ธุรกิจดั้งเดิมของตระกูล "มหาดำรงค์กุล" ก็คือ ธุรกิจนาฬิกา และพวกเขาก็ค้นพบสัจธรรมว่า
ควรจะเป็นพ่อค้านาฬิกามากกว่าที่จะเป็นนายแบงก์ ภายหลังจากการล้มเหลวที่แบงก์นครหลวงไทย
และเมื่อกลับมาทำธุรกิจดั้งเดิมอีกครั้ง ตระกูลนี้ก็กล้าที่จะประกาศว่า พร้อมแล้วที่จะเป็นอันดับหนึ่งของผู้ผลิตนาฬิกาในโลก
"มังกรจะทะยานขึ้นฟ้า ลมฟ้าอากาศจะต้องเอื้ออำนวย"
ดิลก มหาดำรงค์กุล ประธานกลุ่มศรีทองพาณิชย์ กล่าวถึงสิ่งที่เป็นคติในการทำธุรกิจของเขาให้ฟัง
และในวันนี้ "ลมฟ้าอากาศ" กำลังเอื้ออำนวยให้เขาคิดการใหญ่ !
การใหญ่ที่เขาคิดจะเป็น "อันดับหนึ่ง" ในกลุ่มผู้ผลิตนาฬิการของโลก
!!
ดิลกกล่าวถึงความใฝ่ฝันที่เขาต้องการที่จะให้กลุ่มศรีทองพาณิชย์ เป็นกลุ่มทุนผู้ผลิตนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่า
เป็นเพราะเขาเชื่อว่า คนไทยจะทำได้ดีในเรื่องการผลิตนาฬิกา ที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก
(LABOUR INTENSIVE)
ฟ้าเป็นใจให้มหาดำรงค์กุล ด้วยการเอื้ออำนวยด้วยค่าแรงให้ไทยต่ำพอที่จะดึงดูดเจ้าของโนว์ฮาวรายใหญ่ๆ
มาลงทุนในประเทศ
ธุรกิจการผลิตนาฬิกาในโลก มีผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ฮ่องกงและสวิสเซอร์แลนด์
การประมาณการจากซิติเซ็นวอทช์ โค จากประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า ในปี 2536
ญี่ปุ่นจะผลิตรวม 373 ล้านเรือน ฮ่องกง ผลิตประมาณ 180 ล้านเรือน และสวิสเซอร์แลนด์
จะผลิตรวมประมาณ 155 ล้านเรือน รวมผลผลิตทั่วโลกประมาณ 860 ล้านเรือน
แต่วันนี้ ประเทศไทย โดย "มหาดำรงค์กุล" กำลังนำทัพทะยานโลก
โดยยุทธวิธีทั้งการพึ่งพาโนว์ฮาวต่างประเทศและการแสวงหาโนว์ฮาวเอง
ทั้งนี้ รายงานของบริษัท ซิติเซ็น แห่งประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตนาฬิกาของโลก
ได้ประกาศว่า พวกเขาเตรียมที่จะขยับการลงทุนไปยังต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถที่จะรับภาระเรื่องต้นทุน
โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงงานในประเทศได้ โดยประเทศที่กลุ่มซิติเซ็น เตรียมที่จะไปลงทุนก็คือ
ประเทศที่กำลังเตรียมตัวรองรับการพัฒนา คือ ไทย เวียดนามและประเทศจีน
บังเอิญในประเทศไทย กลุ่มทุนที่ซิติเซ็นร่วมทุนอยู่แล้วก็คือ ศรีทองพาณิชย์
ที่มีแผนงานการนำบริษัทออกไปเป็นบริษัทใหญ่ของโลก
ธวัชชัย มหาดำรงค์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการตลาดศรีทองพาณิชย์ เปิดเผยว่า
การเตรียมตัวของกลุ่มศรีทองพาณิชย์ในแผนทะยานโลก ด้วยการร่วมทุนกับซิติเซ็น
เพื่อสร้างโรงงานผลิตนาฬิการ่วมกันนั้น โรงงานที่วังน้อย อยุธยา ได้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
และจะเสร็จสมบูรณ์ในประมาณกลางปี 2537
"เฉพาะเครื่องจักร เราลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท" ธวัชชัยกล่าวถึงการร่วมลงทุนครั้งนี้
สำหรับโรงงานดังกล่าวนั้น จะเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาเพื่อป้อนการผลิตนาฬิกาซิติเซ็นโดยเน้นการผลิตตัวเครื่อง
ชิ้นส่วนจนถึงเครื่องปั๊มพลาสติก ซึ่งทำให้สามารถที่จะขยายกำลังการผลิตจากเดิมที่มีกำลังการผลิตจากเดือนละ
100,000 เรือนเป็นเดือนละ 200,000 เรือน
อย่างไรก็ตามการขยายงานดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งในแผนปฏิบัติที่พวกเขาทำเท่านั้น
เพราะในสภาพจริงแล้ว กลุ่มมหาดำรงค์กุล มีการขยายงานการผลิตนาฬิกาแทบจะครบวงจรอยู่แล้ว
จนวันนี้ เครือข่ายของพวกเขามีมาในทุกสายอุตสาหกรรมนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา
โรงงานผลิตกล่องกระดาษ หรือกระทั่งการตั้งบริษัทเพื่อทำการขาย !!
