"ยูนิเวสท์ อาณาจักรสามหมื่นล้าน"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูนิเวสท์กรุ๊ปเป็นกลุ่มบริษัทพัฒนาที่ดินนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่บริษัทหนึ่ง และเมื่อจู่ๆ ธาตรี บุญดีเจริญ ผู้กุมบังเหียนคนสำคัญเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทสยามนำโชคซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วจากกลุ่มซีพี จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 63% และมีแผนการที่จะผ่องถ่ายทางด้านการเงิน กำลังคน และทรัพย์สินของยูนิเวสท์เองเข้าไปรวมกับสยามนำโชคด้วยนั้น นับเป็นการปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่ฮึกเหิมและยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวนัก

ธาตรี บุญดีเจริญ กรรมการผู้จัดการของยูนิเวสท์เคยกล่าวเอาไว้ เมื่อสองปีที่แล้วว่า ยูนิเวสท์ จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึงการยื่นขอเข้าตลาดในนามของยูนิเวสท์เอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยวิธีการแบบแบ็คดอร์ลิสติ้ง ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการของกิจการอื่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว เพราะยูนิเวสท์ใหญ่และเป็น "ของจริง" พอที่จะเดินเข้าตลาดฯ เองได้

ในตอนนั้นเขากล่าวว่า กำลังศึกษาดูว่าจะเข้าตลาดฯ ในรูปแบบไหน เพราะจะต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทในเครือ และจัดระเบียบสินทรัพย์ให้เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอนประมาณปลายปี 2535

เวลาเปลี่ยน ความคิดและวิธีการก็เปลี่ยนไปด้วย จากวันนั้นถึงวันนี้สองปีพอดิบพอดี ยูนิเวสท์ก็แปลงโฉมเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อย

ไม่ใช่การเข้าด้วยตัวเองอย่างที่ธาตรีเคยแสดงความตั้งใจไว้ แต่เป็นการเดินทางลัดด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทสยามนำโชคที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

วันที่ 20 ตุลาคม 2536 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้อนุญาตให้บริษัทยูนิเวสท์ เรียลเอสเตท และบริษัทวิสต้า เรียลตี้ ทำการซื้อหุ้น 31.56% ของทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาทของบริษัทสยามนำโชค คิดเป็นจำนวนหุ้น 14.2 ล้านหุ้น จากกลุ่มซีพีซึ่งกระจายการถือครองหุ้นไว้ในนามของตระกูลเจียรวนนท์และผู้บริหารคนอื่นๆ รวม 31 ราย

ราคาหุ้นสยามนำโชคที่ยูนิเวสท์ซื้อจากซีพีราคาหุ้นละ 160 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 2,272 ล้านบาท

กลุ่มยูนิเวสท์ถือหุ้นสยามนำโชคอยู่แล้ว ในชื่อยูนิเวสท์ พร็อพเพอร์ตี้และยูนิเวสท์โฮลดิ้งในสัดส่วน 31.5% เท่ากับทางซีพี การซื้อหุ้นเพิ่มครั้งนี้จึงทำให้กลุ่มยูนิเวสท์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของสยามนำโชคด้วยสัดส่วน 63%

ซีพีเองยังมีหุ้นอยู่ในสยามนำโชคอีกราวๆ 20% โดยถือผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ชื่อว่า "ฟอร์จูนฮ่องกง" เป็นบริษัทพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน ที่ทางยูนิเวสท์ก็เข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย แต่ได้ขายหุ้นคืนให้กับทางซีพีในเวลาไล่เรี่ยกับการซื้อขายหุ้นสยามนำโชค

"จริงๆ แล้ว ยูนิเวสท์จะเข้าเองก็ได้ แต่เมื่อเข้าไปแล้วเราก็จะมีบริษัท 3 บริษัทในตลาดที่ทำกิจการด้านที่ดิน และแต่ละบริษัทก็จะเป็นระดับกลางไม่ใช่ระดับใหญ่เลย" ธาตรีเริ่มต้นอธิบายถึงแนวความคิดเบื้องต้นในการนำยูนิเวสท์เข้าตลาดทางลัดแบบนี้

3 บริษัทที่เขาพูดถึงก็คือ สยามนำโชคที่อยู่ในคลาดหลักทรัพย์แล้ว ยูนิเวสท์ที่มีแผนจะเข้า และซีพีแลนด์ของทางซีพีที่มีโครงการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการเสียที เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาการซ้ำซ้อนของผู้ถือหุ้นกับสยามนำโชค ซึ่งทั้ง 3 รายนี้ต่างก็อยู่ในเครือของ "เรา" คือพันธมิตรธุรกิจยูนิเวสท์-ซีพี

แนวความคิดของธาตรีนั้นมีอยู่ว่า ถ้ายูนิเวสท์เข้าตลาดไปแล้ว ก็น่าจะเข้าไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่เลย ไม่ใช่เป็นกิจการระดับกลางๆ วิธีที่ดีที่สุดจึงเป็นการเอายูนิเวสท์เข้าไปรวมกับสยามนำโชค ซึ่งจะทำให้ขนาดของกิจการโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดทันตาเห็น

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ยูนิเวสท์ไม่ยื่นเข้าตลาดด้วยตัวเอง ก็เพราะปัญหาความซ้ำซ้อนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากยูนิเวสท์เองก็ถือหุ้นอยู่ในสยามนำโชคแล้ว ตัวธาตรีและวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ กรรมการอีกคนหนึ่งของยูนิเวสท์ก็เป็นกรรมการของสยามนำโชคด้วยเช่นกัน กิจการของทั้งสองบริษัทก็เป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน ซึ่งในหลักการของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (CONFLICT OF INTEREST) ที่จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยได้

