"บริษัทข้อมูลการค้าฯ"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ในยุคแห่งโลกานุวัตร ความรู้ หรือข้อมูลคือปัจจัยแห่งอำนาจ ที่ชี้ขาดชัยชนะในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการขับเคี่ยวในด้านไหน ข้อมูลที่จะเป็นที่มาของอำนาจไม่เพียงแต่จะต้องสมบูรณ์ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังจะต้องรวดเร็วทันเหตุการณ์ด้วย จึงจะเป็นอาวุธที่แหลมคมอย่างแท้จริงได้

บริษัทข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพื่อรองรับความจำเป็นในข้อนี้ เป็นการติดอาวุธให้กับธุรกิจไทยเพื่อความได้เปรียบในการเข้าสู่สมรภูมิการค้าโลก

แนวความคิดในการสร้างระบบข้อมูลทางการค้าระหว่างประเทศ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีรัฐมนตรีว่าการชื่อ อมเรศ ศิลาอ่อน ได้ริเริ่มที่จะให้มีการจัดตั้งเรื่องการแสวงหาข้อมูลขึ้นมา ซึ่งนายกฯ นักบริหารอย่างอานันท์ ปันยารชุน ก็มองเห็นลู่ทางและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยการตั้งบริษัทข้อมูลการค้าระหว่างประเทศขึ้นมา โดยกองทุนพัฒนาการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปร่วมทุนด้วย 49% ขอทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงขันของตัวแทนเอกชน 3 รายคือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย โดยธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 ธนาคารเข้าร่วมทุน สมทบด้วยบริษัทเอกชนอีกประมาณ 20 บริษัท อย่างเช่น ค้าสากลซิเมนต์ไทย เทเลคอมเอเชีย สหยูเนี่ยน ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ล็อกซ์เลย์ (กรุงเทพฯ) บริการข้อมูลผู้จัดการ สหวิริยาโอเอ

ตัวอมเรศเอง ในฐานะผู้ริเริ่มนั่งแป้นประธานกรรมการบริหารบริษัทนี้

"เราต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจไทย บริษัทข้ามชาติที่ดำเนินกิจการในไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และรวดเร็วจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ทางการรับรอง" อมเรศกล่าว

ที่สำคัญก็คือ ข้อมูลที่ส่งให้กับผู้ต้องการข้อมูลนั้นเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในเรื่องความรวดเร็ว ในยุคที่การค้าการลงทุนระหว่างประเทศแค่กระพริบตาก็ถูกคู่แข่งอัด!!!

"ในขั้นต้นนี้ เราจะเริ่มโดยเน้นข้อมูลจากประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย คือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและกลุ่มประชาคมยุโรปก่อน" ประธานบริษัทข้อมูลการค้าระหว่างประเทศกล่าว

สำหรับรูปแบบของการให้บริการข้อมูลนั้น มีรูปแบบของการให้บริการ 2 แบบ โดยแบบแรก คือการให้บริการแก่สมาชิก และแบบที่สอง คือการให้บริการข้อมูลแก่ผู้สนใจทั่วไป โดยตัวเลขคร่าวๆ ในขณะนี้ สมาชิกจะเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ในขณะที่ผู้ซื้อทั่วไป จะเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อข้อมูลตามจำนวนข้อมูลที่ใช้

อย่างไรก็ตามเรื่องข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถิติ ระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ รายชื่อและประวัติผู้ติดต่อกับประเทศไทย เป็นเพียงข้อมูลเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในส่วนของบริษัท แผนงานการดำเนินงานจะใหญ่กว่านี้มาก

ทั้งนี้แผนงานขั้นที่สองจะเริ่มด้วยการรวบรวมเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทั้งใน และต่างประเทศของธุรกิจส่งออกแต่ละประเภท ความต้องการและรสนิยมของผู้ใช้ในต่างประเทศ มาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเพื่อให้ผู้ติดต่อและส่งออกสามารถที่จะวางแผนการตลาดและตัดสินใจได้

แต่สุดยอดของงานของบริษัทนั้น จะสามารถเริ่มได้ในปี 2538 ที่แผนงานการร่วมมือกับกรมศุลกากร ที่จะให้บริการในด้าน ELECTRONIC DATA INTERCHANGE หรือ EDI ซึ่งเป็นบริการในเรื่องข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์เริ่มสมบูรณ์แบบ

ถึงตอนนั้น ผู้ที่ต้องการข้อมูลจากบริษัทด้วยระบบ EDI ซึ่งจะต้องติดตั้งคอมพิวเตอร์สามารถที่จะออนไลน์ระบบกับเจ้าของข้อมูลได้ทั่วโลก ซึ่งรูปแบบของการให้บริการข้อมูลที่ว่านี้ บริษัทข้อมูลการค้าระหว่างประเทศจะเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.