"สุรพันธ์ งามจิตรสุขศรี รวยเงียบๆ"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ใต้ฟ้าเมืองไทยยังมีคนที่รวยและยิ่งใหญ่ในเส้นทางของตัวเองแบบเงียบๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงโด่งดังในวงกว้างอีกเป็นจำนวนมาก "สุรพันธ์ งามจิตรสุขศรี" คือคนหนึ่งในจำนวนนั้น

เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีนักธุรกิจคนหนึ่งเกิดเดือดร้อนในเรื่องการเงิน ต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน ไม่มากไม่น้อยแค่ 700 ล้านบาท สุรพันธ์ช่วยบรรเทาความร้อนรนนี้ได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นเท่าไรนัก

นักธุรกิจรายนั้นเป็นผู้กว้างขวางในอุตสาหกรรมเหล็กเส้น ทั้งยังเป็นเจ้าของธุรกิจพัฒนาที่ดินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

สุรพันธ์เป็นลูกชายของ "สุนทร งามจิตรสุขศรี" นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาสร้างหลักปักฐานทำมาหากินในเมืองไทยยุคแรกๆ โดยตั้งร้านค้าวัสดุก่อสร้าง แถววงเวียนโอเดียน ย่านเยาวราชเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว

นอกจากการค้าวัสดุก่อสร้างแล้ว สุนทรยังกระโดดเข้าไปรับเหมาก่อสร้างถนนแข่งกับฝรั่งอิตาเลียนและเดนมาร์กที่ครองตลาดอยู่ในเวลานั้นด้วย กิจการของสุนทรภายใต้ชื่อ "รุ่งสินก่อสร้าง" เมื่อ 40 ปีก่อน สร้างผลงานเป็นถนนหลายสายในเขตกรุงเทพฯ อาคารโรงงานไม้อัดไทยของกระทรวงการคลัง อาคารย่านท่าเตียน

กระทั่งสุนทรเสียชีวิตไป สุรพันธ์รับสืบทอดกิจการทั้งหมดมาทำพร้อมกับการขยายกิจการออกไปในด้านโรงรีดเหล็ก โรงงานผลิตยางมะตอย ภายใต้ชื่อรุ่งสินทั้งหมด และอีกหนึ่งธุรกิจที่อยู่นอกแถวกิจการก่อสร้างก็คือ "ดาร์ลิ่ง" สถานอาบอบนวดหนึ่งในตำนานคลาสสิคของธุรกิจรับจ้างอาบน้ำที่ยังคงปักหลักอยู่บนถนนสุขุมวิท ให้บริการกับชายขี้เมื่อยระดับ "อีลิต" ของสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้น สุรพันธ์ยังมีโรงพิมพ์ระดับร้อยล้านอีกแห่งหนึ่งย่านรามคำแหงพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน "สื่อไท" ออกมาได้พักหนึ่ง ตัวหนังสือก็ม้วนเสื่อ โรงพิมพ์สื่อไทจึงต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงพิมพ์รุ่งสิน และหันไปรับงานพิมพ์ทั่วๆ ไป

เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน สุรพันธ์มีชื่อปรากฏเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ติดต่อกันหลายวัน ในฐานะหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานเขาใหญ่และระเบิดภูเขาเพื่อสร้างสนามกอล์ฟ "โกลเด้น วันเล่ย์" แต่ก็ไม่ได้ถูกจับตามองมากนัก เพราะเป้าใหญ่ในข่าวนั้นคือวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ

วิโรจน์คือเพื่อนสนิทที่สุดคนหนึ่งของสุรพันธ์ เป็นพันธมิตรที่ร่วมกันทำธุรกิจพัฒนาที่ดินมาโดยตลอด และเมื่อมีเพื่อนที่เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในวงการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว แน่นอนว่าสุรพันธ์ย่อมเป็นหนึ่งในนักลงทุนประเภท "ขาใหญ่" ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

สำหรับสนามกอล์ฟ โกลเด้น วัลเล่ย์ที่เขาใหญ่ หลังจากที่ "เคลียร์" กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เดินหน้าต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เป็นสนามกอล์ฟ 36 หลุม พร้อมที่จะเปิดตัวได้ในเร็วๆ นี้ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อลบแผลเป็นในอดีตเป็นชื่อ "มิชชั่นฮิลล์ เขาใหญ่" และยังมีสนามกอล์ฟอีกแห่งหนึ่งในขนาดใกล้เคียงกับที่เขาใหญ่อยู่ที่กาญจนบุรี ใช้ชื่อมิชชั่น ฮิลล์ เช่นเดียวกัน

ธุรกิจเรียลเอสเตทของสุรพันธ์เล็กลงไปถนัดตาเมื่อเปรียบเทียบกับความยิ่งใหญ่ของโครงการพัฒนาที่ดินร่วม 26,000 ไร่ที่เซินเจิ้น ประเทศจีนในขณะนี้ โดยร่วมมือกับเพื่อนร่วมรุ่นเมื่อครั้งที่เรียนที่เซนต์ สตีเฟ่น ฮ่องกง เมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อนคนนั้นคือ เดวิ ชู เจ้าของโรงงานกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง

โครงการขั้นต้นในเมืองเซินเจิ้น สุรพันธ์และชู ได้พัฒนาเป็นสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ 54 หลุม จากการออกแบบของแจ๊ค นิคลอส นักกอล์ฟชั้นแนวหน้าของโลก โดยในระยะแรกนี้จะสร้างขึ้นมาแค่ 36 หลุมก่อน และจะสร้างบ้านเดี่ยวริมสนามกอล์ฟ ราคาหลังละ 7 ล้านบาท พร้อมสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ

ทุกวันนี้สุรพันธ์เดินทางเข้าออกเซินเจิ้นเป็นว่าเล่นเพื่อควบคุมการก่อสร้างสนามกอล์ฟ ซึ่งรายละเอียดทุกขั้นตอนของการก่อสร้างต้องผ่านตาเขาเพื่อให้เป็นสนามกอล์ฟที่สมบูรณ์ที่สุด สมกับการได้รับเลือกจากผู้จัดแข่งกอล์ฟระดับโลก พีจีเอ ที่ได้เซ็นต์ "มิชชั่น ฮิลล์ กอล์ฟคลับ" แห่งนี้ เป็นหนึ่งในสนามแข่งขันพีจีเอ กอล์ฟ ทัวร์นาเม้นท์ ปี 2538

"ผมมีที่ดินเป็นแลนด์แบงก์ กระจายไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ ประมาณ 5,000 ไร่ เฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบสำโรง 100 กว่าไร่ นอกจากนี้ยังมีย่านสีลม รามคำแหง ลาดกระบัง และอีกหลายๆ จุด คิดว่าในอีก 2-3 ผมจะต้องตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อพัฒนาที่ดินเหล่านี้" สุรพันธ์พูดถึงแผนการสำหรับโครงการของเขาในประเทศไทยอนาคต ซึ่งเขาหวังว่าจะสามารถผลักดันให้บริษัทที่จะตั้งขึ้น เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้

และเมื่อเวลานั้นมาถึง เขาคงไม่อาจทำตัวเงียบเชียบเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ได้แน่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.