"ซีทีเอส อาวุธทางการตลาดของวินิไทย"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีกรุ๊ป ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตรรายใหญ่ของไทยที่สร้างชื่อไปทั่วโลก จนบางครั้งคนต่างชาติยังรู้จักความเป็นไปของกลุ่มนี้ได้ดีกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำไป

จากผลิตภัณฑ์เกษตร อาณาจักรของซีพีก็ได้ขยายออกไปในธุรกิจอีกหลายประเภทเช่นเครื่องอุปโภคบริโภค การค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาที่ดิน โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเปโตรเคมีคัล โดยเฉพาะธุรกิจตัวหลังสุดนี้ ถือเป็นการสยายปีกครั้งสำคัญของซีพีกรุ๊ปในอาณาจักรแห่งใหม่ ซึ่งมีคู่แข่งที่เข้มแข็งมากหน้าหลายตา

ความเติบโตของงานสาธารณูปโภคทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งเอื้ออำนวยให้ทางเดินอุตสาหกรรมพลาสติกประเภทพีวีซี (POLYVINYL CHLORIDE) ในไทยเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น เป็นสิ่งที่ยั่วยวนจิตใจให้ซีพีกรุ๊ป จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้บริษัท วินิไทย จำกัด บริษัทในเครือที่เป็นขุมกำลังทางด้านปิโตรเคมีคัลส์ เพื่อจะนำมาสนับสนุนบริษัทเทเลคอมเอเชีย จำกัด บริษัทร่วมลงทุนหนึ่งในเครือเพื่อใช้ในการก่อสร้างเครือข่ายสายโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ ให้ได้ 2 ล้านเลขหมาย

ความใฝ่ฝันของซีพีกรุ๊ปนั้นไม่ได้หยุดแต่เพียงว่า จะต้องผลักดันให้เทเลคอมเอเชียมีท่อพีวีซีไว้ร้อยสายโทรศัพท์ให้เพียงพอ และเพื่อเป็นการลดต้นทุนดำเนินการเท่านั้น ฝันของซีพีกรุ๊ปยังไปไกลจนถึงขั้นหวังเป็นอย่างมากว่า

ผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดพีวีซีนั้นจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก วินิไทย เท่านั้น !

การที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ นอกจากการส่งสริมการขายทุกรูปแบบที่มีการหยิบมาใช้ต่างกรรมต่างวาระแล้ว ด้วยสัจธรรมทางด้านค่านิยมการทำตลาดสมัยใหม่ที่ได้เปลี่ยนไป ที่จะเน้นเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น จึงส่งผลให้แต่ละค่ายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะทางด้านเปโตรเคมีคัลล์ต้องทุ่มเทงบประมาณทางด้านวิจัยและพัฒนาหรือ R&D (RESEARCH AND DEVELOPMENT) ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นมา

จากสัจธรรมดังกล่าวนี้เอง วินิไทยจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้เพิ่มบทบาทของหน่วยงานใหม่ ที่ฟูมฟักมาเป็นเวลานาน ซึ่งหมายมั่นปั้นมือให้มาเป็นหัวหอกทางการตลาดนั้น ให้เริ่มแสดงบทบาทของตนได้แล้ว CTS (CUSTOMER TECHNICAL SERVICES) หรือหน่วยบริการลูกค้าทางด้านเทคนิค เป็นหน่วยงานดังว่าที่วินิไทยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มาเป็นกลยุทธ์ที่จะ "เติมช่องว่างทางการตลาดให้เต็ม"

ด้วยตระหนักดีว่า ค่ายใหญ่ในตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติก แม้จะได้เริ่มมีการให้ความสำคัญกับงาน R&D กันบ้างแล้ว โดยจัดตั้งเป็นหน่วยงานด้านนี้โดยตรง แต่ไม่มากนักโดยมักจะคิดเพียงว่า R&D นี้น่าจะเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่สังกัดอยู่ในฝ่ายผลิต โดยไม่ต้องไปข้องแวะกับฝ่ายตลาดว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์อะไรเป็นพิเศษ

ดังนั้น วินิไทย จึงได้จัดตั้งหน่วยงานนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตลาดที่ขึ้นตรงต่อผู้จัดการฝ่ายการตลาดโดยตรง แต่จะได้มีการปรึกษาหารือกับฝ่ายผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ความผิดแผกประการสำคัญของแผนก ซีทีเอส ที่วินิไทยหวังจะให้เป็นจุดแตกต่างกับค่ายอื่นคือ ได้มีการตั้งเป้าหมายด้านยอดขาย ที่จะได้รับผลจากการส่งเสริมด้วยหน่วยงาน เช่น ซีทีเอส ออกมาเป็นตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรม

"รอบปีที่ผ่านมา ทางวินิไทยสามารถทำยอดขายได้สูงกว่าเป้าถึงเท่าตัว จากยอดขายไม่ถึง 5,000 ตันต่อเดือนเมื่อปีที่แล้ว ได้ก้าวขึ้นไปเป็น 10,000 ตันในปีนี้ การก้าวขึ้นมาเช่นนี้เราต้องยอมรับในอานิสงส์จากการจัดตั้งหน่วยงานซีทีเอสขึ้นมา ดังนั้นเราจึงได้ตั้งความหวังว่าในปีหน้าอัตราเติบโตของวินิไทยจะต้องเกิดจากผลพวงของซีทีเอส ไม่น้อยกว่า 15-20%" สุวารี ศุภโชคชัย ผู้จัดการแผนกซีทีเอส ของวินิไทยกล่าว

เป้าหมายที่จะผลักดันให้ซีทีเอสมีผลต่อยอดขายอย่างจริงจังนั้น การทุ่มเทงบประมาณด้านห้องทดลองวิทยาศาสตร์อย่างไม่ยั้งกว่า 50 ล้านบาท จนถือว่าเป็นห้องทดลองทางด้านอุตสาหกรรมพลาสติกที่ทันสมัยที่สุดในไทยขณะนี้ ถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริง ซึ่งห้องทดลองวิทยาศาสตร์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากโซลเวย์ ผู้ร่วมลงทุนจากเบลเยี่ยมทั้งทางด้านงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญ

ในส่วนขั้นตอนการให้บริการของซีทีเอสต่อลูกค้านั้น เมื่อซีทีเอสได้รับการร้องขอจากลูกค้าผ่านทางวินิไทยที่กรุงเทพฯ ว่า ให้ช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้พีวีซีของตนให้ด้วย แล้วทางซีทีเอสก็จะระดมมันสมองของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 คน ที่โรงงานวินิไทย มาบตาพุด ให้มาช่วยสะสางปัญหาที่ส่งเข้ามาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาส่วนผสมของเม็ดพีวีซี ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ

"เราต้องยอมรับว่าปัญหาในการผลิตพลาสติก ไม่ใช่เป็นปัญหาที่จะพึ่งพาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เข้ามาแก้ไขเพียงอย่างเดียวได้ พูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เข้ามาร่วมแก้ไขด้วยเพราะเพียงแต่สัดส่วนทางด้านเคมีเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถทำให้ผลงานพีวีซีที่ออกมาดูสวยงามได้ จะต้องใช้อารมณ์ศิลป์เข้าไปเสริมด้วย" สุวารีให้คำนิยามถึงแก่นหลักในการผลิตพีวีซี

ปัญหาที่ซีทีเอสต้องเผชิญอยู่ทั้งหมดที่ผ่านมานั้น ความยากลำบากที่สุดไม่ได้อยู่ที่เนื้อแท้ของปัญหาที่ซีทีเอสจะต้องหาข้อยุติออกให้ได้ แต่กลับไปอยู่ที่ความร่วมมือของลูกค้าที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล เกี่ยวกับส่วนผสมทางด้านเคมีสำหรับพีวีซีที่จะเอาไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองว่ามีอย่างไร แม้ว่าซีทีเอสจะอ้างถึงจรรยาบรรณที่จะไม่เปิดเผยความลับของลูกค้าให้ผู้อื่นแล้วก็ตาม จนกระทั่งซีทีเอสต้องหาทางหว่านล้อมให้ลูกค้ามาเยี่ยมชมโรงงานวินิไทยที่มาบตาพุดว่ามีความทันสมัยเพียงใดแล้ว ลูกค้าจึงได้คลายความคลางแคลงใจลงไปบ้าง

อย่างไรก็ตามปัญหาที่รอท่าให้ซีทีเอสเข้าไปช่วยปัดเป่าให้กับลูกค้านั้นยังมีอยู่อีกมากมาย เพราะอัตราเติบโตการใช้เม็ดพลาสติกพีวีซี ในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้นกว่า 20% ต่อปีนั้นย่อมตามมาด้วยนานาปัญหาที่รอให้ผู้เชี่ยวชาญของซีทีเอสได้ขบคิดถึงข้อยุติอีกมากมายเช่นกัน

หากซีทีเอสสามารถสร้างเครดิตในส่วนนี้ จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าขึ้นมาได้ผนวกกับเมื่อโครงการเอ็นพีซี 2 ที่วินิไทยเข้าร่วมอยู่ด้วย สามารถเดินเครื่องได้แล้ว ส่วนแบ่งในตลาดนี้ของวินิไทยก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้มาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.