ยักษ์ค้าปลีกเมินปฎิบัติตามไกด์ไลน์ดื้อขายต่ำกว่าทุนทำซัปพลายเออร์พัง


ผู้จัดการรายวัน(25 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ยักษ์ค้าปลีกเมินไกด์ไลน์ค้าปลีก ยังดันทุรังขายสินค้าต่ำกว่าทุน จะกระทบซัปพลายเออร์อย่างหนักเพราะถูกห้างรายอื่นกดราคารับซื้อสินค้าตามมา แนะซัปพลายเออร์ทำหนังสือร้องเรียนให้ชัดเจนเพื่อจัดการ คาดประชุม คณะทำงานแก้ปัญหาค้าปลีก 26 ต.ค.นี้ คลอดมาตรการเสริมดูแลการขยายสาขา หลังพ้นระยะขอความร่วมมือชะลอขยายสาขา "ศิริพล" ชงกฎหมายค้าปลีก "เกริกไกร" แก้ไขบางประเด็นให้รัดกุม

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า หลังจากที่กรมการค้าภายในได้บังคับใช้แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย (ไกด์ไลน์) ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2549 ที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตสินค้า (ซัปพลายเออร์) หลายรายที่ขายสินค้าให้กับห้างค้าปลีก ได้ร้องเรียนมายังกรมการค้าภายในว่า ห้างค้าปลีกยังขายสินค้าต่ำกว่าทุนจนเกิดผลกระทบต่อซัปพลายเออร์แล้ว เพราะการขายต่ำกว่าทุนดังกล่าวได้ทำให้ห้างค้าปลีกรายอื่นๆ กดราคารับซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ โดยอ้างว่าห้างที่ขายสินค้าต่ำกว่าทุนซื้อสินค้าได้ถูก จึงต่อรองซื้อถูกด้วย

"เพื่อให้เข้าใจชัดเจนก็คือ ซัปพลายเออร์รายหนึ่งขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกรายหนึ่งในราคาชิ้นละ 100 บาท แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายนั้นกลับไปขายต่อให้ผู้บริโภคในราคาชิ้นละเพียง 80 บาทเท่านั้น ซึ่งทำให้ซัปพลายเออร์เสียหาย เพราะถูกผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นกดราคารับซื้อให้เหลือชิ้นละ 80 บาทบ้าง"

ทั้งนี้ ในไกด์ไลน์กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าปลีกห้ามกำหนดราคาขายต่ำกว่าทุน ยกเว้นเป็นการขายสินค้า ที่มีความจำเป็น และสามารถอธิบายเหตุผลได้ เช่น สินค้าใกล้หมดอายุ สินค้าที่มีการใช้เฉพาะบางฤดูกาล ส่วนโทษหากตรวจสอบพบห้างค้าปลีกมีพฤติกรรมดังกล่าวจริงจะมีความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนดังกล่าวยังเป็นเพียงการร้องเรียนด้วยวาจาเท่านั้น ยังไม่มีการส่งหนังสือร้องเรียนมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งกรมการค้าภายในต้องการให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการค้าปลีกร้องเรียนมาอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือเป็นพยานในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย เพราะมีบางกรณีที่มีการตรวจสอบ แต่ซัปพลายเออร์ซึ่งเป็นผู้เสียหายกลับไม่ให้ความร่วมมือกับทางการ แต่กลับเข้าข้างผู้ประกอบการค้าปลีกด้วยซ้ำ ส่วนกรณีอื่นๆ ยังไม่มีการร้องเรียนมา

สำหรับการประชุมคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ครั้งที่ 4/2549 ในวันที่ 26 ต.ค. นั้น เป็นไปได้ว่าคณะทำงานฯ อาจหามาตรการใหม่ๆ มาบังคับใช้กับผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง หลังจากการขอความร่วมมือชะลอ หรือหยุดการขยายสาขาภายใน 30 วัน จะหมดอายุในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่า กรมฯ อาจไม่ยืดระยะเวลาการชะลอ หรือหยุดขยายสาขาออกไปอีกแล้ว

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำเสนอร่างพ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งให้นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์พิจารณาแล้ว ซึ่งนายเกริกไกรแนะนำให้แก้ไขปรับปรุงในบางประเด็น เช่น กรณีที่กำหนดให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีอำนาจตัดสินใจอนุญาตให้ขยายสาขา หรือการขอใบอนุญาตประเภทธุรกิจค้าปลีกนั้น ก็ให้ปรับปรุงเป็นให้คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธานเห็นชอบแทน เพราะเกรงว่าหากให้คณะกรรมการจังหวัดอนุญาตอาจมีปัญหาได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.