ปัญหาของพวกเขาในการเตรียมตัวสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนาฬิกา มีเพียงเรื่องสองเรื่องเท่านั้นคือเรื่องทุนและเรื่องบุคลากร
ปัญหาแรก พวกเขาเตรียมที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งธวัชชัยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เชื่อว่าจะสามารถยื่นได้ภายในต้นปีหน้า
"เราจะนำบริษัททีไทม์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก่อน" เขากล่าว
พร้อมทั้งอรรถาธิบายถึงการนำทีไทม์เข้าตลาดหุ้นว่า เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายงาน
เหตุผลที่กลุ่มมหาดำรงค์กุล ตัดสินใจนำทีไทม์เข้าเป็นบริษัทมหาชนด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น
คนในตระกูลอธิบายให้ฟังว่า บริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่ เช่น ศรีทองพาณิชย์ เป็นบริษัทเก่าแก่ของตระกูลที่พวกเขาต้องการที่จะให้เป็น
"ธุรกิจครอบครัว" ต่อไป รวมทั้งผู้ร่วมทุน คือซิติเซ็นจากประเทศญี่ปุ่น
ก็ไม่มีนโยบายเข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย
ขณะที่ทีไทม์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างศรีทองพาณิชย์กับไต้หวัน ทั้งไทยและไต้หวัน
มีนโยบายในเรื่องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน
แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็น "สูตรสำเร็จ" ของการทะยานไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
อย่างไรก็ตามพวกผู้บริหารของมหาดำรงค์กุลเองก็ยอมรับว่า ปัจจัยที่สำคัญในด้านการนำศรีทองพาณิชย์ไปสู่ความสำเร็จก็คือ
เรื่องของการพัฒนาคน
"ผมเกิดมากับนาฬิกา.." ธวัชชัยกล่าว พร้อมทั้งย้ำว่านั่นคือเรื่องที่เป็นที่มาของความสำเร็จส่วนหนึ่งในวันนี้ของศรีทองพาณิชย์
ที่เขาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับนาฬิกา ด้วยการตามดิลก มหาดำรงค์กุล ผู้เป็นพ่อไปดูงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ
การดูงานการผลิตนาฬิกาทั้งในสวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวันและฮ่องกง ทำให้ธวัชชัย
สามารถมองเห็นกระบวนการเติบโตของอุตสาหกรรมนาฬิกาในไทยได้อย่างชัดเจน
ยิ่งบวกกับการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้วยแล้ว การมองเห็นศักยภาพของความสำเร็จของศรีทองพาณิชย์
ไม่ได้เป็นเรื่องเกินความสามารถมากนัก !!!
บวกกับความรู้เรื่องนาฬิกาของดิลก มหาดำรงค์กุล ประธานกลุ่มศรีทองพาณิชย์ด้วยแล้วยิ่งมิพักต้องพูดถึงว่าทำไมกลุ่มนี้
ถึงก้าวไกลในธุรกิจนาฬิกาของประเทศและของโลก
"ผมเริ่มด้วยการเปิดแผงซ่อมนาฬิกา ก่อนที่จะมาเป็นเลขาให้คุณมงคล
(กาญจนพาสน์) แล้วท่านให้ไปเรียนเรื่องนาฬิกาที่สวิสเซอร์แลนด์…" ดิลกเล่าให้ฟังถึงการเรียนรู้เรื่องนาฬิกาของเขาให้คนทั่วไปฟังอย่างนี้เสมอ
การที่ทั้งพ่อและลูก อยู่ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมมานาน พวกเขามองเห็นว่า
ศักยภาพของพวกเขาพร้อมแค่ไหน ในการเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก
ความพร้อมของพ่อลูกแห่งตระกูลมหาดำรงค์กุลคู่นี้ ดูจะเหมาะสมทั้งกาละและเทศะ!!!