"เราไม่แน่ใจว่า ถ้ายูนิเวสท์เข้าตลาดฯ เองจะโดนแบบซีพีแลนด์หรือเปล่า ซึ่งโดนบล็อคมา 2 ปี แล้วเดินหน้าไม่ได้สักที เราไม่ต้องการให้ยูนิเวสท์โดนแบบนั้น เพราะจะทำให้ขยายตัวลำบาก ภาพพจน์ก็เสีย ก็เลยคิดกันว่า ต้องเคลียร์ตัวนี้ให้ กลต. เข้าใจว่า เราไม่จับปลาสองมือ" ธาตรีอธิบาย

พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นและการบริหารของสยามนำโชคชัดเจนลงไปเลยว่าเป็นของยูนิเวสท์หรือเป็นของซีพี หากเป็นของยูนิเวสท์ ทางกลุ่มซีพีก็สามาถเอาซีพีแลนด์เข้าตลาดได้โดยไม่มีปัญหาความซ้ำซ้อนของผู้ถือหุ้น ถ้าซีพีจะเอาไว้เอง ยูนิเวสท์ก็เข้าตลาดด้วยตัวเองได้สะดวกขึ้นเช่นกัน

"เรื่องภาษีเป็นประเด็นหลักเลยที่ตัดสินว่า ยูนิเวสท์ต้องเข้าไปซื้อหุ้นของสยามนำโชค" กรรมการผู้จัดการกลุ่มยูนิเวสท์เปิดเผยปมเงื่อนสำคัญอีกข้อหนึ่ง

ธาตรีระบุว่า หุ้น 31.5% ที่ยูนิเวสท์ถืออยู่ในสยามนำโชคนั้น มีต้นทุนเฉลี่ยเพียงหุ้นละ 20 บาทเท่านั้น หากเขาเป็นฝ่ายขายหุ้นสยามนำโชคให้กับทางซีพี ในราคา 160 บาทต่อหุ้น ก็จะมีกำไรถึง 2,000 กว่าล้านบาท แต่ทางยูนิเวสท์จะต้องเสียภาษีเงินได้ทันทีถึง 700 ล้านบาท

และเมื่อขายหุ้นสยามนำโชคไปแล้ว ก่อนที่ยูนิเวสท์จะยื่นเรื่องเข้าตลาดฯ เอง ก็จะต้องปรับโครงสร้างการถือหุ้นและสินทรัพย์ของบริษัทในเครือให้อยู่ในหลักเกณฑ์ของ กลต. ธาตรีคำนวณคร่าวๆ ว่า การผนวกกิจการนี้จะต้องเสียภาษีให้รัฐอีกประมาณ 300 ล้านบาท

รวมกับเงินภาษีเงินได้แล้ว ก็เป็นจำนวนเงินภาษีถึง 1,000 ล้านบาทที่จะต้องควักกระเป๋าจ่ายออกไป

"ภาษี 1,000 ล้านบาท แค่คิดผมก็เป็นลมแล้ว ก็เลยต้องเอามาทำเอง" ธาตรีกล่าว

เงินที่ยูนิเวสท์จ่ายเป็นค่าซื้อหุ้น 2,200 กว่าล้านบาท เมื่อคิดถึงภาษีที่ต้องเสียหากเป็นฝ่ายขายหุ้นสยามนำโชคเสียเอง ก็เท่ากับเสียไปเพียง 1,000 กว่าล้านบาท เทียบกับสินทรัพย์ร่วม 1,000 กว่าล้านบาทของสยามนำโชค และความเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้ว นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่หาไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว

ทางฝ่ายผู้ขายคือกลุ่มซีพีนั้น ไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากการซื้อขายหุ้นแต่อย่างไร เพราะถือหุ้นอยู่ในนามบุคคลธรรมดา

ความจำเป็นอีกประการหนึ่งที่ยูนิเวสท์และกลุ่มซีพีต้องซื้อของหุ้นในสยามนำโชคครั้งนี้ ก็เพื่อกำหนดเส้นทางเดินในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสองพันธมิตรตามความถนัดของแต่ละฝ่าย โดยยูนิเวสท์จะถอนตัวออกจากโครงการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีน หันมาดูแลโครงการในไทย เพราะส่วนใหญ่โครงการจะอยู่ในประเทศและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

ส่วนซีพีก็จะหันไปทุ่มเทให้กับโครงการในจีนเพียงด้านเดียว เพราะมีเครือข่ายรวมทั้งเงินทุนที่พร้อมต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ๆ กินเวลานานมากกว่า

การที่ยูนิเวสท์ซื้อหุ้นสยามนำโชคจากซีพีและขายหุ้นในฟอร์จูนฮ่องกงที่เป็นเจ้าของโครงการในเซี่ยงไฮ้และกวางเจาคืนให้ซีพี คือความลงตัวของการแบ่งธุรกิจกันตามความถนัดของพันธมิตรคู่นี้

สองพี่น้องตระกูลบุญดีเจริญ-ธาตรีผู้น้องและโยธินผู้พี่-ใช้เวลา 10 ปีในการสร้างยูนิเวสท์ให้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นบริษัทแนวหน้าในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โยธินและธาตรีเป็นลูกชายของเจริญ บุญดีเจริญ ซึ่งมีลูกรวม 10 คน เจริญเป็นพี่ชายของศิริวรรณ ภรรยาของมงคล กาญจนพาสน์แห่งกลุ่มเมืองทอง ทั้งโยธินและธาตรีจึงเกี่ยวดองเป็นลูกพี่ ลูกน้องกับอนันต์และคีรี รวมทั้งทายาทตระกูลกาญจนพาสน์คนอื่นๆ

