โดยปกติขายที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันก็ถือว่าดีแล้ว แต่ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้พุ่งไปที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ ณ วันนี้ก็ปรับลดลงมาที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งระดับนี้ถือเป็นช่วงพีคของธุรกิจปิโตรเคมีและถือว่ายังดีอยู่ " นายกานต์กล่าว
สำหรับในปี 50 นั้นถือว่าปิโตรเคมี จะยังคงดีและมาร์จิ้นก็น่าจะอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์ปีนี้จะส่งออกประมาณ 7 ล้านตัน ขณะที่ประมาณความต้องการใช้ในประเทศมี 29 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านตัน โดยภาพรวมปีหน้าธุรกิจซีเมนต์น่าจะดีกว่าปีนี้ 0-3% เพราะไตรมาส 4 ผลจากน้ำท่วม ทำให้วัสดุก่อสร้างยอดขายไม่สูงมาก แต่หลังจากน้ำลด บวกกับงบประมาณในปี 50 ที่ออกมา คงจะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อภาคธุรกิจ น่าจะทำให้ความต้องการใช้ปูนมีมากขึ้น
โดยรวมแล้วปีนี้ SCC มั่นใจว่าผลการดำเนินงานโตเกิน 10% เพราะ 9 เดือนที่ผ่านมานั้นโตถึง 16% ขณะที่ไตรมาส 4 คาดว่าจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท เพราะจะรับรู้การประเมินด้อยค่าสินทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือสุทธิ 2,700 ล้านบาทของ ไทยซีอาร์ที และการขายเงินลงทุน บริษัทสยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด (SUS) จากร้อยละ 19.5 เหลือ 5% ประมาณ 2,000ล้านบาทและจะมีกำไรหลังภาษีจากรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำประมาณ 1,600 ล้านบาทด้วย
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า SCC อาจจะมีการตั้งกองทุนเพื่อเข้าซื้อหุ้น SHIN จากเทมาเส็กนั้น นายกานต์กล่าวยืนยันว่ายังไม่ทราบถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และไม่สนใจที่จะเข้าซื้อ ไม่ทราบเรื่องและไม่มีใครสอบถามเข้ามา ที่สำคัญเรื่องดังกล่าวยังไม่เคยเข้าบอร์ดด้วย
ขณะที่วานนี้ราคาหุ้นปิดที่ 246 บาท ลดลง 4 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 207.97 ล้านบาท ขณะที่วันก่อนซึ่งปิด ณ ราคา 250 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|