เชื่อกันว่า ปัจจัยแรกที่ช่วยในการเตรียมตัวสู่การเป็นกลุ่มทุนผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ที่สุดในโลก
ประการแรกของกลุ่มมหาดำรงค์กุล ในนาม "ศรีทองพาณิชย์" ก็คือ การที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง หรือกระทั่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขา
กล่าวคือ ในส่วนของญี่ปุ่น แน่นอนการเป็นเจ้าของโนว์ฮาวนาฬิกาที่ใหญ่และผลิตมากที่สุดของโลกอย่างญี่ปุ่น
ปัญหาของค่าเงินเยนที่สูงขึ้นทุกวัน ทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะพึ่งพาการลงทุนขยายงานในประเทศของตนได้อย่างในอดีต
พวกเขาต้องมองหาพาร์ทเนอร์ที่จะเป็นแหล่งลงทุนของพวกเขา
สำหรับมหาดำรงค์กุลแล้ว เป็นโชคดีและโชคช่วยของพวกเขา ที่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตนาฬิกาของโลกและของญี่ปุ่นอย่าง
"ซิติเซ็น" เป็นคู่ค้าผู้ร่วมทุนด้านการขายและการผลิตมานาน
ความสัมพันธ์ที่ดีมากว่า 30 ปี จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลของการตัดสินใจของซิติเซ็นแห่งประเทศญี่ปุ่น
ที่จะเลือกไทยเป็นแหล่งผลิตใหม่และเลือกศรีทองพาณิชย์เป็นผู้รับมรดกนั้น
"แนวโน้มของการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ
เพื่อผลิตสินค้าคุณภาพออกสู่ตลาดโลก ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่นับเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจที่สุดแหล่งหนึ่ง…"
ซาดาอากิ ทาเกอุชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซิติเซ็นเทรดดิ้ง แห่งประเทศญี่ปุ่น
กล่าวถึงการขยายงานของซิติเซ็นให้ฟัง พร้อมทั้งเสริมด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่ดีที่ซิติเซ็น
มีกับมหาดำรงค์กุลมานาน ทำให้ทางญี่ปุ่น ไม่ลังเลใจเลยในการตัดสินใจร่วมทุนกับมหาดำรงค์กุล
เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออก
สำหรับประเทศอื่นๆ อย่างไต้หวันหรือฮ่องกง เหตุผลเดียวกันกับญี่ปุ่นคือ
ค่าของเงินและค่าแรงขั้นต่ำเป็นเหตุผลที่สามารถหยิบยกมาใช้ในการอรรถาธิบายถึงการเคลื่อนย้ายทุนมายังประเทศไทยได้
แต่การไม่มีแบรนด์ของตัวเองที่เป็นที่รู้จักดีในตลาดโลกอย่างญี่ปุ่น ทั้งไต้หวันและฮ่องกงจึงต้องหากลุ่มทุนในไทย
ที่จะเป็นที่พึ่งของพวกเขาในการย้ายแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำออกมานอกประเทศได้
ซึ่งก็เหมือนกลุ่มทุนของญี่ปุ่น ที่พวกเขาต้องเลือกศรีทองพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่พร้อมที่สุดในธุรกิจนี้
เพราะมีทั้งเงินและโนว์ฮาว
อาจจะมีข้อยกเว้น อย่างเช่นกลุ่มฮานาของฮ่องกง ที่มีโรงงานในไทยเพื่อผลิตและขายตรงมากกว่าพึ่งพาตลาดอย่างที่พวกญี่ปุ่นดำเนินการอยู่
ธวัชชัย มหาดำรงค์กุล ยังยอมรับว่า การขยายงานของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ
ในการร่วมทุน นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว พวกเขาจะมีไต้หวันเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมทุนเสมอ
กลุ่มทุนไต้หวันที่ศรีทองพาณิชย์ร่วมทุนมาแล้วก็คือ กลุ่มทอมเปเปอร์ ที่เข้าร่วมกับศรีทองพาณิชย์ในการตั้งบริษัทที.