ความเป็นเครือญาติกับกาญจนพาสน์ทำให้เจริญและลูกๆ 3 คนคือ โยธิน ธาตรีและอุทัยมีส่วนในการช่วยบริหารงานในธุรกิจที่ดินของกลุ่มเมืองทองตั้งแต่เริ่มแรก ปี 2509 มงคลซึ่งก่อนหน้านั้นยังทำธุรกิจนาฬิกาเป็นหลักอยู่ ตัดสินใจขยายกิจการเข้ามาในธุรกิจบ้านและที่ดิน จึงได้ร่วมทุนกับชวน รัตนรักษ์แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้ล่วงลับไปแล้ว กับยรรยง ตั้งจิตนพ ก่อตั้งบริษัทพัฒนาที่ดินขึ้นมาได้แก่ บริษัทรวมมิตรวิศวกรรม สหกรุงเทพพัฒนา สินพรชัย ยูนิโก้และสยามประชาคาร

โครงการแรกของกลุ่มนี้คือหมู่บ้านชลนิเวศน์ ดำเนินงานโดยบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา ซึ่งใช้เวลาพัฒนาโครงการตั้งแต่ปี 2510 และเปิดขายได้ในปี 2513 ในปีเดียวกันนั้นเองโครงการที่สองก็เริ่มต้นขึ้น โดยบริษัทรวมมิตรวิศวกรรมเป็นผู้พัฒนาที่ดินจำนวน 800 ไร่ ริมบึงสีกัน ถนนแจ้งวัฒนะที่กลุ่มเมืองทองประมูลได้จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2510-2511 ในราคาเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น โครงการนี้ก็คือหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1

ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากมงคลให้รับผิดชอบโครงการนี้ก็คือโยธิน ลูกชายคนหัวปีของเจริญ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเรียนจบด้านการบริหารธุรกิจกลับมาจากฮ่องกงสดๆ ร้อนๆ

กลุ่มของชวนและยรรยงแยกตัวออกจากกลุ่มเมืองทองในปี 2514 พร้อมกับการแบ่งทรัพย์สินออกไปด้วย ส่วนที่เป็นของกลุ่มเมืองทองคือบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา สินพรชัย และรวมมิตรวิศวกรรม ส่วนยูนิโก้และสยามประชาคารเป็นของชวนกับยรรยง

หลังการแบ่งแยกทรัพย์สินตระกูลบุญดีเจริญ กลายเป็นกำลังหลักในการผลักดันธุรกิจพัฒนาที่ดินของกลุ่มเมืองทอง โดยเจริญผู้พ่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทสหกรุงเทพพัฒนาและสินพรชัย ซึ่งจะเน้นการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าเป็นด้านหลัก ผลงานที่เจริญฝากเอาไว้คือศูนย์การค้ามเหสักข์และศูนย์การค้าเมโทร ในนามของสินพรชัย และศูนย์การค้าบางกอกบาร์ซาร์ซึ่งเป็นโครงการของสหกรุงเทพพัฒนา

ส่วนโยธินรับผิดชอบเต็มตัวในฐานะผู้จัดการใหญ่บริษัทรวมมิตรวิศวกรรม

ปี 2516 บริษัทบางกอกแลนด์ได้เกิดขึ้น โดยรับทรัพย์สินส่วนที่เหลือในโครงการหมู่บ้านชลนิเวศน์จากสหกรุงเทพพัฒนา และเมืองทอง 1 จากรวมมิตรวิศวกรรม เพื่อให้บางกอกแลนด์เป็นหัวหอกในการพัฒนาโครงการประเภทที่อยู่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์รุ่นต่อๆ มาคือ เมืองทอง 2, 3 และ 4 เป็นผลงานของบางกอกแลนด์ ซึ่งผู้บริหารก็คือ โยธินนั่นเอง

สำหรับมงคลนั้นช่วงปี 2516-2521 เขาหลบไปอยู่ที่ฮ่องกงเพราะความไม่แน่ใจต่อสถานการณ์การเมืองในไทยและอินโดจีน พ่อลูกตระกูลบุญดีเจริญจึงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารโครงการบ้านและที่ดินในไทย โดยมงคลนั่งบัญชาการกำหนดทิศทางหลักอยู่ที่ฮ่องกง

นอกจากโยธินแล้ว ลูกๆ ของเจริญอีก 2 คนก็เข้ามาช่วยงานในกลุ่มเมืองทองด้วยคือธาตรี เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง และอุทัยเป็นผู้จัดการฝ่ายออกแบบ

ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มเมืองทองในธุรกิจพัฒนาที่ดินในทุกวันนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีรากฐานสำคัญมาจากฝีไม้ลายมือของตระกูลบุญดีเจริญ

แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์ที่โยธินและธาตรีได้จากเมืองทอง รวมทั้งสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ก็เป็นหน่ออ่อนที่เติบโตแกร่งกล้าขึ้นเป็นยูนิเวสท์ในปัจจุบัน


หลังจากการเสียชีวิตของเจริญในปี 2522 ก็ถึงเวลาที่พี่น้องตระกูลบุญดีเจริญจะโบยบิน ออกจากอาณาจักรกาญจนพาสน์ออกไปสร้างรังของตัวเอง

