“สิงห์-ช้าง”เมินลงนามสัตยาบันหนีคุมเข้มน้ำเมา


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

25 ต.ค.49 สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (FACT) ได้เรียกสมาชิกประกอบด้วย 24 องค์กร ที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,สมาคมโรงแรมไทย,สมาคมภัตตาคารไทย,สมาคมค้าปลีกไทย และผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ทำการลงนามสัตยาบันระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย (FACT Codes of Conduct) ที่ โรงแรม เรดิสัน

นายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (FACT) เปิดเผยว่า เพื่อแสดงจุดยืนของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ทำการตลาดอย่างรับผิดชอบสังคม และนำเสนอภาครัฐกรณีการควบคุมอย่างมีระบบและจริยธรรมจะส่งผลดีมากกว่าการห้ามอย่างสิ้นเชิง ทางสมาพันธ์ฯ จึงได้ร่างระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย (FACT Codes of Coduct) โดยเป็นกรอบระเบียบปฏิบัติเดียวกับอียูขึ้นมา เพื่อให้สมาชิกหรือองค์กรได้ลงนามสัตยาบันปฏิบัติตามระเบียบ 11 ประการ ได้แก่ 1.สมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ กิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศ 2.ข้อกำหนดห้ามจัดกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวกับผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ 20 ปี

3.ข้อกำหนดว่าด้วยการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ 4.ไม่ระบุว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดแต่เคารพการตัดสินใจของบุคคล 5.การโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องไม่มีภาพลักษณ์หรือรูปใดที่แสดงความก้าวร้าวหรือในแง่ของเพศ 6.ไม่นำปริมาณแอลกอฮอล์มาเป็นจุดขาย แต่ให้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับปริมาณ 7.ไม่สื่อว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประสิทธิภาพทางการแพทย์หรือการรักษาบำบัด 8.กรณีการดื่มแอลกอฮอล์และการขับขี่ยานพาหนะ 9.ไม่สื่อถึงความสามารถในการเข้าสังคมและความดึงดูดทางเพศ 10.ดูแลไม่ให้กิจกรรมตลาด-การสื่อสารเกี่ยวข้องกับความรุนแรง 11.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสนับสนุนการดื่มแต่พอดี

โดยมีผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร่วมลงนามสัตยาบันและเป็นสมาชิกกับทางสมาพันธ์ฯ ได้แก่ บริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด ,บริษัท บาคาร์ดี้ ประเทศไทย จำกัด ,บริษัทไทยเอเชีย แปซิฟิค,บริษัทซานมิเกล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด,บริษัทสยาม ไวน์เนอรี่ และกลุ่มสมาคมไวน์ ไทย รวมไปถึงสมาคมค้าปลีกไทย ร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีเนม่า ร่วมลงนามกรณีไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี

ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ร่วมลงนามและไม่ได้เป็นสมาชิกกับทางสมาพันธ์ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อาทิ เหล้าขาว แสงโสม แม่โขง เบียร์ช้าง ,บริษัท สิงห์คอร์เปอเรชั่น ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ ฯลฯ และบริษัทเพอร์นอต ริคาร์ด ผู้จำหน่ายฮันเดรด ไพเพอร์ส และชีวาส รีกัล เป็นต้น

" ก่อนหน้านี้ทางสมาพันธ์ฯได้จัดประชุม มีผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะคิดว่าเป็นองค์กรที่ต่อต้านภาครัฐ แต่ภายหลังจากที่สมาพันธ์ฯ มีระเบียบแนวทางปฏิบัติชัดเจนกรณีผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก จะต้องสามารถปฏิบัติตามระเบียบ 11 ข้อของสมาพันธ์ฯ จึงมีผู้ประกอบการที่สนใจจะเป็นสมาชิกหรือเข้าร่วมประชุมลดลง"

วงการน้ำเมาแบ่งเส้นสีขาว-เทา

นายบุญช่วย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสมาชิกกับทางสมาพันธ์ฯ คิดเป็นเพียง 10% ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมเท่านั้น ในขณะที่ผู้ประกอบการเหล้าขาวและเบียร์ซึ่งคิดเป็น 85% ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เข้าร่วมลงนามระเบียบปฏิบัติ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทเหล่านั้นมีแนวทางการทำตลาดเป็นสีเทา หรือมีการทำโฆษณาแฝง มุ่งเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชน และประการสำคัญ คือ การได้รับผลประโยชน์จากการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง โดยยกกรณีอย่าง เบียร์ช้างแม้ว่าจะห้ามโฆษณา 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังสามารถใช้การเป็นสปอนเซอร์เสื้อทีมฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน ในช่วงถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียมลีกในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้

นางวิมลวรรณ อุดมพร รองประธานฝ่ายรัฐกิจกฎหมายและนิเทศสัมพันธ์ บริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตระกูลจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประ- กอบการมีการทำตลาดทั้งที่เป็นสีขาวและสีเทาอยู่แล้ว แต่นโยบายของบริษัทริชมอนเด้ วางไว้อย่างชัดเจนคือการทำตลาดอย่างรับผิดชอบสังคมและมีจริยธรรม แม้ว่าการทำตลาดแบบสีเทาจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบทางการตลาดก็ตาม แต่ริชมอนเด้ทำตลาดมาร่วม 200 ปี บริษัทไม่ได้เน้นในเรื่องของยอดขายอย่างเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามนอกจากในส่วนของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอกลอฮอล์จะมีการจัดระเบียบด้วยกันเองแล้ว ทางสมาพันธ์ฯ ยังได้หารือกับสมาคมป้ายโฆษณาฯ เพื่อจัดระเบียบป้ายโฆษณาใหม่ หลังจากก่อนนี้ก็มีการปิดป้ายโฆษณาในพื้นที่ที่ห้ามติด หรือการก้ำกึ่ง โดยต้องการให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบสีขาวหรือถูกต้องทั้งหมด

สิงห์ยันไม่สนร่วมสมาพันธ์ฯ

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดหน่ายเบียร์สิงห์ กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับทางสมาพันธ์ฯ เพราะมีแนวทางในการดำเนินงานในรูปแบบเฉพาะของตนเอง และด้วยขนาดขององค์กร ชื่อเสียงมานาน73ปี มั่นใจว่ามีน้ำหนักพอ ที่จะแสดงความคิดเห็นกับหน่วยงานของรัฐ สื่อต่างๆ โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในสังกัดสมาคมใด เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้า หรือติดขัด เนื่องจากต้องรอการตัดสินใจร่วมกันกับสมาชิก อีกทั้งหลักการบางอย่างของสมาพันธ์ฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่บริษัทดำเนินการ เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียดและกระบวนการทำงานเท่านั้น การที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสีขาวหรือสีเทา

สมาพันธ์ฯแสดงจุดยืนเรียกร้องภาครัฐฯ

นายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (FACT) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการร่วมลงนามของสมาชิกภายใต้กฎระเบียบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ทางสมาพันธ์ฯ ได้แสดงจุดยืนและข้อตกลงมีด้วยกัน 3 ประการ คือ ประการแรก ส่งเสริมให้มีกฎหมายที่เหมาะสม ภายใต้สภาวะสังคมที่เหมาะกับประเทศนั้นๆ และสามารถบังคับใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ประการที่สอง มีระบบจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน ในสภาวะการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน (Level playing field) และประการสุดท้าย การส่งเสริมค่านิยม เพื่อให้มีพื้นฐานที่แข็งแรง การมีกรอบความคิดที่มีคุณธรรมชัดเจน การดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีจริยธรรม พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวให้ภาครัฐตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบโฆษณา และคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพเหล้า รวมทั้งการนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.