"ลอดลายมังกร "โรงเรียนจีน"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

พลังทางเศรษฐกิจที่ส่งผลสะเทือนต่อการฟื้นตัวของภาษาจีนคือ ความเป็นสากลของทุน ที่นำไปสู่ธุรกิจการค้ากับการลงทุนหลากหลายระดับและขนาดในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศจีน ปรากฏการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความต้องการทรัพยากรบุคคลที่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาจีนได้ และจุดประกายธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาจีนภาคค่ำให้ตื่นขึ้นรองรับตลาดการศึกษาระยะสั้น ขณะที่นโยบายการศึกษาของรัฐยังก้าวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว !!

"ปักกิ่ง…นครแห่งความหลัง" ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามที่เขียนโดยสด กูระมะโรหิต ณ วันนี้ปักกิ่งกลายเป็นนครแห่งการศึกษาภาษาวัฒนธรรมจีน ที่ซึ่งมีการนำเข้าอาจารย์ปักกิ่งมาสู่สถาบันการศึกษาในไทยจำนวนมากขึ้น เพื่อสนองตอบกระแสโลกานุวัตรของการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนที่เพิ่มขึ้น ตามเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจความเจริญในระดับภายในภูมิภาคหลายแห่งในเอเชีย (SUB REGIONAL) อันก่อให้เกิดความต้องการบุคลากรที่รู้ภาษาจีนมีมากขึ้น

ภาษาจีนจึงเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมของมนุษย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ที่ใช้สื่อสารอธิบายความเชื่อ ธรรมเนียมประเพณี และอุดมคติศาสนา ภาษาจึงมีชีวิต เกิดและตาย ล่าสุดคือการฟื้นตัว และการผนึกกำลังอย่างรวดเร็วของประเพณีภาษา ที่กลายเป็นภาษาถิ่นจะกลับเป็นภาษาเศรษฐกิจหลักในการติดต่อค้าขายที่มีความถี่ต่อเนื่องมากขึ้นระหว่างเมืองต่อเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย สิบสองปันนา ยูนนาน บนพื้นที่ที่เรียกกันว่าสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจทางภาคเหนือตอนบนของไทย

หรือบางครั้งมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากจีนมาสู่ไทย กรณีธนาคารแห่งประเทศจีนซึ่งมาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เพื่อทำวิเทศธนกิจหรือ "บีไอบีเอฟ" ก็ประกาศรับสมัครผ่านบริษัทที่ปรึกษากฎหมายฟาร์อีสต์ว่า ต้องการพนักงานแบงก์หลายตำแหน่งที่พูด อ่าน เขียน ภาษาจีนกลางได้ เช่นเลขานุการ พนักงานบัญชี คอมพิวเตอร์ พนักงานด้านธุรกิจปริวรรตเงินตรา เป็นต้น

พลังทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระเทือนต่อการฟื้นตัวของภาษาจีนคือ ความเป็นสากลของทุน ที่การลงทุนได้นำไปสู่ธุรกิจการค้าและการลงทุนหลากหลายระดับและขนาดในเขตเศรษฐกิจเฉพาะของจีน ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความต้องการคนที่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาจีนได้

ทัศนคติของการเรียนภาษาจีนในวันนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่คนละยุคสมัยกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ซึ่งเติบโตมาในยุคจีนเก่าที่ต้องการให้บุตรหลายเรียนเพื่อผดุงรักษา "ความเป็นคนจีน" ไว้

ศิษย์เก่าโรงเรียนจีนที่มีอายุเก่าแก่อย่างเช่น รร. เผยอิงที่ถนนทรงวาด เป็นผลิตผลที่สะท้อนทัศนคติของพ่อแม่ชาวจีนยุคสมัยนั้นได้ดี ปัจจุบันศิษย์เก่าเผยอิงบางคนได้กลายเป็นเจ้าสัวและนักบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียง เช่น อุเทน เตชะไพบูลย์ กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเรียนรุ่นเดียวกับ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

"ในสมัยนั้นคนไหนไม่รู้ภาษาจีนก็เท่ากับหมดโอกาสที่จะเข้ามาอยู่ในวงการค้า โดยเฉพาะค้าพืชไร่ที่เห็นชัดว่า ตัวเลขน้ำหนักบนกระสอบยังคงเขียนภาษาจีนเป็นหลัก ดังนั้นการที่พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนก็เพื่อให้ทำการค้า มากกว่ารับราชการยกเว้นครอบครัวคนจีนที่มีฐานะดี และมีความสัมพันธ์กับคนไทย" กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ศิษย์เก่าเผยอิงซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทนานาพรรณ เอ็นเตอร์ไพร์สและบริษัทสยามน้ำมันละหุ่งเล่าให้ฟัง

