|

'อาร์เอส' ปรับองศาธุรกิจเข้าที่ สิ่งพิมพ์ - วิทยุ ติดเครื่องเสริมทัพมีเดีย โพรไวเดอร์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 ตุลาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
อาร์เอส ปรับทัพตามแนวคิด Entertainment Content & Media Provider เริ่มเข้าที่ เดินหน้าสร้างอาณาจักรความบันเทิงครบวงจร โหมปรับลุคส์คลื่นวิทยุในมือยกแผงใหม่หมด พร้อมปิ๊งไอเดียเด็ด 'โฟร์อินวัน' ควบ 4 หัวสิ่งพิมพ์ดัง ภายใต้ชื่อ 'อาร์เอส พับลิชชิ่ง' เร่งเพิ่มอำนาจต่อรองธุรกิจลุยแหลกตลาดสิ่งพิมพ์ นับจากนี้ไปอาร์เอสมีครบ 3 ขา วิ่งฉลุยในธุรกิจโลกบันเทิง ทั้งสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุ หลังจากปล่อยให้ฟากคอนเทนต์บันเทิงและเพลงร้อนแรงแซงหน้าไปก่อน
อาร์เอส พับลิชชิ่ง ตั้งเป้าก้าวกระโดดในปี 50
หลังจากปล่อยให้หนังสือ 4 แบรนด์ดัง ทั้ง ดาราเดลี่ (daradaily), ดาราเดลี่ วีคเอนด์ (daradaily weekend), ฟร้อนท์ (front) และเฟม (FAME)ขายโฆษณาและทำตลาดแบบตัวใครตัวมันมานาน แต่ล่าสุด ชาคริต พิชญางกูร กรรมการบริหาร บริษัท อาร์เอส พับลิชชิ่ง จำกัด หันมาควบรวมธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ยูนิตเดียวกัน และใช้ทีมตลาดทีมเดียวกันเพื่อกันความสับสนและง่ายต่อการจัดการ
"การรวมครั้งนี้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส (one stop service) เราขายโฆษณาเป็นแพ็คเก็จ มีทั้งอีเว้นท์ การตลาด และใช้ดารานักร้องในสังกัดเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับแพ็คเก็จอีกด้วย ดังนั้นลูกค้าจะมีโอกาสในการพิจารณาสินค้าเรามากขึ้น ในส่วนของเอเจนซี่เองก็ช่วยให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เราขายโฆษณาแบบเป็นชุดขนาดนี้ลูกค้าคงไม่กล้าปฏิเสธเรามากนัก" กรรมการบริหารอาร์เอส พับลิชชิ่ง ฉายภาพถึงความแข็งแกร่งที่ได้จากการรวมตัวของ 4 สิ่งพิมพ์
จากเดิมที่แมกกาซีนและหนังสือพิมพ์แต่ละหัวจะเดินหน้าทำตลาดแบบฉายเดี่ยวตัวใครตัวมัน ทำให้บางครั้งกลุ่มคนอ่านไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเดียวกับกลุ่มที่เจ้าของสินค้าต้องการสื่อสารด้วย รวมไปถึงการแยกทำตลาดทำให้อำนาจในการต่อรองทางธุรกิจมีน้อยกว่าการขายเป็นแพ็คเก็จ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายครั้งต้องพลาดโอกาสในการขายโฆษณาไปอย่างน่าเสียดาย แต่หลังจากควบรวม 4 สิ่งพิมพ์ ทั้งแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์เข้าด้วยกัน สามารถรวบรวมกลุ่มผู้อ่านได้ทุกเซ็กเมนต์ ทำให้การเสนอขายโฆษณาภายใต้ชื่อ 'อาร์เอส พับลิชชิ่ง' มีลูกค้าสนใจที่จะซื้อไม่ต่ำกว่า 2 เล่มในการเสนอขายแต่ละครั้ง
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์นี้ ทางอาร์เอสมั่นใจว่าจะโกยรายได้ประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินนี้คิดเป็น 5% จากรายได้ทั้งหมดในเครืออาร์เอส อย่างไรก็ตามหลังจากควบรวมทั้ง 4 หัวแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์แล้ว จะทำให้ปี 2550 ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะมีรายได้สูงถึง 250 ล้านบาท มีอัตราเติบโตถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยหนังสือพิมพ์ดาราเดลี่ เป็นหัวหอกในการทำรายได้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในขณะที่อีก 3 หัวที่เหลือ คือ หนังสือพิมพ์ดาราเดลี่วีคเอน, ฟร้อนท์ และเฟม จะทำโกยเม็ดเงินได้หัวละประมาณ 50 ล้านบาท
'สกายไฮ' จับ '3 คลื่นทหารเสือ' แต่งตัวใหม่ เน้นไฉไลกว่าเดิม