ความจริงแล้ว ก่อนหน้านั้นในปี 2517 ครอบครัวบุญดีเจริญได้ก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าหลักสี่ขึ้นมาเอง ในนามบริษัทเจริญและเพื่อน คนที่เป็นกำลังสำคัญของธุรกิจครอบครัวชิ้นนี้ก็คือธาตรีนั่นเอง

ธาตรีเป็นคนแรกที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มเมืองทองหลังการเสียชีวิตของพ่อ โดยออกมาตั้งบริษัทยูนิเวสท์เมื่อปี 2523 ร่วมกับวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บุรินทร์ วงศ์สงวน พิชัย วาศนาส่ง และโยธิน

ตัวโยธินเองนั้น ออกจากเมืองทองมาร่วมกับยูนิเวสท์จริงๆ จังๆ ในปี 2524 เขาบอกกับคนใกล้ชิดว่า คนเราเป็นลูกจ้างไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องเติบโตบนลำแข้งของตัวเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการถอนตัวออกไปของพี่น้องบุญดีเจริญ ความเคลื่อนไหวในเรื่องธุรกิจที่ดินของกลุ่มเมืองทองหยุดชะงักลง มงคลส่งลูกชาย-สาครเข้ามารับช่วงต่อจากโยธิน แต่ก็ไม่มีโครงการใหม่ๆ ออกมา จนกระทั่งอีก 6-7 ปีให้หลังในยุคที่ที่ดินบูม กลุ่มเมืองทองจึงขยับตัวอีกครั้งอย่างครึกโครม ภายใต้การนำของสองพี่น้องกาญจนพาสน์ อนันต์และคีรี

โครงการแรกของยูนิเวสท์ก็คือ อาคารยูนิเวสท์ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ราชดำริ ที่ดิน 2 ไร่เศษผืนนี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ให้บริษัทสหกรุงเทพพัฒนาเช่าทำเป็นศูนย์การค้าบางกอกบาร์ซาร์ ยูนิเวสท์ขอรับช่วงสิทธิ์ในการเช่าต่อจากสหกรุงเทพพัฒนาและนำไปต่อสัญญาเช่ากับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ใหม่เป็นเวลา 30 ปี

ห้างสรรพสินค้าโรบินสันในตอนนั้นมีเฉพาะที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพียงที่เดียว ทางเจ้าของคือมานิต อุดมคุณธรรมกำลังหาพื้นที่ขยายกิจการ เมื่อมีโอกาสได้พบกัน ธาตรีจึงชักชวนให้มานิตมาซื้อพื้นที่อาคารยูนิเวสท์เป็นที่ตั้งของโรบินสัน ราชดำริ ซึ่งมีจุดขายคือลิฟต์แก้ว 2 ตัว

"เราเป็นรายแรกๆ ที่ทำลิฟต์แก้ว" ธาตรีกล่าวอย่างภูมิใจ

การดึงโรบินสันเข้าไปอยู่ในอาคารยูนิเวสท์ได้สำเร็จนั้น นับได้ว่าเป็นกรณีแรกของการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าที่ไม่ต้องลงทุนสร้างอาคารขึ้นมาเอง เหมือนอย่างที่กลุ่มเซ็นทรัลทำกันมา ทำให้ทางห้างไม่ต้องลงทุนสูงในการหาที่ดินและการก่อสร้างอาคาร

ส่วนตัวเจ้าของอาคาร สิ่งที่ได้ก็คือใช้ห้างสรรพสินค้าเป็นจุดขายในการขายพื้นที่ได้ด้วย
แนวความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาโครงการเรียลเอสเตทเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นจุดแข็งที่มีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของกลุ่มยูนิเวสท์เรื่อยมา

โครงการเมืองเอก 1 ที่รังสิต ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่โครงการแรกของยูนิเวสท์ คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการแสวงหาความแปลกใหม่มาพัฒนาเป็นจุดขายของโครงการ

ที่ดิน 2,000 ไร่ที่เมืองเอก ยูนิเวสท์ซื้อยกแปลงมาจากวิชัย มาลีนนท์แห่งช่อง 3 เมื่อประมาณปี 2524-2525 จุดเด่นของโครงการคือ มีการขุดคลองเข้าไปในบริเวณพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน ทำให้เกิดเป็นภูมิทัศน์ที่สวยงาม และแปลกใหม่จากโครงการบ้านทั่วๆ ไปในขณะนั้น

"ผมไปดูที่ฮอลแลนด์มา" ธาตรีพูดถึงที่มาของคอนเซ็ปต์โครงการเมืองเอก 1

สิ่งที่นับว่าใหม่มากๆ สำหรับรูปแบบโครงการบ้านในระยะนั้นคือ การสร้างสนามกอล์ฟในหมู่บ้านซึ่งในขณะนั้นธุรกิจสนามกอล์ฟยังไม่เฟื่องฟู การสร้างสนามกอล์ฟขึ้นมาขายสมาชิกจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

"แห่งแรกที่ทำคือนวธานี แต่ลักษณะของนวฯ จะเป็นสนามกอล์ฟที่ติดบ้านเลย เรายอมเสียพื้นที่ขายจาก 2 พันไร่เหลือเพียงพันไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับสาธารณูปโภคและสนามกอล์ฟ" ธาตรีกล่าว

คอนเซ็ปต์การสร้างสนามกอล์ฟในหมู่บ้านแล้วขายสิทธิการเป็นสมาชิกควบไปกับขายที่ดินและบ้านของเมืองเอก กลายเป็นต้นแบบที่หลายๆ โครงการเอาอย่างตามในปัจจุบัน