สำหรับบางครอบครัวฐานะดีก็ส่งลูกไปเรียนต่อระดับสูงในต่างประเทศ โดยแยกเป็นสองสายคือพวกเรียนทางสายประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และพวกเรียนทางสายไต้หวันเนื่องจากฝักใฝ่ในก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงไคเช็ค

ต่อมาในยุคจีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ความหวาดระแวงทางการเมืองประกอบกับลัทธิรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายยกเลิกสอนภาษาจีนอย่างเด็ดขาดในปี 2493 โรงเรีรยเหล่านี้ต้องปรับแผนการเรีรยนการสอนเป็นภาษาไทยเป็นหลักตั้งแต่ประถมถึงมัธยมศึกษา ทำให้บรรดากุมารจีนทั้งหลายแทบจะพูดจีนไม่ได้

นโยบายการศึกษาที่ผูกพันกับความหวาดระแวงทางการเมืองไม่ต่ำกว่าสี่ทศวรรษ ทำให้ภาษาจีนเป็นหมันใกล้ๆ สูญพันธุ์ในไทย ! และเกิดช่องว่างห่างเกือบสามสิบกว่าปีที่ก่อให้เกิดปัญหาผลิตผลของคนรุ่นตั้งแต่ปี 2493 ซึ่งปัจจุบันนี้มีอายุ 30-40 แทบจะรู้ภาษาจีนน้อยมาก

โลกในศตวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นโลกการศึกษาภายใต้อารยธรรมตะวันตก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นความศิวิไลซ์ที่กลุ่มผู้นำ และปัญญาชนถือเอาเป็นภาษาที่สองที่มีคุณค่าแฝงมากับความรู้ของสังคมตะวันตก

แต่หลังยุคสงครามเย็น การพังทลายของอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้มีส่วนให้ภาษาจีนมีมิติใหม่ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในการค้าขายระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

ภาษาจีนและโรงเรียนจีนที่เคยได้รับการจำกัดบทบาทก็พลิกฟื้นคืนความสำคัญและแพร่หลายควบคู่ไปกับภาษาญี่ปุ่นและภาษาภูมิภาค โดยคาดการณ์กันว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ ภาษาอังกฤษอาจจะลดความสำคัญลง

ดังนั้นปัจจุบันทัศนคติการเรียนภาษาจีนของบ้านเราจึงมุ่งเน้นเรียนเพื่อเป็น "ภาษาทางการค้า" เฉกเช่นเดียวกับการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น

ขบวนการสร้างทรัพยากรบุคคลรองรับเศรษฐกิจการลงทุนที่แปรเปลี่ยนไป เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลตั้งแต่ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ชูสโลแกน "เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า" และได้ลงมาสู่ภาคปฏิบัติสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน มีการอนุมัติให้เปิดวิชาเอกภาควิชาภาษาจีนได้ในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน แต่มีเงื่อนไขว่าหัวหน้าภาควิชาจะต้องมีคุณวุฒิจบปริญญาโทด้านและวรรณกรรมจีน ซึ่งได้สร้างปัญหาหนักอกให้แก่ผู้บริหารสถาบันเพราะปัญหาขาดแคลนอาจารย์และตำราเรียนที่เหมาะสมกับธุรกิจไทย

เช่นที่มหาวิทยาลัยประสานมิตรซึ่งได้รับอนุมัติตั้งสาขาภาษาจีนจากทบวงมหาวิทยาลัยหลายปีแล้วจนกระทั่งทุกวันนี้ยังตั้งไม่ได้ เพราะว่าขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน

วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เห็นและเป็นอยู่คือการวิ่งรอกช่วยกันสอนตามที่ต่างๆ กับอีกวิธีหนึ่งคือการจ้างอาจารย์จากปักกิ่งหรือไต้หวันเข้ามาเสริม แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินเรื่องผ่านขั้นตอนระบบราชการนานนับปี กว่าที่จะได้อาจารย์ชาวต่างประเทศมา

