หมดเวลาไอทีวียื้อค่าปรับสปน.เร่งคดี-คาดทะลุ8หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

“ปลัดสปน.” คนใหม่เดินหน้าเร่งสะสางค่าปรับ “ไอทีวี” ชี้หากกรอบระยะเวลาฟ้องเกิน 1 ปี ค่าปรับผิดสัญญาอาจทะลุ 8 หมื่นล้าน ระบุ สปน.มีอำนาจคำนวณค่าปรับ แม้ต้องรอศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ลั่นเตรียมชงเรื่อง เลขาธิการนายกฯ-รมต.สำนักนายกฯ ยกเลิกกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัยปัญหาสัญญาสัมปทานยุค “ห้อย ครองเมือง” ขณะที่หุ้นร่วงรับทันที ด้านอสมท เตรียมเสนอรายชื่อบอร์ดชุดใหม่เข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันนี้ เผยหน้าใหม่ทั้งแผง 'พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร' ติดโผด้วย

นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ว่าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังครม.มีมติแต่งตั้งเป็นปลัด สปน.คนใหม่ว่า นโยบายที่ได้รับจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ปัญหาสัมปทานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่จะต้องให้ความยุติธรรมและความเป็นธรรม โดยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และกระบวนการต่างๆที่ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้สปน.ชนะแล้ว และถือว่าเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่และมีขั้นตอนที่ได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดว่า จะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องและรวมจำนวนเงินค่าปรับต่างๆได้เลยหรือไม่ และล่าสุดทางอัยการสูงสุด ก็ตอบกลับมาว่า สปน.สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี

"ขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 6 เดือนแล้ว สปน.จึงจะต้องเร่งดำเนินการฟ้องร้อง และเราก็ต้องมองในแง่ของอัยการสูงสุด โดยจะต้องเตรียมความพร้อมโดยดูสัญญา และคำนวณเงินค่าปรับต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ และที่สำคัญเมื่อเป็นกฎหมายใหม่ สปน.ก็จะต้องดูถึงอำนาจการฟ้องต่างๆ ซึ่งก็ต้องให้เวลา ผมคิดว่า ผมต้องเร่งประชุมคณะกรรมการประสานงานกรณีสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอฟเอช ใน 1-2 วันนี้ อีกครั้ง เพื่อจะทำเรื่องนี้ส่งไปขอความเห็นจากอัยการสูงสุด" ปลัดฯสปน.กล่าว

นายจุลยุทธกล่าวว่า เรื่องนี้ทั้งหมดหากจะสรุปยังต้องอยู่กับศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณา เนื่องจากบริษัทไอทีวี ได้ขออุทธรณ์ไปแล้ว แต่ในชั้นนี้ สปน.ยังมีกระบวนการในการฟ้องคดีให้อยู่ในกรอบระยะ 1 ปี

"ไม่เช่นนั้น หากเลยระยะเวลาในกรอบ 1 ปี เราก็จะยุ่งเลย เราจึงต้องทำตรงนี้ไว้ก่อน และเรื่องทั้งหมดที่สรุปก็อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัย และหากมีการยืดระยะเวลาไปอีก ไอทีวี อาจจะต้องเสียค่าปรับให้รัฐสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท เข้าไปแล้ว จากเดิมที่คำนวณ 76,000 ล้านบาท เมื่อนับวันที่ไอทีวีผิดสัญญารวมไปด้วย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่พิจารณาสัมปทานยังคงเป็นชุดเดิม โดยมีผู้บริหารไอทีวี เป็นผู้ประสานงานด้วย" ปลัดสปน. กล่าว

นายจุลยุทธ กล่าวว่า ส่วนกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตั้งไว้นั้นเป็นการตั้งเพื่อดูว่าต้องการทำให้สัญญาเป็นโมฆะทั้งฉบับได้หรือไม่ เนื่องจากในสัญญามีสาระสำคัญที่ไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แล้ว จึงมีการจี้จุดว่า "เป็นการสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การสอบสวนทางวินัย จากบุคคลที่ไม่นำสัญญาข้อ 5 วรรค 1 เข้าพิจารณาใน ครม.ว่า มีความผิดทางวินัย" เท่าที่ตนทราบจากกรรมการชุดนี้ ในช่วงที่พล.ต.ต.พีระพันธ์ เปรมภูติ เป็นปลัด สปน.ก็ไม่ค่อยสบายใจ และตนก็ทราบว่า เรื่องหากดำเนินการต่อไปก็จะเกิดผลกระทบ และไม่ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา เนื่องจาก สปน. ชนะคดีไปแล้ว จะตั้งขึ้นมาสอบสวนอีกทำไม เพราะหากตั้งขึ้นมาก็จะเป็นการตั้งประเด็นให้กับทางไอทีวี