ต่อจากโครงการเมืองเอก 1 ยูนิเวสท์ซื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 2 พันไร่ ซึ่ง 1 ใน 2 พันไร่นี้ซื้อจากวันชัย จิราธิวัฒน์เพื่อขยายเป็นโครงการเมืองเอก 2, 3 จนถึงเมืองเอก 8 แล้วในปัจจุบัน มีบ้านพักอาศัยกว่า 4,500 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 27,000 ล้านบาท และโครงการเมืองเอกนี้ยังได้ขยายไปพัฒนาพื้นที่ที่ถนนสุวินทวงศ์ในเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ในปัจจุบันด้วย

นอกจากโครงการเมืองเอกซึ่งเป็น "เรือธง" ยูนิเวสท์ยังมีโครงการอาคารสำนักงาน ธุรกิจศูนย์การค้าโรงแรม และเครื่องใช้ไฟฟ้าคือบริษัทสามชัยด้วย

ปัจจุบันยูนิเวสท์มีบริษัทในเครือข่ายประมาณ 21 บริษัท เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 7 บริษัท มีสินทรัพย์รวมกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

การเข้าซื้อหุ้นสยามนำโชค และแผนการรวมทรัพย์สินบางโครงการกับสยามนำโชคทำให้ทรัพย์สินรวมของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ที่ดิน 20 ไร่เศษบนถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยก อสมท. ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการฟอร์จูนทาวน์ในปัจจุบันเคยเป็นที่หมายปองของกลุ่มยูนิเวสท์มาก่อน แต่เมื่อธาตรีติดต่อขอซื้อจากเจ้าของที่คือชวน รัตนรักษ์ ทางชวนกลับเสนอให้ยูนิเวสท์เข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทสยามไซโลและคลังสินค้า ซึ่งเป็นนิติบุคคลเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยขายหุ้นให้กับยูนิเวสท์ 30% และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นสยามนำโชค

โครงการรัชดาสแควร์ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาบนที่ดินผืนนี้ ประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรมและอาคารสำนักงาน โดยธาตรีได้เจรจากให้ห้างสรรพสินค้าเยาฮันจากญี่ปุ่นเข้ามาเช่าพื้นที่เปิดสาขาแห่งแรกในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ

ปี 2532 ธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งซีพีขอร่วมทุนด้วย เขาสามารถเจรจาขอซื้อหุ้นสยามนำโชค 70% ของชวนได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นการร่วมทุนกันครั้งแรกระหว่างยูนิเวสท์กับซีพี

ก่อนหน้านั้นประมาณปลายปี 2530 ยูนิเวสท์ได้ขายอาคารยูนิเวสท์ทาวเวอร์ ให้กับซีพี ปัจจุบันก็คืออาคารซีพีทาวเวอร์ บนถนนสีลมนั่นเอง สยามนำโชคเปลี่ยนชื่อโครงการรัชดาสแควร์เป็นฟอร์จูนทาวน์ และในเดือนมกราคม ปี 2533 ก็ได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยโยธินเข้าไปเป็นประธานกรรมการบริหารอย่างเต็มตัว ปล่อยยูนิเวสท์ให้เป็นภาระของธาตรี

จากผลสำรวจของบริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ (MANAGER INFORMATION SERVICES MIS) ในเรื่อง "ทัศนคติของนักธุรกิจด้านความศรัทธา และความเชื่อถือที่มีต่อบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2536 บริษัทสยามนำโชคมีความเชื่อถือเป็นอันดับเกือบท้ายสุด สาเหตุสำคัญเป็นเพราะผลประกอบการที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร โครงการต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างและทำรายได้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้หลักที่มาจากการให้เช่า และสิทธิการเช่า ซึ่งในช่วงปี-2 ที่ผ่านนั้น ธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก รายได้จากการดำเนินการธุรกิจประเภทนี้ค่อนข้างต่ำ

และสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทนี้มีน้อยมาก ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากบุคลิกของโยธิน ที่ค่อนข้างปิดตัวเป็นพิเศษ น้อยคนนักที่จะได้สัมภาษณ์ และประชาสัมพันธ์ความเป็นไปของบริษัท

แหล่งข่าวรายหนึ่งในบริษัทยูนิเวสท์เคยกล่าวกับผู้จัดการว่า พอธาตรีเห็นผลของการสำรวจครั้งนั้นก็ยังกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า สยามนำโชคปิดตัวเองเกินไปจริงๆ

ธาตรียอมรับว่า การที่สยามนำโชคไม่โดดเด่นในบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ควร เป็นเพราะผู้ถือหุ้น 2 กลุ่ม คือซีพี และยูนิเวสท์ นั้นไม่ได้ลงมาเต็มที่ในการดูแล บริหาร เพราะต่างก็มีบริษัทพัฒนาที่ดินของตนเองที่ทำอยู่แล้ว

"สยามนำโชคที่ผ่านมาเป็นเหมือนลูกเมียน้อย เราต่างที่จะทำธุรกิจของตนเองให้ดี เลยไม่ได้สนใจเท่าที่ควร แต่ตอนนี้เป็นลูกเมียหลวงแล้ว" ธาตรีกล่าว

สยามนำโชคนั้นเป็นบริษัทหนึ่งที่มีแลนด์แบงก์ในทะเลที่ดีอยู่มากๆ หลายแปลง โดยเฉพาะที่ดินฟอร์จูนทาวน์ตรงหัวโค้งอโศก 20 ไร่ที่ตั้งโครงการฟอร์จูนทาวน์ ราคาประเมินในปัจจุบันตารางวาละประมาณ 200,000 บาท ตกเป็นมูลค่าที่ดินประมาณ 1,600 ล้านบาท

"ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของสยามนำโชค ที่เป็นเจ้าของที่ดิน และเป็นเจ้าของศูนย์การค้าด้วย สัญญาเช่าเพียง 20 ปี ตอนนี้เหลือ 17 ปี หลังจาก 17 ปีไปแล้วมูลค่าของมันก็จะมหาศาล" ธาตรีพูดถึงสิ่งที่เขามองเห็นในสินทรัพย์ที่มีอยู่ของสยามนำโชค

ที่แปลงใหญ่กลางเมืองอีกแปลงหนึ่งของสยามนำโชคคือ ที่ดิน 38 ไร่ตรงข้ามแดนเนรมิต ลาดพร้าว ซึ่งซื้อมาในราคาตารางวาละ 120,000 บาท รวมมูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่ดินผืนนี้มีโครงการจะพัฒนาเป็นศูนย์การค้าและธุรกิจครบวงจร ทั้งห้างสรรพสินค้า สวนสนุกในร่ม อาคารสำนักงานและอาคารพักอาศัยให้เช่าในปีหน้า

นอกจากนั้นแล้วยังมีโครงการขนาดใหญ่อีก 2 แห่งคือ ฟอร์จูน ซิตี้ 1 ที่บางปู สมุทรปราการ พื้นที่ 300 ไร่ ฟอร์จูน ซิตี้ 2 ที่วังน้อย อยุธยา เนื้อที่กว่า 1,400 ไร่

เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ยูนิเวสท์ควักกระเป๋าซื้อหุ้นจากซีพี ต้องถือว่าเหมือนได้บริษัทนี้มาฟรีๆ จนน่าสงสัยว่าทำไมทางซีพีจึงยอมขายให้ง่ายๆ อย่างนี้

ความจริงแล้วซีพี ยังเหลือหุ้นสยามนำโชคอีก 20% โดยถือผ่านฟอร์จูน ฮ่องกง คิดเป็นจำนวนหุ้นประมาณ 9 ล้านหุ้น ซึ่งสิ่งที่จะได้จากจุดนี้คือมูลค่าหุ้นที่สูงเพิ่มขึ้นหลังจากการเทคโอเวอร์ของยูนิเวสท์ นับจากราคา 160 บาทที่ขายให้ยูนิเวสท์ วันนี้หุ้นสยามนำโชคขึ้นไปมากกว่า 300 บาทต่อหุ้นแล้ว เท่ากับซีพีได้กำไรไปแล้วเกือบ 1,500 ล้านบาทหากขายหุ้นส่วนนี้ออกไป ถ้าถือไว้ต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่กำไรจะมากขึ้นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของกลุ่มยูนิเวสท์

"ผมมีโอกาสเลือก ผมก็จะเลือกเป็นคนถือ 20% เพราะไม่ต้องเหนื่อย" ธาตรีกล่าว

แต่เป้าหมายที่สำคัญของซีพีอยู่ที่การผลักดันให้ซีพีแลนด์เข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ จึงต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นและลักษณะธุรกิจที่จำซ้ำซ้อนกับสยามนำโชคให้หมดไป

ดูเหมือนซีพีจะยอมเสียสละ แต่ก็เป็นการเสียสละที่คุ้มค่า

ธาตรีได้กำหนดวิธีการฟื้นฟูสยามนำโชคใหม่ไว้ 3 แนวทางด้วยกันคือ 1. ต้องเร่งสร้างยอดขายของโครงการต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 2. ต้องเพิ่มทรัพย์สินเข้าไปด้วยการรวมกิจการของสยามนำโชคเข้ากับยูนิเวสท์ และแนวทางที่ 3 คือ การเอาชื่อของเมืองเอกเข้าไปรวมกับชื่อของโครงการสยามนำโชคที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดี ให้ลูกค้ารับรู้ว่า เจ้าของสยามนำโชค กับหมู่บ้านเมืองเอกเป็นเจ้าของเดียวกันเพื่อกระตุ้นยอดขายอีกทางด้วย

สำหรับแนวทางแรกนั้นปัจจุบันสยามนำโชคมีโครงการที่ต้องเร่งการก่อสร้างและงานขายอยู่หลายโครงการ ธาตรีได้กำหนดให้เจียม ชวศิริกุณฑล กรรมการรองผู้จัดการอาวุโส นักขายมือทอง ของบริษัทยูนิเวสท์ ผู้ฝากฝีไม้ลายมือทางด้านการขายของโครงการเมืองเอก ลงไปดูควบคุมนโยบายทางด้านการขายอย่างใกล้ชิด

โครงการที่กำลังขายของสยามนำโชคในขณะนี้คือ "ฟอร์จูน คอนโดทาวน์" บนถนนสาธุประดิษฐ์ บนเนื้อที่ 20 ไร่ จำนวนกว่า 1,000 ยูนิต แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกจำนวนกว่า 700 ยูนิตนั้นจำหน่ายและก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการโอน ส่วนเฟส 2 อีกประมาณ 300 ยูนิตนั้นจะเปิดขายประมาณต้นปีหน้า

"ฟอร์จูนซิตี้ 2" บนถนนพหลโยธิน กม. 61 อำเภอวังน้อย อยุธยา บนเนื้อที่กว่า 1,400 ไร่เป็นโครงการที่พักอาศัยพร้อมสนามกอล์ฟ

"โครงการของสยามนำโชคที่รอขาย ถ้าขายได้ก็ได้เงินประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท เทียบกับหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท ถ้าขายหมดทุกโปรเจ็คก็จะคืนหนี้ได้หมด และก็ยังมีเงินเหลือ" ธาตรีพูดถึงแผนงานเร่งด่วนของสยามนำโชคคือ การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างการเงิน