มิต้องพูดถึงมาตรฐานการสอนภาษาจีนในโรงเรียนพาณิชยการ ซึ่งยังมีลักษณะหลักสูตรและตำราเรียนที่ยังต้องปรับปรุงอีกมากๆ บางแห่งครูผู้สอนยังใช้ภาษาแต้จิ๋วด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีศูนย์คอมพิวเตอร์บางแห่งที่สอนภาษาต่างประเทศด้วย ไม่ลงทุนอะไรมากกว่าจ้างนักข่าวหนังสือพิมพ์จีนหรือคนจัดทัวร์ซึ่งพอพูดภาษจีนได้มาสอนแบบ 6 คอร์สจบ หาเงินใส่กระเป๋ากันง่ายๆ เหมือนเปิดร้านกาแฟ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัยจึงควรกำหนดเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นคนไทยจะสู้ชาติอื่นมิได้

อย่างไรก็ตามในปีหน้ากระทรวงศึกษาธิการซึ่งควบคุมดูแลโรงเรียนจีนทั่วประเทศ 117 แห่งได้เริ่มสร้างตำราเรียนภาษาจีนแบบใหม่ขึ้นใช้เป็นมาตรฐานตามแบบวิธีการเรียนการสอนตามสากลโลกที่ยึดถือของปักกิ่งเป็นหลัก

ขณะที่ของเก่าที่สอนในโรงเรียนจีนจะยึดแบบไต้หวันซึ่งเป็นการสอนแบบโบราณที่มีมานานนับพันปีเรียกว่า "JU-YIN" ที่เริ่มสอนให้ท่องจำวรรณยุกต์ ตัวอักษร และโครงสร้างคำ เริ่มจากผันเสียงตามวรรณยุกต์ เมอ-เตอ-เพอ-เฟอ เป็นการสอนที่ใช้เวลานานนับสิบๆ ปีหรือตลอดชีวิตกว่าจะท่องจำตัวหนังสือได้ครบพันๆ ตัว

แต่ระบบการเรียนภาษาจีนแบบใหม่จะใช้ระบบเทียบเสียงที่เรียกว่า "PIN-YIN" (พิน-ยิน) ที่สถาบันภาษา "เป่ยจิงยู่เหยียวซูเอะหย่วน" แห่งปักกิ่งใช้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว คือระบบการเอาตัวอักษรลาตินเข้าเทียบเสียงได้ใกล้เคียงสำเนียงจีนเพียงแต่มีบางตัวที่ฝรั่งออกเสียงไม่ได้ตรง เช่น
ตัว D ออกเสียงถูกต้องต้องเป็น "ต" แต่ฝรั่งออกได้เพียง "ด" เช่น ชื่อผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นต้น

นอกจากนี้วิธีการเขียนตัวอักษรจีนในปัจจุบันยังนิยมทำให้ง่ายขึ้น ขีดต่างๆ ที่มากมายก็ตัดออก เช่นคำว่า "มังกร" หรือภาษาจีนอ่านว่า "หลุง" ปัจจุบันเขียนเส้นน้อย ซึ่งถือว่าเป็น "ตัวย่อ" วิวัฒนาการมาจาก "ตัวเต็ม" ซึ่งทางทบวงมหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาปีหนึ่ง และปีสองเรียน แต่พอขึ้นปีสามและปีสี่จึงจะเรียนทั้งสอบระบบคือทั้งตัวย่อและตัวเต็มได้ ซึ่งปัจจุบันที่ปักกิ่งจะใช้ตัวย่อ และที่ไต้หวันจะใช้ตัวเต็ม

ปัญหาวุ่นวายสับสนจึงอาจเกิดขึ้นได้ในวงการศึกษาภาษาจีน ซึ่งมีทั้งตำนาและอาจารย์จากสำนักปักกิ่งและสำนักไต้หวันคละเคล้ากันไป

อย่างไรก็ตามความต้องการอาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนสอนภาษาจีนก็ยังคงมีอยู่มาก เพราะการขยายตัวทางด้านธุรกิจการลงทุนระหว่างจีนและไทย ทำให้มีความต้องการระดับสูงมากในบุคลากรที่มีความสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาจีนกลาง

เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เป็นหนึ่งในตัวอย่างขององค์กรขนาดยักษ์ใหญ่ที่จำเป็นต้องสรรหาคัดเลือกคนที่มีความสามารถทางภาษาและวัฒนธรรมจีนจำนวนมาก เพราะซีพีมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในจีนหลายโครงการ เช่น โครงการด้านการเกษตรอุตสาหกรรม โทรคมนาคม เครื่องจักรกล และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ธีรยุทธ พิทยอิสรกุล หรือ "เฮียเข่ง" รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนาและวางแผนของซีพีกรุ๊ป เคยกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับแผนการขยายงานของซีพีในจีนอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะใช้เงินลงทุนถึง 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 250,000 ล้านบาทที่หว่านการลงทุนไปทั่วเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน

"ขณะนี้เราลงทุนครอบคลุมแล้ว 24 มณฑล ยกเว้นบางพื้นที่ซึ่งอยู่ไกลมากและเราไม่ต้องการเข้าไป" อาณาจักรธุรกิจของซีพีในจีนตามคำกล่าวของเฮียเข่งจึงเป็นบทบาทที่มีอิทธิพล

ซีพีกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่กว้านรับบัณฑิตภาษาจีนทั้งหมด จากสถาบันการศึกษาระดับสูงทุกแห่ง ไม่ว่าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิตย์ เอแบค ประสานมิตร สงขลานครินทร์ ม. หัวเฉียว ฯลฯ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีบัณฑิตสาขานี้จบมาปีละไม่ถึง 10 คน

นอกจากนี้สุชาติ ธาดาธำรงเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของซีพี ได้แยกงานด้านภาษาออกจากส่วนสำนักพัฒนาฝึกอบรม ตั้งเป็นศูนย์ภาษาที่สังกัดบริษัท A&ID CONSUTANT ที่เป็นบริษัททำวิจัย และทัวร์บนชั้น 14 ของตึกซีพีทาวเวอร์ถนนสีลมในรูปลักษณะแบบ INHOUSE TRAINING ที่เน้นสร้างเสริมความรู้ด้านภาษาจีนและภาษาต่างประเทศแก่พนักงานในเครือซีพีที่มีไม่ต่ำกว่า 350 บริษัท โดยนำเข้าอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งเข้ามาสอนแบบเข้มข้น

ต่อมาเมื่อกลางปีนี้ ศูนย์ภาษาของซีพีก็เริ่มเปิดกว้างสอนบุคคลภายนอก ซึ่งสนใจเรียนจากรุ่นแรก 15 คนเป็น 57 คนขณะที่คนซีพีลดลงจาก 108 คน เหลือ 71 คน

"เราจะทำเป็นสถาบันภาษาเต็มตัวแข่งกับอื่นโดยมีจุดแข็งที่ภาษาจีนเป็นหลัก" สิริพร บุณยะไวโรจน์ ผู้จัดการศูนย์ภาษา A&ID กล่าว

สำหรับค่าเล่าเรียน เช่น คอร์ส INTENSIVE MANDARIN ซึ่งเป็นหลักสูตรเร่งรัดภายใน 30 ชม. ที่สอนให้พูด อ่าน เขียนได้ จะมีอัตราค่าเล่าเรียน 3,000 บาท หรือถ้าเป็นพนักงานขายศูนย์ภาษาซีพีแห่งนี้ก็มี คอร์ส MANDARIN FOR SALES ซึ่งค่าเรียนไม่แพงนัก 1,650 บาท แต่สำหรับผู้สนใจการเขียนติดต่อธุรกิจ ก็มีคอร์สให้เลือกในชื่อว่า SPECIALIZE MANDARIN WRITING ค่าเรียน 2,950 บาท

นอกจากศูนย์ภาษา A&ID ของซีพีแล้ว สถาบันการสอนภาษาจีนที่ได้มาตรฐานสากลอีกแห่ง คือ "สถาบันโอซีเอ" หรือชื่อเต็มว่า "วิทยาสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก" ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนสีตะบุตรบำรุง ถนนจรัสเมือง

ที่นี่เป็นแหล่งใหญ่ที่รวมทรัพยากรอาจารย์ผู้เยี่ยมยุทธ์ภาษาจีนหลายท่าน โดยฝีมือการบริหารของปรีดี เกษมทรัพย์ ซึ่งมีความเป็นเอกทัตคะทางภาษาและวัฒนธรรมสามชาติ คือ ไทย-จีน-เยอรมนี