เมื่อดูสำนวนต่างๆแล้ว ก็คิดว่าอาจจะต้องหารือกับทาง พล.อ.พงษ์เทพ เทพประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับ สปน.ว่าเรื่องนี้จะดำเนินการต่ออย่างไร เนื่องจากความเห็นของสปน.พบว่า ควรจะยกเลิกกรรมการสอบสวนที่นายเนวิน ตั้งขึ้นมา เพราะเท่าที่ดูฐานอำนาจการแต่งตั้ง น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะนายเนวิน เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง หากดูจากการมอบอำนาจการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องใดๆ หรือทางวินัย น่าจะเป็นเรื่องของรองนายกรัฐมนตรีตามอำนาจการแบ่งงานของนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น และจะทำให้คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งโมฆะ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความพยายามที่จะเข้ามาจัดการกรณีของไอทีวี โดยได้แต่งตั้งพล.ต.ต.พีระพันธ์ เปรมภูติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นให้เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการทำงานตรวจสอบคำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีค่าปรับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่สูงกว่า 7.59 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรได้เต็มที่มากนัก จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น

ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองก่อนหน้านี้ที่ว่ามีผลให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2547 เมื่อใดนั้น ปรากฏว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีมติที่ชัดเจนออกมาแล้วว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2547 ทั้งหมดโดยทันที ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แม้ว่าทางบริษัทไอทีวี จะได้มีการทำเรื่องขออุทธรณ์แล้วก็ตาม ทั้งนี้ทาง สปน.จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการเรียกผลตอบแทนที่ไอทีวีค้างอยู่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด

ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กล่าวสั้นๆว่า ขณะนี้บริษัทฯยังไม่ได้รับการแจ้งเรื่องอะไรทั้งสิ้นถึงกรณีที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สั่งการอะไรออกมาเกี่ยวกับปัญหาของไอทีวี ยังมีมีข่าวอะไรที่จะให้ตอนนี้

หุ้นITVร่วงรับข่าวเปลี่ยนปลัดสปน.

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV วานนี้ (25 ต.ค.) คณะกรรมการประสานงานกรณีสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF ได้มีคำสั่งมายังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อให้ยุติการดำเนินการใดๆ ในกรณีของสัมปทานของ บมจ. ไอทีวี (ITV) จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสิน พร้อมมีการเปลี่ยนตัวปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลและดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่งผลทำให้ราคาปิดที่ 2.96 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือ 1.33% โดยระหว่างวันราคาหุ้นปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 3.06 บาท มูลค่าการซื้อขาย 22.11 ล้านบาท

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย ระบุว่า ผลการตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ ITV กลับไปทำตามสัญญาสัมปทานเดิม ทั้งการปรับผังรายการในช่วง Prime Time โดยไม่มีให้รายการบันเทิง และจ่ายค่าสัมปทานขั้นต่ำที่ 1 พันล้านบาทต่อปี จะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2549 บริษัทจะมีผลกำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 98 ล้านบาท (ยังไม่รวมกับค่าสัมปทานที่ชำระขาดไปในปี 2547 - 2548) ถึงแม้ว่า สปน. ยังไม่สามารถบังคับให้ ITV ชำระค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่ายได้ จะมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนต่อ ITV ในระยะสั้น

แต่ SCIBS ประเมินว่าบริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดซึ่งอาจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมาก ดังนั้น SCIBS จึงยังคงแนะนำ "ขาย” มูลค่าเหมาะสม 3.28 บาท

เสนอบอร์ดอสมทชุดใหม่วันนี้

ขณะที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เมื่อวานนี้คณะกรรมการสรรหาบอร์ดอสมท ซึ่งมีนายรองพล เจริญพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการ และมีกรรมการ 4 รายประกอบด้วย 1.นายธงทอง จันทรางศุ, 3.นายภาวิช ทองโรจน์ 3.นายถวิล พึ่งมา และ 4. นายสมเกียรติ วันทะนะ ได้มีการประชุมกันและเลิกประชุมเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. โดยที่ประชุมของคณะกรรมการสรรหาฯมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอรายชื่อกรรมการและกรรมการอิสระเข้าสู่การประชุมผู้ถือหุ้นอสมทในวันนี้

โดยมีรายชื่อทั้งสิ้น 10 คน ประกอบด้วย 1.นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ 2.นายสมภพ บัณฑรวิพากษ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ 3.นายประกิจ ประจนปัจจนึก เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการ 4.นายสงวน ตียะไพบูลย์สิน รองอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ

ส่วนกรรมการอิสระประกอบด้วย 5.นางสาววิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และการสื่อสาร สาธารณเพื่อสังคม 6.นายณรงค์ โชควัฒนา ประธานบริษัท ไลออนส์ (ประเทศไทย) จำกัด 7.นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เครือบริษัท มติชน จำกัด 8.นายวิทยาธร ท่อแก้ว รองศาสตราจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 9.นายชาญชัย สุนทรมัฎฐ์ อธิบดีกรมการปกครอง 10.นายบุญปลูก ชายเกตุ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

สำหรับรายชื่อใหม่ที่จะเสนอนั้น ปรากฎว่า มีรายชื่อเก่าที่เคยเป็นบอร์ดชุดที่แล้วอยู่เพียง คนเดียวคือ นายประกิจ ประจนปัจจนึก นอกนั้นล้วนแต่เป็นคนใหม่ อีกทั้งยังมีบุคคลจากแวดวงสื่อสารมวลชนโดยตรงเข้ามาร่วมด้วยคือนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร จากค่ายมติชน

อย่างไรก็ตาม รายชื่อบอร์ดชุดใหม่นี้จะต้องได้รับการรับรองและอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้(26ต.ค.) ก่อนจึงจะสมบูรณ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.