แม้สุระชาติ ตั้งตระกูล อดีตแม่ทัพสกายไฮ โบกมืออำลาวงการธุรกิจวิทยุไปนานแล้ว แต่สกายไฮก็ไม่หยุดเร่งทำคลื่นในมือให้สดทันสมัย ถูกใจคนฟังตลอดเวลา ล่าสุดภายใต้การนำของ คมสันต์ เชษฐ์โชติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกาย-ไฮ จำกัด คนใหม่ เดินเครื่องเต็มที่สานต่อกลยุทธ์เดิม มั่นใจก่อนสิ้นปีคลื่นในมือสกาย-ไฮ ต้องใหม่และไฉไลกว่าเดิม
หลังจากผุดคลื่นลาเต้ 106 เอฟเอ็ม เมื่อต้นปี เพื่อเจาะกลุ่มคนฟังรุ่นใหญ่ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ ผู้บริหารขึ้นไป ตามติดกระชั้นชิดด้วยการรีแบรนด์คลื่น 93 เอฟเอม เป็น คูล 93 ฟาเรนไฮน์ ที่มุ่งตอบโจทย์ตลาดคนฟังกลุ่มอีซี่ลิสซึนนิ่ง ที่ล้มแชมป์เก่าอย่างคลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็มของคู่แข่งตลอดการอย่างแกรมมี่ลงได้ แม้จะมีสะดุดขาตัวเองล้ม จนต้องคืนคลื่น 90 มิกซ์เอฟเอ็ม เพราะทนรับการขาดทุนไม่ไหว แต่ล่าสุด คลื่นทะลวงใจวัยโจ๋ 88.5 เอฟเอ็มแม็กซ์ ก็รีเฟรชตัวเองใหม่ เพื่อวิ่งไล่กวดเทรนคนฟังที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เปลี่ยนแปลงเร็วและไม่หยุดนิ่ง
"สถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมคลื่นวิทยุต้องยอมรับว่าแข่งกันแรงมาก แข่งกันขายไอเดียแปลกใหม่ และนิยมหันมาใช้การตลาดกันมากขึ้น อย่างคลื่น 88.5 นี่เราต้องรีเฟรชเขาให้มันส์ขึ้น ต้องจับคนฟังกลุ่มวัยรุ่นให้ได้ แคมเปญที่ออกมาต้องโดนใจ แตกต่างและไม่น่าเบื่อด้วย" กรรมการผู้จัดการบริษัท สกาย-ไฮ กล่าวกับผู้จัดการรายสัปดาห์
สำหรับตัวเลขรายได้ในปี 2549 นี้ สกายไฮจะโกยเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แต่หลังจากปรับภาพลักษณ์คลื่นใหม่ยกแผงนี้ คาดว่าตัวเลขรายได้ในปี 2550 นี้จะทะยานสูงขึ้น 600 ล้านบาท โดยรายได้หลักจะมาจากคลื่น 93 ฟาเรนไฮน์ ประมาณ 60 % ตามมาด้วยคลื่น 88.5 เอฟเอ แมกซ์ และลาเต้ 106 อย่างละเท่า ๆ กัน
"ต้องเข้าใจว่าตลาดมันน่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ถึงจะทำตลาดให้หนักขึ้น ฐานคนฟังก็จะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเค้กก้อนเดิม จะขยายให้มันใหญ่ไม่ได้ ทำได้แค่เพียงขโมยก้อนเค้กกันไปมาเท่านั้น ดังนั้นการทำตลาดของเราจึงหยุดไม่ได้ ต้องต่อเนื่องและแตกต่างอยู่เสมอ รวมไปถึงต้องสร้างอีเว้นท์ และแคมเปญให้คนฟังมีส่วนร่วมกับเราตลอดเวลา"
ภาพของการก้าวเข้าสู่ผู้นำในด้าน Entertainment Content & Media Provider ของอาร์เอส ตามที่สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยประกาศต่อสื่อมวลชน ดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ท่ามกลางข่าวการเดินออกของศิลปินแม่เหล็กของค่าย แต่เหมือนว่า แนวคิดการทำธุรกิจที่ลบภาพค่ายเพลงจะทำให้ สุรชัย ไม่วิตกกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นนัก เพราะศิลปินในวันก่อนที่เปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์คุณภาพ ที่ค่ายเพลงทำหน้าที่หาซอฟต์แวร์หลากหลายมาใส่ แล้วเสนอขาย วันนี้ศิลปินลดบทบาทเป็นเพียงซอฟต์แวร์อันหลากหลาย นำใส่ลงในฮาร์ดแวร์แข็งแกร่ง อย่าง สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ จนถึงสื่อออนไลน์ เพื่อเสนอขายแทน จึงไม่แปลกอะไรที่วันนี้ อาร์เอส จะเต็มไปด้วยวิทยุคลื่นต่าง ๆ หรือนิตยสารหัวต่าง ๆ ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง มากกว่าศิลปินในสังกัดไปเสียแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|