ปัจจัยที่จะช่วยให้การขายบรรลุเป้าหมายคือ การเอาชื่อเมืองเอกมาสวมโครงการของสยามนำโชค รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐาน คุณภาพในการดำเนินงานให้แบบเมืองเอกทั้งหมด เพื่อใช้ชื่อเสียงภาพพจน์ของเมืองเอกที่สั่งสมมานานเป็นตัวดันยอดขาย มีความเป็นไปได้มากว่า ชื่อฟอร์จูนซิตี้ 1 และฟอร์จูนซิตี้ 2 จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเอกบางปู และเมืองเอกวังน้อย สนามกอล์ฟที่วังน้อยก็จะเปลี่ยนเป็นสนามกอล์ฟเมืองเอกเหนือ

สำหรับแผนงานในปี 2537 ของสยามนำโชคก็คือการสร้างโครงการศูนย์การค้า และคอมเพล็กซ์ขนาดยักษ์บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโครงการแดนเนรมิตร ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทยูนิเวสท์ เตรียมยกทีมงานจากศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค บางแคมาทำการก่อสร้างในช่วงต้นปีหน้า โดยมีกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 2 ปี

ส่วนวิธีที่ 3 คือการรวมทรัพย์สินนั้น ปัจจุบันสินทรัพย์รวมของสยามนำโชคประมาณ 8,000 ล้านบาท รวมกับโครงการฟอร์จูนที่ลาดพร้าวมูลค่าหมื่นกว่าล้านนั้นทำให้ธาตรีให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่า สินทรัพย์รวมของสยามนำโชคภายใน 3 ปีนี้ต้องมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาทแน่นอน ในขณะที่ทรัพย์สินของยูนิเวสท์นั้นที่สามารถถ่ายโอนมาได้นั้นมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันยูนิเวสท์มีโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการขายหลายโครงการเช่น โครงการเมืองเอก 7 โครงการเมืองเอก 8 มูลค่าการขายประมาณ 800 ล้านบาท และยังมีโครงการเมืองเอกสุวินทวงศ์และสนามกอล์ฟ อีสต์พ้อยท์ กอล์ฟ คอร์ส ซึ่งซื้อมาจากพงศกร ญาณเบญจวงศ์ มูลค่าอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่จะได้จากศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คบางแค ที่จะเปิดปลายนี้ ส่วนโครงการฟิวเจอร์าร์ครังสิตและโรงแรมโซฟิเทลบางกอกนั้นจะเปิดดำเนินการประมาณกลางปี 2537

ในกลางปี 2537 ยูนิเวสท์ก็จะลงมือทุบทิ้งโครงการราชดำริอาเขตซึ่งปัจจุบันหมดสัญญาแล้ว โครงการใหม่ยูนิเวสท์จะทำเป็นศูนย์การค้า และออฟฟิศทาวเวอร์ในนามของบริษัทราชดำริพลาซ่า ซึ่งมียูนิเวสท์ถือหุ้น 87.5% กลุ่มบริษัทจิตติสุขของกลุ่มตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินอีก 12.5%

ทรัพย์สินของยูนิเวสท์ที่จะเอามารวมกันนั้น เขาอธิบายว่าคงไม่ได้เอามารวมทั้งหมด แต่จะเอามาเฉพาะโครงการใหม่ๆ บางโครงการเท่านั้น เช่นที่ดินที่เหลือยังไม่ได้โอนในเมืองเอกประมาณ 500 ไร่ โดยตั้งราคาไว้ที่ไร่ละ 8 ล้านก็เป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท และยูนิเวสท์ยังมีกรรมสิทธิสมาชิกของสนามกอล์ฟของโครงการเมืองเอกอยู่ประมาณ 600 สมาชิก ส่วนในสนามเมืองเอกวิสต้ามีประมาณ 800 สมาชิก สรุปแล้วที่ยังไม่ได้ขายและเป็นหุ้นอยู่ 1,400 สมาชิกราคาประมาณ 400,000 บาทต่อ 1 สมาชิก ก็จะเป็นเงิน 600-700 ล้านบาท รวมกับราคาที่ดินในเมืองเอกก็มีมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาทแล้ว

"เราต้องหาทุกวิธีให้สยามนำโชคดีขึ้น ทรัพย์สินที่มีอยู่ของยูนิเวสท์ ถ้าเอามาให้สยามนำโชคได้ก็ต้องเอามา เอามาให้ไม่ได้ เพราะว่าเกิดขัดข้องทางภาษีก็ต้องหาวิธี" ธาตรีสรุปสั้นๆ ถึงวิธีการแปลงโฉมสยามนำโชค

ด้วยวัย 45 ปี วันนี้ธาตรี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มยูนิเวสท์กรุ๊ปมาตลอดกำลังก้าวมาอยู่แถวหน้าเทียบรัศมีกับรรดายักษ์ใหญ่ทางด้านพัฒนาที่ดิน อย่างเช่นอนันต์-คีรี กาญจนพาสน์ แห่งบางกอกแลนด์ และธนายง และอนันต์ อัศวโภคิน ของค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของบริษัทสยามนำโชค

"สินทรัพย์รวมของเรา ผมคิดว่าในบรรดาบริษัทเรียลเอสเตทด้วยกันคงอยู่ประมาณ 1 ใน 3 หรืออย่างแย่ก็คงประมาณ 1 ใน 4"

ตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์ได้แสดงสินทรัพย์รวมของบริษัทพัฒนาที่ดิน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2536 อันดับแรกคือบางกอกแลนด์นั้นมีสินทรัพย์รวมถึง 33,980.65 ล้านบาท อันดับ 2 คือธนายง 18,387.56 ล้านบาท แลนด์แอนด์เฮ้าส์มาเป็นอันดับ 3 12,769.46 ล้านบาท อันดับ 4 คือ สยามนำโชค 8,654.19 ล้านบาท และอันดับ 5 คือ กฤษดานคร 8,178.45 ล้านบาท

เมื่อรวมทรัพย์สินบางส่วนของยูนิเวสท์ที่จะโอนมาให้ เข้ากับทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว สยามนำโชคก็จะมีทรัพย์สินร่วม 30,000 ล้านบาท ก้าวกระโดดขึ้นไปหายใจรดต้นคอบางกอกแลนด์ทันที

พร้อมกับการวางแผนทางด้านการเงิน ยูนิเวสท์ต้องผ่องถ่ายทางด้านกำลังคนซึ่งเป็นระดับมันสมองไปร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่ของสยามนำโชคไปพร้อมๆ กันด้วย ผู้ที่มีบทบาทที่สุดในการกำหนดทิศทางเดินของยูนิเวสท์กรุ๊ปนั้นจะมีธาตรี พิชัย วาศนาส่ง วัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และเจียม ชวศิริกุณฑล

พิชัยเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นทางด้านภาพพจน์ขององค์กรเพราะเคยเป็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียง และเป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยามในสมัยหนึ่งด้วย ความเป็นคนกว้างขวาง และออกสังคมทำให้พิชัยเป็นเสมือนหนึ่งภาพลักษณ์ของกลุ่มนี้เสมอมา การติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในขณะที่วัฒนศักดิ์นั้นเป็นกลุ่มที่มีที่ดินในมือซึ่งเป็นที่มรดกมากมาย การหาที่ดินแปลงใหม่ๆ เพื่อทำโครงการเป็นเรื่องที่วัฒนศักดิ์ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่เจียมคนเก่าแก่อีกคนนั้นก็เต็มไปด้วยความสามารถทางด้านการขาย

ทั้ง 4 คนนี้คือกรรมการชุดใหม่ของสยามนำโชค สำหรับรายชื่อกรรมการชุดใหม่นั้นจะมีวัฒนศักดิ์ รองประธานบริษัทยูนิเวสท์ เข้าไปเป็นประธานกรรมการ โยธิน บุญดีเจริญ ประธานกรรมการบริหาร ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ส่วนธาตรีจะเข้าไปเป็น กรรมการ, กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และมีพิชัย วาศนาส่ง สุนทร อรุณานนท์ชัย เจียม ชวศิริกุณฑล ทวีวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หาญ เกียรติเฟื่องฟู เป็นกรรมการ และยังมีกรรมการใหม่อีก 2 คนที่จะเข้ามาช่วยเสริมทีมงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

สำหรับในหน้าที่ใหม่ที่สยามนำโชคนั้น ทางด้านนโยบายนั้นวัฒนศักดิ์จะเป็นผู้ดูเรื่องการเงินทั้งหมด ส่วนโยธินจะรับภาระหนักไปในเรื่องการหาที่ดินเพื่อทำโครงการใหม่ๆ ทางด้านการขายของสยามนำโชคที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของคณะกรรมการชุดใหม่นั้น เจียมจะเป็นผู้ลงไปดูแล และประสานงานกับทีมงานขายเดิมทั้งหมด โดยแยกกันเด็ดขาดกับทีมงานขายศูนย์การค้าซึ่งจะมีทีมของกลุ่มฟิวเจอร์พาร์คร่วมกับกลุ่มโรบินสัน และทีมของกลุ่มหวั่งหลี

ทางด้านพนักงานระดับล่างลงมานั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่จะมีคนใหม่จากสยามนำโชคไปเสริมทีมทางด้านระดับกรรมการรองผู้จัดการและระดับผู้ช่วยมากขึ้น เช่น ทางด้านการเงิน การบริหารองค์กร กำลังคนทั้งหมดทั้งยูนิเวสท์ และสยามนำโชคซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 700 กว่าคนนั้น สุรชัย มธุรันยานนท์ ซึ่งเป็นคนของยูนิเวสท์จะเป็นคนเข้าไปดูแล ทางด้านโรงแรม จะมีประเวศ รุ่งเรืองรัตนกุล ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของยูนิเวสท์ เข้าไปดูแล ร่วมกับคนของสยามนำโชค ประเวศเคยทำงานอยู่ที่โรงแรมเชอราตัน 20 ปี โรงแรมรีเจนท์ 4 ปี เพิ่งมาทำงานที่ยูนิเวสท์ประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมา

คนหนุ่มรุ่นใหม่อีก 2 คนของยูนิเวสท์ ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการทางด้านการบริหารโครงการกับคุมงานก่อสร้างคือ เฉลิมศักดิ์ กาญจนการรุณ และชาญศักดิ์ ศิริวัฒนชาติ

ยูนิเวสท์-สยามนำโชคในวันนี้ จึงผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งมีธุรกิจครบทุกแขนงทั้งโครงการศูนย์การค้า บ้านพักอาศัย อาคารสำนักงานและสนามกอล์ฟ มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน จากฐานการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตของบริษัทเองที่สามารถจะแสวงหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือประสบการณ์ และฝีไม้ลายมือที่สองพี่น้องบุญดีเจริญได้พิสูจน์ให้ประจักษ์มาแล้วในยุทธจักรบ้านและที่ดินใต้ฟ้าเมืองไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.