"การบุกเบิกโอซีเอเริ่มต้นจาก เจ้าสัวปรีชา พิสิษฐ์เกษม เจ้าของมูลนิธิไทย-จีนเพื่อการศึกษา วัฒนธรรม เมื่อปีที่แล้วท่านจ่ายเงินหนึ่งร้อยล้านบาทซื้อโรงเรียนสีตะบุตรบำรุงซึ่งมีเนื้อที่ 6-7 ไร่ใจกลาง แล้วเชิญ อจ. สิงโต จ่างตระกูล ซึ่งเป็นเพื่อนอัสสัมชัญรุ่นเดียวกับผมมาช่วยทำให้ รร. สีตะบำรุงเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญทางภาษาจีน และท่านได้เชิญผมเข้ามาทำสถาบันภาษาและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ" ดร. ปรีดีเล่าให้ฟัง

การวางหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันโอซีเอ ได้คนดีมีฝีมืออย่าง เผย เสี่ยว ลุ่ย ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สอนประวัติศาสตร์วรรณคดีไทยของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มาเป็นผู้ทำให้และติดต่ออาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอนด้วย โดย อจ. เผยคนนี้เคยสอนภาษาจีนที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ถึง 4 ปี และหกเดือนก่อนที่จะครบกำหนดกลับประเทศ ปรีดีได้เชิญมาจัดการระบบการสอนที่สถาบันโอซีเอ

การจัดคอร์สของสถาบันโอซีเอมีทั้งหมด 20 ระดับคือ ชั้นต้น 5 ระดับ ชั้นกลาง 9 ระดับและชั้นสูง 6 ระดับ ซึ่งจะสอนอ่าน-พูด-เขียนไปพร้อมๆ กัน แต่สำหรับผู้ที่ต้องการรีบใช้งาน ก็มีการเรียนสนทนาภาษาจีนหลักสูตรเร่งรัดที่แบ่งเป็นห้าระดับเป็นบทสนทนาในชีวิตและการทำงานประจำวัน

คอร์สที่น่าสนใจอีกวิชาหนึ่งคือ คอร์สภาษาจีนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีห้าระดับ คอร์สนี้สามารถจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้าส่งออก แต่เนื่องจากผู้เรียนวิชานี้ได้ต้องมีความรู้ระดับสูง จึงทำให้บางครั้งห้องหนึ่งเรียนไม่ถึง 15 คน ซึ่งถ้าคิดในเชิงธุรกิจ ก็ไม่คุ้มค่าอาจารย์สอน แต่ทางสถาบันก็ยอมเปิดให้ ด้วยวิธีแก้เกมชดเชยโดยรับผู้เรียนระดับชั้นต้นเพิ่มขึ้น

ทุกคอร์สที่กล่าวข้างต้นจะมีอัตราค่าเล่าเรียนเท่ากันหมดคือ 1,680 บาทต่อ 48 ชั่วโมงหรือประมาณสองเดือน ซึ่งจะสั้นกว่าคอร์สภาคค่ำที่สอนตามมหาวิทยาลัย เช่น จุฬา ธรรมศาสตร์ ซึ่งกินเวลานาน 60-72 ชม.

ราคาของโอซีเอจึงเป็นราคาตลาดทั่วไปที่คิดค่าเรียนประมาณชั่วโมงละ 30 บาท ต่อจำนวนคนเรียนห้องละ 20 คน

นอกจากนี้โอซีเอได้สร้างภาพพจน์ของสถาบันโดยสร้างสรรค์คอร์ส "การเขียนอักษรพู่กันจีน" เพียง 900 บาทต่อ 24 ชม. สอนโดย อจ. เฉินสืออู๋ การเขียนพู่กันจีนถือว่าเป็นศิลปะของการขีดเขียนลายเส้นที่สะท้อนวัฒนธรรมอันสูงส่งของจีน ใครอยากรู้ว่าความงามของอักษรพู่กันจีนที่ดีที่สุดในโลกเป็นเช่นไรไปขอ ดร. ปรีดีชมได้ที่ห้องทำงาน

ในฐานะน้องใหม่ในนามสถาบันโอซีเอ ช่วงแรกจำเป็นต้องทำตลาดโดยวิธีเจาะตลาดลูกค้าเก่าที่เคยเรียนสีตะบุตรภาคค่ำและบริษัทและบริษัทที่ทำการค้ากับจีนโดยตรง โดยส่งไดเร็คเมล์ไป 600 ฉบับ ตอบกลับมาไม่ถึง 5% แต่ผลทางอ้อมคือทำให้คนรู้จักโอซีเอแม้จะไม่ได้เรียน แต่ก็บอกกันแบบปากต่อปาก