เปเปอร์อินดัสตรี้ เพื่อผลิตกล่องกระดาษนาฬิกาด้วยวงเงินลงทุน 300 ล้านบาทเมื่อปี
2532 และได้รับบัตรส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ในการลงทุนครั้งนี้
จนวันนี้ ไต้หวันคือหุ้นส่วนสำคัญอีกหุ้นส่วนหนึ่งของศรีทองพาณิชย์
ดิลก มหาดำรงค์กุล ประธานศรีทองพาณิชย์ ยังยอมรับว่า การเตรียมตัวออกต่างประเทศ
ซึ่งกลุ่มศรีทองพาณิชย์ กำลังเล็งตลาดเวียดนามอยู่ ก็มีแผนที่จะไปลงทุนโดยการร่วมทุนกับกลุ่มที.
เปเปอร์ของไต้หวันเข้าไปตั้งโรงงานและทำตลาดนาฬิกาในเวียดนาม
เหตุผลสำคัญที่กลุ่มศรีทองพาณิชย์ ไม่ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์สำคัญคือซิติเซ็น
ก็คือซิติเซ็นจากญี่ปุ่น เข้าไปลงทุนเองในเวียดนามแล้ว
ศรีทองพาณิชย์ จึงต้องแตกหน่อเพื่อโต โดยในการโตครั้งนี้ พวกเขาเลือกไต้หวันร่วมทุน
และเป็นการแสวงหาโนว์ฮาวใหม่อีกด้วย !!!
แต่นั่นเป็นทางออกในการปรับตัวให้โตในยุคโลกานุวัตร ที่ตลาดโลกจะไร้พรมแดนและการลงทุนจะต้องแสวงหาแหล่งลงทุนที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง
แต่วันนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องคิดก่อนก็คือเป็นหนึ่งในประเทศ
ธวัชชัย มหาดำรงค์กุล กล่าวว่า การเติบโตเพื่อเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอันดับหนึ่งของประเทศนั้นมาจากการวงแผนให้มีการขยายตัวของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการศึกษาขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นระบบ
ตัวอย่างของการตั้งโรงงานใหม่ๆ ในหลากหลายสายการผลิตของพวกเขา แสดงให้เห็นว่า
มีการวางแผนอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน โรงงานผลิตกล่อง
หรือโรงงานผลิตสายนาฬิกา ล้วนเกิดจากการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการขยายงานของพวกเขา
แต่ความสำคัญของนาฬิกาอยู่ที่เรื่องการทำตลาดมากกว่าเรื่องการผลิต
"เราแบ่งตลาดออกเป็น 4 ตลาด" ธวัชชัยเล่าให้ฟัง การแบ่งตลาดเป็น
4 ตลาดของเขานั้น ก็เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายที่เขาบอกว่าคือ "ขยายให้ครบทุก
SEGMENT"
ตลาดทั้ง 4 ของธวัชชัยก็คือ ตลาดบน ตลาดทั่วไป ตลาดวัยรุ่น และตลาดล่าง
การแบ่งตลาดทั้ง 4 นั้นเขาเล่าให้ฟังว่า ทำให้สามารถที่จะวางแผนส่งเสริมสินค้าเข้าสู่ท้องตลาดได้ครบทุกตลาด
โดยยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ในส่วนของตลาดบนนั้น ศรีทองพาณิชย์มีนาฬิกา
"ราโด้" มีส่วนแบ่งตลาดอยู่พอสมควร ในส่วนของตลาดทั่วไป นาฬิกา
"ซิติเซ็น" ก็เป็นที่รู้จักกันดี ขณะที่ตลาดวัยรุ่นพวกเขามีนาฬิกา
"สวอทช์" จากสวิสเซอร์แลนด์เป็นสินค้าหลัก เช่นเดียวกับตลาดล่างที่พวกเขาส่งนาฬิกา
"อาเดค" เป็นตัวชูโรง
"เป้าหมายของเราก็คือการมีสินค้าให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย" ธวัชชัยกล่าวถึงความฝันของกลุ่มมหาดำรงค์กุลในประเทศ
ก่อนที่จะรุกออกไปยังต่างประเทศในวันหน้า
สำหรับการเตรียมตัวที่จะเป็นเจ้าตลาดนาฬิกาในประเทศในวันนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะมีตัวสินค้าครบทุก
SEGMENT นั้น ได้แก่ การขยายสาขาหรือศูนย์จำหน่ายให้มากที่สุด เพื่อให้สินค้าของพวกเขาเข้าสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
กล่าวกันว่า มหาดำรงค์กุล กำลังเลียนแบบ "กาญจนพาสน์" ที่มีเครือข่าย
CITY CHAIN สำหรับการขายนาฬิกาทั่วโลกด้วยระบบเครือข่าย
แม้วันนี้ มหาดำรงค์กุล จะมีส่วนแบ่งตลาดนาฬิกาในประเทศรวมถึงประมาณ 85%
แต่พวกเขายังมีความฝันที่จะเพิ่มส่วนแบ่งมากกว่านี้
เพราะตลาดนาฬิกา ไม่มีวันจบ !!!
"นาฬิกาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของทุกคน คิดง่ายๆ ว่าประชากรเพิ่ม 1
คน เราก็ต้องผลิตนาฬิกาเพิ่ม 1 เรือน นาฬิกาจึงขยายตัวมาก…" ดิลกเคยกล่าวถึงตลาดนาฬิกาให้ฟัง
นอกจากนั้น เคยมีการสำรวจพบว่า 85% ของประชากรไทยในวัยทำงาน มีนาฬิกา และในจำนวนนี้จำนวน
46% มี 1 เรือน 30.6% มี 2 เรือน 13.9% มี 3 เรือน 4.4% มี 4 เรือน 3.1%
มี 5 เรือน และอีก 1.4% มีมากกว่า 5 เรือน เป็นเครื่องชี้ว่า ตลาดนาฬิกาใหญ่แค่ไหน
?
นั่นคือเหตุผลแรกที่มหาดำรงค์กุล ต้องการที่จะบุกตลาดนาฬิกาในประเทศก่อน
ธวัชชัยกล่าวถึงแผนการตลาดในประเทศว่า ผลการศึกษาและสำรวจของบริษัท ที่พบว่า
มีประชากรจำนวนมาก ที่มีนาฬิกาใช้มากกว่าคนละเรือน ทำให้มองภาพเห็นว่า ความต้องการมีมาก
พวกเขาจึงต้องตอบสนองตลาด ด้วยการหานาฬิกายี่ห้อใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพราะในการศึกษาเดียวกันพบว่า
ผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้ยึดติดกับยี่ห้ออย่างในอดีต
ปี 2536 จึงเป็นปีที่นาฬิกาพาเหรดเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยมากกว่าปีอื่นๆ
โดยเฉพาะในตลาดบน ที่เป็นทั้งนาฬิกาและเครื่องประดับ
สำหรับมหาดำรงค์กุลแล้ว นาฬิการะดับบนนั้นพวกเขาให้ความสนใจไม่มากนัก เพราะตลาดเล็กมาก
แม้มูลค่าต่อหน่วยจะสูงก็ตาม
พวกเขายังคงจะบุกนาฬิกาที่มีตลาดใหญ่มากต่อไป…
"บริษัทศึกษาพบว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีนาฬิกาคนละ 4 เรือน ส่วนผู้ชายมีคนละ
2 เรือนเป็นอย่างต่ำ" ธวัชชัยกล่าวถึงเหตุผลที่เขาชี้ว่า ทำไมตลาดนาฬิกาจึงมีการแข่งขันหนัก
และมีการเน้นการทำตลาดด้วยการตัดราคาด้วย
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ศรีทองพาณิชย์เลือกไต้หวันเป็นพาร์ทเนอร์
เพราะไต้หวันเป็นเจ้าแห่งตลาดนาฬิการาคาถูกไม่แพ้ฮ่องกง
และไต้หวันนี่แหละคือ "อาวุธลับ" ในการบุกตลาดโลกของศรีทองพาณิชย์ในวันหน้า
!!!
โครงการร่วมทุนกับไต้หวันของศรีทองพาณิชย์ก็คือ โรงงานผลิตกล่องกระดาษที.
