ไกรสรลาออกประธานบอร์ดกสท นายกฯ สั่ง ICT ล้างบาง 3 บอร์ด


ผู้จัดการรายวัน(25 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไกรสร พรสุธี ตัดใจยอมลาออกจากประธานบอร์ด กสท กับกรรมการบอร์ดทีโอที อ้างภารกิจ สนช. หนัก แถมมีงานบริหารในไอซีทีค้างสุมเยอะไม่ใช่แรงกดดันปัญหา สตง. สอบเรื่องอื้อฉาวซีดีเอ็มเอหรือเอื้อประโยชน์หัวเหว่ย ด้านนายกฯ สั่งรมว.ไอซีทีล้างบาง 3 บอร์ด

นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่าได้ลาออกจากการทำหน้าที่ประธานบอร์ด บริษัท กสท โทรคมนาคม และ กรรมการบอร์ดบริษัท ทีโอที แล้วโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อย่างเต็มความสามารถรวมถึงการเร่งบริหารงานภายในกระทรวงไอซีที ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความคืบหน้า ในช่วงเวลา 1 ปีนี้ และการลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องกดดันจากกระแสข่าวการบริหารงานภายในบอร์ดทั้งสองแห่งหรือปัญหาโครงการซีดีเอ็มเอที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของสำหนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ (สตง.) แต่อย่างใด

“เป็นเรื่องเหตุผลส่วนตัว ไม่ได้มีแรงกดดันจากใครเป็นการตัดสินใจของตัวเอง โดยได้ตัดสินใจแล้วตั้งแต่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา และได้หารือกับ รมว.ไอซีทีแล้ว”

อย่างไรก็ตามหลังการลาออกจากประธานบอร์ด กสท แล้วก็ไม่ได้ต้องการให้บอร์ดคนอื่นลาออกตาม โดยขอให้ทำหน้าที่ต่อไปตามแนวทางของ รมว.ไอซีทีที่มอบนโยบายให้ทั้งสองหน่วยงานเร่งผลดำเนินงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

“จากที่สอบถาม ยังไม่มีท่านใดที่จะลาออกในขณะนี้ ทุกคนยังคงทำหน้าที่อยู่และ ควรทำต่อไป ยังมีหลายเรื่อง หลายโครงการ ที่ยังจะต้องเร่งเดินหน้าเป็นงานที่หนักมาก”

ส่วนหน้าที่การเป็นบอร์ดของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า นายไกรสร กล่าวว่ายังคงทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปเนื่องจากเป็นตำแหน่งโดยหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ที่มอบหมายให้เข้าไปรับผิดชอบ

นายไกรสร กล่าวอีก ถึงแม้ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการของทั้ง 2 หน่วยงานแล้ว แต่ตนยังสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามงานด้านบริหารของทั้งสององค์กรได้อยู่เช่นกันโดยจะทำหน้าที่ในฐานะปลัดกระทรวงไอซีทีที่จะคอยตรวจสอบติดตามผลการพิจารณาอนุมัติโครงการ หากมีความไม่ชัดเจนหรือข้อสงสัย ก็จะให้ให้บอร์ดเข้ามาชี้แจง อย่างเช่นโครงการจัดซื้อของทีโอทีในการลงทุนบรอดแบนด์ 4 พันล้านบาท การขยายโครงข่ายวงจรข้อมูลความเร็วสูงของ กสท

รายงานข่าวล่าสุดแจ้งว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ รมว.ไอซีทีดำเนินการยุบบอร์ดทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย บอร์ดทีโอที บอร์ด กสท และบอร์ดบริษัท ไปรษณีย์ไทย แล้ว

การลาออกของไกรสรในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสสังคมที่จับตามองโครงการที่มีปัญหาความโปร่งใสในกสท อย่างซีดีเอ็มเอทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ที่สตง.กำลังตรวจสอบว่ามีการทุจริตทำให้ กสท เสียประโยชน์ปีละกว่าหมื่นล้านและทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงาน สำหรับสัญญาการตลาดในส่วนกลางของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือ ฮัทช์ และการจัดจ้างติดตั้งโครงข่ายซีดีเอ็มเอของบริษัท บีเอฟเคที

นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้วเมื่อปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา บอร์ด กสท ยังได้มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้มีการขยายเวลาสัญญาจัดสร้างชุมสายและสถานีเครือข่าย CDMA 2000-1x ในส่วนภูมิภาคออกไปตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร กสท จากที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2549 โดยอ้างถึงอุปสรรคในการทำงานจากเหตุสุดวิสัย อาทิ ฝนตก น้ำท่วม จึงทำให้บริษัท หัวเหว่ย ส่งมอบงานระยะที่ 1 ล่าช้าออกไป 41 วัน ในขณะที่หัวเหว่ยส่งมอบล่าช้าถึง 47 วัน แต่กลับไม่คิดค่าปรับสักบาทเดียว ขัดกับทีโออาร์ที่ระบุว่าหากล่าช้า หนึ่งสถานี ก็สามารถปรับได้และจะต้องมีการนำความล่าช้าของแต่ละพื้นที่มาคิดแยกวัน แต่ในส่วนนี้บอร์ดได้อนุมัติเหมารวมทั้งหมด เพื่อทำให้หัวเหว่ยไม่ต้องเสียค่าปรับเลย ในขณะที่กสทยังจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ให้หัวเหว่ยไป 1,800 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.