ปรากฏว่าเพียงระยะเวลาไม่ถึงหกเดือนนับจากมิถุนายนปีนี้ แนวโน้มของจำนวนผู้เรียนซึ่งเป็นคนที่ทำงานแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนแรก 270 คนเป็น 427 คนในปัจจุบันและกลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่ทำงานแล้ว 90%

"กลุ่มใหญ่ที่เข้ามาเรียนภาษาจีนตอนนี้ได้แก่ พวกทำงานบริษัทโบรกเกอร์และไฟแนนซ์ เข้ามาเรียนทีละสิบคน บางกลุ่มก็มา 2-3 คน พวกไฟแนนซ์จะเข้ามาเรียนมากในสองคอร์สแรกตอนที่เริ่มเปิดสถาบันใหม่ๆ เข้าใจว่าเขาคงติดต่อกับทีมมาร์เกตติ้งที่ไต้หวันและฮ่องกง จึงต้องเรียนรู้ภาษาจีน" วีระพงษ์ โรจนอำไพผู้อำนวยการสถาบันโอซีเอเล่า

จะเห็นได้ชัดว่า ตลาดการศึกษาภาษาจีนของคนที่ทำงานแล้วมีความต้องการสูงมาก แต่โรงเรียนสอนภาษาจีนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดภาคค่ำได้มีเพียง 6 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ รร. อาทรศึกษา รร. โรจน์ปัญญา รร. ศึกษาวัฒนา รร. สีตะบำรุง รร. ประสาทปัญญา รร. ราษฎร์เจริญ และ รร. สากลปัญญา มีจำนวนผู้เรียนในปีที่แล้วแค่ 775 คน ครู 42 คน

เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีถึง 33 แห่ง จำนวนผู้เรียนถึง 14,861 คนได้สะท้อนให้เห็นถึงยุคเฟื่องฟูของการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่อนาคตในทศวรรษหน้า ภาษาจีนกำลังมาแรงและเป็นสินค้าตัวใหม่ที่บรรดาศูนย์สอนภาษานำมาดีไซน์ออกแบบคอร์สการเรียนกันหลากหลายระดับ

โดยเฉพาะคอร์สยอดนิยม "คอร์สสนทนาภาษาจีน" ซึ่งมีจำนวนผู้เรียนมากและอาจารย์ผู้สอนสามารถประยุกต์บทสนทนาที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสบายๆ ขณะที่คอร์สระดับสูงจะไม่ค่อยได้รับการสานต่อ เพราะปัญหาขาดแคลนอาจารย์บ้างหรือจำนวนนักเรียนน้อยเกินไปไม่คุ้มกับการเปิดสอน ทำให้ผู้ที่หวังเรียนคอร์สระดับสูงต้องอยู่ในภาวะเรียนแบบครึ่งๆ กลางๆ ต้องอาศัยช่วยตัวเองไปโดยหาประสบการณ์หรือตำรามาเรียนด้วยตัวเอง

ถึงกระนั้นก็ดี สถาบันสอนภาษาจีนที่มีอยู่ขณะนี้ก็สามารถสนองความต้องการระดับต้นๆ ของคนทำงานได้บ้างในเรื่องสนทนาหรืองานเลขาเขียนโต้ตอบจดหมายธุรกิจแบบพื้นๆ

แต่ในระยะยาว การลงทุนเพื่ออนาคตในสถาบันสอนภาษาจีนระดับสูงเป็นเรื่องที่ต้องใช้วางแผนและใช้เวลานานกว่านับศตวรรษกว่าจะสร้างบุคลากร แต่นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยที่คณะอักษรศาสตร์ ภาคภาษาจีนของจุฬาฯ จะมีการเปิดสอนระดับปริญญาโทขึ้น เพื่อสร้างอาจารย์ ขณะที่ธรรมศาสตร์ก็มีแผนที่จะทำหลักสูตรต่อเนื่องเช่นเดียวกับนิติศาสตร์ภาคค่ำ และธุรกิจบัณฑิตย์ก็จะมีการสร้างตำราเรียน "ภาษาจีนธุรกิจ" ให้เหมาะสมกับเมืองไทย

หัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ธุรกิจกำลังจะเกิดขึ้น ในวันนี้หลายคนเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อมิให้หลุดจากวงโคจร แต่อีกยี่สิบปีข้างหน้าสำหรับคนรุ่นใหม่ พวกเขาได้ถูกวางวิถีระบบการศึกษาให้ต้องรู้ภาษาจีนเพิ่มขึ้นจากภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.