"สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ การตลาดทันยุค"

โดย นฤมล อภินิเวศ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

สุขภัณฑ์ชักโครกเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ถูกนำมาใช้เป็นจุดขาย "ประหยัดน้ำ" ของบริษัทชั้นนำ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตแทนส้วมนั่งยองที่นับวันจะน้อยลงทุกปี อีกทั้งเป็นตัวสิ้นเปลืองน้ำมากเพียงกดน้ำหนึ่งครั้งก็ต้องใช้น้ำถึง 12-15 ลิตร และอัตราการใช้หนึ่งวันย่อมไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง

บริษัทอเมริกันสแตนดาร์ดออกสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำรุ่น "คอร์เวต" เสียน้ำ 6 ลิตร/ครั้ง เมื่อปลายปีที่แล้วใช้วิธีแนะนำสินค้าด้วยการร่วมมือกับนักวิชาการอนุรักษ์ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากที่คอร์เวตออกมาได้ไม่กี่เดือน บริษัทกะรัตสุขภัณฑ์ออก "ซุปเปอร์เซฟ" ใช้น้ำ 4 ลิตร/ครั้ง และ "ไซฟอนเซฟ" ใช้น้ำ 6 ลิตร/ครั้ง การเปิดตลาดของบริษัทกะรัตใช้สื่อโฆษณาทางทีวีและสิ่งพิมพ์

ทิ้งช่วงไม่นานนักสุขภัณฑ์คอตโต้ และสุขภัณฑ์ของสตาร์ซานิทารีแวร์ ก็เริ่มใช้ชักโครกประหยัดน้ำเป็นกลยุทธ์ในการขายเช่นกัน รวมทั้งเจ้าแรกอย่างบริษัทอเมริกันสแตนดาร์ดได้ออกผลิตภัณฑ์ชักโครกเพิ่มขึ้นอีกเป็นระบบไซฟอนระดับลักซ์เชอรี่ ใช้น้ำ 6 ลิตร/ครั้ง และยังมีโถปัสสาวะชายใช้น้ำ 1 ลิตร/ครั้ง จากปกติที่ใช้น้ำ 5 ลิตร/ครั้ง

"ผู้ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำควรเป็นคนอยู่ในพื้นที่ขาดน้ำ แต่ปรากฏว่าลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของโครงการที่ต้องใช้สุขภัณฑ์มากชิ้น เช่น อพาร์ตเมนต์ หอพักและเจ้าของโครงการต้องจ่ายน้ำเอง ตอนนี้ที่ขายดีคือที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ" ศรชัย จาติกวณิช ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของอเมริกันสแตนดาร์ดพูดถึงกลุ่มลูกค้าของสุขภัณฑ์ชักโครก

นอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสุขภัณฑ์ที่หันมาชูป้าย "ประหยัดน้ำ" แล้ว ยังมีบริษัทไดนามิค กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้ร่วมมือกับนักประดิษฐ์คนไทย สร้างอุปกรณ์ประหยัดน้ำชื่อ "CRANE FLUSHSAVER" ติดตั้งในถังพักน้ำของชักโครก ทำให้ชักโครกทั่วไปกลายเป็นชักโครกประหยัดน้ำทันที

"เมืองไทยเริ่มตื่นตัวและรณรงค์การประหยัดน้ำมากขึ้น ผมเห็นเป็นโอกาสดีจึงทดลองทำ CRANE FLUSHER เพื่อผลิตขายในเมืองไทยและต่างประเทศ" ศฤงคาร รัตนางศุ เจ้าของความคิดสิ่งประดิษฐ์บอกถึงแรงจูงใจในการทดลองทำแม่พิมพ์ ซึ่งกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลาทำปีเศษจนได้อุปกรณ์ต้นแบบ

CRANE FLUSHSAVER ทำจากพลาสติก ABS มีหน้าที่ควบคุมการไหลของน้ำจากถังพักลงสู่โถโดยการติดตั้งตรงบริเวณที่ตั้งของอุปกรณ์ลูกลอยในถัง เมื่อกดชักโครกแบบปล่อยมือเร็ว จะมีผลให้ย้ำลงโถเฉพาะส่วนชั้นในตรงช่องว่างระหว่างลูกลอยกับสิ่งประดิษฐ์ ส่วนน้ำที่อยู่ชั้นนอกจะคงจำนวนเดิมไม่ต้องเสียไปกับการกดชักโครก

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี เพราะต้องแก้ไขตัวล็อกให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วจะมีการเสนอต่อการประปานครหลวงเพื่อเผยแพร่จำหน่ายในราคาที่จูงใจต่อการซื้อมาติดตั้ง