เปเปอร์ ที่มีการแตกหน่อก่อผลเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาในนามทีไทม์อุตสาหกรรม
เพื่อผลิตนาฬิกาแขวนและตั้งโต๊ะยี่ห้อทีไทม์ (TITIME) ซึ่งก็คือแบรนด์ที่ศรีทองพาณิชย์จะนำออกสู่ตลาดโลกในอนาคต
พวกเขาเล็งที่เวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสนามรบแห่งใหม่
ปัญหาของศรีทองพาณิชย์ก็คือ ขาดบุคลากรทั้งในเรื่องของตลาดและผู้ชำนาญการด้านเทคนิค
ธวัชชัยยอมรับว่า ปัญหาเรื่องบุคลากร ก็เป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจนาฬิกา
ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด้านช่างหรือด้านการตลาด และกลุ่มศรีทองพาณิชย์ก็กำลังเตรียมวิธีการแก้ปัญหาอยู่
ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในแผนงานทะยานโลกของเขา
การเปิดปัญหาสมองไหลนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาเปิดจำหน่ายของนาฬิกายี่ห้อใหม่ๆ
ในประเทศไทย ที่ดึงนักการตลาดจากค่ายผู้แทนจำหน่ายเดิมไปทำตลาด เพราะเชื่อมั่นในเรื่องของความรู้ในเรื่องการตลาดในวงการนี้
ธวัชชัยกล่าวว่า ศรีทองพาณิชย์เสียบุคลากรระดับนี้ไปปีละไม่น้อย "เป็นอุปสรรคในการขยายงานของเครือมาโดยตลอด"
นอกจากการถูกซื้อตัวไปยังบริษัทใหม่ๆ แล้ว ปัญหาการขาดบุคลากรที่เกิดขึ้นอีกอย่างก็คือปัญหาจากการขยายงานของบริษัทเอง
เพราะเพื่อให้การทำตลาดประสบความสำเร็จ เมื่อมีการนำเข้านาฬิกาใหม่ๆ มาจำหน่ายในประเทศ
เพื่อความคล่องตัวพวกเขาต้องจัดสรรบุคคลและทีมงานไปดูแล ซึ่งธวัชชัยกล่าวว่า
ทุกๆ 4-5 แบรนด์ จะต้องตั้งบริษัทขึ้นมารับผิดชอบงานขาย 1 บริษัท ซึ่งหมายถึง
คนในกลุ่มศรีทองพาณิชย์จำนวนหนึ่ง จะต้องไปรับผิดชอบงานใหม่ที่บริษัทใหม่
เป็นภาระเรื่องบุคลากรในสำนักงานที่หนักหนามาก
ยิ่งในส่วนของโรงงานด้วยแล้ว ปัญหาการขาดคนในวันนี้ เริ่มมีมากขึ้น อันเนื่องมาจากความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยของกลุ่มทุนต่างชาติ
ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมนาฬิกาหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ
แผนการแก้ปัญหาเรื่องนี้ของศรีทองพาณิชย์ก็คือพวกเขาคิดจะตั้งตัวเป็นวิทยาลัยฝึกคน
!!!
"เราคิดจะใช้โรงงานเป็นที่ฝึกงานไปด้วย เพื่อให้คนของเราเรียนรู้ทั้งปฏิบัติและทฤษฎี
ไม่ใช่รู้แต่เรื่องทฤษฎี" ธวัชชัยกล่าว
คนของศรีทองพาณิชย์โชคดี ที่แกนนำคือดิลกและธวัชชัย มีพื้นฐานความรู้เรื่องนาฬิกาและวิศวกรรม
ที่ทำให้พวกเขาสนใจที่จะพัฒนาคนในด้านโรงงานด้วย
ดิลกกล่าวว่า นอกเหนือจากค่าแรงงานของไทยไม่สูงนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งหรือพาร์ทเนอร์อย่างญี่ปุ่นแล้ว
จุดเด่นอีกประการของไทยก็คือ แรงงานเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานสตรีในโรงงาน
ที่มีความละเอียดจนเกือบจะเป็นพรสวรรค์ในการผลิตนาฬิกา
ในส่วนของขั้นตอนการพัฒนานั้น แรงงานจำนวนไม่น้อย ที่จะต้องไปเรียนรู้เทคนิคที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของโนว์ฮาวนาฬิกาซิติเซ็น
เพื่อที่จะกลับมาเป็นระดับหัวหน้าในวันหน้า
แผนงานต่างๆ ดิลกวาดไว้ว่า ในปี 2538 จะสัมฤทธิ์ผล!!!
