ดัน "ทีโอที"ผ่าทางตันชิน คอร์ปถือหุ้นใหญ่-สมบัติชาติอยู่ครบ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 ตุลาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วานิชธนากรหาทางออกดึงสมบัติชาติกลับจากเทมาเส็ก แนะ "ทีโอที" เข้าถือหุ้นในชิน คอร์ปแทน ได้ทั้งลบจุดอ่อนในองค์การโทรศัพท์เองและได้ธุรกิจเพิ่ม แถมหมดปัญหาเรื่องวงโคจรดาวเทียม ย้ำทำได้หากรัฐบาลเอาจริง

ท่าทีของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า ต้องการจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในชิน คอร์ป ลงในสัดส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการถือครอง โดยจะมีการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน พร้อมย้ำว่าต้องการให้ชิน คอร์ป เป็นบริษัทของไทย

ขณะเดียวกันกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยล้วนถูกจับตามองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ที่อดีตผู้บริหารของบริษัทอย่างชุมพล ณ ลำเลียง นั่งเป็นประธานในบริษัทสิงเทลของสิงคโปร์ หรือธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ก็ได้รับการปฎิเสธจากกลุ่มสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงข่าวการทาบทามกลุ่มเบียร์ช้าง และความสนใจของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)

อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกลุ่มที่ต้องการซื้อที่แท้จริงว่าจะเป็นกลุ่มใด เนื่องจากชิน คอร์ปยังมีความเสี่ยงในเรื่องของบริษัทกุหลาบแก้วที่เข้าข่ายเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นต่างประเทศตามผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ได้ส่งเรื่องถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะทราบผลว่าขั้นตอนในการเข้าซื้อดังกล่าวผิดเงื่อนไขของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือไม่

กุหลาบแก้วค้ำคอ

"กว่าผลตัดสินเรื่องกุหลาบแก้วจะออกมาเชื่อว่า คงช้ากว่าขั้นตอนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มเทมาเส็ก เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวได้ผ่านพ้นมาแล้ว แม้จะได้ข้อสรุปว่าผิดจริง ขั้นตอนในการยกเลิกสัมปทานคงเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากจะมีปัญหาความยุ่งยากตามมาอีกมาก ความเป็นไปได้คือการเปรียบเทียบปรับในวันที่มีการผิดสัญญาจนถึงวันที่มีการลดสัดส่วนลงไป ซึ่งจะเป็นทางออกที่สวยที่สุด" แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าว

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องของกุหลาบแก้วจะต้องดูผลต่อไปด้วยว่า จะลามไปถึงกรณีอื่นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มเทเลนอร์ที่เข้ามาซื้อยูคอม ซึ่งใช้ที่คล้ายคลึงกันและมีที่ปรึกษาทางกฎหมายเป็นบริษัทเดียวกับที่ให้คำแนะนำในการขายชิน คอร์ป ให้กับเทมาเส็ก หากมีการร้องเรียนเรื่องนี้ก็จะลามไปสู่กิจการอื่น ๆ เพราะในภาคของตลาดทุนเรื่องการตั้งบริษัทแล้วถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างประเทศนั้นมีการทำกันมาช้านาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก คงต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐว่าจะแก้ปัญหาในประเด็นเหล่านี้อย่างไร

เขากล่าวต่อไปว่า การหาผู้เข้ามาซื้อหุ้นต่อจากเทมาเส็กนั้น เชื่อว่ามีหลายกลุ่มสนใจ แต่ก็จะติดปัญหาในเรื่องของความรู้ความชำนาญในการบริหารกิจการโทรศัพท์มือถือ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า กลุ่มซีพีที่เข้ามาทำโทรศัพท์มือถือในนามทรู ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะเรียนรู้ธุรกิจนี้และต้องมีเงินลงทุนสูง

เท่าที่ดูชื่ออย่างปูนซิเมนต์ไทย ไทยพาณิชย์หรือกลุ่มเบียร์ช้าง แม้กระทั่งกบข. ล้วนแล้วแต่ไม่มีความชำนาญในธุรกิจด้านนี้ หากจะเข้ามาซื้อหุ้นก็คงเป็นการถือหุ้นเพื่อการลงทุนมากกว่าการเข้ามาบริหารกิจการ ที่สำคัญไม่มีใครตอบได้ว่าทีมบริหารของชิน คอร์ป ในปัจจุบันยังจะทำงานต่อไปอีกหรือไม่ อีกทั้งสงครามราคาที่แข่งขันกันรุนแรงในปัจจุบันนี้มีผลต่อรายได้ของบริษัทเป็นอย่างมาก ทำให้ธุรกิจด้านโทรศัพท์มือถืออาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเหมือนในอดีต

TOT ทางออก

วิธีผ่าทางตันในเรื่องของชิน คอร์ป แม้จะมีทางออกหลายทาง แต่ถ้ายึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักแล้ว ดีที่สุดคือ การนำเอาบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) หรือองค์การโทรศัพท์เดิมเข้ามาถือหุ้นในชิน คอร์ป แทน

วานิชธนกิจรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ทีโอทีได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนแล้ว และที่ผ่านมาตัวธุรกิจของทีโอทีก็มีไม่มากนัก รายได้ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่การรับค่าสัมปทานที่ได้ให้กับเอกชนที่เข้ามาทำโทรศัพท์พื้นฐานอย่างเช่นทรูและทีทีแอนด์ที และรายได้จากส่วนแบ่งโทรศัพท์มือถือจากเอไอเอส เดิมเคยคิดจะทำโทรศัพท์มือถือเองในคลื่น 1900 ก็ล้มเหลว

แม้ว่าแนวทางนี้อาจจะติดเงื่อนไขในเรื่องของผู้ให้สัมปทานเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับผู้ขอรับสัมปทาน แต่ในวันนี้ตัวของทีโอทีไม่ได้เป็นผู้พิจารณาเรื่องของสัมปทานแล้ว เนื่องจากมีหน่วยงานอย่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหา อีกทั้งตัวของทีโอทีและบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของชิน คอร์ป เป็นคู่สัญญากันโดยตรง

แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหากันในเรื่องของสัญญาในการจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ ซึ่งเอไอเอสมีสัญญาที่ได้เปรียบกว่าบริษัทอื่นนั้น เรื่องนี้หากมองในมุมของนักการเงินแล้วไม่ใช่ปัญหา เพราะสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วยเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชิน คอร์ป จบลงด้วยดี

ที่สำคัญหากนำเอาทีโอทีเข้ามาถือหุ้นในชิน คอร์ปได้ ปัญหาหลายอย่างจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไอทีวี เรื่องวงโคจรของดาวเทียมไทยคม แถมยังได้เน็ตเวิร์คทางด้านอินเตอร์เน็ทเพิ่มเติมอีก ซึ่งเป็นการแก้จุดอ่อนให้กับทีโอทีได้เป็นอย่างดี

เรื่องของเงินในการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ แน่นอนว่าเทมาเส็กจะต้องลดสัดส่วนถือหุ้นให้เหลือแค่ 49% อาจดูเหมือนใช้เงินจำนวนมากในการเข้าซื้อ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำจริงก็สามารถทำได้จะใช้วิธีการแลกหุ้นหรือใช้เงื่อนไขอื่นก็ได้ ซึ่งวันนี้แน่นอนว่าราคาซื้อต่อคงไม่ใช่ที่ 49.25 บาทเหมือนเมื่อครั้งที่เทมาเส็กเข้าซื้อชิน คอร์ป เพราะวันนี้ราคาชิน คอร์ป อยู่ที่ประมาณ 35 บาทจากระดับที่ 29 บาท หลังมีข่าวว่าเทมาเส็กจะขายหุ้นออก

เมื่อดูจากสินทรัพย์ของทีโอที ณ สิ้นปี 2548 ที่ 2.32 แสนล้านบาท ขณะที่ชิน คอร์ป งวด 6 เดือน 2549 อยู่ที่ 7.84 หมื่นล้านบาท ส่วนของทุนทีโอทีมี 1.01 แสนล้านบาท ชิน คอร์ป 4.66 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิของทีโอที 6.69 พันล้านบาท ชิน คอร์ป 3.82 พันล้านบาท(ครึ่งปี 2549)

ต้องยอมรับว่าศักภาพในการทำกำไรของชิน คอร์ป เหนือกว่าทีโอที ดังนั้นหากแนวทางนี้จะแก้ปัญหาเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นในชิน คอร์ป นำเอาบริษัทนี้กลับมาเป็นสัญชาติไทย และได้สิทธิเรื่องของวงโคจรดาวเทียมที่ยังเป็นเอกสิทธิของประเทศไทยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งวิธีการทางการเงินก็ไม่จำเป็นต้องเอาทีโอทีมาถือเต็ม 51% อาจแบ่งให้กบข.หรือผู้ลงทุนไทยรายอื่นเข้ามาร่วมถือด้วยก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.