หากการทดลองใช้ CRANE FLUSHSAVER ใช้การได้ดีภายใต้ระบบทำงานของชักโครกทั่วไปที่ต้องพึ่งน้ำ 12-15 ลิตรในการทำความสะอาด รวมทั้งในสภาวะของแรงดันน้ำประปาที่ไม่สม่ำเสมออย่างเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อุปกรณ์ชิ้นนี้คงช่วยประหยัดน้ำชักโครกได้มากทีเดียวโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนชักโครกเดิมเป็นชักโครกประหยัดน้ำ

สุขภัณฑ์ในห้องน้ำยังมีอีก 2 ชิ้นที่มีการใช้บ่อยครั้งและสิ้นเปลืองไม่แพ้ชักโครก คือก็อกน้ำและฝักบัว การประปานครหลวงประมาณอย่างคร่าวๆ ว่า ถ้าเปิดก็อกน้ำหรือฝักบัวไหลนานหนึ่งนาทีจะสูญเสียน้ำ 9 ลิตร

คนไทยใช้ก็อกประหยัดน้ำมาหลายปีแล้ว ที่มีชื่อเรียกว่า AERATOR มีอุปกรณ์ที่สำคัญคือตระแกรงกรองน้ำอยู่ปลายก็อก เมื่อน้ำไหลผ่านจะเกิดฟองอากาศ อากาศที่ไหลเข้ามาแทนที่น้ำจะทำให้ประหยัดน้ำประมาณครึ่งหนึ่ง

สำหรับฝักบัวประหยัดน้ำเคยมีผู้นำเข้าจากนอร์เวย์มีชื่อว่า BEST SAVER เมื่อปี 2534 ก่อนที่บริษัทอเมริกันสแตนดาร์ดจะนำออกสู่ตลาดขณะนี้

"ตอนนั้นผมเคยออกงานโฮมโชว์แต่ไม่มีคนสนใจเท่าไร เพราะช่วงนั้นคนคิดว่าประหยัดไม่คุ้มทุนกับการซื้อฝักบัวที่แพงกว่าทั่วไป ผมก็เลยแจกเพื่อนเป็นของขวัญปีใหม่ แต่พอมาระยะหลังเริ่มมีคนติดต่อขอซื้อมากขึ้น ทำให้มีสต็อกเหลืออยู่ตอนนี้ 300 ชิ้นจากที่ซื้อมา 1,000 ชิ้น" วันชัย แสงกิตติไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทพรีซีซั่นคอมมิวเนเคชั่น เล่าภาวะเปลี่ยนแปลงด้านตลาดของฝักบัวประหยัดน้ำ ซึ่งมีผลให้ตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตในไทยโดยอาจจะร่วมทุนกับเจ้าของผลิตภัณฑ์

BEST SAVER ทำงานด้วยระบบ TURBULENCE PRINCIPLE ที่ให้ท่อส่งน้ำสู่หัวฝักบัวมีขนาดเล็กกว่าฝักบัวทั่วไป ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการใช้นิ้วอุดสายยางเวลารดน้ำต้นไม้ เมื่อน้ำผ่านท่อมาแล้วจะชนกับแผ่นสแตนเลสทรงวงกลมที่เจาะรูรอบแผ่น 10 รู ส่วนตรงกลางจะทึบทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับไปมาภายในท่อ ก่อนที่น้ำจะไหลผ่านหัวฝักบัวช่วยให้ประหยัดน้ำกว่าครึ่งที่ใช้ตามปกติ

BEST SAVER มีข้อเสียตรงที่แรงดันของน้ำต้องไม่ต่ำกว่า 4 บาร์ ฉะนั้นถ้าน้ำไหลอ่อยๆ คงหมดสิทธิ์ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ อย่างไรก็ดีสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำประเภทชักโครก ก็อกน้ำและฝักบัว ยังถือว่าใช้น้ำเปลืองน้อยกว่าอ่างอาบน้ำหลายเท่าตัว

"ยอดขายของอ่างอาบน้ำยังอยู่ในระดับปกติไม่ได้ลดลงเพราะเราถือว่าอ่างอาบน้ำเป็น STATUS SYMBOL ห้องน้ำที่สวยที่หรูต้องมีอ่างอาบน้ำ โดยปกติจะมีน้อยรายที่เปิดน้ำใส่อ่างแล้วแช่อาบทุกวัน ส่วนมากจะใช้ฝักบัว" ศรชัยกล่าว

สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำจะมีผลต่อการประหยัดน้ำเพียงใด คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่กำลังเลือกซื้อสุขภัณฑ์ในปัจจุบันและอนาคต เพราะคงมีน้อยรายที่จะรื้อสุขภัณฑ์เก่าทิ้งเพื่อเปลี่ยนมาเป็นชนิดประหยัดน้ำ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการปรับอัตราค่าน้ำสูงขึ้นมากจนคุ้มค่าเงิน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.