เพราะปี 2538 เป็นปีที่ดิลกประกาศว่า กลุ่มศรีทองพาณิชย์จะมีการทำธุรกิจนาฬิกาครบวงจร
ตั้งแต่การผลิตจนถึงการขาย ดังจะเห็นได้จากแผนงานที่กล่าวข้างต้น ในเรื่องคนที่จะเป็นหลักสำคัญในการทำธุรกิจ
กลุ่มมหาดำรงค์กุล กำลังเตรียมพร้อมในเรื่องบุคลากรด้านช่าง ดังจะเห็นได้จากแผนที่ดิลกกล่าวว่า
ศรีทองพาณิชย์จะให้พนักงานด้านการผลิตสามารถมีความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน การเปิดการฝึกคนของกลุ่มศรีทองพาณิชย์ ยังมีแผนของการสร้างแบรนด์ของตนเองด้วย
ดังจะเห็นได้จากในวันนี้ กลุ่มมหาดำรงค์กุลมีนาฬิกาที่ผลิตโดยเป็นโนว์ฮาวของพวกเขาเองอย่างทีไทม์
หรือเซ็นโก้ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันบ้างแล้ว
มาถึงปัญหาใหญ่ ที่จะทำให้แผนงานของดิลกบรรลุเป้าหมายในการทะลวงโลก
นั่นคือ การบริหาร !!!
วันนี้ ปัญหาเรื่องการบริหารของศรีทองพาณิชย์ในประเด็นใหญ่ๆ มี 2 เรื่องคือ
พวกเขายังมีความเป็นธุรกิจครอบครัว และประการที่สองก็คือพวกเขายังมีการกระจายการบริหารอยู่มาก
ทางแก้ทางแรกของพวกเขาก็คือ พวกเขาจะนำบางบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
"จะเป็นทีไทม์ ที่เรานำเข้าตลาดเป็นบริษัทแรก…" ธวัชชัยเปิดเผยถึงแผนงานแรก
โดยที่เชื่อว่าในต้นปีหน้า พวกเขาจะสามารถเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เอเชีย
เป็นที่ปรึกษาในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เป้าหมายของการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของทีไทม์ในเครือศรีทองพาณิชย์ ดูจะชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของผู้ร่วมทุนไต้หวัน
คือเพื่อจุดมุ่งหมายระดมเงินมาขยายงาน
เป็นการนำเงินมาขยายงานเพื่อแผนของดิลกบรรลุผล
ส่วนเรื่องการบริหาร ธวัชชัยกล่าวว่า เมื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
การเป็นบริษัทมหาชนทำให้พวกเขาจะต้องปรับตัว แปรสภาพบริษัทจากการเป็นธุรกิจครอบครัว
มาเป็นบริษัทที่มีการว่าจ้างมืออาชีพ
ธวัชชัยกล่าวว่า ระบบมืออาชีพที่จะเกิดขึ้น จะช่วยให้ศรีทองพาณิชย์สามารถที่จะไปถึงจุดหมายได้แน่นอน
ในส่วนของการกระจายการบริหารนั้น ก็เนื่องมาจากปัญหาเรื่องที่ตั้งของแต่ละสำนักงานและแต่ละบริษัท
ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะพบปะเพื่อประชุมกันได้
ดิลกเป็นผู้เสนอที่จะรวมศูนย์อยู่ที่เดียวกัน นั่นคือ ที่อาคารคเลอคองคอร์ด
ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานที่ตระกูล "มหาดำรงค์กุล" เป็นผู้สร้าง ในนามกลุ่มทศพล
ที่พวกเขาร่วมทุนกับตระกูลอื่นๆ
"เมื่ออาคารนี้เสร็จในปี 2538 เราก็จะย้ายศูนย์กลางมารวมอยู่ที่นี่ทั้งหมด
และปรับโครงสร้างการบริหารไปด้วย" ธวัชชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงแผนงานสุดท้ายของการสร้างฝันเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มทุนผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ของโลก
ดูเหมือนว่า ทุกอย่างเริ่มลงมือและลงตัวอย่างที่ฝัน !!!
และฝันของดิลกที่จะทะยานฟ้า ก็กำลังจะเป็นจริง พร้อมทั้งเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าทุนไทยพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในการผลิตนาฬิกาของโลก
ความใหญ่ของ "มหาดำรงค์กุล" เพิ่งจะเปิดฉากวันนี้เอง
เมื่อนาฬิกาที่ตั้งเวลาไว้ เริ่มทำงานของมันตามหน้าที่